Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง (TERRA) โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต (SEARIN) คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า ร่วมจัดเสวนาเรื่อง สถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนฮัตจี ที่ห้องประชุมชั้นสอง สำนักงานกลางนักเรียนคริสเตียน โดยมีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ ทู ปอว์ (Htoo Paw) ฝ่ายกิจการต่างประเทศ สหภาพกะเหรี่ยง, จ๋ามตอง เครือข่ายปฏิบัติงานสตรีไทยใหญ่, สุรพงษ์ ชัยนาม ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ อดีตอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก, นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชน และ ศุภกิจ นันทะวรการ นักวิชาการด้านพลังงาน ดำเนินรายการโดยสุภัตรา ภูมิประภาส

สุรพงษ์ ชัยนาม กล่าวว่า ประชาสังคมที่ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินนโยบายด้านการพัฒนาของพม่า โดยเฉพาะเรื่องเขื่อนนั้น ต้องมองในหลายๆ มิติ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ เสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาค รัฐบาลพม่าใช้นโยบาย Linkage Policy คือใครก็ตามที่ไปลงทุนในพม่าจะต้องตอบสนองหรือรับใช้ความมั่นคงของระบอบของพม่าได้ ดังนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับเขื่อนฮัตจีหรือท่าซางคือ เป็นชิ้นส่วนเล็กๆ ที่ทำให้เกิดผลประโยชน์ในการดำรงรักษาอำนาจของฝ่าย SPDC ต่อไป แม้ว่าจะเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นเล็กๆ แต่มีนัยยะสำคัญต่อการทำให้อำนาจของ SPDC ที่ดำรงอยู่มานานไม่มีทางถูกท้าทายได้ และจะดำรงอยู่ต่อไป

สำหรับประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนนั้น ท่าทีของไทยซึ่งแต่เดิมที่ผ่านมาขาดเอกภาพเนื่องจากมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องมากเนื่องจากมีการไปลงทุนมาก ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ หรือก่อสร้างและเป็นอุปสรรคทำให้รัฐบาลของไทยขาดเอกภาพมาโดยตลอด สิ่งที่ควรจะเป็นและสิ่งที่พอจะเป็นไปได้ คืออย่างน้อยรัฐบาลปัจจุบันยังไม่แสดงท่าทีที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องหรือพัวพันหรือเป็นกระบอกเสียงให้รัฐบาลพม่า ดังนั้น นโยบายของฝ่ายไทยน่าจะเป็นท่าทีที่มีลักษณะสร้างสรรค์มากขึ้นได้ คือมีส่วนเกื้อหนุนเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศพม่าให้เด่นชัดได้มากขึ้นในอนาคต

“เรามีหลักฐานหรือข้อพิสูจน์ได้ว่าระบอบการปกครองของทหารพม่าเขามีความแน่ชัดในเรื่องที่เขาตัดสินใจแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนหรือระบบนิเวศน์ ไม่มีผลที่จะทำให้คิดที่ปรับปรุงแก้ไข แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าระบบพม่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือสะทกสะท้าน แต่ก็ไม่มีอะไรที่จะเป็นอิทธิพลที่จะปรับปรุงเพื่อเปลี่ยนแปลงเพื่อคนของเขาและเพื่อความอยู่รอดของเขา”

ทั้งนี้ สุรพงษ์กล่าวว่า สำหรับภาคประชาสังคมแล้ว ก็ต้องร่วมติดตามและตรวจสอบ เพราะจะหวังให้รัฐทำหน้าที่ในเรื่องของสิทธิมนุษยชน หรือร้องขอจากรัฐฝ่ายเดียวไม่ได้ เนื่องจากธรรมชาติของฝ่ายรัฐย่อมไม่ทำในสิ่งที่ลิดรอนอำนาจของตนเอง นอกจากนี้ได้กล่าวถึงจุดอ่อนขององค์กรพัฒนาเอกชนว่า ปัญหาหลักคือมุ่งทำเฉพาะประเด็นของตนเองและขาดการเชื่อมโยงกัน

