โรงไฟฟ้าชีวมวล : การย่ำหอยทากเข้าไปทำบุญ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เมื่อความต้องการพลังงานของประเทศเพิ่มสูงขึ้น กอปรกับได้​เกิดวิกฤติการณ์น้ำมันหลายครั้ง รัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์พลังงานและส่งเสริมการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น นับแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งรัฐได้ส่งเสริมและสนับสนุอย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี 2538

“รัฐบาลอภิสิทธิ์” ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ประกาศนโยบายสนับสนุนการพัฒนาพลังงานชีวมวล หรือพลังงานทางเลือกภายใต้โครงการ “1 อำเภอ 1 โรงไฟฟ้าชีวมวล” แล้วโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือกก็ผุดขึ้นราวดอกเห็ดหน้าฝนซึ่งมีโรงไฟฟ้าฯที่ตั้งไปแล้ว 74 แห่ง และอยู่ระหว่างการขอตั้งอีก 300 กว่าแห่ง ขณะเดียวกัน กระแสคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลในชุมชนก็เกิดขึ้นในแทบทุกพื้นที่เช่นกัน 
 
โรงไฟฟ้าชีวมวล เป็นการนำกากหรือเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร หรือกากจากการผลิตผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือการเกษตร เช่น แกลบ ชานอ้อย เศษไม้ กากปาล์ม กากมันสำปะหลัง ซังข้าวโพด กาบและกะลามะพร้าว ส่าเหล้า เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า และหรือพลังไอน้ำ ซึ่งอาจจะเป็นเศษวัสดุชนิดเดียวหรือหลายชนิดรวมกัน 
 
โรงไฟฟ้าชีวมวลน่าจะเป็นทางเลือกที่มีผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจโดยภาพรวมของประเทศมากกว่าแหล่งพลังงานหลักๆ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพราะเป็นพลังงานหมุนเวียน แต่ 10 กว่าปี ภายหลังจากการส่งเสริมและสนับสนุนอย่างจริงจังของรัฐ ทำให้เกิดโรงไฟฟ้าชีวมวลเป็นจำนวนมาก และโรงไฟฟ้าชีวมวลก็สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนเป็นอันมากเช่นกัน หากสังคมไทยจะได้เรียนรู้ความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และค้นหารูปแบบแนวทางกระบวนการการแก้ไขปัญหาอย่างเอาจริงเอาจัง คงไม่เห็นภาพที่ชาวบ้านวางจอบวางเสียมลุกขึ้นคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ทั้งที่สร้างไปแล้วและกำลังจะสร้างในทุกพื้นที่ อย่างที่เป็นอยู่
 
น่าเสียดาย ที่ทัศนคติของประชาชนเป็นไปในทางเลวร้ายต่อโรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งส่งผลให้ประชาชนขาดโอกาสการเรียนรู้พลังงานทางเลือกที่แท้จริง       
 
อย่างไรก็ตาม แม้โรงไฟฟ้าชีวมวลจะเป็นแหล่งพลังงานที่ดี แต่การดำเนินการที่ผิดพลาดก็สร้างผลกระทบด้านมลภาวะให้แก่ประชาชน การแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ ไม่มียาขนานใดจะดีไปกว่า การเริ่มต้นด้วยกระบวนการการมีส่วนร่วมและการตรวจสอบอย่างแท้จริงของประชาชน!            
                                                                                           
ปัญหาที่เกิดการคัดค้านโรงไฟฟ้าชีวมวลในแทบทุกพื้นที่อยู่ในขณะนี้ เป็นเพราะชาวบ้านไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ โดยเฉพาะการเลือกพื้นที่ที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล เพราะส่วนใหญ่เอกชนเจ้าของโรงไฟฟ้าเลือกพื้นที่ที่อยู่ใกล้ชุมชนหรือแม้แต่กลางชุมชน ทั้งนี้ก็ด้วยเหตุผลเพื่อจะลดต้นทุนการผลิต โดยไม่แยแสกับปัญหาผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นกับชุมชน
 
