Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
          มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ จัดกิจกรรมเยี่ยมผู้ต้องขังคดีความมั่นคงในเรือนจำจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อสำรวจและรวบรวมข้อมูลผลกระทบต่อครอบครัวของผู้ต้องขัง ตลอดจนข้อมูลที่ได้จากการเยี่ยมเยียนครอบครัว และจากข้อร้องเรียนของญาติผู้ต้องขังต่อศูนย์ทนายความมุสลิม จัดทำเป็นรายงานเสนอต่อรัฐบาล
 
          บทความจากผู้ต้องขัง” หรือ "เสียงจากเรือนจำ" คือผลผลิตหนึ่งจากกิจกรรมที่ว่านี้ และนี่คือเสียงจากผู้ต้องขังที่ได้รับผลกระทบจากกระบวนการยุติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้...
 
          เราไม่ได้สรุปว่าคนเหล่านี้ผิดหรือถูก ดีหรือไม่ดี แต่หากเราต้องการแก้ปัญหา...เสียงทุกเสียงย่อมมีความสำคัญที่จะรับฟังมิใช่หรือ?
 
          โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา นำเสนอบทความจากผู้ต้องขัง ครอบครัว และนักกิจกรรมที่ลงพื้นที่ไปสัมผัสความจริง...
 
 
............................................................................
 
เมื่อไหร่สันติสุขจะหวนคืน...
เขียนโดย พิกุลเพชร (นามปากกา)
ผู้กล่าวถูกกล่าวหาในคดีความมั่นคง ปัจจุบันเขาถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำแห่งหนึ่งที่สามจังหวัดภาคใต้
 
 
          กลางดึกของวันที่ 9 พฤศจิกายน 2550 สายฝนที่โปรยปรายบวกกับสายลมอันเยือกเย็นในยามดึกทำให้สมาชิกในครอบครัวที่ผ่านการทำงานหนักมาตลอดวันพากันหลับสนิท โดยเฉพาะผมที่เป็น "พ่อลูกอ่อน" วัยกลางคนประกอบอาชีพเป็น "แม่พิมพ์" คือเป็นครูสอนหนังสือหาเลี้ยงครอบครัวที่ผ่านการทำงานมายาวนานทั้งวัน ทั้งยังปลูกผักเป็นอาชีพเสริมเพื่อหารายได้เพิ่มเติมจากเงินเดือนเดือนละหมื่นบาท เพื่อจะให้ครอบคลุมค่าใช้จ่าย เพราะแม้ว่าบ้านจะไม่ต้องเช่าและน้ำไม่ต้องซื้อ แต่ก็ยังต้องการรายได้เสริมเพื่อให้อยู่ได้ 
 
          เสียงรถจักรยานยนต์จอดลงที่หน้าบ้านเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกัน พร้อมกับเสียงเรียกเจ้าของบ้าน เป็นจังหวะเดียวกันกับที่พ่อลูกอ่อนรู้สึกตัวพอดี เพราะตีสามครึ่งมักเป็นช่วงเวลาที่ตื่นนอนเสมอ ทันทีที่เสียงเรียกเจ้าของบ้านจบลง ก็มีเสียงรถยนต์อีกคันเข้ามาจอดที่หน้าบ้าน สิ้นเสียงปิดประตูรถก็ได้ยินเสียงดังลั่นว่า ซ้าย....ซ้าย....” พร้อมกับเสียงตบเท้าคล้ายกับจะเป็นสัญญาณบ่งบอกว่ากำลังมีการล้อมบ้าน
 
          อีกราวสิบนาทีถัดมาก็ได้ยินเสียงร้องเรียกเจ้าของบ้านดังมาจากประตูด้านหน้า ผมซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัวรีบไปเปิดประตูพร้อมกับเปิดไฟทุกดวงทันทีเพื่อแสดงความบริสุทธิ์และความพร้อมในการให้ความร่วมมือในฐานะที่เป็นพลเมืองดีของชาติ
 
          การตรวจค้นเริ่มขึ้นและดำเนินไปอย่างทั่วถึงทุกซอกทุกมุม แต่ไม่ปรากฏว่าพบสิ่งผิดกฎหมายแต่อย่างใด เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการดังกล่าวแล้ว  เจ้าหน้าที่เรียกให้ผมออกไปนอกบ้านแล้วตะโกนถามว่านี่อะไร เอามาจากไหน” พร้อมๆ กับที่เรียกให้ไปจับ “สิ่งของ” ดังกล่าว แต่ผมกลับตอบว่า ผมไม่จับครับ เพราะมันไม่ใช่ของผม”  
 
