Skip to main content
sharethis

ช่วงวันหยุดเข้าพรรษาที่ผ่านมามีน้องๆ เยาวชนในนามของกลุ่ม “โหมเรารักษ์จะนะ”ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ได้ร่วมกันจัดค่ายเยาวชนโหมเรารักษ์จะนะครั้งที่ 2 “ตามหาชายหาด...หายไป” ขึ้นระหว่างวันที่ 7-8 กรกฎาคม 2552 ณ บ่อโชนรีสอร์ท ตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา หลังจากที่มีการจัดค่ายเยาวชนครั้งแรกไปเมื่อปีที่ผ่านมา เวลานั้นเป็นค่าย“ตามรอยเรื่องเล่าเมืองจะนะ”

เช้าวันที่ 7 กรกฎาคม น้องๆสามสิบกว่าชีวิตจากหลายหมู่บ้านและหลากหลายโรงเรียนได้เดินทางมารวมตัวกัน ณ ศูนย์การเรียนรู้วิถีธรรมชาติเพื่อชุมชน ตำบลบ้านนา อำเภอจะนะ น้องเล็กสุดก็ประถมห้า ประถมหก พี่โตสุดกำลังศึกษาปริญญาตรีเพื่อเตรียมออกเดินทางไปยังริมทะเลตำบลสะกอม

ความคาดหวังของเยาวชนในการจัดค่ายครั้งนี้ เพื่อเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับชายหาดและท้องทะเล เรียนรู้วิถีชีวิตของชาวประมงพื้นบ้านที่สัมพันธ์กับท้องทะเล ค้นหาสาเหตุที่ทำให้ชายหาดหายไป ที่สำคัญกิจกรรมนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ทะเลบ้านเรา ค่ายนี้ถือเป็นพัฒนาการของน้องๆ โหมเรารักษ์จะนะจากค่ายที่หนึ่งในฐานะผู้เข้าร่วมค่าย ซึ่งในครั้งนี้ขยับบทบาทเป็นผู้ออกแบบและเป็นพี่เลี้ยงค่าย ผู้ปกครองที่ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงค่ายแรกก็ผันตัวเป็นฝ่ายสนับสนุนในค่ายนี้ คอยอำนวยความสะดวกและเฝ้าดูการเติบโตของเด็กๆ

หลังจากทำความรู้จักและประมวลความคาดหวังของการมาค่ายคราวนี้แล้ว น้องๆ เริ่มกระบวนการเรียนรู้วิถีประมงพื้นบ้านและชายหาดบ้านสะกอม

นายเจ๊ะหมัด สังข์แก้ว จากบ้านบ่อโชน ตำบาลสะกอม ถ่ายทอดเรื่องราวของชายหาดในอดีตว่า เดิมทีชายหาดแถวนี้สวยงาม จากชายฝั่งถึงท้องทะเลมีหาดทรายกว้างยาวทอดขวางอยู่ ริมชายหาดมีต้นสนเป็นทิวแถว ชาวบ้านจะทำมาหากินบริเวณริมชายหาดหาหอยเสียบ รุนกุ้งเคย แต่หลังจากที่เกิดปัญหาการกัดเซาะชายหาดทำให้กระทบการทำมาหาของชาวบ้านในพื้นที่ พันธุ์สัตว์น้ำหลายชนิดลดน้อยลง

นายสาลี มะประสิทธิ์ ผู้ใหญ่แห่งบ้านโคกสัก ถ่ายทอดถึงความเปลี่ยนแปลงของชายหาดที่เริ่มอย่างรวดเร็วตั้งแต่มีการสร้างเขื่อนกันคลื่นที่ปากคลองสะกอม โดยกรมการขนส่งทางน้ำพาณิชนาวี ตั้งแต่ประมาณปี 2541 เป็นต้นมา ชายหาดสะกอมถูกน้ำกัดเซาะอย่างรุนแรง และพังทลายลง ถึงปัจจุบันมีการกัดเซาะลึกประมาณ 80 เมตร ระยะทางยาวกว่า 3 กิโลเมตร จากบ้านบ่อโชน บ้านโคกสัก ตลอดแนวยาวถึงตำบลตลิ่งชัน สำหรับบ้านโคกสักวันนี้คลื่นซัดใกล้ถึงบ้านเรือนที่อยู่อาศัยแล้ว ศาลาเอนกประสงค์ของหมู่บ้านที่อยู่บริเวณที่ดินสาธารณประโยชน์ก็ถูกคลื่นกัดเซาะจนพังทลาย สถานที่แห่งนี้เองที่ดินถูกกัดเซาะเป็นเนื้อที่หลายไร่ ชายหาดขาวสะอาดถูกแทนที่ด้วยหาดหิน

นายสาลีเล่าว่าธรรมชาติของคลื่นมีการพัดพาทรายขึ้นลงเป็นธรรมดาอยู่แล้ว แต่ไม่ก่อให้เกิดการกัดเซาะ แต่หลังจากที่มีการสร้างเขื่อนกันคลื่นกั้นทรายที่ปากคลองสะกอมทำให้กระแสคลื่นเปลี่ยน ที่สำคัญเขื่อนดังกล่าวไม่สามารถกั้นทรายตามที่กรมเจ้าท่าตั้งใจไว้ เพราะกรมเจ้าท่ายังต้องใช้รถมาดูดทรายบริเวณนั้นทุกปี

ด้านนายดลรอหมาน โต๊ะกาหวี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ่อโชน เล่าถึงความสำคัญของชายหาดอีกแง่มุมหนึ่งว่าชายหาดเป็นที่วิ่งเล่นและพักผ่อนหย่อนใจของคนในชุมชน สมัยก่อนเด็กๆ และผู้ใหญ่จะมีที่พักผ่อนบริเวณริมชายหาด เด็กๆ มีการละเล่นมากมาย เป็นการสร้างความผูกพันภายในครอบครัว และยังเล่าให้น้องๆ ฟังว่าตัวแทนชาวบ้านสะกอมได้ร่วมกันฟ้องร้องกรมขนส่งทางน้ำฯ ต่อศาลปกครองสงขลาให้รับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับชายหาด เพราะไม่ต้องการให้ชายหาดเกิดความเสียหายมากกว่านี้

ช่วงบ่ายน้องๆ ฝ่าเปลวแดดที่ร้อนแรงไปยังริมชายหาดบ้านสวนกง ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ บริเวณชายหาดใกล้กับศูนย์วิจัยทางทะเลของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งปัจจุบันถูกทิ้งร้างไว้ น้องๆ ชาวค่ายล้อมวงริมหาดคุยกับชาวประมงที่นั่น จากสายตาที่มองเห็นชายหาดบริเวณนี้ยังอยู่ในสภาพที่ทอดยาวสวยงามไม่ถูกกัดเซาะแบบตำบลสะกอม

จากการถ่ายทอดเรื่องราวของชาวประมงบ้านสวนกงทำให้รู้ว่าต้นตระกูลเดิมที่มาตั้งบ้านเรือนบริเวณนี้เป็นชาวจีน ชื่อ “แปะกง “ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นที่มาของชื่อบ้าน”สวนกง” จากคำบอกเล่าในอดีตชายฝั่งทะเลบ้านสวนกงมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์มาก ต่อมาช่วงประมาณ 10-15 ปีที่ผ่านมามีเรือประมงประเภทอวนลากอวนรุนเข้าทำการประมงส่งผลให้ทรัพยากรในทะเลลดน้อยลง ชาวบ้านส่วนใหญ่ต้องออกไปรับจ้างนอกพื้นที่ ต่อมาคนในชุมชนเกิดความคิดที่จะฟื้นฟูท้องทะเลให้คืนความอุดมสมบูรณ์ เพื่อจะได้กลับมาทำมาหากินในชุมชนตนเอง จึงคิดถึงการทำปะการังเทียมเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยและเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ ซึ่งหลังจากการทำปะการังเทียมปรากฏว่าพันธุ์สัตว์น้ำในท้องทะเลมีเพิ่มมากขึ้นทำให้ชาวบ้านสามารถกลับมาทำประมงได้อีกครั้ง

นอกจากการอนุรักษ์ฟื้นฟูทะเลแล้วยังมีการจัดการขยะในชุมชน แต่น่าเสียดายที่ขาดความต่อเนื่อง และช่วงเวลาสิบปีที่ผ่านมาสมาชิกในชุมชนยังทำการรณรงค์การปลูกต้นไม้ในชุมชนเพื่อให้ลูกหลานได้ใช้ประโยชน์ระยะยาวซึ่งตอนนี้บางส่วนได้ใช้ประโยชน์จากต้นไม้ที่ปลูกแล้ว

ณ วันนี้ชาวบ้านสวนกงส่วนหนึ่งหวั่นวิตกกับกระแสข่าวที่ว่าท่าเทียบเรือน้ำลึกสงขลาแห่งใหม่จะเกิดขึ้นที่นี่ ซึ่งหมายถึงชายหาดอาจต้องถูกทำลายไปเช่นที่ตำบลสะกอม นั่นหมายถึงวิถีการทำมาหากินของชาวประมงจะกระทบไปด้วย

ยามค่ำคืนนั้นน้องๆได้นั่งล้อมวงรอบกองไฟและบอกเล่าสิ่งที่ได้เรียนรู้โดยสื่อสารผ่านการเล่าเรื่อง บทกลอน บทเพลงและศิลปะภาพวาดที่ถ่ายทอดจากหัวใจของเด็กๆ

