Skip to main content
sharethis

ตั้งแต่เดือน ม.ค. – พ.ค. คนงานถูกเลิกจ้างไปแล้ว 84,876 คน โดยแรงงานภาคอิเล็กทรอนิกส์ที่โดนไปกว่า 20,923 คน ล่าสุด แรงงานหลายแห่งออกมาเรียกร้องปัญหาการเลิกจ้าง ไม่ว่าจะเป็นคนงานไทยอินเตอร์เนชั่นฟูต คนงานฟูจิตสึ และคนงานเซฟทีคัท

คนงานไทยอินเตอร์เนชั่นฟูตยื่นฟ้องเรียกร้องเงินชดเชยจากการที่บริษัทเลิกจ้างงาน
16 ก.ค.52 - ที่ศาลแรงงานภาคที่ 9 สงขลา ลูกจ้างบริษัทไทยอินเตอร์เนชั่นฟูต จำกัด จำนวน 160 คน เดินทางมาที่ศาลฯ เพื่อยื่นฟ้องกับบริษัทไทยอินเตอร์ฯ เรียกร้องเงินชดเชยจากการที่บริษัทเลิกจ้างงาน ซึ่งสร้างความเดือดร้อนกับคนงาน ไม่มีงานทำและทางบริษัทไม่ได้จ่ายค่าชดเชย โดยอ้างว่าทางบริษัทไม่มีเงินจ่ายให้คนงาน และให้ไปหางานใหม่ทำกันเอง โดยบริษัทไม่รับผิดชอบ ทำให้คนงานไม่มีทางออกจึงเดินทางขอความเมตตาจากศาลแรงงาน

 
คนงาน "ฟูจิตสึ" ลุกฮือชุมนุมใหญ่ เกรงการขายหุ้นให้โตชิบ้าจะกระทบกับพนักงาน
เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 52 ที่ผ่านมา พนักงานบริษัท ฟูจิตสึ (ประเทศไทย)จำกัด ผู้ผลิตอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ จำนวน 2,000 คน รวมตัวหน้าโรงงานเลขที่ 60/90 นิคมอุตสาหกรรมนวนคร ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เรียกร้องขอความเป็นธรรมจากนายจ้างหลังจากทราบข่าวบริษัทฟูจิตสึขายหุ้นให้กับบริษัท โตชิบา ประเทศไทย จำกัด เกรงจะมีผลกระทบกับพนักงาน
 
นายณรงค์ อรุณประเสริฐ อายุ 37 ปี แกนนำประท้วง เปิดเผยว่า เมื่อบริษัทฟูจิตสึควบรวมกิจการกับบริษัทโตชิบา จะเปลี่ยนแปลงคณะผู้บริหารบริษัทภายหลังวันที่ 1 สิงหาคม อาจมีผลต่อสวัสดิการและเวลาการทำงาน คนงานจะเสียเปรียบทางบริษัท โดยเฉพาะเวลาทำงาน ที่แต่เดิม เริ่มงานเวลา 07.00 น. เลิกงานเวลา 15.00 น. และถ้าเลยจากนั้นไปได้ค่าล่วงเวลาหรือโอเวอร์ไทม์ (โอที) วันละ 4 ชั่วโมง แต่ภายหลังจากควบรวมกิจการ ต้องทำงานตั้งแต่เวลา 07.30-16.30 น. แต่คิดค่าล่วงเวลาให้เพียงวันละ 2 ชั่วโมง
 
นายณรงค์กล่าวว่า ยื่นข้อเสนอจำนวน 5 ข้อต่อผู้บริหาร คือ 1.ขอชั่วโมงทำงานของพนักงานให้กลับมาเหมือนเดิม 2.ยกเลิกการทำงานเหลื่อมเวลา คนงานต้องมาทำงานทดแทน 3.ให้บริษัทฟูจิตสึ จ่ายค่าชดเชย แล้วนับอายุงานใหม่เมื่อเริ่มงานกับทางโตชิบา 4.พนักงานทุกคนที่ร่วมเรียกร้องสิทธิจะไม่มีความผิดทุกประการ 5.ขอคำตอบจากผู้บริหารภายในวันที่ 15 กรกฎาคม แล้วพนักงานจะกลับไปทำงานตามเดิม
 
นายสุวิทย์ สุมาลา สวัสดิการคุ้มครองแรงงานจังหวัดปทุมธานี เปิดเผยว่า นายนรชัย โกยแก้วพริ้ง รองประธานบริษัท ฟูจิตสึ (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมผู้บริหารชาวญี่ปุ่นเจรจากับตัวแทนฝ่ายลูกจ้างในเรื่องสิทธิประโยชน์ ทั้งนี้ บริษัทฟูจิตสึยังไม่เปลี่ยนแปลงชื่อบริษัท
 
คนงานเซฟทีคัท เรียกร้องร้องความเป็นธรรมหน้าโรงงาน หลังถูกเลิกจ้าง
วันเดียวกัน (15 ก
.ค. 52) ที่ จ.ชัยนาท เมื่อเวลา 11.00 น. พนักงานโรงงานเซฟทีคัทของบริษัท ซี.เอส.เอฟ ที คัท จำกัด จำนวน 241 คน รวมตัวเรียกร้องขอความเป็นธรรมจากนายจ้าง หลังจากมีคำสั่งให้พนักงานพ้นสภาพการจ้างงานตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคมเป็นต้นมา โดยชุมนุมบริเวณโรงงานเลขที่ 52 หมู่ 12 ต.โพงาม อ.สรรคบุรี
 