“อย่ารอให้รัฐ หรือนักการเมืองผู้มีบุญมาโปรด ท่านต้องทำคู่ขนานกันไป และภายในประเทศท่านลองดูว่าถ้าหากว่าเอ็นจีโอของไทย ซึ่งผมคิดว่ามีจุดอ่อนมากๆ เห็นชัดๆ คือการขับเคลื่อนเฉพาะประเด็นของตัวเอง แล้วก็เสียเปรียบเพราะว่าสู้กับนักการเมืองที่ฉ้อฉลหรือเลวร้ายไม่ได้ ต้องขับเคลื่อนด้วยกันตลอดเวลาและต้องขับเคลื่อนร่วมกับเอ็นจีโอในอาเซียนด้วย

“สำหรับรัฐบาลไทย ถ้าท่านหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ในอดีต รัฐบาลชวนสอง พยายามรักษาผลประโยชน์ของท่าน และรัฐบาลขณะนี้ก็เป็นรัฐบาลประชาธิปัตย์ ก็ไม่เคยมีทีท่าว่าจะเป็นกระบอกเสียงให้รัฐบาลทหารพม่า อย่างไรก็ตามทุกประเทศต้องการความสัมพันธ์ที่ดี และไม่สร้างปัญหาซึ่งกันและกัน เขาไม่เป็นประชาธิปไตยก็ไม่เป็นไร แต่ให้มันใกล้เคียงกันหน่อย อย่างน้อยมีหลักนิติรัฐ มีความเป็นประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมในระดับหนึ่งคือมีความเข้าใจได้ ซึ่งอย่างพม่านี่ลำบากมาก ต้องการความอดทน”

ด้าน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่าการจะให้ได้สิทธิที่เป็นประโยชน์ต่อเรา การร้องขอนั้นไม่สำเร็จ แต่ต้องมาจากการต่อสู้ ไม่ว่าจะในประเทศไทยหรือในประเทศไหนๆ ในโลก เพราะมันเป็นการเรียกร้องจากผู้มีอำนาจ ซึ่งอำนาจก็นำมาซึ่งการคอร์รัปชั่น

นพ.นิรันดร์กล่าวว่า สังคมไทยเองก็มีบทเรียนความเจ็บปวดจากกรณีเขื่อนปากมูนซึ่งจนบัดนี้ยังชดใช้ให้กับชาวบ้านไม่หมด นอกจากนี้ กรณีการสร้างเขื่อนของจีนในพื้นที่แม่น้ำโขงตอนบนส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตเกษตรกรริมน้ำโขงในประเทศไทยแล้ว ทั้งนี้ทรัพยากรธรรมชาตินั้นถือเป็นทุนทางชีวิตและทุนทางสังคมของชุมชน

นพ.นิรันดร์ ได้นำเสนอข้อคิดเห็นต่อกรณีการสร้างเขื่อนในพม่า 3 ประเด็นคือ
ประเด็นแรก การละเมิดสิทธิมนุษยชน และละเมิดสิทธิชุมชน ซึ่งในกฎหมายรัฐธรรมนูญในสังคมไทยได้ให้ความสำคัญตอกย้ำมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และรวมถึงรัฐธรรมนูญ 2550 แต่ว่าสังคมไทยโดยนักการเมืองหรือรัฐบาลไม่เข้าใจเรื่องสิทธิชุมชน ซึ่งหมายถึงเป้าหมายของสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน ซึ่งมีสิทธิในการอนุรักษ์รักษาวัฒนธรรม ซึ่งมีวิถีแบบเศรษฐกิจวัฒนธรรมชุมชน ซึ่งอยู่บนฐานของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สำหรับกรณีนี้คือแม่น้ำสาละวิน ซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพ นี่เป็นสิ่งที่เป็นอำนาจอันชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ เพราะฐานทรัพยากรเป็นทุนชีวิตและทุนทางสังคม เรามีตัวอย่างแล้วคือเขื่อนปากมูน ร่วมยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา เขื่อนปากมูนที่สร้างขึ้นในสมัยพลเอกชาติชาย ขณะนี้ชุมชนต่างๆ ในลุ่มน้ำมูนพังพินาศหมด ต้องไม่พึ่งระบบทุนเป็นคนงานเป็นแรงงานหาเลี้ยงชีพ จนกระทั่งบัดนี้ปัญหาความทุกข์ยากก็ยังไม่จบ

