Skip to main content
sharethis

ตัวแทนทนายความของญาติผู้เสียชีวิตกรณีตากใบ ยื่นอุทธรณ์ ยืนยันให้ศาลฯ ทบทวนคำสั่งกรณีไต่สวนการตาย จากศาลสงขลา

เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 52 ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพ เวลา 10.00 น.ทนายความตัวแทนญาติผู้เสียชีวิตกรณีตากใบ ยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลอาญากรุงเทพ กรณีที่ศาลอาญากรุงเทพมีคำสั่งไม่รับคำร้องของญาติเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.2552 ที่ร้องต่อศาลอาญาเรื่องคำสั่งศาลจังหวัดสงขลาในกรณีการออกคำสั่งคดีไต่สวนการตายกรณีตากใบไปแล้ว เมื่อวันที่ 29 พ.ค.52 ที่ศาลจังหวัดสงขลา ว่าศาลจังหวัดสงขลาอาจทำคำสั่งไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ตามหลักการไต่สวนการตาย เนื่องจากศาลไม่ได้กล่าวถึงพฤติการณ์ที่ตายและไม่กล่าวว่าใครเป็นผู้ทำหรือทำร้ายผู้ตายเท่าที่จะกล่าวได้ และศาลวินิจฉัยถึงเหตุที่ตายแต่เพียงว่าผู้ตายขาดอากาศหายใจนั้น ขัดกับความเข้าใจของสาธารณชนที่ข้อเท็จจริงที่มีทั้งพยานบุคคล พยานเอกสาร ภาพถ่าย และวัตถุพยานเป็นแผ่นบันทึกภาพและเสียงของเหตุการณ์ ว่ามีบุคคลหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายใดเข้าไปเกี่ยวข้องบ้างอย่างไร

ทีมทนายความตัวแทนญาติกรณีตากใบขอให้ศาลอุทธรณ์ได้โปรดมีคำสั่งกลับคำสั่งไม่รับคำร้องของศาลอาญา และเพิกถอนคำสั่งของศาลจังหวัดสงขลาที่ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งใหม่ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากพยานหลักฐานในสำนวนความเดิม ให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่อไป โดยทนายความและญาติไม่สามารถยี่นคำร้องที่ศาลสงขลาได้เพราะคำสั่งคดีไต่สวนการตายถือเป็นการสิ้นสุดจึงจำเป็นต้องนำคดีนี้มายื่นต่อศาลอาญาเป็นคดีใหม่

นอกจากนั้นเวลา 14.00 น.ของวันเดียวกัน ตัวแทนองค์กรสิทธิมนุษยชนนำโดยคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) ได้นำจดหมายเปิดผนึกถึงประธานศาลฎีกา นำเรียนต่อประธานศาลฎีกา โดยมีตัวแทนผู้ประธานศาลฎีกา มารับจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องความเป็นธรรม โดยจดหมายเปิดผนึกได้จัดทำขึ้นเพื่อรวบรวมรายชื่อจากบุคคล องค์กร คณะบุคคลเพื่อสนับสนุนการที่ญาติของผู้เสียชีวิตจะได้ยื่นคำร้องหรืออุทธรณ์ต่อศาลในคดีดังกล่าว

 

 

 
ข้อมูลเพิ่มเติมประเด็นกฎหมาย
คดีคำร้องคัดค้านคำสั่งไต่สวนการตายกรณีตากใบเป็นคดีหมายเลขดำที่ ษ.43 / 2552 คดีหมายเลขแดงที่ ษ.42/2552 ศาลอาญาสั่งไม่รับคำร้อง เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 52 วันที่ 29 กรกฎาคม 2552 เวลา 10.00 น. ผู้ร้อง คือนางสาวมัสตะ เจะอูมา ญาติผู้ตายที่ 58 กับพวกรวม 34 คน โดยนางแยน๊ะ สะแลแม ผู้รับมอบอำนาจ จะยื่นอุทธรณ์เพื่อร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ไม่ถูกต้องไม่เป็นธรรมตามบทบัญญัติ รัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยยื่นที่ ศาลอาญา กรุงเทพฯ
 