          จะจับหรือไม่จับ” เป็นเสียงสำทับ  ถ้าไม่จับ ผมส่งคุณเข้าคุกกรุงเทพฯ ไม่รอดแน่ คุณจะไม่ได้เจอลูกเมียอีก”
 
          ยามค่ำคืนเช่นนี้ใครเล่าจะกล้าปฏิเสธเจ้าหน้าที่ผู้ถือกฎหมายและกำอาวุธในมือ แถมมีกำลังพลไม่ต่ำกว่า 150 นาย พ่อลูกอ่อนที่มีลูกสาววัย 8 และ 4 ขวบพร้อมกับคู่ทุกข์คู่ยากร่วมชะตากรรมอีกเพียงหนึ่งเดียวอย่างผมจึงจำใจต้องชี้ไปที่วัตถุของกลาง  มีการถ่ายรูปประกอบแม้ว่าผมจะไม่ได้แตะต้องเจ้าของสิ่งนั้นแม้แต่นิดเดียว ผมยึดถือหลักการการเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยความหวังว่ามันจะช่วยผมได้ ในขณะเดียวกันก็ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ด้วยดีโดยตลอดไม่มีการขัดขืน 
 
          อีกหนึ่งชั่วโมงให้หลังเจ้าหน้าที่ก็เชิญผมไปขึ้นรถกระบะที่ได้เตรียมไว้เพื่อนำตัวผมไปสอบสวนที่โรงพักแห่งหนึ่งในเขตเมือง ตลอดระยะเวลาที่ถูกควบคุมตัวอยู่นั้น ผมเฝ้าแต่รำพึงอยู่ในใจด้วยความหวาดวิตกว่า นับตั้งแต่นี้ผมคงจะสิ้นอิสรภาพและชีวิตผมกำลังตกอยู่ในกำมือมัจจุราช  เราใช้เวลาไม่นานในการเดินทางจากบ้านผมไปถึงจุดหมายปลายทาง เมื่อไปถึงก็เจอเข้ากับกองทัพสื่อมวลชนที่มีทั้งหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์มาทำข่าว และแล้วเหตุการณ์ก็เป็นจริงดังที่ผมกลัวจะเกิด อิสรภาพของผมหมดไปนับตั้งแต่วันนั้น
 
          จากวันนั้นถึงวันนี้ชีวิตของผมพลิกผันจากหน้ามือเป็นหลังมือ แม้ว่าครั้งหนึ่งผมจะเคยศึกษาถึงระดับมหาวิทยาลัย เคยทำงานรับใช้ชาติมาเกือบครึ่งชีวิต แต่มาวันนี้ผมกลับเจอข้อหาคดีความมั่นคง ทุกวันนี้ผมมีตราบาปตกเป็นจำเลยสังคม กลายเป็นคนที่เป็นปรปักษ์ต่อรัฐและเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ
 
          เมื่อเสาหลักของครอบครัวคือ พ่อ” สิ้นอิสรภาพ ทุกคนก็ต้องลำบาก เพราะที่มาของรายได้หลักที่จุนเจือครอบครัวขาดหายไป จากที่เคยมีเงินเข้าบ้านเดือนละหมื่นกว่าบาทที่สามารถรองรับทั้งค่าใช้จ่ายทั่วไป  ค่าเล่าเรียนของลูกทั้งสองที่ตกเทอมละหมื่นกว่าบาท ตลอดจนค่าใช้สอยอื่นๆ รวมไปถึงค่าหนังสือ ค่าไฟ เงินก้อนนี้ก็หมดไป คนเป็น แม่” ต้องเข้าไปแบกรับภาระในการหาเงินแทน ทำให้มีงานหนักเพิ่มเป็นสองเท่า รายได้ที่จะเลี้ยงลูกทั้งสองมาจากการรับจ้างกรีดยางซึ่งตกเพียงวันละร้อยกว่าบาท ไม่เพียงพอสำหรับการใช้จ่ายในสภาพเศรษฐกิจยุคปัจจุบัน ครอบครัวก็ต้องเผชิญสภาพปากกัดตีนถีบ
 