“และที่สำคัญคือรัฐบาลไทยจนบัดนี้ยังชดใช้ไม่หมด และเขื่อนปากมูนก็เหมือนเขื่อนที่จะสร้างในแม่น้ำสาละวิน คือเอาพลังงานมาใช้ ซึ่งผลกระทบแรกก็คือความหลากหลายของพันธุ์ปลา ประชาชนมีอำนาจที่จะรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ คนไทยในเขตภาคอิสานก็ได้รับผลกระทบ เกษตรริมโขงเสียหายหมด ชาวบ้านเคยหารายได้ปีละเป็นแสนบาท แต่น้ำจากเขื่อนมาแบบไม่อยู่ภายใต้ระบบธรรมชาติเกษตรนั้นก็พังพินาศ แม้แต่พันธุ์ปลาและเกาะแก่งในแม่น้ำโขง สิ่งเหล่านี้เราได้รับบทเรียนมาแล้ว แล้วเราจะซื้อบทเรียนที่เจ็บปวดอีกกระนั้นหรือ”

นพ.นิรันดร์กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องช่วยกันทำให้ความสามารถหรือสมรรถนะแห่งสิทธิของภาคประชาชนเกิดเป็นจริง “เราจะไปรอรัฐบาลมาตระหนักเป็นไปไม่ได้ ต้องทำให้เกิดการรวมตัวกันในการทำงาน ประการแรกคือทำอย่างไรให้เกิดการเปิดพื้นที่สาธารณะได้ ให้เห็นว่าประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เพื่อให้ประชาชนที่มีความเป็นเจ้าของเรื่องทรัพยากรและความหลากหลาย สามารถเข้าถึงและจัดการผลประโยชน์ได้ ไม่ใช่แค่เรื่องของรัฐบาลซึ่งมีคนอยู่สามสิบกว่าคน และคงไม่ใช่เอ็นจีโอฝ่ายเดียวประเภทเดียว แต่ต้องเป็นเอ็นจีโอทั้งระบบ

“ประการที่สองคือ ทำอย่างไรให้การสื่อสารรออกไปไกลมากที่สุด นี่เป็นการต่อสู้เพื่อให้เห็นสิทธิเป็นเรื่องคนทั่วไป กรณีปากมูน คนที่อุบลฯ ยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องปากมูนด้วยซ้ำไป มองเพียงว่าคนปากมูนต้องการความรุนแรง ไม่ได้หมายความว่าคนไทยโง่ แต่เป็นเรื่องการสื่อสาร ซึ่งรัฐและนายทุนธุรกิจต้องการเอาชนะก็จะเข้าไปจัดตั้งมวลชน สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นแล้ว คือเริ่มมีภาคเอกชนไปสร้างความแตกแยก กรณีเขื่อนบ้านกุ่ม”

“ประเด็นที่สามคือการผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญหมายถึงองค์กรของรัฐทุกองค์กรต้องเข้ามาคุ้มครองและยอมรับ ไม่ใช่เป็นแค่เศษกระดาษ รอรัฐบาลอย่างเดียวไม่ได้ ต้องเข้าไปผลักดันตามอำนาจที่มีอยู่”

นพ.นิรันดร์ กล่าวต่อไปว่า เรื่องสิทธิมนุษยชนในพม่า สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นในพม่า ก็ส่งผลกระทบต่อไทยด้วย เมื่อมีการสร้างเขื่อนเกิดขึ้น ก็จะมีคนอพยพเข้ามาสังคมไทยรัฐบาลไทยก็ต้องรับผิดชอบในเรื่องผู้อพยพ ถ้ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า

“กลไกสิทธิมนุษยชนจะมีแต่น้ำลายหรือเปล่า นี่คือสิ่งที่เราต้องผลักดัน จะมีรูปธรรมในการปฏิบัติอย่างไร จะไม่กลัวข้อกล่าวหาว่าแทรกแซงรัฐบาลพม่าได้อย่างไร”

ท้ายที่สุด นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า ประชาชนไทยมีกลไกการต่อสู้อย่างไร ถ้าตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 เมื่อจะมีการร่างสัญญากันระหว่างประเทศ ซึ่งประชาชนต้องตรวจสอบรัฐบาลอภิสิทธิ์ขณะนี้ด้วย ภาคประชาสังคมและนักวิชาการทำงานร่วมกับกรรมการสิทธิฯ ได้

