Skip to main content
sharethis

 
แรงงานไทรอัมพ์ฯ ไป บีโอไอ เจรจาแก้ปัญหาถูกเลิกจ้าง

เมื่อวันที่ 13 ก.ค.52 ที่ผ่านมา เวลา 9.00 น.พนักงานและสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ นักศึกษาและองค์กรเพื่อนมิตร กว่า 1,000 คน ได้ทยอยกันมารวมตัวกันบริเวณหน้าหน้าสวนรถไฟ ตรงข้ามห้างเซ็นทรัลลาดพร้าว ถนนวิภาวดีรังสิต หลังจากนั้นเวลาประมาณ 11.00 น.ได้เคลื่อนขบวนไปยังหน้าสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ใกล้กับตึก ปตท.เพื่อขอคำชี้แจงและเรียกร้องให้ บีโอไอ มารับผิดชอบกรณีบอร์ดบีโอไออนุมัติ ไทรอัมพ์ทุ่ม 75 ล้าน ขยายฐานการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป (ตามข่าวแนวหน้า ฉบับวันอังคารที่ 8 กรกฎาคม 2551) จนเป็นเหตุให้นายจ้างย้ายฐานการผลิตไปที่ จ.นครสวรรค์ส่งผลให้เกิดการเลิกจ้าง 1,956 คน

เมื่อถึงบริเวณดังกล่าวได้มีการผลัดกันปราศรัยถึงปัญหาการเลิกจ้าง โดยตัวแทนของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ นอกจากยังมีตัวแทนจากสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) กลุ่มนักศึกษานักกิจกรรมจากมหาวิทยาลัยรามคำแห่ง รวมทั้งตัวแทนจากกลุ่มองค์กรเพื่อนมิตร เช่น สมาพันธสิ่งทอฯ กลุ่มกรรมกรปฏิรูป กลุ่มประกายไฟ เป็นต้น ที่ขึ้นมาร่วมปราศรัยเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นและปัญหาเกี่ยวกับแรงงานไทยในปัจจุบัน พร้อมทั้งให้กำลังใจกลุ่มผู้ใช้แรงงาน

จากนั้นเวลาประมาณ 12.00 น. ตัวแทนของผู้ชุมนุมได้เข้าไปเจรจาในสำนักงาน บีโอไอ โดยมีตัวแทนจากกระทรวงอุตสาหกรรมและ บีโอไอ เข้าร่วมเจรจา ในช่วงแรกประกอบด้วย นายชิตวร วรศักดิ์ รองเลขาธิการ บีโอไอ นายสุรศักดิ์ นาคดี ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม นายวิรัตน์ ศักดิ์จิราพาพงษ์ โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรมฝ่ายการเมือง ต่อมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายชาญชัย ชัยรุ่งเรืองและเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) นางอรรชกา บริมเบิล สีบุญเรือง ได้เข้าร่วมเจรจา โดยระหว่างการพูดคุยนั้นทางตัวแทนของ บีโอไอ ก็กล่าวย้ำถึงงานหลักของ บีโอไอ คือการดึกการลงทุน เพื่อดึงเงินเข้าประเทศและเพื่อให้เกิดการจ้างงานด้วย

ผลการเจรจาได้ข้อสรุปว่า ทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนพร้อมที่จะเปิดเผยข้อมูลและเหตุผลในการส่งเสริมการลงทุนในภายหลังตามขั้นตอน ที่สำคัญทางตัวแทน บีโอไอ และตัวแทนกระทรวงอุตสาหกรรมที่มาเจรจารับปากว่าจะเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหาทางช่วยเหลือ พร้อมทั้งจะพยายามพูดคุยกับนายจ้างให้ทบทวนการเลิกจ้างดังกล่าวภายใน 1 – 2 วันนี้

หลังจากนั้น เวลาประมาณ 14.00 น. เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) นางอรรชกา บริมเบิล สีบุญเรือง นายสุรศักดิ์ นาคดี ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม นายวิรัตน์ ศักดิ์จิราพาพงษ์ โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรมฝ่ายการเมือง ได้ออกมาพร้อมกับตัวแทนเจรจายังที่ชุมนุมด้านหน้าสำนักงานดังกล่าว เพื่อทำการรับหนังสือขอให้ชี้แจงเรื่องสนับสนุนการลงทุน ที่ทางสหภาพฯ มายื่น พร้อมทั้งกล่าวทักทายผู้ชุมนุมและให้คำยืนยันว่าจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหา และจะมีการพูดคุยกับนายจ้างเพื่อให้ทบทวนเรื่องการเลิกจ้าง ท่ามกลางสายฝนที่โปรยปรายมาก่อนหน้านี้เป็นเวลาพักใหญ่