บ้านสวนกงปลูกไม้ไว้ทดแทน          ผู้ใหญ่ท่านหวงแหนเป็นหนักหนา
ให้ลูกหลานได้ใช้ประโยชน์นานา      คนในถิ่นศึกษาน่าจดจำ
ทั้งต้นย่างยางนำมาอุดเรือได้            มะพร้าวกล้วยลำเพ็งไว้เก็บเกี่ยวผล
ต้นวาหรือมังคุดป่าช่างน่ายล            ทิ้งให้ชนรุ่นหลังได้ดูแล
ส่วนต้นเค็ดเมล็ดใช้ซักผ้า                 ผลนั่นหนาย้อมศีรษะงามเกศี
นำลำต้นทำรั้วหนามหลายบ้านมี       หนามเค็ดนี้ถ้าโดนตำปวดถึงใจ
กระถินไซร้ได้พันธุ์มาจากฉลุง            เราบำรุงกินกล้วยป่าน่าพิสมัย
เม็ดมะม่วงหิมพานต์ทานกันไว           ทั้งพวกไก่พฤกษามาพึ่งพิง
ทั้งโท๊ะเหมรอออกผลชนได้กิน         เป็นทรัพย์สินธรรมชาติมาตรฐาน
ใครมาซื้อไม่ขายได้ประโยชน์นาน     รักษาไว้ให้ลูกหลานได้ชม
แต่วันนี้ท่าเรือใหญ่จะมาตั้ง               เยาวชนช่วยรั้งโครงการนี้
ต่อไปคงมีแล้วเขียวขจี                     ทุกพื้นที่สวนนานาเขาเข้าครอง
ในค่ายนี้โหมเรารักษ์จะนะ                พวกเราจะเชิญชวนเพื่อนทั้งผอง
ผนึกแรงกำลังของพี่น้อง                   ร่วมปกป้องความสมบูรณ์ของบ้านเรา
และสื่อสารผ่านบทเพลงรักบ้านเกิด

 

..รู้ว่าเสี่ยงแต่คงต้องขอลอง รู้ว่าเหนื่อยแต่อยากได้ของที่สดสวย ยังไงก็ต้องขอร่วมด้วยช่วยกัน ได้เกิดมาเป็นคนทั้งที ยังไงต้องทำมันดีสักวัน อยากปกป้องต้องเสี่ยง ไม่อยากให้บ้านเราเป็นเพียงความฝัน ลำบากลำบนมาหลายปี ตรากตรำยังไงก็คิดที่จะทำ ก็ดีกว่าปล่อยให้มันเสื่อมสูญ ก็เพราะรักบ้านเราจริงๆ รักจริงๆ ก็ต้องช่วยกัน..

เช้าวันรุ่งขึ้นน้องๆ ช่วยกันระดมความคิดเห็นว่าอนาคตอยากให้ชายหาดเป็นอย่างไรและจะทำอย่างไรกันได้บ้าง น้องๆ ทั้งหมดคาดหวังว่าอยากให้ชายหาดขาวสะอาดมีน้ำทะเลใสๆ ไร้ขยะ ให้ระบบนิเวศน์สมบูรณ์ เหมือนในอดีต ไม่อยากให้เกิดโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นบริเวณชายหาดและทะเล อยากให้ปู ปลาหมึกกลับมาวางไข่ใกล้ๆชายฝั่ง ไม่อยากให้นายทุนมาสร้างสิ่งก่อสร้างที่ทำลายระบบนิเวศน์ชายทะเลของเรา อยากให้เกิดการรวมกลุ่มของชุมชนในการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับชายหาดย่างจริงจัง อยากให้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว และที่สำคัญอยากให้อยากให้ทุกคนช่วยกันอนุรักษ์ป่าสันทรายและชายหาด ให้มีชายหาดที่สวยงามนี้อยู่คู่โลกใบนี้ตลอดไป เพื่อให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษาและพัฒนาให้ดีขึ้นต่อไป โดยเด็กๆ จะเริ่มจากสิ่งเล็กๆ ที่สามารถทำเอง เช่นเก็บขยะริมชายหาดไม่ทิ้งขยะเกลื่อนกลาด ช่วยกันรณรงค์ให้ทุกคนเกิดจิตสำนึกรัก จัดกลุ่มเยาวชนขึ้นเพื่อรักษาชายหาดและป่าสันทรายบอกเล่าสิ่งที่ได้เรียนรู้และสัมผัสให้คนอื่นๆได้รับรู้ นี่คือสัญญาใจของค่ายโหมเรารักษ์จะนะในครั้งนี้ เพื่อตามหาชายหาดที่หายไปให้กลับคืนมาสู่ผืนแผ่นดินเกิด
 

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://blogazine.prachatai.com/user/suchana/post/2405

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net