Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
เมื่อจินตนาการถึง “สังคมประชาธิปไตย” เราจะเห็นภาพที่ชัดเจนอย่างหนึ่งคือ ความเป็นสังคมที่มีวัฒนธรรมการใช้เหตุผลในการอยู่ร่วมกัน เนื่องจากสังคมประชาธิปไตยเป็นสังคมที่ยอมรับในความแตกต่างหลากหลายของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างทางชาติพันธุ์ ภาษา ศาสนา วัฒนธรรม รสนิยม วิถีชีวิต อุดมการณ์ทางการเมือง ฯลฯ
แต่ในความแตกต่างหลากหลายนั้น เราเชื่อว่ามนุษย์มีคุณลักษณะบางอย่างที่เหมือนกันคือ “เหตุผล” โดยการใช้เหตุผลจะทำให้เราซึ่งมีความแตกต่างกันหลายๆด้าน สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถกเถียงโต้แย้งเพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน ข้อตกลงร่วมกัน หรือกติกา อุดมการณ์ร่วมกันในการสร้างสังคมที่มีโครงสร้างและองค์ประกอบอื่นๆที่ส่งเสริมสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ความเป็นธรรม ภราดรภาพ มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
เมื่อเราใช้เหตุผลบนจุดยืนของการปกป้องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ความเป็นธรรมในสังคมประชาธิปไตย เราจะเห็นว่า การกำหนดให้ของที่มีลักษณะเฉพาะกลายเป็นของสากล เช่น การบัญญัติให้ศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญเป็นต้น เป็นเรื่องที่ขัดกับหลักเสรีภาพ ความเสมอภาค และไม่เป็นธรรมกับคนที่นับถือศาสนาอื่นๆ
และยิ่งกว่านั้น เมื่อเราใช้เหตุผลมากขึ้นเท่าใด เรายิ่งพบว่า “การปิดกั้น” การใช้เหตุผลเพื่อแสวงหาความจริง หรือ ถูก ผิด ควร ไม่ควร ด้วยข้ออ้างต่างๆเช่น เรื่อง “พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์” หรือ “อคติ” ต่างๆ เช่น ข้อรังเกียจเรื่องความด้อยการศึกษาของคนรากหญ้า เป็นต้น เป็นเรื่องที่ไร้เหตุผลและเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการแสวงหาข้อตกลงร่วมกันในทางสังคมการเมือง
เมื่อพิจารณาดูการต่อสู้เพื่อสร้าง “ประชาธิปไตยที่แท้จริง” ของมวลชนเหลือง-แดง รูปธรรมที่เกิดขึ้น คือความแตกแยกของผู้คนในสังคมจนอยู่ในภาวะที่ไม่อาจใช้เหตุผลในการแสวงหาข้อตกลงร่วมกันได้
ชัยชนะของแต่ละฝ่ายมีความหมายเพียงการเปลี่ยน “ขั้วอำนาจ” ทางการเมืองเท่านั้น เมื่อขั้วอำนาจของฝ่ายเสื้อแดงชนะ ฝ่ายเสื้อเหลืองก็ออกมาต่อต้าน ขั้วอำนาจของฝ่ายเสื้อเหลืองชนะ ฝ่ายเสื้อแดงก็ออกมาต่อต้าน สภาวการณ์เช่นนี้คงดำเนินต่อไปอีกยาวนาน เพราะแต่ละฝ่ายต่างก็มีมวลชนสนับสนุนจำนวนมาก
ที่น่าเศร้ายิ่งกว่านั้นก็คือ ในการต่อสู้ของทั้งสองฝ่ายนั้นได้เกิดคดีความต่างๆจำนวนมาก แต่เมือต้องถูกดำเนินคดี แต่ละฝ่ายต่างก็ใช้มวลชนของตัวเองไปกดดันกระบวนการยุติธรรม (และในบางกรณีกระบวนการยุติธรรมเองก็แสดงให้เห็นถึงการใช้ “สองมาตรฐาน”) ทำให้เกิดปรากฏการณ์ “อำนาจม็อบเหนืออำนาจรัฐ”
เมื่ออำนาจม็อบเหนืออำนาจรัฐ และกระบวนการยุติธรรมก็ใช้สองมาตรฐานเสียแล้ว หลักความเสมอภาคกันตามกฎหมาย ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของหลักนิติรัฐก็ถูกทำลายลง
และถ้าเราเชื่อว่า การปฏิบัติตามหลักนิติรัฐเป็นรูปแบบอันเป็นรูปธรรมที่สุดของการใช้เหตุผลในการอยู่ร่วมกันของสมาชิกแห่งรัฐ ก็หมายความว่า “ประติมากรรมของการใช้เหตุผล” ในการอยู่ร่วมกันในสังคมประชาธิปไตยก็กำลังถูกทำลายลงด้วยเช่นกัน
แล้วประติมากรรมใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นโดยกระบวนการสร้างประชาธิปไตยแห่งม็อบ ก็คือ “ประติมากรรมแห่งความเกลียดชัง” รัฐบาลของฝ่ายเสื้อแดงไม่สามารถลงภาคใต้ได้ราบรื่นฉันใด รัฐบาลของฝ่ายเสื้อเหลืองก็ไม่สามารถขึ้นเหนือหรืออีสานได้ราบรื่นฉันนั้น
จะว่าไปแล้ว ถ้าแนวทางการต่อสู้ยังดำเนินต่อไปเช่นนี้ ต่อให้ฝ่ายเสื้อแดงชนะ ได้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก (ตามข้อเรียกร้องของแกนนำฝ่ายเสื้อแดง) ก็ใช่ว่าสังคมจะสงบราบรื่น พ.ต.ท.ทักษิณก็คงลงภาคใต้ไม่ได้เช่นกัน อาจเกิดการต่อต้านอย่างหนักไม่น้อยกว่าที่ผ่านมา หรือถึงขั้น “กลียุค” เลยก็ได้
ถ้าแต่ละฝ่ายไม่หลงใหลใน “ประติมากรรมแห่งความเกลียดชัง” ที่ตนเองสร้างขึ้น โดยเชื่อว่าการสร้างและดำรงความเกลียดชังต่อฝ่ายตรงกันข้ามจะทำให้ฝ่ายตนประสบชัยชนะ แล้วยอมรับความจริงว่าแต่ละฝ่ายได้เดินมาจน “สุดสายป่าน” ของความเกลียดชังแล้ว (เพราะมาถึงจุดที่เกินกว่าการทำร้ายร่างกายกันแล้ว) ทั้งสองฝ่ายก็อาจต้องมาทบทวนว่า เราจะสามารถสร้างประชาธิปไตยด้วยวิถีทางการใช้เหตุผลในการอยู่ร่วมกันได้หรือไม่
ที่เหลือคงต้องเป็นภาระของภาคส่วนต่างๆในสังคม ต้องคิดร่วมกันว่า ทำอย่างไรจึงจะทำให้ความเห็นต่างทางการเมือง (ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะมากขึ้นเรื่อยๆ) ได้ปะทะโต้แย้งแลกเปลี่ยนกันบนเวทีของการใช้เหตุผล และบนวิถีทางของสันติวิธี
โดยมีเป้าหมายที่การเปลี่ยนแปลงสังคมให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นโดยเฉพาะให้บรรลุถึง “ความเป็นประชาธิปไตย” ในประเด็นหลักๆที่ทั้งสองฝ่ายเรียกร้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net