ความตื่นตัวของคนจนไร้ที่ดินทำกินภาคใต้ เมื่อกระบวนการปฏิรูปที่ดินรัฐล่าช้า

การถือครองที่ดินอย่างไม่เป็นธรรม และการจัดสรรที่ดินไม่เท่าเทียมยังคงอยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน คนรวยเงิน มีอำนาจบาตรใหญ่ในสังคมเพียงจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับสัดส่วนของคนส่วนใหญ่ของประเทศ

กลับเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ถือครองที่ดินเป็นเนื้อที่จำนวนมหาศาลตั้งแต่หลายร้อยจนถึงหลายหมื่นหรือหลายแสนไร่ ซึ่งที่ดินที่ถูกถือครองเป็นจำนวนมากเหล่านั้น อาจมีทั้งได้รับรองกรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย หรือบางแห่งถูกแอบอ้างถือกรรมสิทธิ์ แต่ไม่ได้หมายความว่ามีความชอบธรรมในการถือครองเสมอไป ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเป็นจำนวนมากเป็นผู้ไร้ที่ดินทำกิน – ไร้ที่ดินซึ่งเป็นปัจจัยและต้นทุนพื้นฐานในการผลิตเพื่อการยังชีพของมนุษย์

 

ปฏิรูปจัดสรรที่ดินทำกิน – กระบวนการแก้ปัญหาความยากจนที่ล่าช้า

เมื่อพูดถึงเรื่องการผลักดันการจัดสรรที่ดินทำกินเพื่อคนจน เฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ภูมิภาคที่มีครัวเรือนที่ไร้ที่ดินทำกินร้อยละ 10.71 ของครัวเรือนเกษตรทั้งหมดทั่วประเทศ (สถิติปี 2544/2545 เฉพาะในเขตปฏิรูปที่ดิน 69 จังหวัด) ในขณะที่เนื้อที่ของภาคใต้มีจำนวนน้อยที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับภาคอื่น คือ 19.139 ล้านไร่1 ที่ผ่านมาภาคประชาชนภาคใต้ ในนามเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจนภาคใต้ มีความพยายามต่อสู้เรียกร้องสิทธิในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนับตั้งแต่มีมติ ครม. 16 สิงหาคม 2546 ว่าด้วยเรื่องการจัดสรรที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้กับเกษตรกรที่ไม่มีที่ทำกิน โดยจะต้องจัดสรรที่ดินในพื้นที่ดังกล่าวให้กับชาวบ้านครอบครัวละไม่เกิน 10 ไร่ 2

 

นับตั้งแต่ตอนนั้น ประชาชนเริ่มดำเนินการตรวจสอบที่ดินสวนป่าที่มีปัญหาร่วมกับหน่วยงานรัฐบาล โดยผลการตรวจสอบสัญญาเช่าสวนป่าของคณะทำงานฝ่ายเครือข่ายประชาชน และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารโดยอาศัยอำนาจการบังคับใช้ตาม พรบ.ข้อมูลข่าวสาร พ.. 2540 พบว่า มีพื้นที่สวนป่าและพื้นที่เช่าที่เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ที่รัฐเปิดให้บริษัทเอกชนทั้งคนไทยและต่างชาติเช่ากว่า 200,000 ไร่ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และมีกว่า 80,000 ไร่ ในจังหวัดกระบี่ สำหรับรายละเอียดของการเช่าพื้นที่ป่าทำสวนป่าของเอกชน พบว่ามีพื้นที่ป่าไม้ที่มีการเช่าตั้งแต่ 200 ไร่ และได้หมดสัญญาเช่าแล้วในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีจำนวน 60,043 ไร่ 6 งาน จังหวัดกระบี่ จำนวน 57,738 ไร่ 1 งาน 30 ตารางวา3

 

อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กระบวนการผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเพื่อคนจนยังคงติดขัด เงียบจ้อย ไม่มีความคืบหน้า กระทั่งล่าสุด ประชาชนในเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจนภาคใต้ อ. ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี กว่า 2,000 คน รุดเดินหน้าลงมือตรวจสอบที่ดินที่มีหลักฐานชี้ชัดแล้วว่าเป็นที่ดินซึ่งสิ้นสุดสัญญาการให้เช่าสวนป่าจากรัฐบาล คือ แปลงพื้นที่ อ.ชัยบุรี นอกจากนี้ แปลงที่ดินดังกล่าว ยังเป็นพื้นที่ซึ่งถูกระบุให้เป็นแปลงจัดสรรที่ดินนำร่องเพื่อคนจนในการออกมติ ครม. 16 สิงหาคม 2546 อีกด้วย

 

เมื่อกระบวนการภาครัฐอืดอาด ไม่มีทีท่าขยับเขยื้อนไปไหน แม้จะมีการตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาการตรวจสอบแนวเขตที่ดินมาตั้งแต่ปี 2546 ก็ตาม แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้แต่อย่างใด การลุกขึ้นมาเดินหน้าผลักดันการตรวจสอบที่ดินหมดสัญญาเช่าโดยภาคประชาชนเอง จึงเป็นการแสดงเจตจำนง ความต้องการของประชาชนที่ไม่หวังรอเก้อฝ่ายรัฐบาลอยู่ข้างเดียว หรือพึ่งแต่รัฐให้เป็นหัวที่ไม่รู้เมื่อไหร่จะขยับ

 

นายวิริยา ชุมทอง คณะทำงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจนภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า จากมติ ครม. 16 สิงหาคม 2546 มีนโยบายในการแก้ไขปัญหาความยากจน และมีประเด็นสำคัญประการหนึ่งในมติ ครม. ซึ่งระบุถึงการนำที่ดินมาปฏิรูปจัดสรรใหม่ ให้กับประชาชน คนจนไร้ที่ดิน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จึงเริ่มมีการดำเนินการตรวจสอบแปลงที่ดินหลายแปลงในพื้นที่นำร่องการปฏิรูปจัดสรรที่ดินใน จ. สุราษฎร์ธานี เช่น อ. ชัยบุรี และ อ.พานทอง

 

ทั้งนี้ พื้นที่ อ.ชัยบุรี และ อ.พานทอง ประชาชนเสนอให้เป็นพื้นที่นำร่องในการจัดสรรปฏิรูปใหม่นั้น จากการติดตามสืบค้นข้อมูลของภาคประชาชน พบว่า นับตั้งแต่พื้นที่ดังกล่าว เป็นป่าที่หมดสภาพจากการสัมปทานทำไม้แล้ว ต่อมา มีกลุ่มทุนต่างประเทศหนึ่งแห่งร่วมหุ้นกับทุนไทยประมาณ 4-5 แห่ง เข้ามาขอเช่าพื้นที่กับกรมป่าไม้เพื่อวางแผนปลูกปาล์มน้ำมัน แต่เมื่อไม่ได้พื้นที่เช่าตามต้องการ ทุนต่างประเทศก็ขอถอนทุนและมีการขอยกเลิกสัญญาเช่าไปเมื่อปี 2531 หลังจากนั้น พื้นที่บริเวณดังกล่าวถูกส่งมอบจากกรมป่าไม้มาให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร (สปก.) ดำเนินการปฏิรูปให้ประชาชนใช้ประโยชน์ ตั้งแต่ปี 2537 ในขณะที่ทุนไทยที่เหลือยังต้องการใช้พื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน จึงขอยื่นเช่าพื้นที่กับหน่วยงาน สปก. แต่ไม่ได้รับการอนุมัติ เนื่องจาก สปก. ไม่มีนโยบายนำที่ดินนั้นมาให้ประชาชนใช้ประโยชน์ ไม่ได้มีนโยบายเพื่อการให้เช่า

 