ที่สังคมไทยทั่วไปรับรู้ เข้าใจ และท่องบ่นจนติดปากว่า “โรงไฟฟ้าชีวมวล คือพลังงานสะอาด” จำเป็นจะต้องทบทวน สะอาดหรือไม่สะอาด ชาวบ้านที่อยู่ใกล้โรงไฟฟ้าชีวมวลเท่านั้นที่จะบอกได้         
                            
โรงไฟฟ้าชีวมวลหลายต่อหลายแห่งได้ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างปกติสุขดังเดิมได้ ปัญหาพื้นฐานของโรงไฟฟ้าชีวมวลคือ ฝุ่นละอองจากกระบวนการผลิตไฟฟ้าทุกขั้นตอน ขนาดชาวบ้านไม่สามารถนำน้ำฝนที่เคยใช้ดื่มมาบริโภคได้ ข้าวของเครื่องใช้หากไม่เก็บให้มิดชิดจะถูกพอกด้วยฝุ่นแกลบหนาเป็นชั้นๆ ใบข้าวในนาใกล้โรงงานถูกกลบเหมือนนาหิมะ แม้ใบหน้าของชาวนาผู้เก็บเกี่ยว หากใช้มือถูเพียงบางเบาก็จะได้ขี้ไคลก้อนเท่าหัวไม้ขีด มิพักต้องพูดถึงปัญหาสุขภาพเกี่ยวแก่ทางเดินหายใจ ที่ชาวบ้านต้องตายผ่อนส่ง เพราะสูดฝุ่นแกลบที่ละเอียดเหมือนแป้งกระป๋อง โดยเฉพาะในหน้าแล้งและหน้าหนาว
 
ปัญหาดังกล่าวมีให้เห็นตำตาที่ตัวจังหวัดร้อยเอ็ด ณ บริเวณรายรอบโรงไฟฟ้าแกลบที่ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองไม่เกิน 3 กิโลเมตร ชาวบ้าน 2-3 หมู่บ้านที่สุดทน ได้ออกมาเรียกร้อง และเจ้าของโรงไฟฟ้าก็รับว่าจะจ่ายค่าเสียหายให้เป็นเงิน 3,000 บาท แต่... แม้เงินจำนวนเท่านั้นเพื่อแลกกับความตายผ่อนส่งของชาวบ้าน คำมั่นของเจ้าของโรงไฟฟ้าก็เป็นเหมือนฝุ่นแกลบที่ปลิวไปกับสายลม ไม่มีการชดใช้-ชดเชยใดๆ เกิดขึ้น!
 
ป่วยการจะพูดถึงหน่วยงานรัฐที่สนับสนุนการสร้างโรงไฟฟ้าอย่างสุดหัวใจมาแต่ต้น ชาวบ้าน บ้านหนองม่วง บ้านหนองนาสร้าง บ้านหนองบัวทอง ต.เหนือเมือง อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด ต้องเผชิญกับชะตากรรมด้วยการนอนคอยความตายอย่างโดดเดี่ยว                                                
                                                              
แล้วหนังเรื่องเดียวกันก็ถูกฉายซ้ำที่อุบลราชธานี กรณีชาวคำสร้างไชยและหมู่บ้านใกล้เคียงอีก 5 หมู่บ้านของตำบลท่าช้างและตำบลบุ่งมะแลง อ.สว่างวีระวงศ์ วางจอบวางเสียมออกมาคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัท บัวสมหมาย ไบโอแมส จำกัด โรงไฟฟ้าที่ใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิง ขนาดกำลังผลิต 9.9 เมกะวัตต์ และเป็น “บัวสมหมาย” บริษัทเดียวกันกับที่สร้างกรรมให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ร้อยเอ็ด
 
