Skip to main content
sharethis

18 .. 52 - นายสุพจน์ พงศ์สุพัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคุ้มครองแรงงาน ในฐานะประธานสหภาพแรงงานข้าราชการและคนทำงานภาครัฐ (สคร.) เปิดเผยกับหนังสือพิมพ์แนวหน้า เกี่ยวกับความคืบหน้ากรณีกระทรวงแรงงานและผู้บริหารระดับสูง ทำสัญญาจ้างงานไม่เป็นธรรมกับลูกจ้างเหมาช่วงจำนวนกว่า 3,000 คนว่า  ล่าสุดทราบว่ามีผู้บริหารบางคนพยายามกดดันให้ลูกจ้างเหมาช่วง ถอนชื่อออกจากคำฟ้อง เพื่อให้สำนวนการฟ้องร้องตกไปซึ่งเป็นการริดรอนสิทธิของลูกจ้าง เพราะคนกลุ่มนี้ ถูกเอารัดเอาเปรียบจากสัญญาจ้างมานาน เช่น หากหยุดงาน มาสาย หรือลาคลอด จะถูกหักค่าจ้าง ที่สำคัญ ยังตัดสิทธิไม่ให้คนกลุ่มนี้เข้ารักษาพยาบาลในระบบประกันสังคม

นายสุพจน์ กล่าวอีกว่า ข้อเสนอเบื้องต้นเพื่อนำไปสู่ข้อยุติ 5 ข้อ ได้แก่ ให้ยกเลิกแก้ไขปรับปรุงสัญญาจ้างให้เกิดความเป็นธรรม ไม่มีการกีดกันระงับสิทธิ ให้เร่งพิจารณาเงินค่าครองชีพ 2,000 บาท ห้ามเลิกจ้างข่มขู่กดดันเพื่อให้ลูกจ้างลาออก และให้ต่อสัญญากับลูกจ้างทุกคน ให้พิจารณาเรื่องเงินค่าปรับ เงินค่าจ้างที่ถูกหักไปก่อนหน้าทั้งหมด อย่างไรก็ตามการต่อสู้ครั้งนี้ตนไม่กลัวว่าจะถูกตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัย เพราะเป็นการต่อสู้ในฐานะประธานสหภาพฯ และขณะนี้มีลูกจ้างเหมาช่วงกว่า1หมื่นคน ใน 180 กรมทั่วประเทศถูกจ้างงานอย่างไม่เป็นธรรม

ด้านนายวรานนท์ ปิติวรรณ  เลขานุการกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ลูกจ้างเหมาช่วงของ กสร.เป็นการดำเนินการจัดจ้างตามระเบียบกระทรวงการคลังโดยกำหนดว่าหากหยุดงานจะต้องถูกหักเงินซึ่งระเบียบดังกล่าวยังไม่มีการแก้ไข ก็จำเป็นต้องปฏิบัติตาม สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาคือจะพิจารณา การจ้างแรงงานลูกจ้างเหมา ผ่านบริษัทเอกชน หรือ เอาท์ซอร์สแทนเพราะจะได้สิทธิตามข้อเรียกร้องทุกอย่าง เช่น ประกันสังคม เงินค่าครองชีพ แต่ก็จะถูกหักเงินเดือนเพิ่มจากทางบริษัท เพื่อเป็นค่าบริหารจัดการ โดยอาจจะเริ่มดำเนินการในเดือนกันยายนนี้

ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net