พื้นที่ดังกล่าวได้ถูกยกเลิกสัญญาเช่าไปแล้ว ทั้งยังไม่สามารถเปิดให้เช่าได้อีกเพราะเป็นพื้นที่ในความดูแลของ สปก. แต่กลับปรากฏว่า ยังมีการปล่อยให้ทุนเอกชนมาใช้พื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันต่อโดยที่หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องไม่เห็นว่าอะไร และปล่อยให้ชาวบ้านเข้าใจว่าเจ้าของพื้นที่ดังกล่าวยังอยู่ในสัญญาเช่า ซึ่งชาวบ้านเองก็ไม่รู้เลยว่าจริงๆ แล้ว สัญญาเช่าที่ดินนั้นถูกยกเลิกไปนานแล้ว” นายวิริยา กล่าว

 

นายวิริยะ กล่าวต่อว่า ต่อเรื่องนี้ ถ้าหน่วยงานของรัฐหรือผู้ว่าฯ หรือ สปก. เอาจริงกับผู้ประกอบการที่ใช้ที่ดินหมดสัญญาเช่า ตั้งแต่เมื่อครั้งที่ประชาชนเข้าไปตรวจสอบในช่วงปี 2546-2547 แล้วดำเนินฟ้องร้องขับไล่ผู้ประกอบการออกจากที่ดิน ตามหลักฐานที่พิสูจน์แล้วว่าที่ดินนั้นไม่มีสัญญาเช่าก็ย่อมทำได้เลย แต่กลับกลายเป็นว่ากระบวนการปฏิรูปจัดสรรที่ดิน ต้อนให้ประชาชนถอยกลับมาขึ้นทะเบียนคนจนตามนโยบายสมัยรัฐบาล พ... ทักษิณ ชินวัตร เสียก่อน เหมือนเป็นการยื้อเวลาเอาไว้ ทำให้กระบวนการปฏิรูปจัดสรรที่ดินต้องล่าช้าออกไปอีก

 

ลองคิดดูว่าพื้นที่ที่มีต้นปาล์มน้ำมันปลูกเป็นหมื่นๆ ไร่ และมีอายุการให้ผลผลิต 10 ปี แล้ว กำลังเจริญเติบโต สามารถตัดทลายปาล์ม 15 วัน/ครั้ง ได้ปาล์มเป็นแสนๆ ล้านๆ กิโลกรัม จะมีผลประโยชน์มหาศาลแค่ไหน เมื่อประชาชนเอาเรื่องการตรวจสอบที่ดินไปผลักดันกับทาง สปก. หน่วยงานนี้ก็บอกให้ไปหาผู้ว่าฯ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่เราอยากบอกว่าข้อเท็จจริงมันมีอยู่แล้ว และผู้ว่าฯ เองก็ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบที่มาจากทั้งภาคประชาชน และหน่วยงานของรัฐ ป่าไม้ และทุกส่วน ซึ่งเมื่อตรวจสอบกันแล้วก็พบว่า พื้นที่ดินตรงนั้นไม่มีสัญญาเช่าจริงๆ คนที่เข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่นั้นก็ทำผิดกฎหมายและทำผิดตามนโยบายมติ ครม. เมื่อปี 2546 ที่ให้เอาพื้นที่หมดสัญญาเช่า พื้นที่บุกรุกครอบครองโดยไม่มีสัญญาเช่า เข้าสู่กระบวนการปฏิรูปจัดสรรที่ดิน แต่จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ การดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ดินนี้ก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้าเลย ” นายวิริยา กล่าว

 

ประชาชนรุกติดตาม ตรวจสอบ ผลักดันการจัดสรรปฏิรูปที่ดิน

การเข้ามาดำเนินการตรวจสอบที่ดินหมดสัญญาเช่าซึ่งมีการปลูกสวนปาล์มน้ำมันหลายหมื่นไร่ เคยทำให้ชาวบ้านที่เข้าร่วมกระบวนการตรวจสอบที่ดินถูกเหมารวมว่าเป็นผู้บุกรุกที่ดินเอกชน ถูกดำเนินคดี ถูกสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ แต่พอสลายการชุมนุมผ่านพ้นไปแล้ว ราวกับทุกอย่างเงียบหายไปเลย ไม่มีคำถามต่ออีกว่าพื้นที่ที่ชาวบ้านเข้าไปตรวจสอบนั้นแท้จริงแล้วมีสัญญาเช่าจริงหรือไม่ เมื่อไม่ถามต่อ ไม่ตรวจสอบหาข้อเท็จจริงต่อ การปฏิรูปจัดสรรที่ดินให้กับคนจนตามนโยบายที่รัฐบอกว่าจะดำเนินการจึงไม่เดินหน้า ส่วนชาวบ้านอีกจำนวนไม่น้อยก็ถูกตราหน้าแบบเหมาเอาว่า ‘โลภอยากได้ที่ดินคนอื่น’ เป็นอย่างนั้นทั้งหมดเลยจริงหรือ?

