Skip to main content
sharethis

ท่ามกลางความสับสนของคำว่าการเมืองนำการทหารในสายตาของคนทั่วไป กับการนำไปเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาลนั้น แต่สถานการณ์ความไม่สงบก็ยังเกิดขึ้นทุกวี่วันเหมือนงานที่ทำยังไม่ได้ส่งผลอะไร โดยดูเหมือนคำว่าการเมืองนำการทหารที่เห็นถูกแปลความว่า นักการเมืองหวังจะนำทหารเสียมากกว่า

ความหมายจะคืออะไร หาได้จากสองมุมมองของสองฝ่ายในสนามการเมือง อย่างของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ปาฐกถาปิดการสัมมนา “การเมืองต้องนำการทหาร: ทิศทางการแก้ปัญหาภาคใต้สู่ความยั่งยืน” จัดโดยสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า, ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 30 มิถุนายน 2552

กับของนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี ผู้เคยมีบทบาทอย่างสำคัญในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในโอกาสเดินทางมาร่วมเวทีเสวนา ในงานสนทนากับจาตุรนต์ ฉายแสง ความจริง วิกฤตประชาธิปไตย ที่โรงแรมลีการ์เดนส์ ถนนนิพัทธ์อุทิศ 2 อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จัดโดยกลุ่มทนายความเพื่อประชาธิปไตยจังหวัดสงขลา ร่วมกับ เครือข่ายประชาชนเพื่อประชาธิปไตยภาคใต้ เมื่อบ่ายวันที่ 7 กรกฎาคม 2552

ประชาไท ได้ตัดทอนเนื้อหาบางส่วนของทั้งสองคนมาตีพิมพ์ เพื่อให้เห็นถึงแนวทางการแก้ปัญหาภาคใต้ ของรัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับอดีตนายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี ดังนี้

 

 

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ดับไฟใต้การเมืองต้องนำการทหาร

ปัญหาภาคใต้ มีรากมาจากประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม และปัจจัยอื่น อย่ามองว่า มีคำตอบหรือแนวทางแก้ปัญหาสำเร็จรูป ที่ประกาศใช้แล้ว ปัญหาจะยุติลงในเวลาสั้นๆ

เราต้องการเห็นพื้นที่สามจังหวัด และสี่อำเภอจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แต่เป็นการปกครองที่ทำให้เขาไม่สูญเสียอัตลักษณ์ ไม่รู้สึกว่าถูกบีบบังคับให้เข้ามาอยู่ในสังคม ที่ไม่ตรงกับความต้องการของเขา

สิ่งที่ต้องพูด คือ การเมืองนำการทหาร ไม่ได้หมายความว่าบทบาทของกองกำลัง หรือบุคลากรฝ่ายความมั่นคงไม่มีเลย การพึ่งพาฝ่ายความมั่นคงในการทำให้นโยบาย ซึ่งการเมืองเป็นฝ่ายนำเกิดขึ้นได้จริง ยังมีความจำเป็น

ถ้าเรายังต้องมีกำลังดูแลเรื่องนี้ 60,000 กว่าคน ใช้งบประมาณดูแลบุคลากรมหาศาล นั่นไม่ถือเป็นความสำเร็จ ความสำเร็จวัดตรงที่เราเริ่มถอนกำลังได้เมื่อไหร่ งบประมาณด้านนี้ลดลงเมื่อไหร่ แต่ถ้าบอกว่า เหตุการณ์ความรุนแรงไม่เพิ่มขึ้นแล้ว หรือลดลงเล็กน้อย แต่ทุกปีกลับใส่คนเพิ่มเข้าไป งบประมาณตรงนี้มากมาย นั่นไม่ใช่ความสำเร็จ

ผมย้ำว่าเรื่องกองกำลังก็ดี กฎหมายพิเศษก็ดี เป็นเรื่องการรักษาความปลอดภัย ดูแลความมั่นคง และยังมีความจำเป็นที่ต้องปฏิบัติการบางอย่าง เมื่อมีข้อมูลชัดเจนว่ากำลังมีการสะสมอาวุธ วัตถุระเบิด มีบุคคลซึ่งมีหมายจับชัดเจนที่จะต้องดำเนินการ

ขณะนี้ กองทัพ ตำรวจ ฝ่ายปกครองทราบดีว่า การอยู่ตรงนั้น ต้องไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ต้องไม่ละเมิดกฎหมาย ต้องไม่ทำให้เกิดความรู้สึกว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐอยู่เหนือกฎหมาย