พื้นที่ 154 ไร่ ที่บัวสมหมายฯ มีแผนจะใช้เป็นที่ตั้งโรงไฟฟ้านั้น ตั้งอยู่ใจกลางหมู่บ้านคำสร้างไชย หลังจากไปดูสถานที่จริง พร้อมได้พูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ร้อยเอ็ด ต่างก็กังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เพราะได้เห็นมากับตาตนเองแล้วว่า ขนาดโรงไฟฟ้าที่ร้อยเอ็ดตั้งอยู่ห่างหมู่บ้านโดยมีที่นาคั่นกลาง ชาวร้อยเอ็ดยังได้รับทุกขเวทนาถึงเพียงนั้น
 
หากโรงไฟฟ้าชีวมวลเป็นพลังงานสะอาดและลดภาวะโลกร้อน หรือเป็นกิจการอันเป็นบุญเป็นกุศลจริง จิตใจของผู้บริหารต้องสะอาดและเป็นบุญเป็นกุศลด้วย การสร้างเจดีย์มหาบัวมงคล ที่ร้อยเอ็ดหรือปรนนิบัติวัฏฐากใกล้ชิด “หลวงตามหาบัว” มิได้เป็นเครื่องหมายว่าเป็นคนใจบุญใจกุศลเสมอไป หากพฤติกรรมและจริยธรรม    หรือธรรมาภิบาลในการดำเนินธุรกิจต่างหากคือเครื่องชี้วัดจิตใจของเจ้าของ “บัวสมหมาย”
 
 การที่ “บัวสมหมาย” กำหนดกำลังการผลิตไว้ที่ 9.9 เมกะวัตต์ คือเครื่องชี้เจตนาได้เป็นอย่างดีว่า ระดับของจิตใจของ “ลูกศิษย์หลวงตา” ท่านนี้ว่าอยู่ในระดับไหน เพราะพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 หรือ “กฎหมายสิ่งแวดล้อม” บัญญัติว่า การผลิตกระแสไฟฟ้าที่มีกำลังผลิตตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ขึ้นไปจะต้องทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และต้องทำประชาพิจารณ์ก่อน การกำหนดกำลังผลิตให้หย่อนเกณฑ์ตามกฎหมายไว้เพียง 0.1 เมกะวัตต์ บุคคลเช่นนี้เป็นคนเช่นไร
 
การกำหนดกำลังการผลิตเยี่ยงนั้น อธิบายเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจาก “บัวสมหมาย” จงใจเลี่ยงกฎหมายและไม่ได้มีจิตอันบริสุทธิ์แม้กระผีกริ้น เนื่องจากกฎหมายสิ่งแวดล้อมมีเจตนารมณ์ในอันจะให้ชุมชนได้ตรวจสอบและมีส่วนร่วมในกิจการใดๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน แต่ “ศิษย์หลวงตา” ผู้สร้างมหาเจดีย์ อันเป็นสังเวชนียสถานให้ผู้คนได้น้อมในทางธรรม กลับดำเนินธุรกิจอย่างตลบตะแลง มิพักต้องพูดถึง การเบียดเบียนแก่สัตว์ที่เป็นเพื่อนทุกข์มาชั่วนาตาปีที่ร้อยเอ็ด            
                                                                        
เท่านั้นยังไม่พอ เมื่อเลี่ยงกฎหมายเลี่ยงการประชาพิจารณ์ ครั้งจะทำกระบวนการจิ๊บจ้อยอย่าง “การประชาคม” ในหมู่บ้านคำสร้างไชย เพื่อขอความเห็นชอบต่อการสร้างโรงไฟฟ้าของบริษัทฯ กลับดำเนินการอย่างรวบรัด ซึ่งดำเนินการโดยฝ่ายปกครองของชุมชน รวมทั้งหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบ คือ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุบลราชธานี   มิไยที่แม้จะมีเสียงทักท้วงจากชาวบ้านว่า “เอกสารประชาคมหมู่บ้านเป็นเท็จ” เนื่องจากชาวบ้านได้เข้าชื่อขอยกเลิกมติที่ประชุมการเห็นชอบการสร้างโรงไฟฟ้าในหมู่บ้านดังกล่าวไปแล้ว เพราะเห็นว่ากระบวนการผิดกฎหมาย เพราะแม้คนที่หนีไปทำงานต่างแดนยังมีลายมือชื่อสนับสนุนให้สร้างโรงไฟฟ้า 
 
