Skip to main content
sharethis

นายโคอิจิโร่ มัตสึอุระ ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) จัดประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการที่ปรึกษาสากลที่กรุงบริดจ์ทาวส์ เมืองหลวงของบาร์เบโดส ตั้งแต่วันที่ 29-31 ก.ค. เพื่อลงมติประกาศรายชื่อเอกสารสำคัญจากทั่วโลก รวม 35 รายการที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกด้านความทรงจำโลกประจำปี 2552

ขณะที่จดหมายเหตุว่าด้วยการปฏิรูปและการวางนโยบายทางการเมืองการปกครองไทยสมัยรัชกาลที่5 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ระหว่างปี พ.ศ.2367-2440 ติดอันดับ 1 ใน 35 รายการด้วย และได้รับการยกย่องเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นถึงการวางรากฐานประเทศสยาม ก่อนกลายมาเป็นประเทศไทยในปัจจุบัน

ทั้งนี้ จดหมายเหตุในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าพระเจ้าอยู่หัวเป็นการบันทึกเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจในสมัยรัชกาลที่ 5 ประกอบด้วย นโยบายการเปลี่ยนแปลงทางสังคมครั้งสำคัญของสยาม ได้แก่ การประกาศเลิกทาสการออกคำสั่งห้ามเล่นการพนัน การสร้างโรงเรียนเอกชนและวางระบบการศึกษา การสังคายนาวงการพระสงฆ์และพุทธศาสนา การส่งเสริมเกษตรกรรมเพื่อการผลิต รวมถึงการก่อตั้งสถาบันทางการเงินและการธนาคาร ส่งผลให้ประเทศสยามมีความเจริญทันสมัยทัดเทียมโลกตะวันตก และสามารถรอดพ้นจากการตกเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิ์มหาอำนาจในอดีตได้ด้วย

ขณะเดียวกัน เอกสารสำคัญจากประเทศแถบเอเชียอื่นๆ ที่อยู่ในรายชื่อมรดกโลกของยูเนสโกปีนี้ด้วย ได้แก่ ภาพพิมพ์จากแม่พิมพ์ไม้กว่า 34,555 ชิ้นของเวียดนาม ซึ่งถูกสร้างขื้นในสมัยราชวงศ์เหงียนช่วงปี พ.ศ.2345-2488 ภาพถ่ายและบันทึกปากคำผู้อยู่ในเรือนจำตวล เสล็ง ของกัมพูชาสมัยที่รัฐบาลเขมรแดงปกครองประเทศ อีกทั้งยังมีศิลาจารึกตรังกานู อันเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของมาเลเซียซึ่งแสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการของภาษายาวี รวมถึงตำราทางการแพทย์ของเกาหลีซึ่งมีหลักฐานว่าถูกบันทึกและรวบรวมเอาไว้ตั้งแต่ พ.ศ.2156

ส่วนรายชื่อเอกสารสำคัญอื่นๆซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกด้านความทรงจำโลก ได้แก่ มหากฎบัตรของอังกฤษ (Magna Carta) ซึ่งถูกจารึกเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.1758 และถือเป็นต้นแบบของกฏหมายรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน รวมถึงบันทึกประจำวันของแอนน์ แฟรงค์ เด็กหญิงชาวยิวในเนเธอร์แลนด์ซึ่งเขียนบรรยายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งชาวยิวในยุโรปต้องหลบหนีการตามล่าของนาซีเยอรมัน จนกระทั่งแอนน์ แฟรงค์ เสียชีวิตลงในค่ายกักกันชาวยิวเมื่อปี พ.ศ.2488 ซึ่งภายหลังได้มีการนำบันทึกดังกล่าวไปจัดพิมพ์เป็นหนังสือและมีผู้นำไปแปลเป็นภาษาอื่นๆ ทั่วโลก จนได้รับการยกย่องว่าเป็นหนังสือติดอันดับ 1 ใน 10 เล่มที่มีผู้อ่านมากที่สุดในโลก

โครงการรวบรวมและประกาศรายชื่อ "มรดกความทรงจำโลก" ขององค์การยูเนสโกก่อตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2540 พร้อมจัดให้มีประชุมคณะกรรมาธิการผู้เชี่ยวชาญทุกๆ 2 ปี เพื่อพิจารณาเอกสารสำคัญทั่วโลกที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และป้องกันการหลงลืมเรื่องราวในอดีต และเอกสารที่เป็นมรดกโลกจะต้องสะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายทางภาษา สังคมและวัฒนธรรม รวมถึงเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นกับผู้คนในแต่ละยุคสมัย

ปัจจุบันยูเนสโกได้ประกาศรายชื่อมรดกความทรงจำโลกไปแล้ว 193 รายชื่อ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net