คำต่อคำ กษิตปิ๊งชำระประวัติศาสตร์ภูมิภาคเอเชียตะวันเฉียงใต้ ลดความขัดแย้งระหว่างประเทศ

เมื่อวันที่ 27 ก.ค. นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ได้แถลงถึงผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนครั้งที่ 42 โดย กล่าวถึงองค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน ซึ่งได้รับการรับรองจากการประชุม เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เกิดขึ้นในขณะที่ 10 ประเทศอาเซียน มีระบอบการเมืองการปกครอง ไม่เหมือนกันและการที่มีกฎบัตรอาเซียน ก็เป็นความสำเร็จอันใหญ่หลวง เป็นประชาคมที่อยู่บนตัวบทกฎหมายมีธรรมนูญ และมาบัดนี้ได้มีการให้ความเห็นชอบอย่างแน่นอนในการจัดตั้งองค์กรกลางทางด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งต้องทำ 2 หน้าที่ คือ ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งอ่านดูแล้ว อาจจะให้น้ำหนักไปทางด้านส่งเสริมมากกว่าปกป้อง  
ทั้งนี้ ในการแถลงดังกล่าว นายกษิตได้กล่าวถึงแนวคิดลดความขัดแย้งระหว่างเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยชำระประวัติศาสตร์ด้วย ระบุว่าจะทำให้เกิดความเข้าใจกันและกันเพราะต่างมีรากฐานมาจากวัฒนธรรมเดียวกัน
 
การส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและปกป้องสิทธิมนุษยชน
“การลดช่องว่างในประเทศไทยและระหว่างเรากับประเทศเพื่อนบ้านด้วยและเมื่อลดช่องว่างได้แล้ว ปัญหาของการค้ามนุษย์ แรงงานเถื่อนที่ทะลักเข้ามาในประเทศไทยก็จะลดลงไป เพราะเขาจะหางานทำได้ในประเทศของเขา อันนี้ก็เป็นผลพลอยได้อีกอันหนึ่งของการประชุมนี้ คือการลดช่องว่าง”
 ผมก็ไม่มีปัญหาอะไร ถ้าเห็นว่าการปกป้องยังน้อยไป ก็ต้องทำในทางปฏิบัติอย่างเต็มที่ หมายความว่าเราในแต่ละประเทศอาเซียนก็ต้องช่วยกันปกป้องสิทธิมนุษยชน เริ่มได้จากเรื่องเด็ก สตรี คนชรา คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส และสิทธิมนุษยชนอันหนึ่งคือลดช่องว่างระหว่างอาเซียนมีความริเริ่ม ที่จะลดช่องว่างการพัฒนา อันนี้ก็เป็นเรื่องที่พูดกันมากที่เราจะต้องช่วยประเทศสมาชิกอาเซียนที่ยังด้วยกว่าอ่อนกว่าและเราก็ได้บอกกับมิตรประเทศ พวกคู่เจรจาทั้งหลายว่าให้ช่วยเข้ามาให้ความร่วมมือในการที่จะช่วยลดช่องว่าง และการที่เขาจะเข้ามาร่วมในเรื่องการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขง ก็เป็นหนทางหนึ่งในการที่เขาจะมาช่วยพัฒนาและลดช่องว่างของการมี-ไม่มีช่องว่างระหว่างประเทศ สมาชิกอาเซียนรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่อันนี้เป็นความจำเป็น และไม่ใช่การลดช่องว่างระหว่างเรากับลาวหรือกัมพูชา แต่เราลดช่องว่างระหว่างตัวเมืองกับชนบทของไทยด้วยโดยปริยายถ้าหากเราพัฒนาถนนหนทางในภาคเหนือตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ ให้ครบถ้วนมากยิ่งขึ้นก็มีประโยชน์ต่อการลดช่องว่างในประเทศไทยและระหว่างเรากับประเทศเพื่อนบ้านด้วยและเมื่อลดช่องว่างได้แล้ว ปัญหาของการค้ามนุษย์ แรงงานเถื่อนที่ทะลักเข้ามาในประเทศไทยก็จะลดลงไป เพราะเขาจะหางานทำได้ในประเทศของเขา อันนี้ก็เป็นผลพลอยได้อีกอันหนึ่งของการประชุมนี้ คือการลดช่องว่าง
