Skip to main content
sharethis

การกล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในวงจรการผลิตการตลาดของลำไยเป็นปัญหาของชาติคงไม่ผิดนัก เพราะ ตลอดเส้นทางการผลิตการค้าลำไยสะท้อนให้เห็นปัญหาของประเทศตั้งแต่การวางแผนการผลิต การตลาด ตลอดจนปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นได้ทั้งหมด

 

นานมาแล้วที่เกษตรกรภาคเหนือเคยร่ำรวยจากการขายลำไย จนถึงกับเปลี่ยนแปลงพื้นที่นา และพื้นที่ทำการเกษตรอื่นๆ ให้กลายเป็นสวนลำไยอย่างกว้างขวาง อดีตราคาลำไยสดตกอยู่ประมาณไม่น้อยกว่า 30-40 บาทต่อกิโลกรัม แต่ราคาดังกล่าวนี้คงตัวอยู่ได้เพียง 3-5 ปี (หมายเหตุ- ระยะเวลาดังกล่าวเท่ากับระยะการเก็บเกี่ยวผลผลิตลำไยหลังการปลูก) เมื่อลำไยปลูกใหม่รุ่นต่อมาทยอยออกสู่ตลาด ตลอดจนมีการใช้เทคโนโลยีทางการเกษตรที่เร่งให้มีการผลิตลำไยนอกฤดู ทำให้นับแต่นั้นเป็นต้นมาราคาลำไยได้ลดต่ำลงเป็นลำดับ ถามว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นควรเป็นความรับผิดชอบของเกษตรกรฝ่ายเดียวหรือ คำตอบคือ ไม่ ในห้วงที่ราคาผลผลิตทางการเกษตรดี ไม่มีเกษตรกรคนใดไม่อยากรวย ไม่อยากปลดหนี้ ผู้ที่ควรรับผิดชอบที่สำคัญในจังหวะเวลาดังกล่าวคือ หน่วยงานต่างๆ ที่เข้ามาส่งเสริมการผลิต ไม่เว้นแม้แต่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ที่ปล่อยกู้อย่างมีเงื่อนไข หากเกษตรกรระบุวัตถุประสงค์การกู้ว่าจะนำเงินไปลงทุนปลูกลำไย ก็จะได้รับการอนุมัติอย่างรวดเร็ว และจนถึงวันนี้ผลของการผลิตอย่างไม่มีการวางแผนการตลาดล่วงหน้าก็ย้อนกลับมาทำลายระบบตลาดลำไย 
 

ปัญหา Over supply หรือ ความไม่สมดุลของปริมาณผลผลิตกับความต้องการของตลาดเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ราคาลำไยตกต่ำ ซึ่งถูกซัดซ้ำด้วยปัญหาการตลาดที่แทรกเข้ามาในธุรกิจการค้าการส่งออกลำไยและกลายเป็นปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้กัน กล่าวคือ นับแต่เริ่มมีผลผลิตล้นเกิน การล้นเกินผลักดันให้เกิดการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าทางการตลาด และเพื่อดูดซับลำไยสดออกจากระบบ ในเขตลำพูน-เชียงใหม่ มีบริษัท ป.เฮง เป็นรายแรกที่นำเข้าเครื่องมือในการอบแปรรูปลำไย โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนคือ การส่งออกลำไยอบแห้ง (ทั้งเปลือก) ไปยังประเทศจีน ที่เพิ่งเปิดตลาดด้วยกันไม่นานในปี พ.. 2538 ภายใต้กรอบเจรจาการค้าพหุภาคีดับเบิ้ลยูทีโอ (องค์การการค้าโลก) การเปลี่ยนแปลงในระบบการผลิตนี้เองทำให้โครงสร้างทางการตลาดของลำไยไปพึ่งพิงการส่งออกลำไยอบแห้งมากขึ้น มากกว่าการบริโภคภายในประเทศเหมือนเมื่อก่อน ราคาลำไยอบแห้งในระยะแรกแพงมาก โดยเฉพาะลำไยคัดเกรด AA หรือ Golden grade หรือ เกรดทอง ในภาษาชาวสวน ทำให้เกษตรกรจำนวนไม่น้อยที่พอมีทุนรอนสั่งซื้อเครื่องอบลำไยมาเป็นของตนเอง และชาวสวนรายย่อยบางส่วนมีการปรับตัวโดยรวมตัวกันเป็นสหกรณ์บ้าง กลุ่มเกษตรกรบ้าง แล้วซื้อเครื่องอบลำไยมาบริหารจัดการโดยกลุ่ม เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการอบลำไยกับ “เถ้าแก่” และเพิ่มรายได้ให้กับตนเอง
 

