Skip to main content
sharethis


มานูเอล เซลายา (ซ้าย) เดินคู่กับ รองประธานาธิบดีของกัวเตมาลา ราฟาเอล เอสปาดา (ขวา)
ขณะลงจากสนามบินที่ท่าอากาศยาน ลา ออโรรา ในกรุงกัวเตมาลา ซิตี้
[REUTERS/Stringer (GUATEMALA POLITICS)]

เซลายายื่นคำขาด “สิ่งเดียวที่จะเจรจา คือเวลาและท่าทีการลงจากตำแหน่งของผู้นำรัฐประหาร”

เมื่อวันที่ 14 ก.ค. ที่ผ่านมา ออสการ์ อาเรียส คนกลางในการเจรจาระหว่างคู่ขัดแย้งของฮอนดูรัสกำหนดในมีการเจรจากันในวันเสาร์ (18 ก.ค.) ที่จะถึงนี้หลังจากที่การเจรจารอบที่ผ่านมาประสบความล้มเหลวและยังไม่สามารถสร้างความคืบหน้าใด ๆ ได้ ขณะที่มานูเอล เซลายา ประธานาธิบดีฮอนดูรัสผู้ถูกยึดอำนาจ ได้ออกมายื่นคำขาดขอให้มีการนำเขาคืนสู่ตำแหน่ง

เซลายาประกาศยื่นคำขาดในที่ประชุมแถลงข่าวเมื่อวันจันทร์ (13 ก.ค.) ที่ผ่านมา โดยบอกด้วยว่าหาดไม่ดำเนินการตามข้อเสนอของเขาแล้วจะถือว่า "การเจรจาในครั้งนี้ประสบความล้มเหลวและจะมีการใช้มาตรการอื่นตามมา" หลังจากการแถลงข่าวในนิคารากัว มานูเอล เซลายา ก็เดินทางมายังกัวเตมาลาในวันที่ 14 ก.ค. เพื่อเข้าพบกับอัลวาโร โคลอม ประธานาธิบดีฝ่ายซ้ายของกัวเตมาลา

ขณะอยู่ที่กัวเตมาลา เซลายาบอกว่าเขาจะเข้าร่วมการเจรจาอีกครั้งในวันเสาร์นี้

"ผมจะไปที่นั่นพร้อมกับคณะกรรมการเจรจาในช่วงสุดสัปดาห์ (แต่) สิ่งเดียวที่ผมจะเจรจาด้วยคือเวลาและท่าทีการลงจากตำแหน่งของผู้นำรัฐประหาร" เซลายากล่าวในการแถลงข่าว

ขณะเดียวกันออสการ์ อาเรียส ก็ออกมาขอร้องให้เซลายามีความอดทนมากกว่านี้ เขาบอกว่าเขาเข้าใจความรู้สึกของเซลายาว่าอยากจะกลับคืนสู่ตำแหน่งโดยเร็ว แต่จากประสบการณ์ของอาเรียสเองแล้ว เขาบอกว่ามันต้องใช้ความอดทน

โดยจากการเจรจาที่ผ่าน ๆ มารัฐบาลชั่วคราวของมิเชลเลตตียังยืนกรานไม่ยอมคืนตำแหน่งให้เซลายา นอกจากนี้ยังได้กล่าวยืนยันคำเดิมว่าเซลายาถูกขับออกจากตำแหน่งตามกระบวนการกฏหมาย


กลุ่มผู้สนับสนุนเซลายา ชุมนุมกันหน้าสถานฑูตสหรัฐฯ ในกรุงเตกูซิกาลปา วันที่ 14 ก.ค.
[REUTERS/Edgard Garrido (HONDURAS CONFLICT POLITICS)]



ภาพของกราฟิตี้ที่กลุ่มผู้สนับสนุนเซลายาพ่นไว้ตามกำแพงในกรุงเตกูซิกาลปา
[รูปบน REUTERS/Tomas Bravo (HONDURAS CONFLICT POLITICS IMAGES OF THE DAY)]
[รูปล่าง REUTERS/Edgard Garrido (HONDURAS POLITICS CONFLICT)]

