Skip to main content
sharethis

เมื่อวันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคม 2552 เวลา 09.00 – 16.00 น. ณ ห้องอยุธยา ชั้น 8 โรงแรมอมารีวอเตอร์เกท กรุงเทพฯ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ประจำอนุภูมิภาคเอเชียตะวันออก ได้จัดสัมมนาเรื่องการพัฒนาการประกันสังคมในประเทศไทย โครงการของรัฐบาลและคำแนะนำขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง ILO กับ สภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย สภาองค์การลูกจ้างสมาพันธ์แรงงานแห่งประเทศไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานอุตสาหกรรมเอกชน

 
บิล ซอลเทอร์ ผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศประจำอนุภูมิภาคเอเชียตะวันออก เปิดเผยว่า การประกันสังคมมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยลดระดับความยากจน และการเพิ่มโอกาสให้กับคนทุกคนในสังคมเพื่อทำให้ชีวิตดีขึ้น บทเรียนจากวิกฤติเศรษฐกิจได้ชี้ให้เห็นผลกระทบต่างๆ ต่อแรงงาน เช่น แรงงานในภาคกิจการสิ่งทอต้องถูกปลดออกจากงานจำนวนมาก แรงงานบางคนต้องเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์ เด็กอีกหลายคนต้องถูกออกจากโรงเรียน ผมคิดว่าการประกันสังคมจะสามารถเข้ามาช่วยบรรเทาผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นได้ อย่างน้อยเป็นการช่วยลดความตึงเครียดของคนในสังคม รวมถึงการช่วยลดปัญหาความยากจน แต่ปัญหาสำคัญก็คือว่า วันนี้ระบบประกันสังคมยังครอบคลุมประชาชนไม่ทั่วถึง ILO จึงมีความปรารถนาสูงสุดในเรื่องการประกันสังคมถ้วนหน้าสำหรับประชาชนทุกคนบนโลกใบนี้
 
ปองซูล อาน ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสเกี่ยวกับกิจกรรมแรงงาน ILO กล่าวว่า ในประเทศที่พัฒนาแล้ว รัฐบาลมักจะให้ความสนับสนุนสหภาพแรงงานเวลาเรียกร้องหรือกดดันในเรื่องหลักประกันสังคม แต่ในประเทศกำลังพัฒนานั้น ค่าใช้จ่ายที่รัฐบาลสนับสนุนด้านประกันสังคมค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับการพัฒนาในเรื่องอื่นๆ แต่อย่างไรก็ตามกรณีของการเคลื่อนไหวทางสังคมจากสหภาพแรงงานในประเทศอินเดีย สามารถเรียกร้องให้มีการขยายการประกันสังคมให้ครอบคลุมลูกจ้างนอกระบบจนเป็นผลสำเร็จขึ้นมาได้ ถือเป็นตัวอย่างที่ดี
 
นายแพทย์ถาวร สกุลพาณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การคุ้มครองทางสังคมหรือหลักประกันทางสังคมสำหรับประชาชนนั้น จะเกิดขึ้นบนพื้นฐานของการเลือกระหว่างแนวคิดเสรีนิยม กับ แนวคิดการร่วมทุกข์ร่วมสุข ซึ่งทั้งสองแนวคิดเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดทั้งคู่ ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลประเทศต่างๆจะเลือกใช้เส้นทางใด ซึ่งการออกแบบระบบประกันสังคมจึงต้องพยายามหาสมดุลระหว่างสองแนวคิดนี้ให้ได้ โดยเขาเห็นว่า ร่างโครงสร้างระบบบำนาญของประเทศไทยในอนาคต ที่กระทรวงการคลังเสนอขึ้นมาในปัจจุบันนี้ ยังมีข้อควรกังวลหลายประการ เช่น จังหวะเวลาที่ยังไม่เหมาะสม ความเสี่ยงที่จะไม่ได้เงินออมตามที่คาดการณ์ อาจเกิดแรงกดดันให้ลดอัตราการจ่ายเงินสมทบในกองทุนประกันสังคม การมีระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่แล้ว แต่ปรับปรุงและขยายอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการสร้างใหม่หรือไม่ และความเป็นไปไม่ได้ที่จะจัดทำระบบบำนาญแบบบังคับสำหรับแรงงานนอกระบบ
 