เหตุที่มัสยิดไอปาแย จะเป็นบททดสอบสำคัญ เราจะพิสูจน์ว่าเราบังคับใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมา รัฐบาลไม่ได้เลือกปฏิบัติ จะนำคนผิดมาลงโทษ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ หรือคนกลุ่มใด

ขั้นต่อไปเราต้องเดินหน้าเรื่องการพัฒนา และการอำนวยความยุติธรรม เรื่องการรับรู้ รับทราบ เข้าใจ เข้าถึงประชาชนในพื้นที่

เวลาเราพูดถึงการพัฒนา ความสนใจจะไปอยู่ที่งบประมาณ ผมไม่เคยคิดว่างบประมาณแก้ปัญหานี้ได้ แต่การพัฒนาช่วยแก้ปัญหานี้ได้ การพัฒนาต้องใช้งบประมาณ เราต้องเก็บเกี่ยวบทเรียนว่า ทำไมหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลทุ่มงบประมาณเป็นหมื่นล้านแสนล้าน แต่ชีวิตความเป็นอยู่ไม่ดีขึ้น

เราเริ่มต้นจากการมีคณะรัฐมนตรีรับผิดชอบการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการตั้งเป้าหมาย และกรอบการพัฒนา โดยสภาพัฒน์ฯ เป็นตัวนำ

เป้าหมาย คือ ยกระดับรายได้ของประชาชนในพื้นที่ และสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ ที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและชุมชน ใช้โครงการขนาดเล็กเข้าไปดำเนินการตามชุมชนต่างๆ และสนับสนุนการพัฒนาคน

เรื่องอุตสาหกรรมฮาลาล เราต้องเปลี่ยนเป็นฮาลาลที่ประชาชนสัมผัสได้ ไม่ใช่นิคมอุตสาหกรรม แต่เป็นวัตถุดิบป้อนอุตสาหกรรมฮาลาล ถ้าเราไม่พร้อมแปรรูป ก็ให้ร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ถ้าเราร่วมมือกับเขา เขาก็ยิ่งมาช่วยเราแก้ปัญหาให้เกิดความสงบในพื้นที่นี้มากขึ้น

บางคนบอกรัฐบาลประกาศใช้เงินเท่านั้นเท่านี้ แต่ไม่เห็นมีอะไรดีขึ้น มันเพิ่งเริ่มครับ รัฐบาลต้องไปออกพันธบัตรต่างๆ จะเริ่มต้นได้ก็เดือนสิงหาคม 2552 อาจจะมีส่วนหนึ่งที่ปรับมาจากงบประมาณที่มีอยู่แล้ว เรามีแผนสามปีข้างหน้า ที่มีเป้าหมายชัดเจน

เร็วๆ นี้มีองค์กรเอกชนไปออกรายงานเรื่องมีสถานศึกษาเป็นที่บ่มเพาะผู้ก่อความไม่สงบ หลักของเรา คือ รัฐบาลจะช่วยดูแลให้สถาบันการศึกษาทุกประเภท ตอบสนองความต้องการของชุมชนท้องถิ่น ให้ได้รับการศึกษาเรียนรู้ในเรื่องหลักธรรมคำสอนตามความเชื่อ ตามศาสนาของเขา พร้อมกับสร้างโอกาสให้คนเหล่านี้ มีทักษะในการทำงานด้วย

เรื่องที่ดำเนินการไปแล้ว คือ รื้อฟื้นให้มีสำนักงานการศึกษาเอกชนขึ้นเฉพาะพื้นที่นี้ เพื่อผลักดันและสนับสนุนงบประมาณและบุคลากร ซึ่งจะโยงกับโรงเรียนที่ไม่ใช่โรงเรียนรัฐ นี่เป็นเป็นจุดสะท้อนว่า ไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจเท่านั้น แต่เรื่องการศึกษา สังคม วัฒนธรรม ก็จะต้องดำเนินการไปพร้อมกัน

โครงสร้างที่เป็นอยู่ มี กอ.รมน. มีศอ.บต. ต่างมาบรรจบกันที่ตัวนายกรัฐมนตรี หรือผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เรายังต้องบูรณาการตรงนี้ในลักษณะถาวร เป็นหน่วยงานที่มีกฎหมายรองรับ ให้ฝ่ายการเมืองรับผิดชอบ

