Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 22 ก.ค.  ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ในการประชุมระหว่าง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับผู้แทนจากเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับกรณีการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติ ป่าสงวนแห่งชาติ และที่ป่าไม้อื่นๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามรูปแบบโฉนดชุมชน ซึ่งมีนายสุวิทย์ ทำหน้าที่ประธานคณะอนุกรรมการ

หลังจากเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้มีการนัดประชุมเพื่อสรุปผลการทำงานต่อคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) ที่มี นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยตัวแทนของคณะอนุกรรมการ 6 ชุด ได้แก่ อนุกรรมการชุดที่ดินในเขตป่าไม้ อนุกรรมการชุดที่สาธารณประโยชน์และที่ดินเอกชนทิ้งร้าง อนุกรรมการชุดที่ดิน ส.ป.ก. อนุกรรมการชุดที่ราชพัสดุ อนุกรรมการชุดที่อยู่อาศัย และอนุกรรมการชุดนโยบาย ซึ่งปฏิบัติงานครบ 90 วัน โดยในการประชุมได้พูดถึงปัญหาของคณะอนุกรรมการชุดที่ดินป่าไม้ว่าการทำงานแก้ปัญหาเป็นไปอย่างล่าช้า ซึ่งในเรื่องนี้ นายอภิสิทธิ์รับจะนัดประชุมผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งนายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.กระทรวงทรัพยากรฯ เพื่อพูดคุยกันเพื่อสร้างความเข้าใจถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา

พงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์ ผู้ประสานงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) กล่าวภายหลังการประชุมว่า กรณีพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชนทั้งหมด 30 แห่ง ใน 14 จังหวัด มี 18 แห่ง อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ ซึ่งพื้นที่นำร่องดังกล่าวจะมีการผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี โดยออกเป็นระเบียบสำนักนายกฯ ในกรณีพื้นที่อนุรักษ์ที่มีข้อพิพาท นายกรัฐมนตรีและนายสุวิทย์ มีมติเห็นชอบให้นำพื้นที่มาดำเนินการตามแนวทาง “โฉนดชุมชน” ในส่วนของอนุฯ ป่าไม้ให้ดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ ทางเครือข่ายได้มีข้อเสนอให้มีการปรับเปลี่ยนกรรมการและเลขานุการ เป็น นายปรีชา วังพิทักษ์เดช รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ซึ่งนายสุวิทย์รับพิจารณาในเรื่องนี้

พงษ์ทิพย์ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาการทำงานของคณะอนุกรรมการทั้ง 6 ชุด มีความคืบหน้า แต่ในอนุกรรมการชุดที่ดินในเขตป่าไม้ค่อนข้างมีปัญหา เนื่องจากทัศนคติของเจ้าหน้าที่มีผลต่อการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะในเรื่องคนทำลายป่ากับคนรักษาป่า ซึ่งต้องมีการทำความเข้าใจ ส่วนกรณีที่กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมมีนโยบายให้เข้มงวดเรื่องการดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่ทำการบุกรุกพื้นที่ป่า โดยมีหนังสือสั่งการลงไปในระดับพื้นที่นั้น ขอให้มีการผ่อนผัน เนื่องจากขณะนี้ทางเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อการแก้ไขปัญหา

ส่วนในกรณีพื้นที่สวนป่าคอนสาร จ.ชัยภูมิ ในที่ประชุมมีการยืนยันไม่ใช้ความรุนแรง และเป็นการดูแลพื้นที่ของเจ้าหน้าที่เท่านั้น ทั้งนี้ ทางเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ ได้ยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี และรมว.กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ยกเลิกสวนป่าคอนสาร จากนั้นเสนอให้นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ และคณะรัฐมนตรี เพื่อยกเลิกสวนป่า และนำพื้นที่มาดำเนินการในรูปแบบโฉนดชุมชนต่อไป โดยในระหว่างนี้ให้ชาวบ้านทำประโยชน์ในระหว่างร่องและแถวต้นไม้ไปก่อน ไม่ให้มีการบุกรุกที่เพิ่ม นอกจากนี้นายสุวิทย์ คุณกิตติ พร้อมด้วยผู้ตรวจสอบจากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) จะลงไปตรวจสอบพื้นที่