ไอดี้ ฮู ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านประกันสังคม ILO กรุงเจนีวา กล่าวว่า ILO จึงได้เสนอแนะต่อรัฐบาลไทยใน 2 ประการ คือ หนึ่ง - รัฐบาลไทยควรเพิ่มจำนวนเงินที่มอบให้ในโครงการบำนาญแบบระบบการกระจายรายได้นั้น สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปในกลุ่มแรงงานนอกระบบ ควรเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 บาทต่อเดือน สอง - รัฐบาลไทยควรขยายขอบข่ายการคุ้มครองของระบบบำนาญในแบบระบบการออม โดยขยายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยสมัครใจ เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแห่งชาติแบบเปิดที่จะจ่ายเงินบำนาญเมื่ออายุครบ 60 ปี กองทุนนี้จะสามารถครอบคลุมลูกจ้างในภาคเอกชนทั้งหมดที่ในปัจจุบันนี้ไม่ได้รับประโยชน์จากการคุ้มครองของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแบบร่วมสมทบ และครอบคลุมผู้ที่ทำงานในภาคเศรษฐกิจนอกระบบทุกคนด้วย โดยแรงงานในระบบนั้นเปิดโอกาสให้เลือกได้ โดยนายจ้างต้องจ่ายร้อยละ 50 ของอัตราการจ่ายสมทบขั้นต่ำสุดตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในปัจจุบันนี้ ส่วนในกลุ่มแรงงานนอกระบบนั้นให้เริ่มต้นที่ 100 บาทต่อเดือน
 
โดยขบวนการแรงงานไทยต่างเห็นพ้องร่วมกันว่า เป็นเรื่องที่ดีที่รัฐบาลมีแนวทางที่จะขยายการคุ้มครองไปยังแรงงานกลุ่มอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานนอกระบบ เช่น โครงการบำนาญแห่งชาติที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็ววัน ฉะนั้นกลุ่มผู้ใช้แรงงานในระบบที่มีหลักประกันสังคมแล้ว จะต้องช่วยกันผลักดันให้เกิดการคุ้มครองให้ได้จริง แต่อย่างไรก็ตามควรพิจารณาถึงเบี้ยประกันที่แรงงานนอกระบบต้องจ่าย และสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับต้องสอดคล้องกับความเป็นจริงและรายได้ของผู้ใช้แรงงานด้วยเช่นกัน
 
 
ศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน เป็นศูนย์ข่าวออนไลน์ภาคภาษาไทย ทำหน้าที่รวบรวมข่าวภาษาไทยและนำเสนอบทวิเคราะห์ เกี่ยวกับสถานการณ์ด้านแรงงานทุกกลุ่มในประเทศไทย (แรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ) รวมถึงผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศพม่า ตลอดจนสถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ภายในประเทศพม่า ลาว และกัมพูชา ที่ส่งผลกระทบต่อการย้ายถิ่น ดำเนินการผ่านเงินทุนส่วนตัว และการลงแรงกาย แรงใจ ของกลุ่มเพื่อนสนิท 4 คน คือ พรสุข เกิดสว่าง, อดิศร เกิดมงคล, บัณฑิต แป้นวิเศษ และบุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ เริ่มต้นเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2552 พวกเราเชื่อว่า “สังคมไทยต้องมีพื้นที่เรียนรู้ มากกว่าในห้องเรียนเพียงเท่านั้น การเรียนรู้มาพร้อมกับความเข้าใจและความอดกลั้นในความต่าง รวมถึงการเคารพคนอื่นที่ต่างจากเรา”
 
ติดต่อเรา: crossborder.newsagency@gmail.com
อ่าน CBNA ฉบับที่ 1-35: http://gotoknow.org/blog/crossborder-newsagency/toc
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net