เนื้อหาโดยย่อในคำร้อง
 คำร้องของผู้ร้อง มีวัตถุประสงค์ว่าคำสั่งของศาลจังหวัดสงขลานั้นขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 และคำสั่งของศาลจังหวัดสงขลาดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ผู้ร้องจึงจำเป็นต้องยื่นคำร้องต่อศาลอาญาเพื่อเพิกถอนคำสั่งดังที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญดังกล่าว เพราะศาลอาญามีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาทั้งปวงได้ทั่วราชอาณาจักร และเพื่อเป็นเพื่อประโยชน์ของผู้เสียหาย มีสิทธิร้องต่อศาลเพื่อให้สั่งระงับหรือเพิกถอนการกระทำเช่นว่านั้น รวมทั้งจะกำหนดวิธีการตามสมควรหรือการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วยก็ได้” คำสั่งของศาลจังหวัดสงขลาที่ว่าผู้ตายทั้งหมดเสียชีวิตเนื่องจากขาดอากาศหายใจ โดยไม่กล่าวถึงผู้ที่เป็นต้นเหตุให้ถึงแก่ความตาย รวมทั้งข้อเท็จจริงที่สำคัญอื่นๆด้วย คำสั่งนั้นย่อมกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของผู้ตายและญาติผู้ตาย จึงสมควรถูกเพิกถอนและมีคำสั่งใหม่ที่ยังความเป็นธรรมต่อไป
 
อีกทั้งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 บัญญัติว่า “วิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้” ประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 บัญญัติว่า “ถ้าในคำพิพากษาหรือคำสั่งใด มีข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยอื่น ๆ และมิได้มีการอุทธรณ์หรือฎีกาคัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น เมื่อศาลที่ได้พิพากษาหรือมีคำสั่งนั้นเห็นสมควร หรือเมื่อคู่ความที่เกี่ยวข้องร้องขอ ศาลจะมีคำสั่งเพิ่มเติมแก้ไขข้อผิดพลาด หรือข้อผิดหลงเช่นว่านั้นให้ถูกก็ได้ แต่ถ้าได้มีการอุทธรณ์หรือฎีกาคัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น อำนาจที่จะแก้ไขข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงนั้น ย่อมอยู่แก่ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาแล้วแต่กรณี คำขอให้แก้ไขข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงนั้น ให้ยื่นต่อศาลดังกล่าวแล้ว โดยกล่าวไว้ในฟ้องอุทธรณ์หรือฎีกา หรือโดยทำเป็นคำร้องส่วนหนึ่งต่างหาก” จากบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ย่อมทำให้คำสั่งของศาลจังหวัดสงขลามิอาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขสาระสำคัญได้ รวมทั้งคำสั่งดังกล่าวยังถึงที่สุดแล้ว ทำให้ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องขอใดๆต่อศาลจังหวัดสงขลาได้ จึงจำเป็นต้องนำคดีนี้มายื่นต่อศาลอาญาเป็นคดีใหม่
 
ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 15 บัญญัติไว้ว่า “ห้ามมิให้ศาลยุติธรรมศาลใดศาลหนึ่งรับคดีซึ่งศาลยุติธรรมอื่นได้สั่งรับประทับฟ้องโดยชอบแล้วไว้พิจารณาพิพากษา เว้นแต่คดีนั้นจะได้โอนมาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความหรือตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม” ตามคำสั่งศาลอาญาที่ไม่รับคำร้องของผู้ร้อง ผู้ร้องเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวคลาดเคลื่อนต่อข้อกฎหมาย กล่าวคือ คดีที่ศาลจังหวัดสงขลารับไว้ไต่สวนเรื่องการชันสูตรพลิกศพและมีคำสั่งถึงที่สุดแล้ว ตามข้อ 3.2 จึงไม่มีคดีค้างพิจารณาอยู่ในศาลจังหวัดสงขลา ดังนั้น ข้ออ้างของศาลอาญาโดยอ้างพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 15 จึงไม่สอดคล้องหรือใช้บังคับกับกรณีนี้ได้
 
ด้วยข้อกฎหมายและเหตุผลตามที่ผู้ร้องได้เรียนต่อศาลอุทธรณ์มาข้างต้นนี้ ผู้ร้องขอศาลอุทธรณ์ได้โปรดมีคำสั่งกลับคำสั่งไม่รับคำร้องของศาลอาญา และเพิกถอนคำสั่งของศาลจังหวัดสงขลาที่ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งใหม่ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากพยานหลักฐานในสำนวนความเดิม ให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่อไป
 
ข้อมูล โดย ทีมกฎหมายมูลนิธิผสานวัฒนธรรม
โครงการเข้าถึงความยุติธรรมและการคุ้มครองทางกฎหมาย
 

 

 

 

 
จดหมายเปิดผนึก
                                                                                               
วันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๒
 
เรื่อง      ขอความเป็นธรรมกรณีคำสั่งศาลจังหวัดสงขลา คดีไต่สวนการตายกรณีตากใบ
 
เรียน      ประธานศาลฎีกา
 
สำเนาส่งถึง         1. ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
                        2. ประธานสภาผู้แทนราษฎร์          
                        3. ประธานวุฒิสภา           
 
ตามที่มีคำสั่งศาลจังหวัดสงขลา คดีหมายเลขดำที่ ช.๑๖/๒๕๔๘ หมายเลขแดงที่ ช.๘/๒๕๕๒ เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ด้วยความเคารพต่อดุลยพินิจของศาล คณะบุคคลและองค์กรตามรายนามท้ายหนังสือนี้ ขอสนับสนุนการที่ญาติของผู้เสียชีวิตจะได้ยื่นคำร้องหรืออุทธรณ์ต่อศาลในคดีดังกล่าว ด้วยความเห็นว่าศาลทำคำสั่งไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ตามหลักการไต่สวนการตาย เนื่องจากศาลไม่ได้กล่าวถึงพฤติการณ์ที่ตายและไม่กล่าวว่าใครเป็นผู้ทำหรือทำร้ายผู้ตายเท่าที่จะกล่าวได้ อาจทำให้ญาติผู้เสียชีวิต รวมทั้งสาธารณะชนเห็นว่าคดียังไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งจะนำไปสู่การบั่นทอนความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะปัจจุบันของกระบวนการยุติธรรม ที่มีเพียงตุลาการที่เป็นความหวังสุดท้ายของการแสวงหาความเป็นธรรมสำหรับประชาชนในพื้นที่สามจังหวัด ที่มีแต่ความขัดแย้งทางความคิดและการใช้ความรุนแรงประหัตประหารติดต่อต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า ๕ ปีแล้ว
 
เหตุการณ์ในกรณีตากใบนับเป็นเหตุการณ์ที่สะเทือนขวัญและสร้างความเสียหายต่อชีวิต เป็นตัวบ่งชี้ถึงกระบวนการสร้างความเป็นธรรม และการสร้างความเชื่อมั่นต่อประเทศไทยต่อนโยบายการแก้ไขปัญหาสามจังหวัดภาคใต้ว่า รัฐจะไม่ยอมอดทนต่อการละเมิดกฎหมายและสิทธิมนุษยชน โดยจะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอหน้า โดยไม่เลือกปฏิบัติ และจะไม่ละเลยให้ผู้กระทำความผิดต่อประชาชน ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นผู้ก่อความไม่สงบ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ตาม แต่การที่ศาลวินิจฉัยถึงเหตุที่ตายแต่เพียงว่าผู้ตายขาดอากาศหายใจนั้น ขัดกับความเข้าใจของสาธารณชนที่ข้อเท็จจริงที่มีทั้งพยานบุคคล พยานเอกสาร ภาพถ่าย และวัตถุพยานเป็นแผ่นบันทึกภาพและเสียงของเหตุการณ์ ว่ามีบุคคลหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายใดเข้าไปเกี่ยวข้องบ้างอย่างไร โดยคำสั่งศาลฯ ไม่กล่าวถึงพฤติการณ์ที่ทำให้ผู้ตายทั้ง ๗๘ คน ขาดอากาศหายใจจนถึงแก่ความตาย ทั้งๆที่ปรากฏข้อเท็จจริงในสำนวนอย่างชัดเจนว่าเหตุที่ผู้ตายขาดอากาศหายใจนั้นเกิดจากการที่ผู้ตายถูกเจ้าหน้าที่บังคับมัดมือไพล่หลังนำตัวขึ้นรถยนต์บรรทุกซึ่งมีผ้าใบปิดคลุม โดยให้นอนคว่ำหน้ากับพื้นกระบะรถยนต์บรรทุกทับซ้อนกันหลายชั้น ขยับเขยื้อนตัวไม่ได้เพราะถูกมัดมือไพล่หลังในขณะทำการขนย้ายเป็นระยะทาง๑๕๐ กิโลเมตร แต่ใช้เวลานานคือตั้งแต่ระหว่างเวลา ๑๕.๐๐ น.ของวันที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ –เวลา ๐๒.๐๐ น. ของวันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ และสภาพอากาศภายในรถไม่เอื้ออำนวยต่อการเดินทาง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากการขนย้ายจำนวนมากถึง ๗๘ คน
 
แม้ว่าคำสั่งศาลคดีไต่สวนการตายคดีหมายเลขดำที่ ช.๑๖/๒๕๔๘ หมายเลขแดงที่ ช.๘/๒๕๕๒ กรณีตากใบนี้จะไม่ตัดสิทธิ์ของผู้เสียหายในการเรียกร้องความเป็นธรรมเป็นคดีอาญาตามกฎหมายต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลผู้มีส่วนทำให้ผู้ตายเสียชีวิต แต่การที่ศาลไม่ทำคำสั่งระบุว่าใครเป็นผู้กระทำร้ายผู้ตาย ทั้งๆ ที่ความจริงปรากฏพยานหลักฐานจากการไต่สวนชัดเจนว่า พฤติการณ์การตายนั้นเกิดจากการกระทำของผู้บังคับบัญชาที่สั่งการและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติในการขนย้ายผู้ชุมนุมจำนวนมาก ซึ่งในภาวะเช่นนั้นเจ้าพนักงานย่อมเล็งเห็นผลได้อย่างแน่นอนว่าผู้ที่ถูกนำตัวขึ้นรถยนต์บรรทุกและขนย้ายในลักษณะดังกล่าวย่อมเกิดการกดทับกันถึงขั้นเสียชีวิตได้ การกระทำของเจ้าพนักงานเช่นนั้นอาจถือได้ว่าถึงขั้นมีเจตนากระทำร้ายผู้ชุมนุมอย่างทรมานและทารุณโหดร้ายจนถึงแก่ความตาย หรือโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ซึ่งอาจทำให้เข้าใจไปได้ว่าคำสั่งศาลไม่เป็นไปตามบทบัญญัติ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๔๐ บุคคลย่อมมีสิทธิในกระบวนการยุติธรรม (๓) บุคคลย่อมมีสิทธิที่จะให้คดีของตนได้รับการพิจารณาอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม มาตรา ๑๙๗ วรรคแรก การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาลซึ่งต้องดำเนินการให้เป็นไปโดยยุติธรรม ตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ และวรรคสอง ระบุว่า ผู้พิพากษาและตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปโดยถูกต้อง รวดเร็วและเป็นธรรม ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
 
คณะบุคคลและองค์กรตามรายนามท้ายหนังสือนี้ จึงขอเรียนท่านในฐานะผู้นำสูงสุดแห่งอำนาจรัฐฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ โปรดได้ดำเนินการเพื่ออำนวยความยุติธรรมให้แก่ญาติของผู้เสียชีวิตในกรณีตากใบและเพื่อให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาค เท่าเทียมกับคนในจังหวัดอื่นๆ ในฐานะที่เป็นมนุษย์เช่นเดียวกับบุคคลอื่นๆ และที่สำคัญเพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐไทยได้ยึดมั่นในหลักนิติธรรมอย่างเหนียวแน่นมั่นคงทั้งนี้เพื่อให้เกิดบรรทัดฐานสำหรับการปกครองประเทศไทยสืบต่อไป
                                                                                   
ขอแสดงความนับถือ
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net