ขณะนี้ผู้อำนวยการของ ศอ.บต. คือ ข้าราชการระดับรองปลัดกระทรวง การจะบังคับบัญชาหน่วยงานกระทรวงอื่น มีความยากลำบาก กฎหมายนี้เราจะผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ในสมัยประชุมนิติบัญญัติ

เหตุผลที่กฎหมายเกี่ยวกับ ศอ.บต.ออกมาไม่ได้ในยุค สนช. ก็คือ สนช.ดูแล้วยังไม่ลงตัว จึงเป็นปัญหาที่ตกค้างมาจากตรงนั้น ขณะที่วันนี้ กฎหมายความมั่นคง พ.ศ. 2551 ก็ยังไม่ได้บังคับใช้อย่างเต็มที่ เพึ่งมีการจัดกำลัง วางโครงสร้าง อนุมัติกำลังคน

วันนี้ เรากำลังไล่ทำข้อเสนอเพื่อเอากฎหมายความมั่นคง ซึ่งเบากว่าพรก. และกฎอัยการศึก เข้ามาทดแทน ส่วนการต่ออายุพรก. รอบที่สาม รัฐมนตรีถาวร เสนเนียม รับไปให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นผู้ประเมิน ซึ่งจะทำให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น

การพูดเรื่องการเมืองนำการทหาร จึงไม่ได้พูดลอยๆ มีการปรับกระบวนการนำไปสู่แผนพัฒนา มีกระบวนการประเมินทบทวน เกี่ยวกับอำนาจและกฎหมายต่างๆ รวมทั้งแนวปฏิบัติ ส่วนแนวทางการเมืองนำการทหารกำลังดำเนินการอยู่ แต่การทำความเข้าใจ เพื่อปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงาน ต้องใช้เวลา

สำหรับการเจรจา รัฐบาลถือว่าเป็นปัญหาภายใน เราแก้ไขได้ และได้สื่อสารไปยังขบวนการว่า ถ้าเป้าหมายสุดท้ายของเขา พูดถึงการมีคุณภาพชีวิตที่ดี สันติสุข การอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างที่รู้สึกว่าไม่ถูกเลือกปฏิบัติ และยังคงรักษาอัตลักษณ์ไว้ได้ ก็ไม่ได้ต่างจากเป้าหมายรัฐบาล เราพูดคุยกันได้

เรามีการจัดสัมมนาเรื่องกระบวนการยุติธรรมสำหรับภาคใต้ ซึ่งเกี่ยวพันไปถึงเรี่องศาลชารีอะฮฺ เราไม่ได้ปิดกั้นครับ

ส่วนการปกครองท้องถิ่นที่แตกต่างไปจาก อบจ. เทศบาล อบต. ก็ไม่มีอะไรขัดข้อง กรุงเทพมหานครก็พิเศษ เมืองพัทยาก็พิเศษ คุยกันได้ ถ้าคิดว่า มีรูปแบบพิเศษแล้วทุกอย่างจะดีขึ้น อันนี้ไม่แน่ เพราะหัวใจความยุติธรรมอยู่ที่ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครอง ถ้าต้องรวมเป็นท้องถิ่นใหญ่พิเศษสามจังหวัด แต่ผู้บริหารห่างเหินประชาชน ผมก็มองไม่เห็นว่าความยุติธรรมจะดีขึ้นได้อย่างไร

วันนี้สังคมไทยตกผลึกแล้วหรือยังว่า สันติสุขจะต้องเกิดขึ้นจากความยุติธรรม จากโอกาส และจากการยอมรับความหลากหลาย ซึ่งไม่ใช่หมายถึงเจตจำนงร่วมกันของคนในพื้นที่เท่านั้น แต่คนนอกพื้นที่อีก 70 กว่าจังหวัด ต้องเข้าใจตรงนี้ด้วย

ผมมั่นใจว่า แนวทางที่เราเดินมา จะบรรลุความสำเร็จ

 

 

จาตุรนต์ ฉายแสง

ความหมายการเมืองนำการทหาร

การใช้การเมืองนำการทหาร ไม่จำเป็นว่าให้นักการเมืองนำ หรือให้ทหารนำ ทหารจะรับผิดชอบก็ได้ แต่ต้องใช้การเมืองนำการทหาร ขณะที่นักการเมืองจะนำทหารก็ได้ แต่ต้องใช้การเมืองนำการทหาร