อย่างไรก็ดี ตลาดการส่งออกลำไยอบแห้งก็มีปัญหาไม่ต่างกับสินค้าเกษตรชนิดอื่น อาจยุ่งยากกว่านั้นเนื่องจากว่า ประเทศจีนเป็นตลาดหลักของการส่งออกลำไย กล่าวคือ กว่าร้อยละ 90 ของลำไยอบแห้งที่ผลิตได้ทั้งหมดในประเทศถูกส่งไปยังประเทศจีน แต่มิได้เป็นการส่งออกตรง (Direct export) ไปยังจีนแผ่นดินใหญ่เสียทั้งหมด แต่กลับเป็นการส่งออกไปยังฮ่องกงแล้วจึงต่อไปยังจีน ที่เราเรียกว่า ส่งออกซ้ำ (Re-export) ซึ่งความติดขัดในการส่งออกนี้เองที่นำเราไปสู่กับดักอีกชั้นหนึ่งของธุรกิจการตลาด ในปี พ.. 2546 ประเทศไทยลงนามความตกลงเปิดเสรีทางการค้าแบบทวิภาคี เรียก การเก็บเกี่ยวล่วงหน้า (Early Harvest) กับประเทศจีน โดยมีมายาคติความเชื่อว่า การลดภาษีนำเข้าลงเหลือร้อยละ 0 ของทั้งสองประเทศจะนำมาซึ่งการเปิดกว้างทางการค้าระหว่างไทยและจีน พร้อมทั้งคาดหวังอย่างสูงว่า ผลไม้เมืองร้อนจากประเทศไทยจะเข้าไปตีตลาดในประเทศจีน โดยเฉพาะผลไม้ที่ครองตลาดจีนอยู่เดิม เช่น ทุเรียน และลำไย
 

โดยไม่มีการศึกษาผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าอย่างลึกซึ้งและขาดการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน หลังการเปิดเสรี ประเทศไทยต้องเผชิญกับคำตอบที่แท้จริงในการแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรด้วยการเปิดเสรีว่า การส่งออกสินค้าเกษตรไปยังประเทศจีนไม่ได้ง่ายดายตามจินตนาการ เพราะติดขัดปัญหาหลายด้านที่ซับซ้อน ตั้งแต่ความไม่สะดวกของเส้นทางขนส่งสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตรจากไทยไปประเทศจีนมีอยู่อย่างจำกัด ที่สำคัญได้แก่ เส้นทางเดินเรือจากด่านเชียงแสน จังหวัดเชียงราย และเส้นทางเดินเรือสมุทรจากท่าเรือคลองเตยหรือแหลมฉบังที่ไปขึ้นที่ท่าเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเส้นทางต่างๆ ที่กล่าวมานั้น ไม่รวมถึงการขนส่งสินค้าภายในประเทศที่ต้องพึ่งพารถไฟเป็นส่วนใหญ่ หรือการเรียกเก็บภาษีของแต่ละมณฑลในจีน รวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงทำให้ลำไยที่ส่งไปขายยังประเทศจีนไม่ได้มีราคาลดลงกว่าก่อนการเปิดเสรี แม้ว่าไม่ต้องเสียภาษีผ่านแดนตามข้อลงเปิดเสรีแล้วก็ตาม ไม่เพียงเท่านั้น โจทย์ในเรื่องการผูกขาดการนำเข้าที่ต้องให้นักธุรกิจจีนเท่านั้นเป็นตัวแทนนำเข้า กรณีที่เป็นผู้นำเข้าต่างชาติจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมี “ทุนหนา” และ/หรือมี “สายต่อ” ที่ดีพอในการจะเป็นผู้นำเข้าเอง เราจึงเห็นได้ว่ามีผู้ส่งออกเพียงบางรายเท่านั้นจากประเทศไทยที่สามารถส่งผลผลิตไปยังประเทศจีนได้เอง เช่น บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นต้น

 

เมื่อเป็นเช่นนั้น ปริมาณการส่งออกลำไยไปยังประเทศจีน และประเทศอื่นๆ จึงไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณการนำเข้าผลไม้เมืองหนาวจากประเทศจีนที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว และค่อยๆ เข้ามาแทรกแซงรสนิยมการบริโภคของคนไทยทีละน้อย โดยเฉพาะคนไทยจำนวนมากที่เลือกบริโภคในสิ่งที่มีราคาถูกกว่า จึงเป็นผลกระทบเชิงซ้อนที่เข้ามาสร้างปัญหาให้กับลำไยอีกทางหนึ่ง
 