 

นายวิริยา กล่าวว่า คนที่จะเข้ามาสู่กระบวนการขอรับการปฏิรูปจัดสรรที่ดินตามมติ ครม. 16 .. 2546 ต้องมีคุณสมบัติพื้นฐานอย่างน้อยตามรายละเอียดของมติ ครม. ระบุไว้ อาทิเช่น 1. พื้นฐานต้องเป็นคนจนและต้องไม่มีที่ดินทำกินจริง 2. มีความตั้งใจจริงในการใช้ที่ดิน หรือประกอบอาชีพการเกษตร 3. ต้องใช้ที่ดินเพื่อเป็นทุนในการพัฒนาสู่ความเป็นอยู่ของตนเอง ไม่ใช่มาเข้าร่วมกระบวนการเพื่อให้ได้ที่ดินมาแล้วเอามาแปลงเป็นทุนหรือเอาไปขายต่อ ดังนั้น ชาวบ้านเองก็ต้องทำความเข้าใจและมีความเข้าใจที่ชัดเจนในเรื่องนี้ด้วย

 

นอกจากนี้ พื้นที่ที่ประชาชนเข้าไปดำเนินการตรวจสอบรังวัด ปัจจุบันเป็นสวนปาล์มน้ำมันที่เอกชนปลูกไว้เป็นหมื่นไร่แล้ว ทำให้เกิดข้อครหาและกังขาว่าประชาชนที่เข้าไปตรวจสอบรังวัดนั้น กระทำการละเมิดสิทธิ์ บุกรุกที่ดินเอกชน และต้องการผลประโยชน์จากสวนปาล์มหรือไม่? ตนอยากจะบอกว่าจุดประสงค์และเจตจำนงในการเข้าไปตรวจสอบที่ดินของพวกเรา ไม่ได้เป็นไปเพื่อเอาสวนปาล์มน้ำมัน แต่เป็นไปเพื่อต้องการให้นำที่ดินหมดสัญญาเช่าคืนมาทำการจัดสรรใหม่ให้กับคนจนไร้ที่ดิน

 

ส่วนผลอาสินต้นปาล์มน้ำมันในที่ดินหมดสัญญาเช่านั้น มีการพูดคุยเรื่องนี้ในระดับจังหวัดแล้ว โดยผู้ประกอบการเคยเสนอให้รัฐช่วยเวนคืนผลอาสินที่ปลูกอยู่ในพื้นที่ ต่อเรื่องนี้ผู้ว่าฯ ได้ตอบว่า หากเป็นกระบวนการใช้ที่ดินที่รัฐต้องการนำกลับคืน ก็สามารถเวนคืนตามกฎหมายเวนคืนได้ แต่ในเมื่อพื้นที่ตรงนั้นเป็นที่ดินเช่าซึ่งหมดสัญญาเช่าไปแล้ว ถือว่าผู้ประกอบการทำผิดกฎหมาย และทำผิดตามมติ ครม. ที่ให้นำที่ดินนั้นเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปจัดสรร ทั้งนี้ ที่ดินซึ่งหมดสัญญาเช่าไปแล้วนั้น หากผู้ประกอบการรู้อยู่แล้วแต่ยังคงดำเนินการปลูกผลอาสินต่อ ก็นับเป็นการบุกรุกที่ดินของรัฐ ต้องจัดการทรัพย์สินของตนเอง จะเอาไปทำลาย หรือถอนไปเองก็ได้ แต่จะมาเรียกร้องค่าเสียหายจากคนอื่นไม่ได้ เพราะได้หมดสัญญาเช่า ทั้งยังผิดกฎหมายไปแล้ว