 เราเป็นประเทศที่ใหญ่กว่ามีกำลังมากกว่าก็อยู่ในฐานะเป็นประเทศผู้ให้เป็นหนึ่งในประเทศผู้บริจาค และเราก็พร้อมที่จะทำงานกับพวกคู่เจรจาและองค์การระหว่างประเทศโดยเฉพาะสหประชาชาติหรือธนาคารโลก หรือธนาคารเอดีบี ในการที่จะร่วมพัฒนา ทั้งพัฒนากรทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน 
สานเสวนา ชำระประวัติศาสตร์ของคนต่างทางวัฒนธรรม
“ผมก็ได้พูดกับรัฐมนตรี(ต่างประเทศ) ของ พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม ว่าเราน่าจะมานั่งคุยกันและชำระประวัติศาสตร์ เราอาจจะทำได้ในประชาคม สังคม วัฒนธรรม ต้องมาชำระประวัติศาสตร์ เพราะประวัติศาสตร์เราส่วนใหญ่อาจจะเขียนโดยฝรั่งมังค่า ในยุคลัทธิล่าอาณานิคม แล้วเราต้องมารับผลพลอยได้ของลัทธิอาณานิคม”
การสานเสวนาของคนต่างความเชื่อและการสานเสวนาของคนต่างทางวัฒนธรรม จะเป็นภายในอาเซียนหรือที่ใดก็ตาม ถ้าเราไม่ได้เห็นความเหมือนหรือยอมรับความต่าง มีมิตรจิตมิตรใจ มีความให้อภัยไม่ถือโกรธ ก็สามารถร่วมมือกันได้และตอนนี้มีเวทีมากยิ่งขึ้น ผมเองได้มีโอกาสคุยกับรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย ก็ได้ทราบว่าขณะนี้มีคณะกรรมการพิเศษระหว่างเบราลุส รัสเซีย โปแลนด์ เพื่อมาชำระประวัติศาสตร์กัน เพื่อให้ดูว่ามีอะไรเหมือนกันไหม ถ้าเห็นแต่ความต่างว่าใครบุกใคร ใครยึดครองใคร ก็คงโกรธกันไม่จบไม่สิ้น ซึ่งสิ่งนี้ผมก็ได้พูดกับรัฐมนตรี(ต่างประเทศ) ของ พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม ว่าเราน่าจะมานั่งคุยกันและชำระประวัติศาสตร์ เราอาจจะทำได้ในประชาคม สังคม วัฒนธรรม ต้องมาชำระประวัติศาสตร์ เพราะประวัติศาสตร์เราส่วนใหญ่อาจจะเขียนโดยฝรั่งมังค่า ในยุคลัทธิล่าอาณานิคม แล้วเราต้องมารับผลพลอยได้ของลัทธิอาณานิคม แต่ถ้าเราจะมองลึกไปอีกพันปี ความเหมือนจะเกิดขึ้น ความเข้าอกเข้าใจจะเกิดขึ้น ไม่เอาบางจุดของประวัติศาสตร์มาเป็นตัวตั้งแล้วเล่นละครกัน อย่าลืมว่าอังกฤษ-ฝรั่งเศส ฆ่าฟันกันมาหลายร้อยปี แล้วมารวมกันจัดตั้งสหภาพยุโรป มีกองกำลังสันติภาพร่วมกัน มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้น เราไปยึดมั่นประวัติศาสตร์ ที่เราแก้ไม่ได้ แต่เราเสริมสร้างความเข้าอกเข้าใจได้อีกวิธีหนึ่งคือการชำระประวัติศาสตร์ว่ามองอะไรกันยังไง อะไรเกิดขึ้น และทำกันด้วยใจกว้าง เอาผู้เชี่ยวชาญเข้ามาก็อาจจะช่วยในการมุ่งไปข้างหน้าจากรากฐานวัฒนธรรมฮินดู-พุทธ มาด้วยกันหลังจากนั้นก็มีอิสลามเข้ามา มีศาสนาคริสต์ เข้ามา ก็เป็นสังคมอันหลากหลายของอาเซียน มีความต่างและมีความเหมือน แต่ต้องอยู่ด้วยกันและต้องไปด้วยกัน ประชาคมอาเซียนจะอยู่ในครอบครัวเดียวกัน สร้างความเหมือนให้ได้มากที่สุด ต้องมีการให้อภัยกัน
การเขียนอะไรเป็นกฎบัตรทางด้านเศรษฐกิจการเมือง โดยที่ไม่มีความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกันและไม่มีการอภัยกันทุกอย่างก็จะไปไม่ได้เต็มที่ จะขาดซึ่งสภาวะจิตใจที่เอื้อต่อกัน