หลังจากนั้นผู้ชุมนุมก็สลายการชุมนุม โดยส่วนหนึ่งทยอยกลับไปยังที่ชุมนุมบริเวณหน้าโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมบางพลีกับเพื่อนที่ยังปักหลักชุมนุมอยู่ตลอดต่อไป
 
00000
 
เรียน     ประธานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
 
            สิ่งที่ส่งมาด้วย    - สำเนาข่าวการส่งเสริมการลงทุน
                                    - แผ่น CD บันทึกเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการลงทุนไปสนับสนุนบริษัทฯในระหว่างการชุมนุมกรณีเลิกจ้างประธานสหภาพแรงงานฯ วันที่ 22 สิงหาคม 2551
 
            ตามที่บริษัทบอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ บริษัทไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล ตั้งอยู่ที่ 393 หมู่ 17 นิคมอุตสาหกรรมเมืองใหม่บางพลี ต.บางเสาธง อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ ประกอบกิจการอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้า ผลิตชุดชั้นใน และชุดว่ายน้ำ ยี่ห้อไทรอัมพ์ วาเลเซีย สล๊อคกี้ AMO HOM ได้มีการประกาศเลิกจ้างคนงานเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2552 ทั้งหมด 1,959 คน เป็นจำนวน 50% ของคนงานทั้งหมดที่ โรงงานบางพลีให้มีผลการพ้นสภาพการเป็นคนงานของบริษัทบอดี้ฯในวันที่ 31สิงหาคม 2552 และคนงานที่ถูกเลิกจ้างส่วนใหญ่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานฯเป็นอนุกรรมการและกรรมการสหภาพแรงงานฯ ถึง 13 คนจากกรรมการสหภาพแรงงานทั้งหมด 19 คน และมีคนท้อง คนงานวัยใกล้เกษียณคนป่วย คนพิการในการเลิกจ้างครั้งนี้บริษัทฯ ได้อ้างว่า “ต้องการปรับปรุงโครงสร้างค่าใช้จ่ายระยะยาวของไทรอัมพ์ทุกหน่วยงาน จุดมุ่งหมายเพื่อการปรับปรุงประสิทธิภาพโดยรวมขององค์กรให้มีประสิทธิผล ทำให้เกิดความมั่นใจว่าธุรกิจของเรายังคงยืนหยัดอยู่ได้ด้วยความมั่นคงและยังขยายต่อได้เมื่อโอกาสมาถึง” ในขณะที่มีการขยายกำลังการผลิตที่โรงงานที่นครสวรรค์ โดยได้รับการสนับสนุนการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ซึ่งเป็นข่าวหนังสือพิมพ์แนวหน้า สรุปข่าวโลกธุรกิจ ลงวันอังคารที่ 8 กรกฎาคม 2008 ได้รับการส่งเสริมการลงทุน 75.5 ล้านในปัจจุปันโรงงานที่นครสวรรค์มีคนงานถึง 1,000 กว่าคน แต่ไม่มีสหภาพแรงงานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ
 
พวกเราเชื่อว่าการเลิกจ้างครั้งนี้เป็นการทำลายสหภาพแรงงาน ย้ายฐานการผลิตหาแหล่งค่าจ้างราคาถูก เป็นการเลิกจ้างคนงานที่ทำงานให้บริษัทฯมาอย่างยาวนานอายุมาก เพราะการปรับปรุงองค์กรให้มีประสิทธิภาพเพื่อสร้างประสิทธิผลตามที่บริษัทกล่าวอ้างนั้นมีวิธีการที่สร้างสรรค์หลากหลายวิธีมากกว่าการทำลายสหภาพแรงงานด้วยการเลิกจ้างคนงาน 1,959 คน ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้บริษัทก็ไม่ได้มีมาตราการอื่นที่จะสร้างประสิทธิภาพด้วยการปรับปรุงโครงสร้างค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
 
ดังนั้นเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน การส่งเสริมการลงทุนในโครงการต่างๆ เพื่อให้เกิดการจ้างงาน และตามหลักการการขอและการให้การส่งเสริม ตามมาตรา 16 พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 3 พ.ศ.2544 ที่ว่าด้วยกิจการที่คณะกรรมการจะพึงให้การส่งเสริมการลงทุนได้ ต้องเป็นกิจการที่สำคัญและเป็นประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ กิจการผลิตเพื่อส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ กิจการที่ใช้ทุน แรงงานหรือบริการในอัตราสูง เป็นต้น และตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ในมาตรา 83 (7) ส่งเสริมให้ประชากรวัยทำงานมีงานทำ คุ้มครองแรงงานเด็กและสตรี จัดระบบแรงงานสัมพันธ์ และเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐบาลนายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ได้แถลงต่อรัฐสภาในวันที่ 30 ธันวาคม 2551 ในส่วนของมาตรการเร่งด่วนระยะ 1 ปี ในเรื่องของการรักษาและเพิ่มรายได้ของประชาชน ได้เสนอให้ร่วมมือกับภาคเอกชนในการดำเนินมาตรการชะลอการเลิกจ้างและป้องกันการขยายตัวของการเลิกจ้างในภาคอุตสาหกรรมและบริการ ทั้งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดย่อม โดยใช้มาตรการจูงใจเพื่อลดภาระของภาคเอกชนในการชะลอการเลิกจ้างงาน
 
คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดสวัสดิการสูงสุดแก่ประเทศจากงบประมาณที่ได้มาจากภาษีของประชาชนนั้น การส่งเสริมการลงทุนในโครงการต่างๆ นอกจากการวิเคราะห์หรือประเมินผลทางทางด้านการเงินและเทคนิคแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการวิเคราะห์และประเมินผลทางเศรษฐกิจ ที่มองทั้งผลดีผลเสีย เพื่อพิจารณาผลกระทบของโครงการต่อสวัสดิการทางเศรษฐกิจที่อาจวัดในรูปของการเพิ่มรายได้แท้จริงให้กับประเทศโดยส่วนรวม อันจะนำไปสู่ความอยู่ดีมีสุขของประชาชน ซึ่งทางคณะกรรมการฯก็ได้ยืนยันไว้ในพันธกิจว่าต้องมีการวิเคราะห์โครงการการขอรับการส่งเสริมการลงทุน ตรวจสอบและควบคุมตลอดจนประเมินผลการลงทุนตามโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน สิ่งต่างๆเหล่านี้ถือเป็นเงื่อนไขที่เป็นสาระสำคัญในการให้การส่งเสริม ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายสูงสุดและนโยบายของรัฐบาล รวมถึงพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน
 
แต่ผลจากการที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้ส่งเสริมบริษัทฯดังกล่าว อันเป็นต้นเหตุหนึ่งที่ทำให้นายจ้าง ฉวยโอกาสเลิกจ้างพนักงานถึง 1,959 คนย้ายฐานการผลิต และเพื่อหนีสหภาพแรงงานฯและหาแหล่งค่าจ้างราคาถูก ซึ่งขัดกับเงื่อนไขที่เป็นสาระสำคัญในการให้การส่งเสริมข้างต้น ด้วยเหตุนี้สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ จึงขอให้ท่าน   
 
1.ให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเปิดเผยข้อมูลและเหตุผลในการส่งเสริมบริษัทบอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัดและบริษัทไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ตามหลักธรรมาภิบาล และ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ใน ม.74 และ ม.78 (5) ในเรื่อง การจัดทำและการให้บริการสาธารณะเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้ โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงม.3/1 แห่ง พรบ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พรบ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5 ) พ.ศ.2545 มุ่งเน้นให้ส่วนราชการใช้วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติราชการ กล่าวคือ การบริหารราชการเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อการกิจของรัฐ ความมีประสิทธิภาพ ความคุ้มค่าเชิงการกิจแห่งรัฐ และตามพรบ.ข้อมูลข่าวสาร
 
2.คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนต้องให้บริษัทฯที่ได้รับการส่งเสริมรับคนงานกลับเข้าทำงานทันทีและไม่มีการเลิกจ้าง
 
3.เพื่อให้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่เป็นสาระสำคัญในการให้การส่งเสริมข้างต้น การส่งเสริมการลงทุนต้องไม่ให้คนงานได้รับผลกระทบ ถูกเลิกจ้าง เมื่อมีการเลิกจ้างคนงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ต้องหยุดการสนับสนุนบริษัทฯในทุกๆด้านจนกว่าจะมีการรับคนงานกลับเข้าทำงาน
 
4.เพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ต้องการการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน ดังนั้นการส่งเสริมการลงทุนต้องมีมาตรการที่ชัดเจนว่าบริษัทฯได้รับการส่งเสริมการลงทุนต้องไม่มีการเลิกจ้างคนงาน และต้องปฎิบัติตามหลักมาตรฐานหลักมาตรฐานแรงงานสากลและแนวปฏิบัติของบรรษัทข้ามชาติ (OECD Guidelines) ตามหลัก OECD Guidelines for MNEs, CODE OF CONDUCT ของกลุ่มบริษัทไทรอัมพ์ฯ และมาตรฐานแรงงานไทย
 
5.ฉะนั้นสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านจะยอมรับตามข้อเสนอสหภาพแรงงานและเข้ามาแก้ปัญหาการเลิกจ้าง จึงเรียนมาเพื่อให้ท่านดำเนินการ
 
จึงขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้
ขอแสดงความนับถือ
นางสาวบุญรอด สายวงศ์
เลขาธิการสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย
 