 

นายวิริยา กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การที่ประชาชนเข้าทำการรังวัดที่ดิน ดำเนินการจัดทำแผนชุมชนครั้งนี้ เป็นการผลักดันกระบวนการทำงานเรื่องที่ดินของรัฐ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง เพราะในส่วนที่ภาคประชาชนรับผิดชอบเราดำเนินการต่อได้เลย เช่น การแบ่งสรร จัดสรรที่ดินตามมติ ครม. เราเดินหน้าทำแผนชุมชนที่อยู่อาศัย เนื่องจากที่ผ่านมาฝ่ายรัฐอ้างว่าไม่มีงบประมาณลงมาทำ ดังนั้น ประชาชนก็จะทำเรื่องนี้ให้เลย เพราะเรามีภูมิปัญญาของชาวบ้านที่สามารถรังวัดจัดการเรื่องนี้ได้ จากนั้นจึงค่อยให้รัฐเข้ามาดูอีกครั้งว่าตามที่ประชาชนดำเนินการรังวัดจัดสรรที่ดิน และทำแผนชุมชนไปนั้น มีความถูกต้องตามขั้นตอนหรือไม่ เช่น ที่ดิน 10 ไร่ ที่ราชการวัด กับ 10 ไร่ที่ชาวบ้านวัด เท่ากันหรือไม่ ต้องเอามาเปรียบเทียบดูกัน

 

ทั้งนี้ การเข้ามาทำการตรวจสอบ ดำเนินการรังวัดที่ดินหมดสัญญาเช่าใน อ.ชัยบุรี ครั้งล่าสุดนี้ มีประชาชนเข้าร่วมดำเนินการกว่า 2,000 คน โดยล่าสุดสามารถดำเนินการตรวจสอบรังวัดได้ประมาณ 50% แล้ว จากพื้นที่ประมาณ 10,000 กว่า ไร่ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในแปลงแรกในเดือนธันวาคม 2551 นี้ ซึ่งพื้นที่ที่เข้าไปดำเนินการ ผู้ประกอบการรู้อยู่แล้วว่าตัวเองเข้ามาครอบครองในพื้นที่ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย มีหลักฐานชัดเจนว่าเป็นพื้นที่หมดสัญญาเช่าแล้ว อีกทั้งเป็นพื้นที่ตามมติ ครม. 16 .. 2546 ที่ให้นำมาจัดสรรปฏิรูป โดยให้ราชการนำเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบแล้ว

 

โดยเบื้องต้นพี่น้องประชาชน ลงมือเดินหน้าทำการรังวัดไปเรื่อยๆ เช่น ทำแผนชุมชน แบ่งพื้นที่ในการใช้งานที่ดิน เป็นเขตที่อยู่อาศัย และที่ทำกิน โดยวางโครงสร้างชุมชนเอาไว้ก่อน จากนั้นจึงค่อยเสนอแผนนี้ให้ราชการไปพิจารณานำเอาไปต่อยอด ใช้ได้หรือไม่ก็ต้องมาร่วมกับปรับพิจารณากันอีกที เพราะขณะนี้พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในช่วงสุญญากาศ กล่าวคือ เป็นพื้นที่ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาจัดสรรที่ดิน

 

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากชาวบ้านจะโดนข้อครหาในเรื่องนี้ ก็อาจจะในแง่การบุกรุกพื้นที่รัฐ แต่ไม่ได้ไปบุกรุกพื้นที่ของนิติบุคคลแน่นอน แต่เรายังเป็นห่วงว่าจะมีกระบวนการทำให้การปฏิรูปที่ดินล่าช้าออกไปอีก โดยที่ฝ่ายราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการฟ้องศาลเพื่อขับไล่ประชาชนออกจากพื้นที่ไปก่อน จะเป็นการชะลอการปฏิรูปที่ดินให้ช้าออกไปอีก ดังนั้นช่วงนี้เราจึงต้องการเร่งดำเนินการเรื่องนี้ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพราะหากมีรัฐบาลใหม่เมื่อไหร่เราก็หวังว่าจะนำเรื่องนี้เข้าเสนอ หรือไม่ก็เป็นการรวมพลังใหญ่อีกครั้งหนึ่งเพื่อเสนอเป็นมติ ครม. ในปี 2552 ให้มีการดำเนินการจัดสรรปฏิรูปที่ดินให้คนจนไร้ที่ดินทำกินให้ได้” นายวิริยา กล่าว