พงษ์ทิพย์ กล่าวต่อมาถึงเรื่องกองทุนธนาคารที่ดินว่า อนุฯ นโยบายได้มีข้อเสนอเบื้องต้นในการจัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดิน 200 ล้านบาท ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นด้วยกับเรื่องนี้ ในการประชุมอนุฯ นโยบายครั้งต่อไปจะมีการหารือเรื่องนี้ สำหรับเรื่องภาษีที่ดิน ที่จะมีการหักเปอร์เซ็นต์จากรายรับเงินภาษีเข้ามาสมทบเป็นกองทุนธนาคารที่ดิน ผู้ดูแลเรื่องนี้เห็นชอบแล้ว โดยจะเพิ่มมาตราว่าด้วยการจัดสรรเงินภาษีมาเข้ากองทุน ในส่วนของภาษีอัตราก้าวหน้า นายกรัฐมนตรีรับทราบหลักเกณฑ์ที่เครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ เสนอเกี่ยวกับการเก็บภาษีจากขนาดการถือครองที่ดิน และการใช้ประโยชน์ที่ดิน ในกรณีปัญหาที่ราชพัสดุ สหกรณ์เช่าที่ดินคลองโยง ให้รอจนกว่าจะมีระเบียบสำนักนายกฯ ออกมา ส่วนการแต่งตั้งอนุกรรมการช่วยเหลือด้านคดี ที่กระทรวงการคลังจะแต่งตั้งให้มีการเร่งรัดการแต่งตั้งต่อไป

ด้านเหมราช ลบหนองบัว เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน กล่าวว่า ในพื้นที่ภาคอีสานปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดินกรณีป่าไม้ที่เป็นปัญหาด่วนซึ่งต้องเร่งแก้ไขในขณะนี้มี 2 พื้นที่ คือ พื้นที่บ้านลำนางรอง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ และพื้นที่สวนป่าคอนสาร อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ซึ่งทั้งสองพื้นที่มีปัญหาชาวบ้านถูกขับไล่ออกจากพื้นที่มาเป็นเวลานาน และพยายามเรียกร้องเพื่อเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ในรูปแบบโฉนดชุมชน ทั้งนี้ จากการพูดคุยนายสุวิทย์รับทราบหลักการในส่วนของนโยบาย แต่ยังใช่หลักการพิสูจน์สิทธิตาม มติ ครม.30 มิ.ย.41 โดยหากมีการพิสูจน์สิทธิว่าอยู่มาก่อนก็จะมีการออกโฉนดรับรอง ให้ แต่หากไม่เป็นไปตามนั้นก็จะดำเนินการแก้ไขปัญหาในรูปของโฉนดชุมชน

เหมราช กล่าวด้วยว่า โดยส่วนตัวคิดว่า มติครม.ดังกล่าวถึงเวลาที่จะต้องมีการยกเลิกได้แล้ว เนื่องจากหากเหตุผลของการมีมติ มติ ครม. 30มิ.ย.41 เป็นไปเพื่อการรักษาป่า จะพบว่าไม่สามารถทำได้จริง เพราะมีการอนุญาตให้บริษัทเอกชนเข้าไปเช่าพื้นที่ปลูกสวนป่านับร้อยไร่ ซึ่งมากการที่มีประชาชนเข้าไปอาศัยด้วยซ้ำ แต่หากเป็นเพื่อการรับรองสิทธิของชาวบ้าน ก็มีเงื่อนไขหลายข้อที่ทำให้มีผู้ได้รับสิทธิจริงๆ มีน้อยมาก กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ต้องกลายเป็นบุกรุกป่า กล่าวได้ว่าการพิสูจน์สิทธิกลายเป็นเครื่องมือคัดคนออกจากป่ามากกว่า

ทั้งนี้ ในส่วนการจัดการพื้นที่ในรูปแบบโฉนดชุมชนนั้น เป็นการร่วมกันจัดการที่ดินโดยชุมชน ซึ่งอาจไม่ใช่เฉพาะที่ดินที่มีกรณีข้อพิพาทกับรัฐ หรือที่ดินของรัฐเท่านั้น อาจเป็นที่ดินเอกชน หรือที่ดินส่วนบุคคล ที่ต้องการนำเข้ามาร่วมจัดการโดยชุมชน ซึ่งเปรียบเสมือนครอบครัวใหญ่ ที่แบ่งการจัดการให้เหมาะสมกับพื้นที่เพื่อการใช้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่ได้เป็นเอกสิทธิของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ส่วนการรับรองกระบวนการจัดการที่ดินโดยชุมชนจากรัฐ เป็นการรับรองสิทธิของชุมชนเพื่อสร้างความมั่นคงหลังจากที่ได้เริ่มดำเนินการมาแล้ว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net