นอกจากนี้ ต้องมีการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบและรับฟังความคิดเห็นด้วย ว่าจะกระทบต่อชีวิตและสังคมรวมถึงชุมชนอย่างไร และคนที่ต้องศึกษาก็ต้องเป็นคนกลาง ถ้าตรวจสอบแล้วรัฐบาลไม่ทำก็ต้องฟ้องร้องต่อศาลปกครอง

ตู ปอว์ ฝ่ายกิจการต่างประเทศ สหภาพกะเหรี่ยง กล่าวว่า ผลกระทบจากการสร้างเขื่อน คือมนุษย์ สิทธิมนุษยชน แรงงาน การถูกละเมิดการถูกบังคับ การข่มขืน การคุกคามครั้งล่าสุด วันที่ 2-12 มิ.ย. ทหารกว่า 1,500 คนเข้าไปในพื้นที่ DKBA มีประชากรประมาณ 4,150 คนอพยพเข้ามายังพื้นที่ประเทศไทย ในจังหวัดตาก ท่าสองยาง เพราะว่าไม่มีความปลอดภัย และไม่สามารถทำการเกษตรได้

ตู ปอว์ให้ข้อมูลว่า แคมป์ที่พักของชาวบ้านที่หลบหนีออกจากพื้นที่สู้รบในเขตท่าสองยาง ห่างกับแคมป์ทหารเพียงแค่ใช้เวลาเดินประมาณ 20 นาที

ตู ปอว์ กล่าวว่า สำหรับชาวกะเหรี่ยงแล้ว ความหมายของเขื่อนหมายถึง สงครามที่มากขึ้น การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มากขึ้น การถูกอพยพ ไม่มีความโปร่งใส ไม่มีการให้ข้อมูลข่าวสารกับประชาชนในพื้นที่ แม้จะมีการให้คำปรึกษาให้ข้อมูลจากฝ่ายไทยบ้าง แต่ไม่เพียงพอ สำหรับชุมชนกะเหรี่ยงที่ได้รับผลกระทบ พวกเขาต้องการการให้ข้อมูลมากขึ้น ต้องการการมีส่วนร่วมมากขึ้น ในการทำสัญญาต่างๆ และความโปร่งใส

จ๋ามตอง จากเครือข่ายปฏิบัติงานสตรีไทยใหญ่ กล่าวว่า ไม่ใช่แค่ประเทศพม่าและไทยที่ต้องการสร้างเขื่อน แต่จีนก็ต้องการสร้างทั้งหมด 13 เขื่อน “เรามีผลกระทบและประสบกรณีที่ลำบากและทุกข์ยากจากแม่น้ำโขงมามากแล้วก็ต้องลองคิดดูว่าพวกเราจะเป็นอย่างไร มีการชี้แจงว่าการลงทุนต่ำ แต่คงต้องใช้ชีวิตประชาชนจำนวนมาก แม่ว่าจะมีการสร้างเขื่อนจำนวนมาก แต่ประชาชนในพื้นที่ผลิตไฟฟ้าไม่ได้เป็นคนใช้ไฟฟ้าเลย ซึ่งก็มีความกังวลกันในเรื่องนี้”

จ๋ามตอง กล่าวว่า ชาวบ้านที่ถูกขับไล่ออกจากหมู่บ้านซึ่งเป็นพื้นที่สร้างเขื่อน ถูกทหารบังคับให้ไปต้อนรับทหารพม่าในวันเปิดโครงการสร้างเขื่อน โดยรูปแบบการเคลียร์พื้นที่เพื่อสร้างเขื่อนในพม่านั้นใช้กำลังทหารเข้าไปเคลียร์พื้นที่ เพื่อให้ความปลอดภัยกับบริษัทหรือกลุ่มที่เข้าไปดำเนินการ ซึ่งการเพิ่มขึ้นของกองกำลังทหารในพื้นที่หมายถึงการเพิ่มขึ้นของการละเมิดสิทธิมนุษยชน

“ระหว่างปี 2539-2541 มีประชาชนกว่า 300,000 คนที่ต้องอพยพออกจากพื้นที่ และส่วนมากจะแอบกลับไปในหมู่บ้านเดิม แต่คนที่กลับไปก็จะถูกฆ่าและส่วนมากจะเข้ามาในประเทศไทย”

“การข่มขืนอย่างเป็นระบบยังคงเกิดขึ้นจนถึงทุกวันนี้ เรายังคงเก็บข้อมูลและได้รับเหตุการณ์ที่น่าเศร้า ซึ่งตอนนี้ทหารพม่ายังใช้ระบบนี้ และแม้จะมีการประท้วงในย่างกุ้ง ในวันเดียวกัน ทหารพม่า 10 คนก็ข่มขืนหญิงอายุ 17 ปี ในรัฐฉาน การตัดไม้ทำลายป่าก็ยังทำอยู่ บางคนยังแอบซ่อนอยู่ในป่ากว่า 10 ปี จนกระทั่งรู้สึกว่าอยู่ไม่ได้แล้ว ต้องอพยพมาอยู่ประเทศไทย และมาทั้งสามรุ่นคือปู่บ่าตายาย พ่อแม่ ลูก”

“หลายอย่างที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นการทำลายวัด ฆ่าพระ หรือทำร้ายทรมานพระ มีพระบางรูปถูกจับรัดคอเอากระสอบคลุมหัว ถ้ามีการสร้างเขื่อน ผู้ลี้ภัยก็คงไม่สามารถกลับไปที่บ้านได้ ไม่สามารกลับไปอยู่อย่างพอเพียงและวัฒนธรรมความเป็นอยู่ก็คงจะจมอยู่ใต้เขื่อนที่กำลังจะสร้าง อยากขอให้ทุกคนช่วยกันหยุด ไม่มีวิธีไหนในพม่าที่ทหารพม่าจะเข้าไปขอความคิดเห็น หรือการศึกษาผลกระทบ ถ้าหากว่ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในพม่า”

“การสร้างเขื่อนไม่ใช่แค่แม่น้ำหยุดไหล แต่ประวัติศาสตร์ของชนชาติก็หยุดไปด้วย” จ๋ามตองกล่าวในที่สุด

ด้านศุภกิจ นันทะวรการ นักวิชาการด้านพลังงาน จากมูลนิธินโยบายสุขภาวะ กล่าวว่าโครงการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าขณะนี้เกินที่คาดการณ์ไปแล้ว เขื่อนที่จะสร้างในพม่าจะทำให้เกิดการลงทุนที่ล้นเกิน ซึ่งขณะนี้ล้นเกินไปแล้ว 35,000 ล้านบาทแล้ว จริงๆ แล้วการพยากรณ์จะลดลงไป 10,000 เมกะวัตต์ หากเราปรับการเติบโตทางเศรษฐกิจระยะยาว ก็ลดความต้องการสร้างโรงไฟฟ้าลงได้ และเขื่อนฮัตจีก็ไม่จำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะแม้จะไม่ทำ กำลังสำรองการผลิตก็ยังสูงอยู่กว่า 15 เปอร์เซ็นต์ ผู้ผลิตขนาดเล็กก็กำลังเสนอเข้าระบบ เสนอขายไฟฟ้าเข้ากับรัฐแล้ว อยู่ที่ว่ารัฐจะตอบรับอย่างไรบ้าง แต่การวางแผนพีดีพี ก็จำกัดทางเลือกแล้ว เพราะจะมีการวางโครงการนิวเคลียร์ไว้แล้ว

ศุภกิจเสนอว่า ขอท้าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตและรัฐบาลว่า กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถกแถลง และมองหาทางเลือกซึ่งเรามีหลายทาง ทั้งนี้การกำหนดเป้าหมายการพัฒนาไฟฟ้าจากเขื่อนขนาดใหญ่ในพม่าจะต้องตอบหลายโจทย์เช่น ความสัมพันธ์พม่า พลังงาน ทรัพยากร และสิทธิมนุษยชน รวมถึงการมองหาพลังงานทางเลือก และการประเมินผลกระทบด้านสุขภาวะ เมื่อเทียบกับทางเลือกอื่นๆ แล้ว ผลเป็นอย่างไร

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net