 

นายวิริยา กล่าวย้ำอีกว่า เป้าหมายเราไม่ใช่ตรวจสอบที่ดินแค่แปลงเดียว ยังมีที่ดินในภาคใต้อีกหลายแปลงที่มีสถานะคล้ายคลึงกัน คือ หมดสัญญาเช่า ทำผิดกฎหมาย ดังนั้น ประชาชนจะดำเนินการตรวจสอบต่อไปอีก เพื่อให้นำที่ดินเหล่านั้นมาเข้ากระบวนการปฏิรูปจัดสรรใหม่ให้คนจนไร้ที่ดิน ทั้งนี้ ตนคิดว่า หากรัฐร่วมดำเนินการแก้ปัญหาการจัดสรรที่ดินทำกินได้จริง ก็หมายความว่ารัฐไม่ต้องไปเวนคืนพื้นที่ ไม่ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณ แต่หยุดสัญญาเช่าของผู้ประกอบการ นี่คือแนวทางการปฏิรูปที่ดินให้คนจนไร้ที่ดินอย่างเป็นธรรม ทั่วถึง และเท่าเทียม ที่ควรจะเป็น

 

ธนาคารที่ดินชุมชน กติการ่วมใช้ที่ดิน – ป้องกันที่ดินหลุดลอยจากชุมชน

นายวิริยา กล่าวว่า การผลักดันให้มีการปฏิรูปจัดสรรที่ดินเพื่อคนจนไร้ที่ดิน ไม่ใช่เพียงแค่ได้ที่ดินมาแล้วทุกอย่างก็จบ แต่ทุกคนที่เข้ามารับการจัดสรรที่ดินต้องมีแผนร่วมกันในการถือครองที่ดินของชุมชนร่วมกัน ซึ่งเรามีแนวคิดว่าจะตั้งธนาคารชุมชนขึ้นมาดูแลคนที่ได้รับที่ดินจัดสรร หากใครไม่อยากใช้ที่ดินทำการเกษตรแล้ว ธนาคารชุมชนจะทำหน้าที่ซื้อที่ดินนั้นไว้เพื่อพิจารณามอบให้หรือขายให้กับคนจนไรเที่ดินทำกินรายอื่นต่อไป เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ที่ดินหลุดมือสู่กลุ่มทุนธุรกิจ เป็นวงจรซ้ำซากอย่างที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่

 

แผนการในอนาคตที่เราคิดกันคือ การทำโฉนดชุมชนในระยะ 3-5 ปีแรก โดยมีการจัดสรรที่ดินออกเป็นแปลงๆ ของแต่ละครอบครัว แต่ขณะเดียวกันที่ดินทั้งหมดของชุมชนนั้นต้องกำหนดกติกาการใช้ร่วมกัน เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าเราไม่ได้เรียกร้องให้จัดสรรที่ดินเพื่อเอามาเป็นประโยชน์ของปัจเจกอย่างเดียว แต่คนในชุมชนต้องมีวิธีการในการป้องกันการเปลี่ยนถ่ายที่ดินไปสู่คนอื่นให้ได้ เพราะเราไม่สามารถบังคับใครได้ว่าจะประกอบอาชีพอะไร แต่เมื่อคนที่ได้รับที่ดินจัดสรรมาแล้ว ต้องการเปลี่ยนไปประกอบอาชีพอื่น ไม่อยากทำอาชีพเกษตร ก็ต้องคืนที่ดินไว้ให้กับชุมชน” นายวิริยา กล่าว

 