กระนั้น อุตสาหกรรมจังหวัดอุบลฯ ยังคงหลับหูหลับตาส่งเรื่องการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ของบริษัท บัวสมหมายไบโอแมส จำกัด ไปให้ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมพิจารณา 
 
เดชะบุญที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ตีกลับหนังสือของบริษัทฯ พร้อมระบุ “ขออนุญาตไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน และขาดรายละเอียดเพื่อประกอบการพิจารณา 14 รายการ” ซึ่งรายละเอียดที่ไม่ครบถ้วนล้วนแล้วแต่เป็นคำถามที่บริษัทฯ และอุตสาหกรรมจังหวัดอุบลราชธานี ไม่เคยตอบชาวบ้านทั้งสิ้นเช่น การแสดงรายละเอียดกระบวนการผลิต และจุดที่จะก่อให้เกิดอันตราย ความเสียหาย เหตุเดือดร้อนรำคาญและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม       การแสดงรายละเอียดปริมาณการระบายน้ำทิ้งจากกระบวนการผลิต เช่น น้ำจากระบบผลิตน้ำใช้ แหล่งรองรับน้ำทิ้งมีความเหมาะสมสามารถรองรับน้ำทิ้งได้โดยไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่
 
ตลอดจนการระบายน้ำทิ้งออกนอกบริเวณโรงงานต้องมีแบบระบบบำบัดน้ำเสีย การชี้แจงแสดงรายละเอียดการจัดเก็บเชื้อเพลิง เช่น จัดเก็บในอาคารที่มีความจุเท่าใด หรือกองไว้กลางแจ้ง วิธีป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองที่เกิดจากการกองเก็บ ขนถ่ายลำเลียงเชื้อเพลิงป้อนระบบ การขนถ่ายลำเลียงขี้เถ้าไปสู่บ่อกักเก็บและการกองเก็บขี้เถ้า ให้จัดส่งรายละเอียดข้อมูลโครงการการจัดหาเชื้อเพลิงชีวมวล ที่ประกอบด้วยข้อมูลเกี่ยวกับชนิดและคุณสมบัติของเชื้อเพลิง ปริมาณ แหล่งที่มา ที่เพียงพอกับขนาดกำลังการผลิตของโรงงาน พร้อมเอกสารหลักฐานที่เชื่อถือได้ และมีความชัดเจนว่าจะไม่มีการใช้ไม้ในป่าธรรมชาติทั้งทางตรงและทางอ้อม ตามแบบเสนอข้อมูลโครงการจัดหาเชื้อเพลิงชีวมวล ฯลฯ 
 
เหตุผลสำคัญในจำนวนข้อบกพร่อง 14 ข้อ ที่กรมโรงงานฯ ไม่อนุญาตการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานฯ ของ “บัวสมหมาย” คือ “ยังไม่มีข้อมูลยุติในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน” ทางกรมจึงขอให้ดำเนินการให้มีข้อยุติเป็นที่ยอมรับของประชาชนผู้อยู่อาศัยใกล้เคียง หรือผู้ที่อาจได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการโรงงานเสียก่อน
 
การยับยั้งไม่อนุญาตของกรมโรงงานทำให้ชาวคำสร้างไชยหายใจหายคอได้เพียงชั่วครู่ หลังจากนั้น “บัวสมหมาย” ก็ยื่นเรื่องเพื่อขอรับใบอนุญาตตั้งโรงไฟฟ้าอีกครั้ง  
 