ผู้สนับสนุนเซลายา พ่นกราฟิตี่ไล่ผู้นำรัฐประหาร

ในวันที่ 14 ก.ค. มีกลุ่มผู้สนับสนุนเซลายาหลายพันคนเดินขบวนจากมหาวิทยาลัยไปยังสถานฑูตสหรัฐฯ เพื่อเรียกร้องให้ทางการสหรัฐฯ ดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ มากกว่านี้เพื่อบีบบังคับให้รัฐบาลชั่วคราวที่ยึดอำนาจออกจากตำแหน่งไป

"ชาวฮอนดูรัสไม่โง่ มันจะไม่มีอะไรคืบหน้าเลยแม้แต่นิ้วเดียวหากไม่มีการรับรองจากสถานฑูตสหรัฐฯ" อมิลคาร์ เอสปิโนซ่า ผู้ประท้วงรายหนึ่งกล่าว

นอกจากนี้ตามกำแพงรอบที่ทำการประธานาธิบดีในกรุงเตกูซิกาลปา เมืองหลวงของฮอนดูรัส ก็เต็มไปด้วยอักษรกราฟิตี้เป็นสโลแกนต่อต้านมิเชลเลตตี เช่น "ไม่เอารัฐประหาร ออกไปเสีย พิโนเชลเลตตี" ซึ่ง 'พิโนเชลเลตตี' เป็นการเอาชื่อของมิเชลเลตตีไปผสมกับชื่อของอดีตผู้นำเผด็จการของชิลี นายพล ออกัสโต พิโนเชต

ขณะที่เอียน เคลลี่ โฆษกการต่างประเทศของสหรัฐฯ ออกมาบอกว่าเราควรเชื่อถืออาเรียส ในการทำหน้าที่เป็นคนกลางการเจรจา และควรให้เวลากับกระบวนการเจรจาในครั้งนี้โดยไม่ควรกำหนดเส้นตายให้มัน

โดยเซลายาได้กล่าวไว้ว่ารัฐบาลชั่วคราวของเซลายากำลังใช้การพูดคุยเจรจาในครั้งนี้เพียงเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากการปราบปรามการชุมนุมสนับสนุนเซลายาในฮอนดูรัส โดยรัฐบาลชั่วคราวของฮอนดูรัสยังไม่ได้ออกมาตอบโต้ในเรื่องนี้

มีนักวิเคราะห์บางส่วนเห็นว่ารัฐบาลชั่วคราวของฮอนดูรัสเพียงแค่ปล่อยให้เวลาผ่านไปเรื่อย ๆ จนถึงช่วงเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤศจิกายนนี้ ในส่วนของศาตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ของสหรัฐฯ บอกว่าเมื่อมองจากสิ่งที่ประชาชนแสดงออกในตอนนี้แล้ว การเจรจาก็ดูเหมือนยังไม่แสดงผลคืบหน้าอะไร ขณะที่ผู้ทำงานองค์กรภาคประชาชนด้านการพัฒนามนุษย์ในฮอนดูรัสเห็นว่า หากทั้งสองฝ่ายยังไม่เปลี่ยนแปลงทัศนคติ การเจรจาก็จะล้มเหลว

บทบาทคนกลางของปธน.คอสตาริกา จะช่วยชี้ทางออกแก่วิกฤติการเมืองฮอนดูรัสได้หรือไม่?

