Skip to main content
sharethis

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 4 สิงหาคม 2552 ที่ห้องประชุมCEO ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดสงขลา มีการประชุมคณะกรรมการศึกษาผลดีผลเสียของการดำเนินงานโครงการศึกษาการมีส่วนร่วมการพัฒนาแหล่งลิกไนต์สะบ้าย้อย ครั้งที่ 2/2552 โดยมีนายสนธิ เตชานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธาน มีคณะกรรมการประกอบด้วย ตัวแทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฝผ.) นักวิชาการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี ผู้นำศาสนา และนักการเมืองท้องถิ่นในพื้นที่อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา เข้าร่วมประมาณ 50 คน

โดยที่ประชุม นายจิระพันธ์ เดมะ นักวิชาการมหาวิทยาลันสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในฐานะหัวหน้าคณะศึกษาและทำความเข้าใจผลดีผลเสียและรูปแบบการพัฒนาแหล่งลิกไนต์สะบ้าย้อยที่เหมาะสม ได้นำเสนอข้อมูลจากการสำรวจครั้งที่ 1 ในพื้นที่ตำบลทุ่งพอ อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นที่ตั้งของแหล่งลิกไนต์สะบ้าย้อย ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2552 โดยแยกเป็นการจัดเสวนากลุ่มย่อยไปแล้ว 5 กลุ่ม จากทั้งหมด 7 กลุ่ม และการตอบแบบสอบถามในพื้นที่ทั้ง 8 หมู่บ้านของตำบลทุ่งพอ

นายจิระพันธ์ รายงานต่อว่า จากการสำรวจครั้งที่ 1 ได้ข้อสรุปว่า ในเรื่องความรู้ความเข้าใจนั้น ชาวบ้านรู้แต่ยังคลุมเครือ ไม่รู้จริง โดยรู้มาจากการบอกเล่าต่อๆ กันมา โดยมีส่วนน้อยที่รู้จริงจากการไปดูงานที่อื่น แต่ก็ยังรู้ไม่หมด จึงยังไม่แน่ใจ

ส่วนทัศนคติที่มีต่อโครงการนั้น ส่วนใหญ่ไม่ยอมรับที่จะให้มีการทำเหมืองถ่านหินและโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์สะบ้าย้อย รวมทั้งไม่ยอมที่จะให้มีการศึกษาด้วย แต่มีบางส่วนที่ยินยอมแบบมีเงื่อนไข และมีบางส่วนที่ยังไม่ตัดสินใจหรือไม่แน่ใจ

สำหรับข้อกังวลที่พบคือ ทางราชการไม่ยอมรับข้อคัดค้านหรือเหตุผลของชุมชน อย่างก็ตามชาวบ้านเห็นว่า ถ้าต้องจำยอมให้ทำโครงการขึ้นมา พวกเขาจะย้ายไปอยู่ที่ไหน จะอยู่กันอย่างไร จะมีที่ดินทำกินหรือไม่ ศาสนสถานจะเป็นอย่างไร และสายสัมพันธ์ของคนในชุมชนจะล่มสลาย

นอกจากนี้ชุมชนยังมีข้อเสนอแนะ โดยอยากให้มีการทำประชาคมในชุมชนด้วย เพื่อให้ชาวบ้านได้รู้ข้อมูลและเข้าใจร่วมกันทั้งหมู่บ้าน รวมทั้งขอให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องทางด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และประสบการณ์ของหมู่บ้านอื่นๆ ด้วย

ขณะเดียวในเรื่องที่อยากจะให้ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้เข้ามาร่วมศึกษาโครงการด้วยนั้น ทางชุมชนส่วนใหญ่ไม่ยอมและไม่เห็นด้วย เพราะเชื่อว่า ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะไม่ยุติแค่เพียงการศึกษาเท่านั้น ขณะที่บางส่วนยินยอมให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเข้ามามีส่วนร่วมในการศึกษาแต่ต้องมีเงื่อนไขที่ชาวบ้านพอใจ นอกจากนั้นยังไม่ได้ตัดสินใจหรือยังไม่แน่ใจว่าจะให้มามีส่วนร่วมศึกษาด้วยหรือไม่

นายจิระพันธ์ กล่าวต่อว่า ส่วนการดำเนินการระยะต่อไปเป็นการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของชาวบ้าน การอบรมให้ความรู้ การทำประชาคมในชุมชน และการศึกษาดูงาน โดยในระยะนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยน่าจะเข้ามามีส่วนร่วมได้

นายสุกรี หะยีสาแม อาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี หนึ่งในคณะผู้ศึกษาได้นำเสนอตัวอย่างการสำรวจด้วยแบบสอบถามในพื้นที่บ้านซาว หมู่ที่ 7 ตำบลทุ่งพอ จำนวน 38 ตัวอย่าง ในประเด็นที่เห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้มีการขุดถ่านหินเฉพาะในชุมชนบ้านซาวมาใช้ประโยชน์ ทั้งนี้ เนื่องจากก่อนหน้านี้คนในชุมชนบ้านซาวส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะให้มีการดำเนินโครงการพัฒนาเหมืองลิกไนต์สะบ้าย้อย โดยผลปรากฏว่า มีผู้ตอบแบบสอบถามว่าเห็นด้วยร้อยละ 3.2 ไม่เห็นด้วยร้อยละ 63.4 เฉยๆ ร้อยละ 9.6 และไม่แน่ใจร้อยละ 23.9

นายสุกรี กล่าวว่าปัญหาที่พบคือ ชาวบ้านมีความเข้าใจว่าการเข้าไปสำรวจคือการเข้าไปดำเนินโครงการ จึงจำเป็นต้องมีการทำความเข้าใจกับชาวบ้านให้ชัดเจน

นายจรัล เสนเด็น ตัวแทนชาวบ้านหมู่ที่ 7 บ้านซาว กล่าวในที่ประชุมว่า ขณะนี้ชาวบ้านซาวร้อยละ 80 มีความเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น แต่เนื่องจากที่ผ่านมามีการทิ้งช่วงไว้นาน จึงไม่ทราบจะมีการดำเนินโครงการนี้อย่างไรบ้าง จึงเกิดความไม่แน่ใจ โดยคิดว่าอาจไม่มีการดำเนินโครงการพัฒนาเหมืองถ่านหินอีกแล้ว ผลจึงออกมาไม่เห็นด้วย

นายณรงค์ศักดิ์ วิเชษฐ์พันธ์ ที่ปรึกษาการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากการผลการสำรวจครั้งต่อๆ ไปยังพบว่า ชาวบ้านยังไม่เห็นด้วยเหมือนเดิม ก็คงต้องพับโครงการนี้ไว้

ในขณะที่นายสนธิ กล่าวว่า แต่ถ้าผลการสำรวจพบความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ก็ให้พยายามต่อไปแม้ต้องใช้เวลานานก็ตาม ต้องอดทน

ส่วนสุทธิพงษ์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จะขยายระยะเวลาในการศึกษาของคณะดังกล่าวออกไปจากเดิมที่จะหนดสิ้นสุดในเดือนตุลาคม 2552 โดยจะมีการทำแผนการศึกษาให้ความรู้ต่อไป
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net