Skip to main content
sharethis

รายงานฉบับใหม่ขององค์กรสิ่งแวดล้อมสภาวะแห่งรัฐฉาน เผยให้เห็นต้นทุนมนุษย์ที่ต้องสูญเสียไปพร้อมกับโครงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในแม่น้ำสาละวินในรัฐฉานที่เต็มไปด้วยการสู้รบ

 

 

รายงานฉบับใหม่ที่เผยแพร่ในวันนี้ (4 ส.ค. 52) เปิดเผยข้อมูลที่มักไม่มีคนรู้เกี่ยวกับชุมชนที่ต่อสู้ให้อยู่รอดท่ามกลางการสู้รบและการละเมิดสิทธิ พวกเขาอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่จะถูกน้ำท่วมหากมีการสร้างเขื่อนที่มีขนาดสูงสุดในเอเชียอาคเนย์ เขื่อนแห่งนี้อยู่ทางภาคใต้ของรัฐฉานในพม่า
รายงาน “เขื่อนท่าซาง คุมคามชุมชนรัฐฉาน ท่ามกลางไฟสงคราม” โดยองค์กรสิ่งแวดล้อมสภาวะแห่งรัฐฉาน บรรยายถึงสภาพทางนิเวศวิทยาที่โดดเด่นของชุมชนเชียงคำที่มีประชากร 15,000 คน และได้ถูกโยกย้ายออกจากพื้นที่เมื่อกว่าสิบปีที่แล้ว ส่วนใหญ่ชาวบ้านหลบหนีเข้าไปอยู่ในประเทศไทย ในปัจจุบันคาดว่ามีชาวบ้านอีกประมาณ 3,000 คนที่ยังคงพยายามดิ้นรนเอาตัวรอดและรักษาวัฒนธรรมของตนไว้ ท่ามกลางภัยคุกคามของกองทัพพม่าและเขื่อนท่าซาง
ในหนังสือประกอบด้วยภาพถ่ายจากพื้นที่สู้รบ แสดงถึงวัฒนธรรมของชาวไทใหญ่ การทำเรือกสวนไร่นาที่พึ่งพาน้ำจากแม่น้ำ วัดในถ้ำศักดิ์สิทธิ์และน้ำตกที่สวยบริสุทธิ์ พร้อมกับข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับโครงการเขื่อนซึ่งดำเนินไปอย่างเป็นความลับ 
เขื่อนท่าซางที่มีกำลังผลิตไฟฟ้า 7, 110 เมกะวัตต์ เป็นเขื่อนขนาดใหญ่สุดในบรรดาเขื่อนห้าเขื่อนที่เตรียมการสร้างในแม่น้ำสาละวิน ไฟฟ้าที่ผลิตได้ส่วนใหญ่จะขายให้กับประเทศไทย ผู้ลงทุนในโครงการประกอบด้วยบริษัทเอ็มดีเอ็กซ์ จำกัด (มหาชน) จากไทยกับบริษัท Gezhouba Group จากจีน
การกำหนดโครงการเขื่อนนี้ไว้ในแผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้าแห่งชาติของประเทศไทย เป็นการตอกย้ำความสนับสนุนอย่างเต็มที่ของประเทศไทยที่มีต่อโครงการนี้
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ความตรึงเครียดทางทหารได้แผ่ขยายวงกว้างในรัฐฉาน เนื่องจากรัฐบาลทหารพม่าพยายามกดดันให้กองทัพสหรัฐว้า แปรรูปตนเองเป็น “กองกำลังรักษาชายแดน” การละเมิดสิทธิได้เกิดเพิ่มขึ้นพร้อม ๆ กับการปราบปรามกลุ่มก่อความไม่สงบ
“เหตุใดประเทศไทยจึงต้องเร่งดำเนินการตามแผนสร้างเขื่อนท่าซาง ทั้ง ๆ ที่สถานการณ์ในพื้นที่ยังไม่สงบ?” จายจาย โฆษกองค์กรสิ่งแวดล้อมสภาวะแห่งรัฐฉานกล่าว “เขื่อนแห่งนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่สู้รบ กองทัพพม่าบังคับให้ชาวบ้านย้ายออกจากพื้นที่ และต้องหลบหนีเข้ามายังประเทศไทย ถ้ามีการสร้างเขื่อนเสร็จ พวกเขาก็ไม่สามารถกลับบ้านเกิดได้”
ข้อมูลเพิ่มเติม โปรดดู www.salweenwatch.org
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net