อีกหนึ่งกลุ่มก้อนของปัญหาซึ่งทำให้เกษตรกรชาวสวนลำไยในวันนี้อยู่ในสภาพโงหัวไม่ขึ้นนั่นคือ ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นของข้าราชการและนักกการเมืองทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ หากเราติดตามข่าวสารอย่างต่อเนื่องจะพบว่า นับแต่ปี พ.. 2543 ซึ่งเป็นปีแรกที่เริ่มมีการใช้มาตรการโครงการแทรกแซงตลาดลำไยซึ่งมีมูลค่านับหมื่นล้าน และได้เปิดช่องให้ข้าราชการและนักการเมืองเข้ามาฉกฉวยหาประโยชน์ได้ไม่เว้นแต่ละปี กระบวนการโกงเกิดขึ้นตั้งแต่การสต็อคลม การสวมสิทธิ์เกษตรกร ลำไยในสต็อคหายไป การเวียนรับจำนำ หรือแม้แต่การประมูลขายลำไยในโกดังรับจำนำของรัฐในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด ล้วนเป็นผลเสียที่ทำให้กลไกตลาดลำไยบิดเบี้ยวไปจากที่ควรจะเป็น
 

และด้วยความคาราคาซังของปัญหาที่เก่าเก็บยืดเยื้อ ปีนี้เมื่อเข้าสู่ฤดูกาลลำไยในช่วงประมาณเดือนกรกฎาคมต่อเดือนสิงหาคมได้เพียงไม่นาน เกษตรกรชาวสวนลำไยก็ต้องออกมาประท้วง เรียกร้องให้รัฐบาลกำหนดมาตรการแทรกแซงลำไยสด เพราะปัจจุบันราคาลำไยสดที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 6-10 บาทเท่านั้น ในขณะที่ต้นทุนการผลิตสูงกว่า 13 บาท น่าตกใจที่ว่า ราคาลำไยต้นฤดูตกต่ำอย่างรุนแรง ทั้งที่ความเป็นจริงในระยะนี้มีผลผลิตออกมาสู่ตลาดเพียงแค่ร้อยละ 10 ของผลผลิตทั้งหมดโดยรวมทั้งประเทศประมาณ 3-4 หมื่นตัน
 

เราเห็นภาพรัฐบาลออกมาประกาศจะแก้ไขปัญหาลำไยก่อนที่ผลผลิตจะออกสู่ตลาดไม่น้อยกว่า 3 เดือน โดยเฉพาะมาตรการทำลายทิ้งลำไยรับจำนำที่ค้างสต็อคตั้งแต่ปี พ.. 2546/47 ซึ่งมีปริมาณถึง 4 หมื่นตัน เพราะไม่ต้องการให้มีการทุจริตซ้ำ นำลำไยในโกดังออกมาเวียนจำหน่ายอันเป็นการทำลายราคาและตลาดลำไยโดยตรง แต่ก็มีการพูดถึงเรื่องนี้ได้เพียงไม่ถึงสัปดาห์แล้วก็เงียบหายไป ส่งผลให้เกิดประเด็นที่อ่อนไหวอย่างมากในการทำธุรกิจส่งออกไปยังประเทศจีน เพราะพ่อค้าจีนขาดความเชื่อมั่นต่อผลิตภัณฑ์อันเป็นจุดขายสำคัญของลำไยจากประเทศไทย เป็นผลให้มีการกดราคารับซื้อลำไยอบแห้งตั้งแต่ต้นฤดู โดยราคาเฉลี่ยที่พ่อค้าจีนรับซื้อจากโรงอบขนาดใหญ่เฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 15-40 บาทตามเกรดขนาดของลำไย ซึ่งคำนวณได้ว่าลดลงกว่าปีที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 40 และเช่นที่กล่าวแล้วข้างต้นว่า ราคาลำไยอบแห้งสัมพันธ์กับราคาลำไยสดอย่างแนบแน่น ดังนั้น ราคาลำไยสดในปีนี้จึงถูกมากเสียจนชาวสวนไม่เห็นแม้แต่การคืนทุน
 

ปัญหาลำไยเป็นปัญหาที่ต้องแก้ทั้งระบบอย่างเร่งด่วน เพราะเป็นปัญหาที่สะท้อนการพัฒนาของประเทศดังนั้น หากรัฐบาลเห็นการเรียกร้องของเกษตรกรที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการเคลื่อนไหวตามฤดูกาล ที่เพียงปั้นโครงการแทรกแซงขึ้นมาแล้วปัญหาจะจบลง คงต้องขออนุญาตสรุปว่า ฝันร้ายที่ยาวนานของชาวสวนลำไยแท้จริงนั้นเพิ่งเริ่มต้น เพราะตราบเท่าที่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับลำไยทั้งหมด ซึ่งรวมถึงเกษตรกรเองด้วยมิได้ตระหนักหรือวิเคราะห์ปัญหาอย่างถ่องแท้ว่ารากเหง้าของปัญหาที่แท้จริงคืออะไร การเรียกร้องและโครงการรัฐที่เข้ามาช่วยอุ้มเกษตรกรรายปี ก็เป็นเพียงการต่อลมหายใจให้เกษตรกรต้องแบกปัญหาต่อ เพื่อไปเผชิญปัญหาที่หนักกว่าในปีต่อๆ ไป เท่านั้นเอง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net