Skip to main content
sharethis
 

 
 
เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 52 เวลาประมาณ 08.00 น. ราษฎรประมาณ 200 กว่าคน ได้เข้ายึดพื้นที่สวนป่าขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ในเขตตำบลทุ่งพระ อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ โดยแผ้วถางต้นไม้เล็กๆ แล้วเริ่มปลูกสร้างที่พักชั่วคราวในแปลงปลูกป่ายูคาลิปตัส เพื่อประกาศเจตนารมณ์ว่าต้องการที่จะเข้ามาจัดการที่ดินทำกินดั้งเดิมของตน เอง ซึ่งถูกอ.อ.ป.ยึดครองไปปลูกป่ามาร่วม 30 กว่าปีแล้ว
 
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ลงมติในวันที่ 28 ธันวาคม 2550 ว่าสวนป่าแห่งนี้ได้ละเมิดสิทธิในที่ดินทำกินของชาวบ้านจริง และขอให้รัฐบาลมีคำสั่งยกเลิกสวนป่าคอนสาร
 
วันที่ 29 ธันวาคม 2551 มี การทำประชาคมตำบลทุ่งพระ เพื่อพิจารณาเรื่องปัญหาสวนป่าคอนสาร ที่ประชุมมีมติ ให้ยกเลิกสวนป่า และในระหว่างการดำเนินการเพื่อให้ได้ข้อยุติ ให้ราษฎรสามารถเข้าทำกินในพื้นที่สวนป่า 1,500 ไร่ ได้
 
ราษฎรที่เดือดร้อน จำนวน 277 ครอบครัว แบ่งประเภทความเดือดร้อน ออกได้ 3 ประเภท คือ
 
  1. ได้รับผลกระทบจากการปลูกสวนป่าทับที่ดินทำกิน บางคนยังมีเอกสิทธิ์ถืออยู่ในมือ แต่เมื่อเข้าไปทำกินก็ถูกจับดำเนินคดี
  2. เป็น ผู้เดือดร้อนจากการเข้าไปเป็นสมาชิกหมู่บ้านป่าไม้ แต่ทาง อ.อ.ป. ไม่ได้จัดสรรที่ดินทำกินให้ตามที่ตกลงไว้ จนกระทั่งกลายเป็นผู้ไร้ที่ดินทำกิน
  3. กลุ่มลูกหลานที่เกิดมาใหม่ ในระยะ 30 กว่าปีนี้ กลายเป็นคนไร้ที่ดินทำกินโดยสิ้นเชิง
 
นับจำนวนคนที่เดือนร้อน จากแปลงปลูกป่าแล้วหลายพันคน ดังนั้นคนที่เคยมีสิทธิในที่ดินแปลงนี้ จึงมาปักหลักยึดครองเพื่อเพาะปลูกต่อไป
 
“เรา จะอยู่ที่นี่จนกว่านายกรัฐมนตรี จะมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิ์ของ อ.อ.ป. และอนุมัติให้เป็นโฉนดชุมชนอย่างถูกต้อง พร้อมกับการส่งเสริมการทำมาหากินอย่างยั่งยืนต่อไป”
 
การ รวมตัวกันสร้างชุมชนในสวนป่าครั้งนี้ ทุกคนบอกว่า เพื่อสนองตอบนโยบายของรัฐบาลในการปฏิรูปที่ดิน ที่ประชาชนได้แสดงให้เห็นแล้วว่า มีความพร้อมที่จะจัดการปัญหาด้วยตัวเองอย่างแท้จริง
 
อนึ่งเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) ได้ออกแถลงการณ์ “ถึงเวลารัฐบาลต้องคืนพื้นที่สวนป่าคอนสาร ให้ชาวบ้านผู้เดือดร้อน” เพื่อให้รัฐเร่งรัดดำเนินการตัดสินใจยกเลิกสวนป่าคอนสาร แล้วนำที่ดินมาให้เกษตรกรผู้เดือดร้อนจัดการในรูปแบบ “โฉนดชุมชน”
 
 
“ถึงเวลารัฐบาลต้องคืนพื้นที่สวนป่าคอนสาร ให้ชาวบ้านผู้เดือดร้อน”
 
นับ เป็นเวลากว่า 33 ปีมาแล้ว ที่ชาวบ้านตำบลทุ่งพระ อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ต้องเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส อันเนื่องมาจากการอพยพ ขับไล่ออกจากที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัย ขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) เพื่อนำพื้นที่เหล่านั้นมาปลูกสร้างสวนป่ายูคาลิปตัส บนเนื้อที่ทั้งสิ้น 4,401 ไร่
 