          ส่วนที่โรงเรียน ลูกของผมก็ถูกเพื่อนล้อว่าเป็นลูกโจร และเป็นเด็กไม่มีพ่อ เพราะไม่มีพ่อไปส่งขณะที่เพื่อนๆ มีพ่อไปส่งที่โรงเรียนทุกวัน  มันกลายเป็นปมด้อยที่ลูกต้องประสบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 
 
          นับตั้งแต่เริ่มร้องเพลงชาติตั้งแต่อายุได้เจ็ดขวบ  ผมไม่เคยคิดเลยว่าจะทรยศต่อชาติบ้านเมือง ผมเลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  ความหวังลึกๆ ของผมก็คืออยากให้ลูกทั้งสองได้เรียนหนังสือจนถึงระดับมหาวิทยาลัยเหมือนพ่อ ผมไม่อยากเห็นลูกผมมีปัญหา มีปมด้อย แต่ทุกวันนี้เมื่อพ่อไม่ได้อยู่ด้วย ลูกก็ไม่ได้รับความอบอุ่นจากพ่อ แถมครอบครัวยังมีปัญหารุมเร้าซึ่งมีผลกระทบต่อจิตใจของลูกไม่น้อย  ทุกวันนี้ไม่มีองค์กรใดที่คิดจะไปเยียวยาครอบครัวของผม ดูเหมือนผู้คนจะมองเราเป็นครอบครัวที่ต่ำต้อย เป็นครอบครัวที่สร้างปัญหาให้กับสังคม
 
          ผมไม่เคยเห็นว่าความยากลำบากในการทำมาหากินและความยากจนของครอบครัวเป็นอุปสรรคในการดำเนินชีวิต ผมคิดไว้เสมอว่าตราบใดที่ยังมีลมหายใจ ยังมีแรงกายแรงใจให้มุมานะทำมาหากิน ตราบนั้นชีวิตนี้ก็ยังไม่สิ้นหวัง เพราะขนาดสุนัขข้างถนนยังไม่ยอมอดตาย
 
          ผมเชื่อเสมอว่าคุณค่าของคนอยู่ที่ความดีของพวกเขามากกว่าอย่างอื่น แม้จะเกิดในตึกรามบ้านช่องใหญ่โตหรูหรา แต่ค่าของพวกเขาก็ไม่ต่างไปจากคนที่เกิดใต้สะพานลอย เพราะคุณค่าของความเป็นมนุษย์ไม่ได้อยู่ที่ความร่ำรวยหรือมีการศึกษาดี  แต่อยู่ที่ความดีที่เรามีอยู่ แม้จะเป็นลูกเศรษฐีแต่หากสร้างความเดือดร้อนให้กับสังคมก็คงไม่ได้ดีไปกว่าลูกคนจนที่ไม่เคยสร้างความเดือดร้อนให้ใคร แต่สังคมทุกวันนี้ดูจะชื่นชมยินดีแต่กับคนที่มีหน้ามีตา คนที่ทำความดีกลับไม่ได้รับการยกย่อง
 
          อย่างในสามจังหวัดภาคใต้เวลานี้ เราถูกตีตราว่าเป็นแหล่งชุมนุมโจรผู้ร้าย เป็นแหล่งบ่มเพาะความป่าเถื่อนและเป็นสนามรบที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม แต่ผู้กำหนดนโยบายของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเคยคิดบ้างหรือไม่ว่าวิธีการบริหารจัดการปัญหาเช่นนี้ได้ผลแค่ไหน และวิธีการนี้มันได้ช่วยลดระดับความรุนแรงของปัญหาให้เบาบางลงบ้างหรือเปล่า  มีการกำหนดยุทธศาสตร์ในการรบในเชิงจิตวิทยาเพื่อเอาชนะใจประชาชนด้วยหรือไม่
 
          หากมองสภาพปัญหาโดยรวมทุกวันนี้แล้ว ระดับเหตุการณ์วันนี้คงไม่ต่างไปจากเส้นกราฟิกที่แสดงบนจอคอมพิวเตอร์ของผู้ป่วยโรคหัวใจที่ต้องช่วยฝากชีวิตไว้กับเครื่องช่วยหายใจ ผู้กำหนดนโยบาย ผู้กำกับนโยบาย ผู้สั่งการและผู้ปฏิบัติการในพื้นที่ได้ดำเนินการเป็นไปตามพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือไม่  คำว่า "เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา" ถ้าเราคิดตามหลักนี้จะเห็นว่ามันประกอบด้วย 3 หลักวิชาสำคัญคือ
 