ถึงแม้ให้นักการเมืองนำทหาร แต่ยังใช้การปราบปรามเป็นหลัก ก็ถือว่ายังใช้ทหารนำการเมืองอยู่

การแก้ปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับความคิดความเข้าใจของคน เกี่ยวข้องกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาล หรือฝ่ายก่อความไม่สงบ ที่พยายามหาแนวร่วม ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลพยายามทำให้คนสนับสนุนฝ่ายก่อความไม่สงบน้อยลง หันกลับมาสนับสนุนรัฐบาลมากขึ้น การที่สองฝ่ายสู้กัน เป็นการแย่งชิงประชาชน ถ้าประชาชนวางเฉยไม่สนับสนุนฝ่ายรัฐบาลก็แย่แล้ว

เพราะฉะนั้น การแก้ปัญหานี้ จะใช้กำลัง หรือจะทำอะไรต้องคำนึงผลทางการเมือง คือ ผลที่มีต่อความรู้สึกนึกคิดของประชาชนเป็นอันดับแรก การจะใช้กำลัง ต้องเน้นการคุ้มครองปกป้องชีวิตทรัพย์สินประชาชน และเจ้าหน้าที่เป็นหลัก

เมื่อเกิดการปะทะ ต้องจับกุมดำเนินคดี ต้องคำนึงว่าประชาชนรู้สึกอย่างไร ต้องคำนึงถึงกระบวนการยุติธรรมที่ถูกต้อง ต้องให้ความเป็นธรรม ให้ความยุติธรรม ไม่ไปทำอะไรนอกกฎหมาย จนทำให้ประชาชนรู้สึกว่า ไม่ยุติธรรม เพราะจะทำให้คนต่อต้านคัดค้านรัฐมากขึ้น

ถ้าใช้บรรทัดฐานวัดอย่างนี้ จะต้องเน้นการทำความเข้าใจ เน้นให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อกัน ให้ทุกคนรู้สึกว่า เป็นเจ้าของประเทศ รู้สึกว่ามีความยุติธรรม มีความเป็นธรรม จึงจะลดปัญหาความไม่สงบลงได้

การเมืองนำการทหาร ยังครอบคลุมไปถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ข้าราชการ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะฝ่ายใช้กำลังเท่านั้น การเมืองนำการทหาร หมายถึงเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ต้องมุ่งเอาชนะใจประชาชน หลีกเลี่ยงการใช้กำลังจัดการกับผู้ที่ไม่เห็นด้วย หรือผู้ที่กระด้างกระเดื่อง

ถ้าจะพัฒนาอะไร ประชาชนจะต้องได้ประโยชน์ ต้องมีส่วนร่วม ต้องเป็นเจ้าของ สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ สิ่งที่รัฐทำต้องเป็นผลดีต่อประชาชน เขาถึงจะให้ความร่วมมือกับฝ่ายรัฐ ไม่ไปสนับสนุนฝ่ายก่อความไม่สงบ

การใช้การเมืองนำการทหาร ต้องตั้งหลักทำให้ประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้รู้สึกว่า สังคมไทยเปิดโอกาสส่งเสริมให้ประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเจ้าของประเทศ ให้เขามีส่วนร่วมกำหนดความเป็นไปของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกำหนดความเป็นไปของบ้านเมือง ทำให้เห็นว่าความแตกต่างทางอัตลักษณ์ของประชาชน ไม่เป็นอุปสรรคที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกสังคมนี้ หรือเป็นเจ้าของประเทศ

ต้องให้ประชาชนรู้สึกว่า เขามีสิทธิมีเสียงที่จะวิพากษ์วิจารณ์ ที่จะแสดงความคิดเห็น หากเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม เขามีสิทธิที่จะร้องขอความเป็นธรรม ขอความคุ้มครองจากรัฐ ถ้ายังมีปัญหาอยู่ เขาก็มีสิทธิที่จะร้องเรียน เหมือนกับประชาชนจังหวัดอื่นๆ

ถ้าทุกฝ่ายมุ่งไปในทางนี้ ประชาชนจำนวนมากก็พร้อมที่จะทำให้ความไม่สงบลดน้อยลง ความจำเป็นในการใช้กำลังทหารก็ลดน้อยลง เราจะแก้ปัญหาได้โดยไม่เกิดความสูญเสียมากจนเกินไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net