การ ปลูกสร้างสวนป่าดังกล่าวข้างต้น องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) อ้างว่าเป็นการดำเนินการตามเงื่อนไขการสัมปทานทำไม้ ทั้งที่พื้นที่สัมปทานอยู่อีกบริเวณหนึ่งเรียกว่า “ป่าเหล่าไฮ่” ซึ่ง ไม่ใช่พื้นที่ที่ชาวบ้านถือครองทำกินอยู่ ดังนั้น มหกรรมการข่มขู่ ขับไล่ชาวบ้านจึงเริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 เป็นต้นมา ถึงแม้นว่าจะมีการคัดค้านของชาวบ้านมาโดยตลอดก็ตาม
 
ปี พ.ศ. 2547 ถึงปัจจุบัน ชาวบ้านได้ติดตามปัญหา โดยมีข้อเรียกร้องให้ยกเลิกสวนป่าคอนสาร แล้วนำที่ดินมาจัดสรรให้กับราษฎรผู้เดือดร้อน กระทั่งมีการแต่งตั้งคณะทำงานร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง และที่ประชุมคณะทำงานมีมติเมื่อวันที่ 7 กรกฏาคม 2548 ว่า “ออป. ปลูกสร้างสวนป่าทับที่ทำกินของราษฎรจริง และให้นำที่ดินดังกล่าวมาดำเนินการปฏิรูปที่ดินให้กับเกษตรกรผู้เดือดร้อน” ต่อไป
 
นอก จากนี้ ชาวบ้านได้ร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยคณะอนุกรรมการสิทธิในการจัดการที่ดินและป่า ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง และประชุมร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง แล้วมีรายงานผลการละเมิดสิทธิในวันที่ 28 ธันวาคม 2550 ว่า “การ กระทำของกรมป่าไม้ และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ทำให้ผู้ร้องได้รับความเดือดร้อน ไม่มีที่ดินทำกิน ทั้งที่ผู้ร้องได้ครอบครองทำประโยชน์มาก่อนสวนป่าคอนสาร ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิในที่ดินและทรัพย์สินของผู้ร้อง ขณะที่การแก้ไขปัญหาที่ล่าช้าของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ก็เป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ร้อง” คณะอนุกรรมการฯจึงมีมาตรการแก้ไขปัญหาคือ “ให้ รัฐบาลมีคำสั่งยกเลิกสวนป่าคอนสาร ตามมติคณะทำงานระดับพื้นที่ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับรายงานนี้ แล้วให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการพัฒนาระบบการผลิตและการจัดการทรัพยากรที่ดินที่ยั่งยืนแก่ผู้ ร้อง” ทั้งนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้มีความเห็นและมติเห็นชอบตามอนุกรรมการฯ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2550 ด้วย
 
จาก นั้น วันที่ 29 ธันวาคม 2551 มีการประชุมประชาคมตำบลทุ่งพระ เพื่อพิจารณาเรื่องปัญหาสวนป่าคอนสาร ที่ประชุมมีมติให้ยกเลิกสวนป่าคอนสาร และในระหว่างการดำเนินการให้ได้ข้อยุติ ให้ชาวบ้านสามารถเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ก่อน เนื้อที่ 1,500 ไร่
 
จากราย ละเอียดข้างต้น สะท้อนให้เห็นอย่างชัดแจ้งถึงความไม่เป็นธรรมในการจัดการทรัพยากรที่ดินของ สังคมไทย รวมทั้งความล่าช้าในการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะผู้กำกับดูแลองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ซึ่งชาวบ้านได้ติดตามแก้ไขปัญหามาโดยตลอด
 
ใน การนี้ พวกเราเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย พื้นที่ตำบลทุ่งพระ อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ จึงต้องเข้าตรวจสอบพื้นที่ เพื่อเตรียมการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวเป็น โฉนดชุมชน ตามนโยบายที่รัฐบาลได้ตกลงร่วมกับเครือข่าย อีกทั้ง เรามีความปรารถนาอย่างยิ่งที่จะนำพื้นที่ดังกล่าวมาบริหารจัดการโดยประชาชน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและยั่งยืนของเกษตรกร ต่อไป
 
พวก เรา มีความคาดหวังว่า รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะเร่งรัดดำเนินการตัดสินใจยกเลิกสวนป่าคอนสาร แล้วนำที่ดินมาให้เกษตรกรผู้เดือดร้อนจัดการในรูปแบบ “โฉนดชุมชน” ต่อ ไป ตามมติของคณะทำงานระดับพื้นที่ มติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มติการประชุมประชาคมตำบลทุ่งพระ และแนวทาง นโยบายที่รัฐบาลได้ตกลงและดำเนินงานร่วมกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศ ไทย ทั้งนี้ พวกเราจะรอการตัดสินใจดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ ซึ่งเป็นแผ่นดินเดิมของพวกเรา จนกว่ากระบวนการแก้ไขปัญหาจะได้ข้อยุติ
 
“ปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจน สร้างสังคมที่เป็นธรรม”
 
สมานฉันท์
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปทฺ.)
 
 
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net