          เข้าใจ ได้แก่ หลักวิชาจิตวิทยา ต้องเข้าใจปัญหา สภาพแวดล้อม เข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ความแตกต่างทางด้านศาสนา วัฒนธรรม ยึดหลักว่าเราอยู่บนความแตกต่าง แต่ไม่สร้างความแตกแยก
 
          เข้าถึง ได้แก่ หลักสังคมวิทยา ต้องเข้าถึงปัญหา ต้องเข้าไปนั่งในหัวใจของทุกคน ไม่ใช่ไปนั่งบนหัวของทุกคน
 
          พัฒนา ได้แก่ หลักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต้องพัฒนาอย่างแท้จริงทั้งรูปธรรมและนามธรรม ต้องพัฒนาจิตใจให้ทุกคนมีความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ พัฒนาการศึกษา พัฒนาอาชีพ ตลอดจนพัฒนาความมั่งมีศรีสุขให้กับทุกครัวเรือน
 
          การบริหารกิจการในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มักจะทำกันในลักษณะเป็นแนวดิ่งมากกว่าแนวราบ จำนวนของประชาชนที่มีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นในการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่มีน้อยมากหรือแทบจะไม่มีเลย ผู้ที่มีการศึกษาระดับปัญญาชนแทนที่จะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา กลับตกเป็นผู้ต้องสงสัยและกลายสถานะเป็นผู้ที่เป็นปรปักษ์ต่อรัฐบาล เป็นแนวร่วมในการก่อความไม่สงบ ซึ่งจะถูกจับตาเป็นพิเศษหรือไม่ก็จับไว้ก่อน เรื่องอื่นค่อยว่ากัน
 
          ผมเคยอ่านหนังสือปกสีเหลืองที่เขียนโดย พล.ท.หาญ ลีนานนท์ (ยศสมัยนั้น) อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 เรื่องนโยบาย ใต้ร่มเย็น” ที่จะสงบศึกใน 14 จังหวัดภาคใต้ยุคที่พื้นที่นี้ถูกครอบงำโดยโรคคอมมิวนิสต์ หรือ จคม. กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือพคท. ผู้เขียนซึ่งมีประสบการณ์การทำงานในพื้นที่ได้สรุปเอาไว้ว่า  เราจะต้องแก้ปัญหาความขัดแย้งแบบนี้ด้วยสันติวิธี”
 
          ถ้าหากเราฆ่าพ่อคนเดียวเพราะเห็นว่าเขาป็นโจร ลูกๆ ของคนๆ นั้นทุกคนก็มีสิทธิจะกลายเป็นโจรกันหมดเพราะแค้นที่พ่อของเขาถูกฆ่า เสมือนหนึ่งว่าเราได้ปลิดกิ่งใหญ่ของต้นไม้หนึ่งต้น มันจะงอกกิ่งใหม่อีกหลายๆ กิ่ง เรียกว่ายิ่งจับก็ยิ่งเจ็บ ยิ่งฆ่าก็ยิ่งแค้น
 
          ผู้บริหารระดับสูง ผู้ที่วางกรอบนโยบายในการจัดการปัญหาสามจังหวัดชายภาคใต้จะมองอย่างไรกับผลกระทบของการสร้างความเจ็บและความแค้นอย่างนี้  หรือว่าท่านจะนิ่งเฉยปล่อยให้คนไทยฆ่ากันเองต่อไป  การกระทำแบบนี้ดูเหมือนจะไม่ค่อยสอดคล้องกับเพลงชาติไทยที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่งว่า ไทยนี้รักสงบ” รักสงบอย่างไรหรือในเมื่อขณะนี้เรากำลังฆ่ากันเอง
 
          ขณะที่เสียงเพลงชาติดังไปทั่วปฐพีนั้น เสียงเรียกร้องหาความยุติธรรมก็ยังดังมาจากทุกหย่อมหญ้า ประสานกับเสียงร้องไห้ของลูกที่ขาดพ่อซึ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกที  เสียงเหล่านี้มันบ่งบอกถึงความระส่ำระสายของสังคมไทย
 
          ในสภาพอย่างนี้สันติสุขจะหวนคืนมาได้เมื่อไหร่หรือ...
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net