Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 28 ก.ค.52 เวลา 11.00 น. คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) ได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เรื่องขอให้เร่งผลักดันนโยบายและออกกฎหมายการเก็บภาษีที่ดิน ภาษีมรดก ภาษีทรัพย์สินอัตราก้าวหน้า เพื่อแก้ปัญหาการกระจายรายได้ และช่องว่างความเหลื่อมล้ำ ระหว่างคนจนกับคนรวยของสังคมไทย ที่เป็นปัญหาหลักของความไม่เป็นธรรมทางโครงสร้างมายาวนาน โดยมีนายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) มารับหนังสือดังกล่าว

ทั้งนี้เนื้อหาของหนังสือระบุถึง การสนับสนุนนโยบายด้านการปฏิรูประบบภาษี เพื่อให้มีการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงภาษีมรดกอัตราก้าวหน้าในประเทศไทย เพื่อแก้ไขปัญหาการกระจายรายได้ และช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนยากจนกับคนร่ำรวยในสังคมไทย อีกทั้งยังมีข้อเสนอเพิ่มเติมคือ 1. เร่งผลักดันกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และควรมีนโยบายที่จะป้องกันไม่ไห้ที่ดินหลุดมือจากเกษตรกรไปสู่นายทุน โดยเพิ่มมาตรการการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า โดยเฉพาะพื้นที่รกร้างไม่ใช้ประโยชน์ทางการเกษตร และนโยบาย “โฉนดชุมชน” รวมถึง ควรมีมาตรการกันรายได้ของภาษีที่ดินส่วนหนึ่งตั้งเป็น “ธนาคารที่ดิน” เพื่อเป็นหลักประกันให้คนจนที่ไม่มีที่ดินทำกิน มีโอกาสในการเข้าถึงที่ดิน

2. มีนโยบายการปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ เพื่อการกระจายการถือครองที่ดินอย่างจริงจัง โดยการรื้อฟื้นปรับปรุง พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งมีการจำกัดการถือครองที่ดินไม่เกิน 50 ไร่ และห้ามคนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน โดยรัฐบาลและกระทรวงการคลังอาจร่วมกันปฏิรูปกฎหมายดังกล่าวให้ทันสมัยขึ้น เช่น มีมาตรการจำกัดการถือครองเพิ่มขึ้นไม่เกิน 200 ไร่ ตามความจำเป็น เป็นต้น ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าว ยังเป็นไปตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญไทย พ.ศ.2552 มาตรา 85 ที่บัญญัติว่า รัฐมีหน้าที่กระจายการถือครองอย่างเป็นธรรม และดำเนินการให้เกษตรกรมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมอย่างทั่วถึงโดยการปฏิรูปที่ดินหรือวิธีอื่น

3. มีนโยบายการเก็บภาษีทรัพย์สินอัตราก้าวหน้า ทั้งจากสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงการเก็บภาษีมรดกอัตราก้าวหน้า เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมทางสังคม  และเป็นหลักประกันด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ตามสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม (ICESCR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ เพื่อให้รัฐและท้องถิ่น นำมาใช้ในการพัฒนาสาธารณูปโภคและสวัสดิการทางสังคม

“ขอให้กระทรวงการคลัง เร่งทำการรณรงค์และทำความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องดังกล่าวอย่างกว้างขวาง เพราะประชาชนส่วนใหญ่อาจยังไม่มีความเข้าใจและสับสนต่อนโยบายในเรื่องนี้ หากสามารถทำได้จะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะชนชั้นล่างทางสังคมที่จะลืมตาอ้าปากได้จากนโยบายดังกล่าวที่ไปไกลกว่าประชานิยม และจะเป็นแรงผลักดันให้คนกลุ่มน้อยที่ยึดกุมผลประโยชน์ในเรื่องดังกล่าว ไม่สามารถคัดค้านเพื่อผลประโยชน์เฉพาะส่วนตัวได้” หนังสือระบุ

จากนั้นเวลา 14.00 น. ได้เข้ายื่นหนังสือประธานศาลฎีกา ร้องเรียนความเป็นธรรมกรณีคำสั่งศาลจังหวัดสงขลา คดีไต่สวนการตายกรณีตากใบ สำเนาส่งถึง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร์ และประธานวุฒิสภา โดยมีหน้าห้องประธานศาลฎีการับหนังสือแทน
 

 

 
เรื่อง ขอให้เร่งผลักดันนโยบายและออกกฎหมายการเก็บภาษีที่ดิน ภาษีมรดก ภาษีทรัพย์สินอัตราก้าวหน้า
 
เรียน นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
 
 
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศ ไทย ซึ่งทำงานด้านนโยบายสังคม กฏหมาย และการสร้างบรรทัดฐานสิทธิมนุษยชน ร่วมกับเครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ขอแสดงความชื่นชมที่รัฐบาลและกระทรวงการคลัง โดย ฯพณฯ กรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีนโยบายสังคมด้านการปฏิรูประบบภาษี เพื่อให้มีการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงภาษีมรดกอัตราก้าวหน้าในประเทศไทย เพื่อแก้ไขปัญหาการกระจายรายได้ และช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนยากจนกับคนร่ำรวยของสังคมไทยที่เป็นปัญหาหลักของความไม่เป็นธรรมทางโครงสร้างมาอย่างยาวนาน
 
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) ขอสนับสนุนนโยบายดังกล่าวอย่างจริงจังและขอให้กระทรวงการคลังเร่งดำเนินการโดยเร็ว เพราะนโยบายดังกล่าวมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วน ในการแก้ปัญหาความยากจนทางโครงสร้าง และแก้ไขวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจในระยะยาว เหมือนกับอารยะประเทศที่มีการเก็บภาษีที่ดิน ภาษีมรดก หรือภาษีทรัพย์สินอัตราก้าวหน้า เพื่อแก้ปัญหาการกระจายรายได้และพัฒนาสาธารณูปโภค ตลอดจนบริการสาธารณะของรัฐให้มีประสิทธิภาพ เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนเป็นพื้นฐานสำคัญ รวมถึงการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถเก็บภาษีดังกล่าวเพื่อพัฒนาท้องถิ่นตนเองได้นั้น เท่ากับเป็นการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นและเป็นการพัฒนาประชาธิปไตยในระยะยาวอีกขั้นหนึ่ง
 
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) มีข้อเสนอเพิ่มเติมต่อนโยบายด้านการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะการปฏิรูปภาษีและที่ดิน ต่อ ฯพณฯ กรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ดังต่อไปนี้
 
1. คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) ขอให้กระทรวงการคลัง เร่งผลักดันกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเป็นมาตรการสำคัญในการปฏิรูประบบภาษีที่ดิน และสามารถพัฒนาโครงสร้างทางการคลังเพื่อนำไปสู่ภาวการณ์กระจายรายได้ที่ดีขึ้นได้ รวมทั้งเป็นรายได้ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดสรรทรัพยากรและกระจายการพัฒนาสาธารณูปโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามหลักการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชน  เนื่องเพราะประเทศไทยยังไม่มีภาษีที่จัดเก็บจากฐานทรัพย์สินที่แท้จริง นอกจากฐานรายได้ คือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล และฐานการบริโภค คือ ภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มต่างๆ ซึ่งเป็นการเก็บภาษีทางอ้อมที่ผลักภาระให้คนจนส่วนใหญ่เป็นผู้แบกรับภาษีดังกล่าว ซึ่งเป็นโครงสร้างภาษีที่ไม่มีความเป็นธรรม แม้ว่า เราจะมีการเก็บภาษีโรงเรียนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ แต่ก็ไม่ได้เก็บจากมูลค่าของทรัพย์สินอย่างแท้จริง เพราะเป็นการคำนวณภาษีบนฐานรายได้ โดยคำนวณจาก “ค่ารายปี” หรือค่าเช่าที่เจ้าของได้รับในแต่ละปี ถ้ามีการออกกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะเป็นภาษีทางตรงที่เก็บจากฐานทรัพย์สินที่แท้จริง
 
อย่างไรก็ตาม ร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ไม่ได้เน้นในเรื่องของการกระจายการถือครองที่ดิน โดยตรง และคนจนจำนวนมากไม่มีที่ดินทำกิน ดังนั้น กระทรวงการคลัง ควรมีนโยบายที่จะป้องกันไม่ไห้ที่ดินหลุดมือจากเกษตรกรไปสู่นายทุน โดยเพิ่มมาตรการการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า โดยเฉพาะพื้นที่รกร้างไม่ใช้ประโยชน์ทางการเกษตร และนโยบาย “โฉนดชุมชน” ที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีมีดำริ เพื่อเป็นการสร้างการยอมรับการครอบครองที่ดินทำกินและที่ดินอยู่อาศัยของผู้ที่ใช้ประโยชน์ในที่ดินที่แท้จริง และเป็นมาตรการในการให้ชุมชนมาจัดการที่ดินร่วมกัน เพื่อให้ที่ดินสามารถคงอยู่กับคนในชุมชนได้อย่างยั่งยืนต่อไป รวมถึง ควรมีมาตรการกันรายได้ของภาษีที่ดินส่วนหนึ่งตั้งเป็น “ธนาคารที่ดิน” เพื่อเป็นหลักประกันให้คนจนที่ไม่มีที่ดินทำกิน มีโอกาสในการเข้าถึงที่ดิน
 
2. คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) มีความเห็นว่า หากรัฐบาลมีความจริงใจที่จะแก้ไขปัญหา    การถือครองที่ดินอย่างแท้จริง ควรมีนโยบายการปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ เพื่อการกระจายการถือครองที่ดินอย่างจริงจัง โดยการรื้อฟื้นปรับปรุง พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งมีการจำกัดการถือครองที่ดินไม่เกิน 50 ไร่ และห้ามคนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน แต่มายกเลิกในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 19 เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2503 ยกเลิกการจำกัดการถือครองที่ดิน เพื่อส่งเสริมให้เอกชนได้แสวงประโยชน์จากทรัพยากรโดยไม่มีมาตรการรองรับ จนโครงสร้างการจัดการทรัพยากรโดยเฉพาะที่ดินเปลี่ยนแปลงไปจนเกิดปัญหาสั่งสมในปัจจุบัน โดยรัฐบาลและกระทรวงการคลังอาจร่วมกันปฏิรูปกฎหมายดังกล่าวให้ทันสมัยขึ้น โดยมีมาตรการจำกัดการถือครองเพิ่มขึ้นไม่เกิน 200 ไร่ ตามความจำเป็น เป็นต้น ซึ่งจะสนับสนุนนโยบายการเก็บภาษีที่ดินฯ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรืออาจจะปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ให้ครอบคลุมมาตรการดังกล่าว เพราะหากรัฐบาลไม่มีนโยบายเรื่องนี้ เกษตรและชาวนาไทยอาจจะกลายเป็นเพียงแรงงานในท้องไร่ที่เป็นฟาร์มขนาดใหญ่ของนายทุนข้ามชาติในอนาคต
 
ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าว ยังเป็นไปตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญไทย พ.ศ.2552 มาตรา 85 ที่บัญญัติว่า รัฐมีหน้าที่กระจายการถือครองอย่างเป็นธรรม และดำเนินการให้เกษตรกรมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมอย่างทั่วถึงโดยการปฏิรูปที่ดินหรือวิธีอื่น
 
3. คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) ขอเสนอให้กระทรวงการคลัง มีนโยบายการเก็บภาษีทรัพย์สินอัตราก้าวหน้า ทั้งจากสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์เหมือนภาษีทรัพย์สินในต่างประเทศ ไม่ใช่จากอสังหาริมทรัพย์อย่างเดียวตามที่บัญญัติไว้ในร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งจะเป็นมาตรการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมในระยะยาว รวมถึงการเก็บภาษีมรดกอัตราก้าวหน้า เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมทางสังคม  และเป็นหลักประกันด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ตามสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม (ICESCR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ เพื่อให้รัฐและท้องถิ่น นำมาใช้ในการพัฒนาสาธารณูปโภคและสวัสดิการทางสังคม เช่น การขนส่งมวลชนสาธารณะ การศึกษาและการสาธารณะสุข เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนมีเสรีภาพปลอดพ้นจากความอดอยากแร้นแค้น โดยเฉพาะชนชั้นล่างทางสังคม ซึ่งหากภาษีที่รัฐเก็บมา ใช้จ่ายไปในกลุ่มที่เป็นกลุ่มรายได้ระดับล่างมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งจะทำให้เกิดการกระจายรายได้ที่เท่าเทียมกันมากขึ้น ซึ่งจะสามารถลดช่องว่างของคนในสังคมได้มากยิ่งขึ้นนั่นเอง
 
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) เชื่อว่า นโยบายดังกล่าว จะสามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ในระยาว โดยเฉพาะปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและปัญหาความยากจน ซึ่งเป็นมูลเหตุสำคัญหนึ่งของความขัดแย้งทางสังคมและความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน อันจะเป็นการยกระดับสิทธิมนุษยชนจากปัญหาความยากจนที่ถูกจัดการโดยรัฐอย่างไม่เป็นธรรมมาโดยตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา
 
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) ขอให้กระทรวงการคลัง เร่งทำการรณรงค์และทำความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องดังกล่าวอย่างกว้างขวาง เพราะประชาชนส่วนใหญ่อาจยังไม่มีความเข้าใจและสับสนต่อนโยบายในเรื่องนี้ หากสามารถทำได้จะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะชนชั้นล่างทางสังคมที่จะลืมตาอ้าปากได้จากนโยบายดังกล่าวที่ไปไกลกว่าประชานิยม และจะเป็นแรงผลักดันให้คนกลุ่มน้อยที่ยึดกุมผลประโยชน์ในเรื่องดังกล่าว ไม่สามารถคัดค้านเพื่อผลประโยชน์เฉพาะส่วนตัวได้
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net