Skip to main content
sharethis

 

กรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกฎกระทรวงประกอบ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ว่าด้วยกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ในการกำหนดประเภทภาพยนตร์ ซึ่งเป็นกฎหมายสำหรับการจัดเรตติ้งภาพยนตร์ โดยจะแบ่งภาพยนตร์เป็น 7 ประเภท ได้แก่ 1.ภาพยนตร์ส่งเสริมการเรียนรู้ และควรส่งเสริมให้ดู 2.ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้ดูทั่วไป 3.ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไป 4.ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป 5.ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป 6.ภาพยนตร์ที่ห้ามผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีดู และ 7.ภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร

โดยภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร มีเนื้อหาประกอบด้วย 1.กระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข 2.มีการเหยียดหยามหรือนำความเสื่อมเสียมาสู่ศาสนา หรือไม่เคารพต่อปูชนียบุคคล ปูชนียสถานหรือปูชนียวัตถุ 3.เนื้อหาที่ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ 4.มีเนื้อหากระทบกระเทือนต่อสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ 5.เป็นเรื่องเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ และ 6.มีเนื้อหาแสดงการมีเพศสัมพันธ์ที่เห็นอวัยวะเพศ โดยกฎกระทรวงนี้จะสามารถประกาศในราชกิจจานุเบกษาประมาณกลางเดือนสิงหาคมนี้

ชลิดา เอื้อบำรุงจิต ผู้อำนวยการมูลนิธิหนังไทย แสดงความเห็นว่า เป็นเรื่องน่าผิดหวัง โดยการจัดเรตประเภทสุดท้ายคือห้ามฉาย เหมือนเป็นการยกมาตรา 4 ของ พ.ร.บ. ภาพยนตร์ปี 2473 ซึ่งมีความคลุมเครือด้านมาตรฐานกลับมาใช้อีก แม้จะบอกว่าเป็นการจัดเรตติ้ง แต่สุดท้ายก็ยังมีการห้ามฉายเหมือนเดิม เท่ากับว่าถึงที่สุดแล้ว ผู้มีอำนาจก็ไม่เชื่อมั่นในวิจารณญาณของประชาชน ว่าเมื่ออายุถึงจุดหนึ่งจะมีสิทธิตัดสินใจเองได้ อีกทั้งข้ออ้างประเภทความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดี ก็มีคำถามว่า เป็นศีลธรรมของใคร หรือในนามของอะไร แนวคิดแบบนี้น่าจะล้าสมัยไปแล้วในยุคที่เราบอกว่า มีความหลากหลายและเราจะยอมรับได้กับความเห็นที่แตกต่าง ส่วนกรณีที่กังวลว่าจะมีหนังที่มีเนื้อหากระทบสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นก็มีกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ใช้ได้อยู่แล้ว

พ.ร.บ. ภาพยนตร์ พ.ศ. 2473
มาตรา 4 ท่านห้ามมิให้ทำหรือฉายหรือแสดง ณ สถานที่มหรสพ ซึ่งภาพยนตร์หรือประกาศประกอบด้วยลักษณะฝ่าฝืนหรืออาจฝ่าฝืนต่อความสงบ เรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดี ถึงแม้เพียงว่าการทำ การฉาย หรือการแสดง ภาพยนตร์ หรือประกาศนั้นๆ น่าจะมีผลเช่นว่านั้น ท่านก็ห้ามดุจกัน ภาพยนตร์หรือประกาศที่ทำในพระราชอาณาจักร ถ้ามีลักษณะหรืออาจ มีผลเช่นที่ว่านี้ไซร้ ท่านห้ามมิให้นำหรือส่งออกนอกพระราชอาณาจักร

นอกจากนี้ ผู้อำนวยการมูลนิธิหนังไทย ยังมองว่า ช่วงของการแบ่งเรตหนังยังไม่สม่ำเสมอ คือแบ่งเป็นประเภททั่วไป อายุ 0-13 ปี จากนั้นก็แบ่งถี่มาก คือ ทุก 2 ปี ซึ่งคงเป็นเรื่องน่าปวดหัวของคนจัดเรต ทั้งยังมีความไม่ชัดเจน เช่น หากมีภาพยนตร์ประเภทส่งเสริมการเรียนรู้และควรส่งเสริมให้ดู แปลว่าเรตอายุจะถูกปลดด้วยไหม คือ ถ้ามีหนังที่คณะกรรมการเห็นว่าควรส่งเสริมเพราะมีเนื้อหาส่งเสริมสังคม แต่มีความรุนแรงในบางด้าน จะกลายเป็นว่าดูได้้ทุกวัยรึเปล่า

เมื่อถามถึงความเห็นต่อคณะกรรมการที่จะพิจารณาประเภทของหนังแทนกองเซ็นเซอร์ในอดีต ชลิดากล่าวว่า แม้คณะกรรมการจะย้ายจากกรมตำรวจมาเป็นกระทรวงวัฒนธรรม แต่องค์ประกอบก็ไม่ได้ต่างกันมากนัก คือมีตัวแทนจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ และกรอบการใช้อำนาจก็ยังเป็นปัญหาอยู่เหมือนเดิม เดิมมีกลุ่มคนที่มีอำนาจในการสั่งเป็นสั่งตาย ไม่มีมาตรฐานที่แน่นอน จึงมีการเรียกร้องให้มีการจัดเรตติ้ง เพื่อให้มีความชัดเจน แต่เมื่อมีการจัดกลับกลายเป็นการจัดการเรื่องทัศนคติไป

เธอกล่าวว่า ตอนนี้สังคมมีหลายสี ก็อาจกลายเป็นว่า ถ้าหนังออกมาคนละสีกับคณะกรรมการ หนังก็อาจถูกแบนได้่ ขณะที่ในอีกสมัยหนึ่ง หนังเรื่องเดียวกันอาจเป็นที่ยอมรับ กลายเป็นว่าคนทำงานไม่มีทางรู้ว่าขอบเขตควรอยู่ตรงไหน แม้จะทำอะไรที่เสี่ยงหรือไม่ก็อาจจะโดนอยู่ดี ซึ่งก็ต้องบอกว่า คนทำหนังก็ไม่ได้อยากทำอะไรที่สุ่มเสี่ยงอยู่แล้ว

ชลิดา กล่าวว่า มันเป็นเวลาที่สังคมไทยต้องเรียนรู้ว่า คนคิดต่างกันได้ การกระทำ การพูด หรือแสดงความเห็นของทุกคนยากที่จะเป็นที่ยอมรับได้หมด บางเรื่องสำหรับคนบางกลุ่มอาจเป็นเรื่องไม่ใหญ่ แต่สำหรับบางกลุ่มอาจเป็นเรื่องใหญ่ เพราะฉะนั้นมันต้องมีพื้นที่ให้ความเห็นต่างเหล่านั้น ต้องมีการคิดต่าง จึงไม่น่าจะใช่เรื่องของคณะกรรมการ 7-11 คน ที่ดูหนังแล้วไม่เห็นด้วยแล้วทำให้ คน 60 ล้านคนไม่ได้ดู ซึ่งจะส่งผลให้คนทำหนังยากจะสร้างสรรค์อะไรได้ด้วย ความหวาดระแวงอาจทำให้เราอยู่ร่วมกันลำบาก ทุกฝ่ายอาจจะต้องเคารพซึ่งกันและกัน และมีวิจารณญาณของตัวเอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net