Skip to main content
sharethis

12 กรกฎาคม นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า สธ.ได้ขึ้นทะเบียนผู้เสียชีวิตโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 เพิ่มอีก 3 ราย เป็นรายที่ 16-18 โดยรายที่ 16 เป็นชาย อายุ 45 ปี จ.พระนครศรีอยุธยา เสียชีวิตตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม มีโรคประจำตัว คือโรคหัวใจโต ความดันโลหิตสูง และติดโรคเล็ปโตสไปโรซีส (โรคฉี่หนู) ผลชันสูตรศพระบุสาเหตุการเสียชีวิตมาจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ทำให้ปอดอักเสบ ไม่ได้เสียชีวิตจากเชื้อโรคฉี่หนู

ส่วนผู้เสียชีวิตรายที่ 17 คือ หญิงอายุ 24 ปี จ.ราชบุรี ถูกส่งต่อมารักษาที่โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม โดยรายนี้ ถือเป็นกลุ่มเสี่ยง คือโรคอ้วน มีน้ำหนักตัวถึง 150 กิโลกรัม เป็นโรคหัวใจ และความดันโลหิตสูง และอยู่ในพื้นที่เสี่ยงคือมีหน้าที่ดูแลร้านอินเตอร์เน็ต เริ่มป่วยวันที่ 29 มิถุนายน เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลบ้านโป่ง วันที่ 2 กรกฎาคม ด้วยอาการหอบ มีไข้ ไอ มีน้ำมูก ก่อนส่งต่อมารักษาที่โรงพยาบาลศิริราช

ด้านผู้เสียชีวิตรายที่ 18 เป็นชายอายุ 19 ปี บ้านเดิมอยู่ จ.กระบี่ เสียชีวิตวันที่ 10 กรกฎาคม โดยรายนี้ เริ่มป่วยเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม รักษาที่โรงพยาบาลทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช วันที่ 9 กรกฎาคม ด้วยอาการหอบ มีไข้ จากนั้นมีอาการหนักขึ้นจึงส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช วันที่ 10 กรกฎาคม เอ็กซเรย์พบว่าปอดอักเสบทั้งสองข้าง จึงส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ผู้ป่วยเสียชีวิตในเย็นวันเดียวกัน 

นอกจากนี้ สธ.ได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ว่ามีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 ราย เป็นเด็กชาย อายุ 13 ปี เสียชีวิตตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยสำนักระบาดวิทยา อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูลเพื่อยืนยันการเสียชีวิต คาดว่าอีก 1-2 วันจะทราบข้อมูลที่ชัดเจน

ส่วนยอดผู้ป่วยมีเพิ่มอีก 247 ราย รวมยอดผู้ป่วยสะสมทั้งหมด 3,555 ราย อาการหนัก 6 ราย

นพ.ไพจิตร์กล่าวด้วยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสของศูนย์ควบคุมโรคแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา เปิดเผยรายงานการศึกษาข้อมูลผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่มีภาวะแทรกซ้อนของระบบทางเดินหายใจอย่างรุนแรงต้องใช้เครื่องช่วยหายใจของโรงพยาบาลมิชิแกน สหรัฐอเมริกา จำนวน 10 ราย พบว่า ผู้ป่วย 9 ราย มีดัชนีมวลกายมากกว่า 30 (ดัชนีมวลกาย คำนวณได้จากน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม หารด้วยส่วนสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง มีค่าปกติ 18.5-22.9) ซึ่งถือว่ามีภาวะอ้วนมาก ในจำนวนนี้ 7 ราย มีภาวะอ้วนขั้นสูงสุด คือดัชนีมวลกายมากกว่า 40

นอกจากนี้ ยังพบว่า ในผู้ป่วย 9 ราย จาก 10 ราย การทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายล้มเหลว พบได้ในผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ทั่วไป และยังพบว่ามีผู้ป่วย 5 ราย ที่พบภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด และ 6 ราย พบภาวะไตวาย ข้อมูลที่ได้แสดงให้เห็นว่าภาวะอ้วน เป็นอีกปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงและเสียชีวิตได้

 

.................................................
ที่มา : มติชนออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net