Skip to main content
sharethis

สืบเนื่องจากเมื่อวานนี้ (23 ก.ค.52) กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เข้าพบและเจรจากับนายอำนาจ ผการัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เพื่อเรียกร้องให้ยุติบทบาทกรรมการแก้ไขปัญหาการดำเนินโครงการเหมืองแร่โปแตช  ของคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหา และให้ความรู้ การดำเนินการโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ซึ่งนายสมพร ใช้บางยาง ประธานฯ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2552 ประกอบด้วยหัวหน้าส่วนราชการทุกอำเภอในจังหวัดอุดรธานี ให้มีอำนาจหน้าที่จัดการประชุมชี้แจงข้อมูลโครงการ และกระบวนการขออนุญาตประทานบัตรให้กับประชาชนในจังหวัดอุดรธานี โดยมอบหมายให้นายอำนาจ ผการัตน์ เป็นประธานอนุกรรมการฯดังกล่าว แต่การเจรจาเมื่อวานนี้ล้มเหลว เมื่อนายอำนาจผการัตน์ ยืนกรานจะดำเนินการประชุมต่อไปเพราะเป็นคำสั่งของทางราชการ ต้องปฏิบัติตามไม่อาจละเว้นได้ เป็นเหตุให้กลุ่มอนุรักษ์ฯไม่พอใจ และเดินออกจากที่ประชุม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่เช้าวันที่ 24 ก.ค. บริเวณศาลากลางจังหวัดอุดรธานีได้มีการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้ควบคุมสถานการณ์เพราะคาดว่ากลุ่มอนุรักษ์จะเข้ามาชุมนุมประท้วงการประชุมของอนุกรรมการฯดังกล่าว จนกระทั่งเวลาประมาณ 08.00 น.สมาชิกกลุ่มอนุรักษ์ฯประมาณ 500 คน ก็ทยอยกันเดินทางมารวมตัวกันที่บริเวณถนนมิตรภาพสายอุดรฯ - ขอนแก่น สามแยกเข้าสู่ อ.ประจักษ์ศิลปาคม พื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี ในเวลาประมาณ 09.00 น.กลุ่มผู้ชุมนุมจึงได้เคลื่อนขบวนเข้าปิดถนนมิตรภาพขาออกจากจังหวัดอุดรธานีไว้ 1 ช่องทางจราจร โดยมีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.อ.เมือง และสภ.อ.ประจักษ์ศิปาคมกว่า 60 คนควบคุมสถานการณ์ โดยขณะที่บริเวณศาลากลางจังหวัดก็ได้เริ่มดำเนินการประชุมนั้น กลุ่มอนุรักษ์อุดรธานีพยายามที่จะปิดถนนเพิ่มอีกหนึ่งช่องทางทำให้เกิดเหตุชลมุนเล็กน้อยเมื่อผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจปะทะกัน แต่ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด

นางมณี บุญรอดรอง ประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่า การที่ต้องชุมนุมปิดถนนในวันนี้ เป็นเพราะแรงกดดันทางการเมือง จากบริษัทที่เร่งรัดให้มีการปักหมุดเขตเหมืองแร่ให้ได้ และจากการประชุมของอนุกรรมการฯ วางแผนลงพื้นที่ชี้แจงโครงการเหมืองแร่โปแตช ทั่วทั้งจังหวัดอุดรฯ ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้ง ความรุนแรงในพื้นที่ที่อีกครั้ง พร้อมยืนยันข้อเสนอเดิมคือ ให้มีการศึกษาผลกระทบในภาพรวม หรือประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ตามที่ได้มีมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นพ้องกับมติคณะกรรมสิ่งแวดล้อม เมื่อปี 2549 ตลอดจนความเห็นขององค์กรอิสระต่างๆ

"กรรมการฯชุดนี้เป็นใบสั่งของนักการเมืองฝ่ายบริษัท คณะกรรมส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ เช่น นายอำเภอทุกอำเภอ ตำรวจ อัยการ ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่มีข้อมูลเรื่องเหมืองแร่โปแตช อีกทั้งเป็นลูกน้องของผู้ว่าฯ เมื่อผู้ว่าฯ ว่าอย่างไรก็ไม่มีใครกล้าหือ และการชี้แจงทั่วทุกอำเภอก็ไม่สนว่าชาวบ้านจะเข้าใจหรือไม่ เพราะสุดท้ายเป้าหมายอยู่ที่การรังวัด ปักหมุด เขตเหมือง ตามขั้นตอนประทานบัตร ซึ่งก็จะเกิดปัญหาความขัดแย้ง ตีกันในพื้นที่อีกเช่นเคย ดังนั้นกลุ่มอนุรักษ์ฯ จึงขอให้ผู้ว่ายุติไว้ก่อนจนกว่าจะทำตามมติ ครม.เมื่อปี 2549 เสียก่อน"  นางมณีกล่าว

ทั้งนี้มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2549 พ้องตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเมื่อ 23 ม.ค.49 ให้มีการดำเนินการศึกษายุทธศาสตร์การจัดการแร่โปแตชของประเทศ (Strategic Environmental Assessment ; SEA) ก่อนที่จะมีการดำเนินการใดๆ ในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานีและโครงการเหมืองแร่โปแตชอื่นในภาคอีสาน เพราะว่าขณะนี้มีการดำเนินการของเอกชนในการยื่นขอสำรวจและผลิตแร่โปแตชในพื้นที่ 6 จังหวัด คือ จ.ชัยภูมิ จ.สกลนคร จ.อุดรธานี จ.นครราชสีมา จ.ขอนแก่น และ จ.มหาสารคาม ทั้งสิ้น 7 โครงการรวมพื้นที่ ประมาณ 654,145 ไร่

การชุมนุมดำเนินไปจนกระทั้งเวลาประมาณ 11.00 น.นายอำนาจ ผการัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ได้เดินมายังที่ชุมนุมเพื่อขอเจรจาให้ผู้ชุมนุมเปิดถนน ขณะที่ผู้ชุมนุมยังคงกดดันด้วยการปิดถนนเพิ่มอีกหนึ่งช่องทางจารจรและมีฝนตกลงมาอย่างหนัก จนฝนหยุดในเวลาประมาณ 13.00 น.กลุ่มผู้ชุมนุมจึงยอมเจรจา โดยยื่นขอเสนอให้ยุติบทบาทกรรมการชุดนายสมพร ใช้บางยาง และให้ศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ ก่อนดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่โปแตช

ที่สุดนายอำนาจ ผการัตน์ มีท่าทียอมรับข้อเสนอดังกล่าว และได้ทำบันทึกข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ 3 ประการคือ หนึ่งทำหนังสือแจ้งให้นายสมพร ใช้บางยาง ประธานกรรมการฯ ทราบว่า ต้องยุติการดำเนินการของคณะอนุกรรมการฯ เพราะไม่เป็นที่ยอมรับและไม่อาจดำเนินการได้ตามเป้าหมาย สอง เสนอให้คณะกรรมการพิจารณายุติบทบาทกรรมการชุดดังกล่าวไว้ก่อน และสาม ให้มีการแต่งตั้งกรรมการศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) ตาม มติ ครม.และมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมเมื่อปี 2549

นายอำนาจ ผการัตน์ กล่าวกับที่ชุมนุมว่า "ตนเห็นด้วยกับข้อเสนอเรื่องการศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน ไม่ใช่เพียงแต่เรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว แต่ต้องครอบคลุม ไม่อย่างนั้นจะเกิดปัญหาตามมาเหมืองโครงการอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ตนจะนำข้อเสนอของที่ชุมนุมในวันนี้ไปเสนอต่อประธานคณะกรรมการต่อไป" นายอำนาจกล่าว

ซึ่งที่ชุมนุมพอใจข้อตกลงดังกล่าวจึงได้ยอมเปิดเส้นทางจราจรและสลายการชุมนุมเมื่อเวลาประมาณ 14.00 น.

ด้านนายสุทย์ กุหลาบวงษ์ ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวในภายหลังว่า "ที่ผ่านมาผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีมีท่าทีแข็งกร้าว และมุ่งหมายจะผลักดันให้เกิดการลงพื้นปักหมุดเขตเหมืองแร่ให้ได้ ซึ่งตลอด 8 ปีที่ผ่านมาก็เห็นมาแล้วว่าจะเป็นเหตุแห่งปัญหาการไม่ยอมรับและความขัดแย้ง ตนเห็นว่าต้องหาทางออกร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ สร้างการเรียนรู้ที่แท้จริงให้สังคม โดยเฉพาะเรื่องการประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ซึ่งปัจจุบันสำนักงานนโยบายและแผนคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สผ.)ได้มีแนวทางในการประเมินออกมาแล้ว การพัฒนาขบวนการนี้น่าจะเป็นแนวทางยกระดับการมีส่วนร่วมของประชาชน และมาตรฐานการดำเนินนโยบายสาธารณะในสังคมไทย" นายสุวิทย์กล่าว
 

.................................................
รายงานสถานการณ์โดย นายเดชา คำเบ้าเมือง กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net