นายมนัส ชุบชื้น ประธานสหภาพแรงงานบริษัท ซี.เอส.เอฟ ที คัท กล่าวว่า นายจ้างมีคำสั่งให้เลิกจ้างพนักงานโดยไม่จ่ายค่าชดเชยใดๆ กับพนักงานจำนวน 241 คน นายจ้างอ้างเหตุพนักงานทั้งหมดผละงานละทิ้งหน้าที่ คำสั่งดังกล่าวสร้างความเดือดร้อน พนักงานขอเจรจาแต่นายจ้างเพิกเฉย อีกทั้งยังตัดสวัสดิการต่างๆ และลดเวลาการทำงาน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชวาล โสตถิวันวงศ์ ประธานกรรมการบริหารบริษัทซี.เอส.เอฟ ที คัท ขอให้พนักงานที่รวมตัวหน้าโรงงานเปิดทางให้เข้าไปตรวจสอบอุปกรณ์ เครื่องใช้และเครื่องตัดไฟกว่า 10,000 ชิ้น ที่อยู่ภายในโรงงาน และขอให้ทุกคนออกจากโรงงาน แต่พนักงานยังยืนกรานชุมนุมจนหวิดเกิดเหตุปะทะ ต่อมาตำรวจจาก สภ.สรรคบุรี กว่า 30 นาย เข้าห้ามปรามเหตุการณ์จึงยุติลง
 
ปีนี้เลิกจ้างไปกว่าแปดหมื่นคนแล้ว อิเล็กทรอนิกส์เลิกจ้างสูงสุด
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน รายงานตัวเลขการเลิกจ้าง ระหว่างวันที่
1 มกราคมถึงวันที่ 7 พฤษภาคม 2552 ว่า มีสถานประกอบการปิดกิจการไปแล้วจำนวน 1,003 แห่ง และได้เลิกจ้างมีคนงานถูกเลิกจ้างจำนวน 84,876 คน โดยแบ่งตามประเภทกิจการที่มีการเลิกจ้างคนงานได้ดังนี้
 
1. การผลิตอุปกรณ์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มีการเลิกจ้างจำนวน 110 แห่ง มีลูกจ้างถูกเลิกจ้างจำนวน 20,923 คน
 
2. ผลิตสิ่งทอ สิ่งทอสิ่งทัก เครื่องแต่งกาย ฟอกหนังสัตว์ และรองเท้า มีการเลิกจ้างจำนวน 114 แห่ง มีลูกจ้างถูกเลิกจ้างจำนวน 15,709 คน
 
3. การผลิตยานยนต์ และอุปกรณ์ ขนส่ง มีการเลิกจ้างจำนวน 81 แห่ง มีลูกจ้างถูกเลิกจ้างจำนวน 12,784 คน
 
 
4. การผลิตเครื่องจักร มีการเลิกจ้างจำนวน 48 แห่ง มีลูกจ้างถูกเลิกจ้างจำนวน 9,007 คน
 
5. การผลิตเครื่องเรือน เฟอร์นิเจอร์ เครื่องประดับ มีการเลิกจ้างจำนวน 81 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้างจำนวน 7,355 คน
 
โดยสาเหตุในการเลิกจ้าง เนื่องจากประสบภาวะขาดทุน ขาดสภาพคล่องทางการเงิน คำสั่งซื้อสินค้าลดลง หมดสัญญาหรือถูกยกเลิกสัมปทาน และเงินบาทแข็งค่าขึ้นทำให้ความสามารถในการแข่งขันในตลาดส่งออกลดลง นอกจากนี้ ยังมีสถานประกอบการที่มีแนวโน้มจะเลิกจ้างอีกจำนวน 429 แห่ง มีลูกจ้างรวม 184,250 คน แบ่งออกเป็นลูกจ้างที่เสี่ยงต่อการเลิกจ้างสูง จำนวน 61,319 คน และลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบในลักษณะถูกลดเงินโบนัส จำนวน 122,931 คน โดยกิจการที่มีแนวโน้มจะเลิกจ้างส่วนใหญ่เป็นประเภทการผลิตอุปกรณ์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตยานยนต์ อุปกรณ์ขนส่ง ผลิตเครื่องจักร เครื่องเรือน เฟอร์นิเจอร์ และผลิตภัณฑ์จากแร่อโลหะโลหะ ตามลำดับ ซึ่งเห็นได้ว่าส่วนใหญ่เป็นกิจการที่ผลิตสินค้าเพื่อส่งออกในสัดส่วนสูง แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ยังหดตัวต่อเนื่อง จึงยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อภาคการผลิต และการจ้างงานของไทย
 
ที่มาเรียบเรียงจาก: สารวิจัยธุรกิจธนาคารกรุงไทย, เว็บไซต์มติชน, เว็บไซต์ไทยรัฐ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net