ใน ทิโก ไทมส์ (Tico Times) หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ของคอสตาริกา ได้ตีพิมพ์เรื่องบทบาทของออสการ์ อาเรียส ในฐานะผู้เป็นคนกลางการเจรจาความขัดแย้งของมิเชลเลตตีและเซลายา โดยมีเอดดูอาโด อูลิบาร์รี นักวิเคราะห์และอดีต บ.ก.หนังสือพิมพ์ La Nacion ของ คอสตาริกา ให้ความเห็นว่าอาเรียสเป็นผู้ที่ได้รับความเชื่อใจจากทั้งสองฝ่าย แม้ว่าในตอนแรกอาเรียสจะประณามการกระทำของฝ่ายรัฐประหารที่ใช้ทหารเข้าไปดำเนินการ แต่ขณะเดียวกันก็มีจุดยืนทางการเมืองห่างจากเซลายา

อูลิบาร์รี่ ให้ความเห็นอีกว่าฝ่ายรัฐประหารในฮอนดูรัสตอนนี้มีภาษีเหนือกว่า แม้ว่าเซลายาจะได้รับการสนับสนุนจากประเทศอื่นๆ แต่ตัวรัฐบาลชั่วคราวของฮอนดูรัสมีความได้เปรียบตรงที่ตอนนี้พวกเขาปกครองฮอนดูรัสอยู่ และยิ่งพวกเขาปกครองอยู่นานเท่าใด ก็จะยิ่งสามารถใช้อำนาจของพวกเขาได้มากขึ้นเรื่อยๆ

ในเรื่องเกี่ยวกับการเจรจาในครั้งนี้ อูลิบาร์รี่เห็นว่า มีโอกาสประสบความสำเร็จอยู่ แต่ ณ ขณะนี้ยังมีโอกาสเพียง 50-50 เท่านั้น

ขณะที่เจสสิกา ฟิกูโรอา (Jessica Figueroa) นักข่าวจากหนังสือพิมพ์ ลา เพรนซ่า ของฮอนดูรัส ให้ความเห็นว่าเขาหวังกับการเจรจาในครั้งนี้น้อยมาก และบอกอีกว่าในความจริงแล้วไม่มีใครคิดว่าอาเรียสจะทำให้การเจรจาหาข้อสรุปร่วมกันได้ "ประธานาธิบดีเซลายา กับประธานาธิบดีมิเชลเลตตี ไม่ใช่เพื่อนกัน จริงอยู่พวกเขาอาจเคยเป็นเพื่อนกันแต่มันก็จบลงอย่างย่ำแย่...เซลายาและมิเชลเลตตีต่างก็หนักแน่นในจุดยืนของตัวเอง ไม่มีใครคิดว่าพวกเขาจะยอมโอนอ่อนตามใคร"

ขณะที่แฟรงค์ แมคเนล อดีตเอกอัครราชฑูตสหรัฐฯ ในคอสตาริกา เห็นสนับสนุนกับการที่สหรัฐฯ มอบหมายหน้าที่คนกลางให้กับออสการ์ อาเรียส บอกว่าเขาเป็นผู้ที่เหมาะสมที่สุดในเขตซีกโลกตะวันตก เนื่องจากเขาเป็นผู้ที่มีประสบการณ์และเป็นนักฟังที่ดี

ในเรื่องผลสัมฤทธิ์ของการเจรจา แมคเนลเห็นว่า แม้ทั้งคู่จะมีความไม่ลงรอยกันอยู่มาก แต่หากการเจรจาจะประสบความสำเร็จได้ ทั้งสองต้องยอมแพ้ ไม่มีใครเป็นผู้ชนะ "ผู้ชนะรายเดียวคือประชาชน ...ซึ่งหมายความว่าทั้งคู่ (เซลายาและมิเชลเลตตี) จะต้องถอยออกจากตำแหน่งในขณะนี้ของพวกเขาไป" แมคเนลกล่าว

ที่มา แปลและเรียบเรียงจาก

Give talks a chance, U.S. tells Honduras rivals , Sarah Grainger , Reuters , 14/07/2009

Talks to end Honduras' crisis to resume Saturday , FREDDY CUEVAS , 14/07/2009

Arias Mediates Conflict , Chrissie Long , Tico Times ,  09/07/2009

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net