ส่วนการชำระประวัติศาสตร์ที่มีความขัดแย้งระหว่างประเทศ เช่น ไทย-กัมพูชา นายกษิต กล่าวว่า เรื่องนี้เรียกว่า มอญขะแมร์ ซิวิไลซ์เซชั่น เข้ามาทางพม่าผ่านนครปฐม เข้ากัมพูชา เข้าไปตอนใต้ของเวียดนามและคู่ขนานกันไปก็มีอาณาจักรฟูนาน อาณาจักรเจนระ อาณาจักรจำปา หลังจากนั้นก็มีหริภุณไชย อะไรต่างๆ ต้องมาศึกษากันเยอะแยะ ไม่ใช่ระหว่างเรากับกัมพูชา เพราะมอญขะแมร์ซิวิไลซ์เซชั่น คือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือสุวรรณภูมิและก่อนหน้านั้นก็มีศรีวิชัย มีทั้งสุมาตรา ตอนใต้ของไทย บางส่วนของมาเลเซีย มีหลายเรื่อง และการเคลื่อนเข้ามาของพม่ามอญ โดยเฉพาะพม่ารามัญ หรือไทยเข้ามาสุวรรณภูมิก็เป็นอีกช่วงหนึ่งของการเคลื่อนไหวด้านประวัติศาสตร์ เราต้องชำระประวัติศาสตร์ว่าเป็นมาอย่างไร เราพูดก่อนนี้มาก เรื่อง sea silk route เส้นทางสายไหมทางทะเล ก็เชื่อมโยงเรากับเอเชียกลาง กับเยนเมน กับโอมาน มาที่ศรีลังกา อินเดีย เข้ามาทางตะกั่วป่า และเส้นทางเดินเรือก็ขึ้นไปถึงไต้หวัน โอกินาวา เกาหลีใต้ ไปที่เมืองจีน ญี่ปุ่น เป็นเรื่องที่เราต้องมานั่งคุยกันว่าอะไรเป็นอะไร
นายกษิต กล่าวด้วยว่า การเข้ามาของพุทธศาสนา ศาสนาฮินดู ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ เข้ามาด้วยสันติภาพทั้งนั้น ไม่ได้มีการรบราฆ่าฟันกัน เราต้องมาช่วยกันดูว่าอะไรเป็นอะไรอย่างไร การตีความข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ว่าอะไรเป็นอย่างไร ไม่งั้นก็ได้แต่บอกว่าพม่ามาปราบเรา 2 ที หรือประเทศเพื่อนบ้านบอกว่าเราเข้าไปยึดทุกอย่าง เราก็มองกันอยู่แค่นั้น แต่การรบราฆ่าฟันกันถึงแม้ว่าจะมีบ้าง แต่มีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ทางด้านอาหาร ความเชื่อ ประเพณี วัฒนธรรม พิธีศพ แม้กระทั่งเพลง ยี่เก ละครทั้งหลาย ยี่เกก็ต้องไปถึงเอเชียกลางหรือเปล่าทั้งเครื่องแต่งตัวต่างๆ เหล่านั้น ผมเป็นทูตที่รัสเซีย ผมไปคาซัคสถาน อุสเบกิสถาน ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าเครื่องแต่งตัวของยี่เกเรามาจากตะวันออกกลางหรือมาจากอิหร่าน อย่างนี้เป็นสิ่งที่เราน่าจะรู้จะทำให้ชีวิตเราเข้าถึงซึมซับ
เมื่อเรามีความเข้าอกเข้าใจกันแล้วความรังเกียจที่ร้องว่ายี้จะได้ลดน้อยลงเพราะในที่สุดก็ไม่ได้ต่างอะไร ก็มาจากรากฐานวัฒนธรรมเดียวกัน จะได้ให้เกิดการยอมรับซึ่งกันและกันได้ไม่มีการรังเกียจซึ่งกันและกันและเราก็อยู่ในยุคโลกาภิวัฒน์ นอกจากนั้นการสร้างอาเซียนคอมมูนิตี้ก็ต้องเอาส่วนเหมือนมาเป็นตัวตั้ง และยอมรับความต่างเท่าที่จะมีความต่าง แต่ถ้าเราจะบอกว่าประวัติศาสตร์นี้แสนจะเจ็บปวดยังรบกันไม่เสร็จ ยังปราบกันไม่เสร็จก็จะมีแต่ความโกรธ ความเกลียดชังความอาฆาตแค้น แล้วจะมาสร้างคอมมูนิตี้หาสวรรค์วิมานอะไร ต้องดูตรงนี้ด้วย ต้องกลับไปดูวัฒนธรรมร่วมกัน เช่น สงกรานต์ แห่นางแมว โกนผมไฟ กินข้าว เหมือนกัน ทำไมเราไม่เอาสิ่งเหล่านี้เป็นตัวตั้งให้ลูกหลานเด็กรุ่นต่อไปได้รู้จัก เพื่อเราจะได้ไม่มีความรู้สึกว่าเรามีความต่าง จะได้คบหาสมาคมกัน จะไปร่วมมือกันได้ยังไง ถ้าในใจยังมีอคติยังมีความโกรธอะไรต่างๆ เหล่านี้ ไม่ใช่เอาเรื่องเหล่านี้มาเป็นการเมือง  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท