Skip to main content
sharethis

เจรจารอบสุดสัปดาห์นี้ไม่เป็นผล มิเชลเลตตีไม่ยอมรับมติรัฐบาลร่วม ด้านเซลายายังคงหนุนให้มีการต่อต้านรัฐบาลชั่วคราว เพื่อให้เขาเตรียมตัวกลับประเทศได้ หลายคนยังหวั่นสงครามกลางเมือง ขณะที่กลุ่มสนับสนุนเซลายาบางส่วนไปที่บ้านพักของเซลายาในคาตาคามาส เพื่อรอประธานาธิบดีพลัดถิ่นกลับมา

 
กลุ่มผู้สนับสนุนเซลายา พากันไปที่บ้านพักของเซลายาในคาตาคามาส ซึ่งเป็นเขตปกครองในทางตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัดโอลานโช ประเทศฮอนดูรัส เมื่อวันที่ 18 ก.ค. เพื่อรอว่าเขาอาจจะกลับมา
(Reuters/Edgard Garrido)
 
กลุ่มผู้สนับสนุนเซลายา เตรียมรับประทานอาหารกันที่บ้านพักของเซลายาในคาตาคามาส ขณะรอ
(Reuters/Edgard Garrido)
 
กลุ่มผู้สนับสนุนเซลายาพากันเข้าไปรอในบ้านพักที่คาตาคามาส
(Reuters/edgard Garrido)
 
ผู้สนับสนุนเซลายาหลับพักผ่อนกันหลังจากประท้วงในคาตาคามาส
(AP Photo/Arnulfo Franco)
 
หญิงผู้สนับสนุนเซลายาคนหนึ่งนำหุ่นจำลองเสื้อที่เขียนข้อความต่อต้านรัฐบาลชั่วคราวของมิเชลเลตตีมาเผาที่พักของเซลายาในคาตาคามาส
(REUTERS/Edgard Garrido)
 
ผู้สนับสนุนเซลายาพากันปิดทางตำรวจขณะประท้วง
(AFP/Orlando Sierra)
 
ภาพวาดใบหน้าของเซียวมารา ภรรยาของมานูเอล เซลายา ภายในบ้านพักของเขาที่คาตาคามาส
(REUTERS/Edgard Garrido)
 
มานูเอล เฮอร์นานเดส ยามในบ้านพักของเซลายาที่คาตาคามาส แสดงห้องสำนักงานส่วนตัวของเซลายาให้ชม
(REUTERS/Edgard Garrido)
 
ผู้สนับสนุนเซลายาที่เข้าร่วมประท้วงสวมเสื้อที่มีข้อความว่า "เมลกำลังกลับมา" ซึ่ง 'เมล' คือชื่อเล่นของมานูเอล เซลายา (REUTERS/Edgard Garrido)
 
ผู้สนับสนุนเซลายาพากันนั่งปิดถนนในการประท้วงที่คาตาคามาส วันที่ 18 ก.ค.
(REUTERS/Edgard Garrido)
 
ผู้ประท้วงในวันที่ 18 ก.ค. ชูหนังสือพิมพ์ "Resistance" ซึ่งมีรูปของมานูเอล เซลายา
(REUTERS/Tomas Bravo)
 
กลุ่มตัวแทนเจรจาของทั้งสองฝ่าย ซ้ายสุดคือคาร์ลอส โลเปซ ตัวแทนของมิเชลเลตตี อีกสามคนถัดมาทางขวาคือ ริกซี่ มอนคาดา , อริสทิเดส มาเจีย และ เอนริค ฟลอเรซ์ ตัวแทนของฝ่ายเซลายา
(AFP/Mayela Lopez)
 
มานูเอล เซลายา ทักทายเด็กคนหนึ่งขณะเดินทางมายังสถานฑูตฮอนดูรัสในกรุงมานากัว ประเทศนิคารากัว วันที่ 19 ก.ค. ที่ผ่านมา (REUTERS/Oswaldo Rivas)
 
คนงานของที่ทำการประธานาธิบดียืนมองรูปปั้นของมานูเอล เซลายา ที่นอนอยู่บนพื้น
(AFP/Yuri Cortez)
 
