Skip to main content
sharethis

การออกมาแถลงยุติการก่อเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของบุคคลที่อ้างตัวว่าเป็น "กลุ่มใต้ดินรวมภาคใต้ของประเทศไทย" ที่ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 17 ก.ค. ปีที่ผ่าน เป็นระยะเวลา 1 ปี ของแถลงการณ์ที่ประชาชนในพื้นที่ให้ความหวังอย่างสูงว่าความรุนแรงจะหยุดสัก ที แต่ผลออกมากลับถูกต้มกันทั่วประเทศรวมทั้งฝ่ายความมั่นคง

ระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านกับการออกมาแถลงหยุดยิงของขบวนการที่อ้างตัวเองว่าเป็น "กลุ่มใต้ดินรวมภาคใต้ของประเทศไทย" กลุ่มที่ พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร อดีตผู้บัญชาการทหารบก รับรองว่า เป็นการรวมกันอย่างน้อย 11 กลุ่ม ที่ก่อเหตุร้ายในพื้นที่เพื่อยุติเหตุการณ์ความรุนแรงทุกชนิดในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเกิดข้อน่าสังเกตหลายๆอย่างที่เป็นข้อน่าสงสัยให้เป็นที่วิพากษ์ อย่างชื่อของกลุ่มใต้ดินรวมฯ ที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน ตัวบุคคลที่ร่วมแถลงไม่มีใครชี้ชัดได้ว่าเป็นใคร ทั้งๆ ที่ระบุว่าเป็นถึงระดับแกนนำของกลุ่ม ผืนธงของกลุ่มใต้ดินรวมฯ ซึ่งแขวนเอาไว้เป็นฉากหลังนั้น ไม่เคยปรากฏในสารบบของกลุ่มที่เคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดน การออกมาแถลงของกลุ่มใต้ดินรวมฯ ไม่ได้ยื่นเงื่อนไขใดๆต่อรัฐบาล ทั้งที่การต่อสู้ของขบวนที่เคลื่อนไหวมีอุดมการณ์การต่อสู้ที่ยาวนาน แถลงการณ์ที่ออกมาเป็นการบันทึกเทปเมื่อวันที่ 14 ก.ค. ก่อนหน้านั้น แต่ผลที่ออกมากลายเป็นว่าประชาชนหรือรัฐโดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงโดนหลอก ในขณะที่เหตุการณ์ความรุนแรงก็ยังคงมีอยู่อย่างเช่นเดิมไม่ว่าจะก่อนหรือ หลังจากแถลงการณ์ยุติความรุนแรงออกมาก็ตาม การประกาศไม่ได้มีผลอะไรในตัวของมันเลย

แนวทางการแก้ไขปัญหาความรุนแรงของรัฐบาลโดยฝ่ายความมั่นคง ยังไม่ชัดเจนในเรื่องกระบวนการการเจรจา กระบวนการแก้ปัญหาโดยสันติวิธี ทัศนคติของรัฐมีความเชื่อที่ว่าขบวนการการต่อสู้ในพื้นที่เพื่อจุดประสงค์ แบ่งแยกดินแดน ถือว่าการกระทำเหล่านี้เป็นศัตรูต่อรัฐ รัฐจะไม่ยอมรับการเจรจาต่อรองใดๆก็ตาม เพื่อไม่ให้ขบวนการมีอำนาจในการต่อรอง ด้าน ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ได้กล่าวถึงการเจรจาของรัฐโดยฝ่ายความมั่นคงที่ผ่านมาว่า รัฐจะไม่ยอมรับการเจรจาหากมีข้อเสนอใดๆ จากกลุ่มขบวนการ

“หากมีการเจรจาแล้วในระยะยาวรัฐกลัวว่าจะเสียอำนาจในการควบคุม นอกจากจะเป็นการเจรจาอย่างไม่เป็นทางการ ไม่อยากให้มีการต่อรองใดๆ แนวโน้มต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของรัฐ รัฐต้องเป็นฝ่ายที่เหนือกว่า ฝ่ายทหารหรือฝ่ายความมั่นคง ซึ่งเป็นแกนกลางจะไม่ยอมรับเลยหากมีการเจรจากับกลุ่มขบวนการ เว้นแต่เป็นการเจรจาให้อีกฝ่ายยอมเข้ามาเป็นพวก หรือให้ยกเลิกการต่อสู้ การเจรจาสันติภาพหรือพุดคุยที่จริงมีมานานแล้ว ก่อนหน้านี้ก็มีการพูดคุยกันหลายกลุ่ม ดำเนินอย่างลับๆมาตลอด แต่ปัญหาของรัฐคือการไม่ยอมเปิดรับการเจรจาที่เป็นทางการ”

การแสดงที่ตบตาชาวไทยอย่างเช่นที่ผ่านมานั้น เกิดขึ้นเนื่องมาจากความไม่ชัดเจนในเรื่องของแนวทางการเจรจา เหมือนกับว่ามีการตกลงกับบางกลุ่ม ที่ไม่ใช่แกนนำของกลุ่มที่เคลื่อนไหวอย่างแท้จริง รัฐใช้แถลงการณ์ครั้งนี้เป็นเครื่องมือเพื่อจะประชาสัมพันธ์ตนเอง กลุ่มใต้ดินรวมฯที่ออกมาก็เป็นกลุ่มที่ยกเลิกการต่อสู้ไปนานแล้ว รัฐใช้เพื่อเป็นเครื่องทางการเมืองของตนเอง กลุ่มใต้ดินรวมฯ เอง ก็ไม่ได้มีบทบาทอะไรอยู่แล้ว ก็ยังต้องการใช้ประโยชน์จากรัฐเช่นเดียวกัน เหมือนกับว่าเป็นการลอกกันไปลอกกันมา ได้ประโยชน์สองฝ่าย ผลที่ออกมาก็เลยไม่ได้อะไร แถมยังส่งผลในแง่ลบต่อรัฐบาลในสมัยนั้น

“เราไม่ได้ต้องการเน้นเจรจาเพื่อการแบ่งแยกดินแดน เพื่อความเป็นอิสระ ประเด็นคือว่าถ้ารัฐต้องการจะแก้ปัญหาของประชาชนในพื้นที่ ที่รากลึกมายาวนาน ต้องยอมรับว่ามันมีปัญหาอีกเยอะ ข้อเรียกร้องต่างๆในการแก้ปัญหา ไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขการแบ่งแยกดินแดน ที่จริง ข้อเรียกร้องการแบ่งแยกดินแดน เป็นเป้าหมายที่เกิดการต่อสู้แล้วคล้ายกับว่าไม่เห็นผล การต่อสู้ด้วยสันติวิธีเป็นวิธีทางที่ดีที่สุดโดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง การต่อสู้โดยส่วนใหญ่แล้วก็เพื่อความยุติธรรม เพื่อสิทธิประชาชนคนท้องถิ่น ความเป็นมลายู หากว่าเป็นเงื่อนไขนี้แล้วการเจรจาอาจจะเกิดขึ้นได้”

การบริหารจัดการหรือการจัดว่างโครงสร้างที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญของรัฐไทย สามารถที่จะจัดการเพื่อให้เกิดขึ้นได้ โดยไม่ต้องกังวลประเด็นการแบ่งแยกดินแดน รัฐบาลควรจะศึกษากรณีตัวอย่างจากต่างประเทศที่เขาใช้วิธีการเช่นนี้โดยไม่ ได้เสียดินแดนไป

“วิธีคิด โลกทัศน์ในการแก้ปัญหาความมั่นคงของรัฐไทย เป็นการมองรัฐเป็นแบบเก่า เป็นการล้าหลัง แข็งตัว ไม่มีการพัฒนา ในทางรัฐศาสตร์แล้ว รูปแบบการจัดการการบริหาร ปกครอง มีอย่างหลากหลายในโครงสร้างรัฐแบบรัฐเดี่ยว ที่มีการจัดการได้โดยไม่ต้องไปกระทบกับโครงสร้างใหญ่ อำนาจอธิปไตยของรัฐก็ไม่ได้รับผลกระทบ แต่รัฐกลับมีความหวาดกลัวมากกว่า หากมีการเปลี่ยนรูปแบบการปกครอง รัฐจะสูญเสียอำนาจ เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ และถูกแบ่งแยกดินแดนไปในอนาคต”

อ.ศรีสมภพ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า หากมีการเจรจาอย่างเป็นระบบมียุทธศาสตร์มีการวางแผนที่ดี มีแนวคิดที่ชัดเจนในการแก้ปัญหา การพูดคุยเพื่อหาทางแก้ปัญหาอย่างสันติ (Peace Talk) รัฐควรที่จะทำ โดยเริ่มจากทีละกลุ่ม

“คนที่มีความคิดดีๆ มีความรู้ความสามารถที่ต้องการแก้ปัญหา อาจเป็นอดีตแกนนำที่อยู่ต่างประเทศ ที่เขายุติการเคลื่อนไหวไปแล้ว แต่แนวคิดที่ดีของเขาเหล่านั้นยังคงอยู่ เพียงแต่รัฐต้องเปิดพื้นที่ให้โอกาสทางการเมือง ถ้าทำได้ความรุนแรงก็จะมีวิธีการแก้ได้อย่างสันติ จะช่วยประหยัดกำลังพล ที่ทุ่มลงมา 6 -7 หมื่นนาย และงบประมาณอีกเป็นแสนล้าน”

รัฐบาล และฝ่ายความมั่นคง มีข้อมูลข่าวสาร และรู้ว่ามีกลุ่มไหนบ้างที่เคลื่อนไหวในพื้นที่ การพูดคุยเจรจา รัฐเองก็ทำการเจรจากับทุกกลุ่ม เพียงแต่ว่าแนวทางการแก้ปัญหายังไม่ชัดเจน เพียงแค่การเปลี่ยนแนวคิด ทัศนคติ ปัญหาอยู่ที่รัฐไม่ยอมเปิดใจ วิธีการพูดคุยเพื่อหาทางแก้ปัญหาอย่างสันติ(Peace Talk) ที่นักวิชาการในพื้นที่นำเสนอจะได้รับการยอมรับ และเป็นการเปิดแนวคิดใหม่ในการแก้ไขปัญหาหรือไม่ กลุ่มที่เคลื่อนไหวจะรับวิธีการนี้หรือไม่ต้องดูที่ความตั้งใจ ความจริงใจในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล โดยไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆ อยู่เบื้องหลัง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net