สำเนาถึง : นาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี       
    Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD)
    International Labour Organization (ILO)
 
00000
 

บีโอไอแจงจุดยืน ส่งเสริมลงทุนเพื่อให้เกิดการจ้างงาน พร้อมเป็นตัวกลางหาทางออก กรณีเลิกจ้างพนักงานบอดี้แฟชั่น

วันเดียวกัน บีโอไอ ออกข่าวแจกชี้แจงสื่อมวลชนระบุว่า บีโอไอมีจุดยืนการส่งเสริมการลงทุน มุ่งแย่งชิงการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม พร้อมรับข้อเสนอพนักงานบริษัท บอดี้ แฟชั่น ในเครือไทรอัมพ์ เพื่อประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และผู้บริหารบริษัท หวังหาทางออกเรื่องการเลิกจ้างงาน

โดยนายชิตวร วรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เปิดเผยถึงกรณีที่พนักงานบริษัท บอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด จำนวนประมาณ 500 คน ได้ชุมนุมอยู่หน้าอาคารบีโอไอ บนถนนวิภาวดีรังสิต เพื่อเรียกร้องกรณีที่บริษัท เลิกจ้างพนักงานจำนวน 1,959 คน เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2552 ว่า บีโอไอได้หารือกับตัวแทนพนักงาน และรับข้อเสนอของกลุ่มพนักงาน และจะนำไปหารือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และผู้บริหารของบริษัท บอดี้ แฟชั่น เพื่อหาทางออกสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

“แม้ว่า บีโอไอ จะไม่มีอำนาจในการตัดสินเรื่องปัญหาด้านแรงงาน แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บีโอไอก็ได้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการประสานงานกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาด้านแรงงาน ให้กับทั้งฝ่ายลูกจ้างและสถานประกอบการ” รองเลขาธิการบีโอไอกล่าว

สำหรับในช่วงที่ผ่านมา บีโอไอได้ขอความร่วมมือสถานประกอบการ ในการประวิงเวลาการเลิกจ้างงานมาโดยตลอด ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2551 จนถึงต้นปี 2552 นี้ โดยบีโอไอได้ขอร้องให้หลายบริษัท ใช้แนวทางอื่นๆ เช่น ลดวันทำงาน ลดชั่วโมงทำงาน ไม่มีการทำงานล่วงเวลา การเพิ่มวันหยุดจากปกติ ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการหลายกลุ่ม อาทิ กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มผู้ผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน

นายชิตวร กล่าวด้วยว่า ในส่วนของบีโอไอนั้น หน้าที่หลักคือ การส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในประเทศ การที่บีโอไอต้องไปแย่งชิงโครงการลงทุนจำนวนมากกับประเทศคู่แข่ง ก็เพื่อให้เกิดการจ้างงานในประเทศ นอกจากนี้ การเข้ามาลงทุนในไทย ยังก่อให้เกิดการใช้วัตถุดิบและชิ้นส่วนในประเทศ การว่าจ้างบริษัทรับช่วงการผลิตในประเทศ การส่งออกสินค้าไปต่างประเทศการยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทย การพัฒนาฝีมือแรงงาน การวิจัยพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้แก่คนไทย ฯลฯ

“ตลอดระยะเวลากว่า 43 ปี ที่บีโอไอส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในประเทศ พบว่า มีสถิติการจ้างงานของบริษัทที่ได้รับการส่งเสริม จำนวนกว่า 4.1 ล้านคน และยังก่อให้เกิดการจ้างงานทางอ้อม จากการว่าจ้างบริษัทรับช่วงการผลิต บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายวัตถุดิบและเครื่องจักรในประเทศ อีกนับล้านคน” นายชิตวรกล่าว

สำหรับรายละเอียดของการเลิกจ้างพนักงานของบริษัท บอดี้ แฟชั่น ในครั้งนี้ บีโอไอได้รับรายงานจากบริษัทว่า ผู้บริหารของบอดี้ แฟชั่น จะทำการชี้แจงรายละเอียดเอง อย่างไรก็ตาม บีโอไอได้รับรายงานว่า บริษัทในเครือไทรอัมพ์หลายแห่งในต่างประเทศ ต้องปิดกิจการ และลดพนักงานหลายแห่ง เพราะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ทำให้คำสั่งซื้อลดลงมาก อาทิ ที่อินเดียลดคนงานไป 900 คน จากทั้งหมดเกือบ 2,000 คน ที่ฟิลิปปินส์ ปิดโรงงานและปลดพนักงาน 1,500 คน ที่ประเทศจีน ปิดโรงงานและปลดคนงาน 1,000 คน ที่ประเทศอังกฤษ ปิดฝ่ายและบรรจุหีบห่อ ที่ประเทศออสเตรีย ปิดฝ่าย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net