รูปปั้นหุ่นของเซลายาที่ตั้งอยู่ในที่ทำการประธานาธิบดี โดยก่อนหน้านี้หุ่นพวกนี้ถูกปิดล็อกอยู่ภายในอาคาร ก่อนถูกนำออกมาโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลชั่วคราว
(REUTERS/Tomas Bravo)
 
มีคนไปนั่งถ่ายรูปใต้หุ่นจำลองของประธานาธิบดีเซลายาและผู้นำคนสำคัญอื่น ๆ ที่จัดแสดงในวันที่ 19 ก.ค.
(AP Photo/Rodrigo Abd)
 
มีผู้นำเสื้อที่เป็นรูปลายมานูเอล เซลายา มาขายซึ่งบนเสื้อเชิ้ตมีคำว่า "แด่ประชาธิปไตยที่แท้จริง" เขียนอยู่
(AFP/File/Jose Cabezas)
 
สื่อท้องถิ่นรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ค. ที่ผ่านมา มีคนขว้างระเบิดเข้าไปในสมาคมบาร์ของฮอนดูรัส จนทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินเล็กน้อย (REUTERS/Tomas Bravo)
 
 
กลุ่มผู้สนับสนุนเซลายาประท้วงหน้าบ้านพักของของประธานาธิบดีอาเรียส ในคอสตาริกา เมื่อวันที่ 18 ก.ค.
(ที่มา: ภาพบน:REUTERS/Juan Carlos Ulate ภาพล่าง:AP Photo/Kent Gilbert)
 
 
เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (18 ก.ค.) มีการจัดการเจรจาระหว่างมานูเอล เซลายา ประธานาธิบดีฮอนดูรัสผู้ถูกยึดอำนาจและรัฐบาลชั่วคราวของฮอนดูรัส ที่มาจากการยึดอำนาจ โดยมีคนกลางคือออสการ์ อาเรียส ประธานาธิบดีของคอสตาริกาผู้เคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ
 
อาเรียสได้เสนอแผนการณ์ให้เซลายาดำรงตำแหน่งต่อจนกว่าจะหมดวาระ โดยมีการเลื่อนการเลือกตั้งมาในช่วงปลายเดือนตุลาคมปีนี้แทน โดยให้นิรโทษกรรมข้อหาทางการเมืองทุกอย่างที่เขากระทำก่อนถูกรัฐประหารในวันที่ 28 มิ.ย. และให้มีการนำผู้แทนของพรรคการเมืองหลักเข้าไปอยู่ในรัฐบาลร่วมด้วย
 
โดยอาเรียสกล่าวว่า เซลายาควบยกอำนาจควบคุมกองทัพให้แก่ศาลเลือกตั้งในช่วงหนึ่งเดือนก่อนการเลือกตั้งเพื่อให้เกิดความแน่ใจในด้านความเป็นกลางและขอให้เขายกเลิกแผนการจัดลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้คณะรัฐประหารออกมายึดอำนาจด้วย
 
เมื่อถามว่าจะวามารถให้เซลายากลับสู่ฮอนดูรัสในฐานะประธานาธิบดีของรัฐบาลร่วมได้หรือไม่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศ มาร์ธา ลอเรนา อัลวาราโด ก็ตอบปฏิเสธ โดยหันมาเสนอว่าจะก่อตั้งคณะกรรมการสืบข้อเท็จจริงเพื่อให้ชาวฮอนดูรัสและประชาคมโลกได้รับรู้สาเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤติการเมืองในปัจจุบันทั้งหมด
 
"มันเป็นไปไม่ได้ที่จะสร้างข้อตกลงที่เป็นที่พอใจได้เลย แม้ตัวแทนเจรจาของฝ่ายเซลายาจะยอมรับข้อเสนอแต่ฝ่ายของโรเบอร์โต มิเชลเลตตี ไม่ยอมรับ" อาเรียสกล่าว เขายังได้บอกอีกว่าจะพยายามให้มากกว่านี้ในการเจรจาอีกสามวันถัดไป
 
ทางด้านเซลายาซึ่งก่อนหน้านี้คยประกาศว่าจะจะกลับฮอนดูรัสและจัดตั้งรัฐบาลคู่ขนานหากการเจรจาไม่เป็นผล ก็กล่าวในวันที่ 19 ก.ค. ว่าเขาอยากจะให้มีการเปิดกว้างทางการฑูตและการเจรจา แต่ขณะเดียวกันก็บอกว่าจะผลักดันให้มีการจัดตั้ง "กลุ่มต่อต้าน" (Resistance) ภายในฮอนดูรัสต่อไป เพื่อเตรียมตัวสำหรับการกลับประเทศของเขาเอง
 
ขณะที่ผู้ช่วยของเซลายา อัลลัน ฟาจาร์โด บอกว่าเซลายาวางแผนจะกลับมาก่อนวันศุกร์ (24 ก.ค.) นี้ โดยไม่สนใจเรื่องข้อตกลง
 
นอกจากนี้เซลายายังได้กล่าวหาด้วยว่าฝ่ายมิเชลเลตตีแสดงท่าทีเย้ยหยันการเจรจาของออสการ์ อาเรียส ทั้งยังได้เรียกร้องให้ทางประชาคมโลกกดดันรัฐบาลชั่วคราวของมิเชลลตตีให้มากขึ้น โดยบอกว่าหากปล่อยไว้อาจกลายเป็นการสนับสนุนรัฐประหาร
 
"ประชาคมโลกกำลังเผชิญกับทางตัน" เซลายากล่าวในการแถลงข่าวที่สถานฑูตฮอนดูรัสในนิคารากัว เมื่อวันอาทิตย์ (19 ก.ค.) ที่ผ่านมา "พวกเขาเรียกร้องให้ทหารกองโจรเมื่อ 20 ปีที่แล้ววางอาวุธ ... แล้วตอนนี้พวกอนุรักษ์นิยมก็กลับมาใช้กำลังอาวุธขับไล่ฝ่ายซ้ายที่พยายามทำการปฏิรูป"
 
ทางด้านอิเฟรน ดิอาส นักวิเคราะห์การเมืองจากศูนย์พัฒนามนุษย์ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชนในฮอนดูรัสให้ความเห็นว่าการพยายามกลับประเทศของเซลายาอาจทำให้เกิดความรุนแรงภายในประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้เซลายาได้พยายามกลับประเทศโดยเครื่องบินแต่ถูกห้ามให้ลงจอด ขณะเดียวกันในขณะนั้นก็มีการปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมที่มาต้อนรับเซลายาที่สนามบิน จนมีผู้เสียชีวิต โดยดิอาสบอกว่าตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาความตึงเครียดก็เพิ่มมากขึ้น
 
รัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลเซลายา แพทริเซีย โรดาส เรียกร้องให้มีการเดินขบวนหากการเจรจาไม่เป็นผล ขณะที่เขาเข้าร่วมงานครบรอบ 30 ปี การปฏิวัติซาดินนิสตาเมื่อวันอาทิตย์ (19 ก.ค.) ที่ผ่านมา
 
ทางด้านกลุ่มแรงงานที่สนับสนุนเซลายาเรียกร้องให้มีการประท้วงหยุดงานในวันพฤหัสฯ และวันศุกร์นี้ และในวันจันทร์ (20 ก.ค.) นี้ผู้สนับสนุนเซลายาจะเดินขบวนไปที่รัฐสภาในกรุงเตกูซิกาลปาเมืองหลวงของฮอนดูรัส
 
โฆษกของตำรวจอกมาประกาศในวันอาทิตย์ (19 ก.ค.) ว่าให้เด็กและผู้สูงอายุอยู่ห่างจากการประท้วงในสัปดาห์นี้ โดยระบุว่าทางกองกำลังรักษาความสงบไม่อาจทนกับผู้ที่ทำตัวเป็นผู้ก่อการร้ายในประเทศของเราได้
 
ทางด้าน ออสการ์ อาเรียส เองก็แสดงความวิตกกังวลว่าการเจรจาที่ไม่ประสบผลสำเร็จนี้อาจส่งผลให้เกิดการนองเลือด
 
 
 
ที่มาของข่าว: แปลและเรียบเรียงจาก
Tensions rise as Honduran crisis talks fail, Simon Gardner and Esteban Israel, Reuters, 20/07/2009
Honduras talks break down over Zelaya's return, MARIANELA JIMENEZ, AP, 19/07/2009

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net