นายเพียรรัตน์ บุญฤทธิ์ ชาวบ้าน อ.ชัยยา สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจนภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ปัจจุบันตนประกอบอาชีพรับจ้างกรีดยางพาราเป็นหลัก ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง แต่มีที่ดินประมาณ 1 ไร่ เศษ ได้รับการตกทอดต่อมาจากบรรพบุรุษใช้เป็นที่อยู่อาศัยเท่านั้น ทั้งนี้ เหตุผลในการขอรับการจัดสรรที่ดินทำกิน เนื่องจากปัจจุบันต้องทำงานรับจ้างเป็นหลัก ค่าใช้จ่ายไม่เพียงพอในการดูแลสมาชิกในครอบครัว ดังนั้น หากได้รับที่ดินจัดสรร เหมือนกับเรามีทุกอย่างเพราะมีที่ดินแล้วก็เหมือนเป็นทุนการผลิตทางอาหาร และสร้างรายได้เลี้ยงดูครอบครัวได้

 

เราพูดคุยวางแผนกันในกลุ่มสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจนฯ ว่า ถ้าวันหนึ่งวันใดได้รับการจัดสรรที่ดินแล้ว จะไม่ทำเกษตรแบบเชิงเดี่ยว แต่จะทำการเกษตรแบบผสมผสาน เพราะจะได้มีพืชอาหารหลากหลายกินได้ ซึ่งส่วนตัวผมเอง ที่ผ่านมาก็ได้ไปเรียนรู้แนวทางการทำเกษตรพอเพียง สามารถนำความรู้ตรงนี้มาถ่ายทอดให้กับสมาชิกกลุ่มได้ อีกอย่าง การมีที่ดินทำกินจะเป็นทุนการผลิตทางอาหาร ทั้งรายได้ เป็นเรื่องสำคัญมากๆ ที่คนเราควรมีที่ดินทำกิน” นายเพียรรัตน์ กล่าว

 

ต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่า ในภาพรวมของทั้งประเทศที่ยังไม่มีกฎหมายหรือข้อกำหนดที่ชัดเจนใดมาจำกัดการถือครองที่ดิน โดยการเก็บภาษีมรดกที่ดิน หรือมีกฎหมายและภาษีอย่างอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันไม่ให้มีการครอบครองที่ดินของคนกลุ่มหนึ่งมากจนเกินไป และเพื่อไม่ให้ปัจเจกบุคคลใดมีการสั่งสมทุนที่ดินไว้สร้างความมั่งคั่งส่วนตัวไปจนชั่วกาลนาน การจะก้าวไปให้ถึงจุดหมายการปฏิรูปที่ดินเพื่อหวังให้คนทุกคนมีต้นทุนพื้นฐานในการพึ่งพาชีวิตอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และเป็นธรรมอย่างแท้จริงนั้น ก็ยังต้องผ่านอุปสรรคขวากหนามอีกมาก อย่างไรก็ตาม เชื่อแน่นอนว่าการปฏิรูปที่ดินเพื่อก้าวไปให้ถึงจุดนั้น ต้องเริ่มต้นจากชุมชนในระดับฐานล่าง ร่วมกันสร้างแนวทางที่ชัดเจนในการดูแลที่ดินเพื่อให้ชุมชนและตนเองอยู่รอดได้อย่างมีเสถียรภาพและยืนยาว


ข้อมูลอ้างอิง

1 เปิดโปงความจริงการตรวจสอบสัญญาเช่าสวนป่า, โดย เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจน ภาคใต้ หน้า 14 (พิมพ์ครั้งแรก 2549)

2 ชาวสุราษฎร์ฯ พึ่งศาลเมืองคอน ฟ้อง “ธนารักษ์สุราษฎร์” หมกเม็ดจัดสรรที่ดิน, ผู้จัดการออนไลน์ อ้างใน http://www.cityvariety.com/cv4/modules/news_surat/index.php?newsid=2335 (ค้นเมื่อ 15 .. 2551)

3 เปิดโปงความจริงการตรวจสอบสัญญาเช่าสวนป่า, โดย เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจน ภาคใต้ หน้า 15-16 (พิมพ์ครั้งแรก 2549)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท