Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 52 ที่ผ่านมา บริเวณสนามหน้า บริษัท ไทยเรยอน จำกัด จ.อ่างทอง พนักงานและสมาชิกสหภาพกว่า 400 คนได้นัดประชุมใหญ่เพื่อลงคะแนนหามติหยุดงาน หลังบริษัทไม่ทำตามข้อตกลงในการปรับค่าจ้างประจำปี

ซึ่งที่ประชุมมีมติให้สหภาพฯ ทำการฟ้องนายจ้างเรื่องการไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างรวมหลายเรื่อง มีมติให้ความเห็นชอบในการนัดหยุดงานโดยมีผู้ลงคะแนน 458 เสียง เห็นด้วยที่จะให้สหภาพฯ นัดหยุดงาน 442 เสียง (96.51%) ไม่เห็นด้วย 3 เสียง (0.66%) บัตรเสีย 13 ใบ

โดยนายศรีโพธิ์ วายุพักตร์ ประธานสหภาพแรงงานไทยเรยอน กล่าวว่า ตามที่สหภาพแรงงานและบริษัทได้ประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาปรับค่าจ้างประจำปี 2552 เป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2552 แต่ทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถตกลงกันได้เนื่องจากบริษัทยังยืนยันปรับค่าจ้างให้แก่พนักงาน 50 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนเงินที่พนักงานได้รับจากการประเมินผลการทำงานประจำปี 2551
ขณะที่สหภาพแรงงาน ยืนยันให้บริษัทปรับค่าจ้างประจำปี 2552 ให้แก่พนักงานทุกคน 100 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนเงินที่พนักงานได้รับจากการประเมินผลการทำงานประจำปี 2551 ทั้งนี้ ฝ่ายบริหารให้เหตุผลว่าผลประกอบการ 6 เดือนแรกของปีบัญชีบริษัทขาดทุน 913 ล้านบาท แต่เนื่องจากเห็นว่าพนักงานได้ให้ความร่วมมือกับบริษัทด้วยดีในช่วงที่ประสบวิกฤตเศรษฐกิจจึงได้ปรับค่าจ้างให้แก่พนักงาน 50 เปอร์เซ็นต์เพื่อช่วยเหลือพนักงานที่ขาดรายได้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการสหภาพ ชี้แจงว่า แม้บริษัทยังมีผลประกอบการขาดทุน แต่หลายปีที่ผ่านมาบริษัทก็มีกำไรจำนวนมาก โดยเฉพาะปี 2550-2551 มีกำไรปีละ 2,500 กว่าล้านบาท เมื่อถึงคราวที่ขาดทุนบ้าง บริษัทก็ควรรับผิดชอบ
จากนั้นในวันที่ 19 ก.ค. 52 ทางสหภาพฯ และฝ่ายบริหารของบริษัทได้มาตกลงเจรจาไกล่เกลี่ยที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดอ่างทอง ซึ่งไม่สามารถตกลงกันได้เนื่องจากทางบริษัทให้ 60 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งผิดข้อตกลงทางสหภาพฯจึงนัดประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อลงมติหยุดงาน
บริษัทเตรียมลงทุน 5,000 ล้านบาทเพิ่มสายการผลิต
อนึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 52 ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์มติชนได้รายงานว่า นายพีเอ็ม บาจาจ ประธานบริษัท ไทยเรยอน จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยว่า บริษัทเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเส้นใยเรยอนแห่งเดียวในประเทศไทยที่ส่งจำหน่ายไปทั่วโลก โดยเส้นใยเรยอนเป็นวัตถุดิบหลักของอุตสาหกรรมปั่นด้าย ทอผ้า เพื่อนำไปผลิตเสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์อนามัย
"ขณะนี้แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจทั่วไปอยู่ในภาวะวิกฤต แต่ตลาดทั่วโลกมีความต้องการเส้นใยเพิ่มขึ้น และเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับเส้นใยจึงผลิตเส้นใยโมดาล เป็นเส้นใยพิเศษรองรับการตลาดแฟชั่น ทำให้กำลังผลิตมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ บริษัทจึงใช้งบประมาณ 5,000 ล้านบาท ในการเพิ่มสายการผลิต 2 สาย จากเดิมที่มีอยู่ 4 สาย และสร้างโรงงานผลิตก๊าซคาร์บอนไดซัลไฟต์ ที่ จ.สระบุรี ซึ่งการขยายฐานการผลิตต้องจ้างแรงงานเพิ่มตามสายงาน อย่างไรก็ตามเชื่อว่าบริษัทจะมีกำไรเพิ่มขึ้น แม้เศรษฐกิจจะซบเซาก็ตาม"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net