ชาวคำสร้างไชยและหมู่บ้านใกล้เคียงอีก 5 หมู่บ้านในรัศมีทำการของมลพิษที่จะแผ่ถึง ได้เสนอแนวทางต่อทางผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี โดยขอใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 46 มาตรา 76 และ พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มาตรา 11   เพื่อขอให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมในการพิจารณาการขอสร้างโรงไฟฟ้า โดยขอให้ตั้งคณะทำงานชี้แจงข้อมูลและดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อกำหนดกระบวนการชี้แจงข้อมูลและดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยให้มีองค์ประกอบของคณะทำงานเป็นแบบพหุภาคี กล่าวคือ ให้คณะทำงานประกอบด้วยชาวบ้าน หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง นายทุน นักวิชาการ โดยให้สัดส่วนของชาวบ้านเท่ากับหรือมากกว่าหน่วยงานของรัฐ    และกระบวนการชี้แจงข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ควรมีขั้นตอนการทำงาน เป็นขั้นๆ ดังนี้
 
ขั้นที่ 1 ให้มีการศึกษาข้อมูลเบื้องต้นถึงผลดีและผลเสียที่จะเกิดขึ้นแบบเร่งด่วน    โดยงบประมาณการศึกษานั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จะเป็นผู้สนับสนุน เพราะชาวบ้านได้ร้องขอใช้สิทธิต่อคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 11 ที่บัญญัติว่า “บุคคลหรือคณะบุคคลมีสิทธิร้องขอให้มีการประเมินและมีสิทธิร่วมในกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพจากนโยบายสาธารณะ    บุคคล หรือคณะบุคคลมีสิทธิได้รับรู้ข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยงานของรัฐ ก่อนการอนุญาตหรือดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพของตนหรือของชุมชนและแสดงความเห็นของตนในเรื่องดังกล่าว”   ส่วนคณะที่จะศึกษาและองค์ประกอบของคณะศึกษาให้ที่ประชุมของคณะทำงานหารือและหาข้อสรุปร่วมกัน
 
ขั้นที่ 2 ให้มีเวทีชี้แจงข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยคณะทำงานฯ ควรหารือวิธีการที่เหมาะสมที่สร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นต่อชาวบ้าน
 
ขั้นที่ 3 ให้มีเวทีประชาคมหมู่บ้าน โดยวิธีการเปิดเผยและแยกหมู่บ้าน โดยการดำเนินการของสถาบันการศึกษาหรือผู้ที่เป็นกลาง        
                                                       
เจตนารมณ์ที่ชาวคำสร้างไชยเสนอก็เพื่อให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน ผ่านการทำงานและการศึกษาข้อมูล โดยครอบคลุมผลดีผลเสียของโรงไฟฟ้าชีวมวลและข้อมูลชุมชน ซึ่งผลของการทำงานร่วมจะทำให้เกิดการยอมรับซึ่งกันและกัน คิดค้นหาทางออกร่วมกัน หากศึกษาแล้วมีความเหมาะสม แต่มีปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจะหาทางแก้ไขอย่างไร ชาวบ้านต้องได้รับค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างคุ้มค่า และให้ดีกว่าเดิมหรือเท่าเดิม   หรือหากผลการศึกษาพบว่า ที่ตั้งโรงไฟฟ้าไม่มีความเหมาะสม แม้ต้นทุนการผลิตระยะสั้นจะถูก ได้ไฟฟ้าถูก แต่ต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมสูงกว่า  ซึ่งต้องหาทางเลือกของที่ตั้งโรงไฟฟ้าใหม่ในพื้นที่ที่เหมาะสมและมีต้นทุนผลิตที่ถูกทั้งระยะสั้นและระยาว ฯลฯ
 
ข้อเสนอของชาวบ้าน ถือว่าเป็นแนวทางการหาทางออกที่สร้างสรรค์สำหรับการพัฒนาและส่งเสริมพลังงานทางเลือก เพราะเป็นกระบวนการทำงานอย่างมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วนที่ก้าวไปพร้อมกัน ทั้งชาวบ้าน หน่วยงานรัฐ นายทุน นักวิชาการ และยังเป็นทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืนและนำไปสู่การสร้างพลังงานหมุนเวียนให้เป็นพลังงานสะอาดอย่างแท้จริง และเปิดโอกาสให้ชาวบ้านมีสิทธิเลือก กำหนดวิถีชีวิตและวิถีชุมชนได้ด้วยตนเอง
 
หาไม่แล้ว เป้าหมายของขบวนพลังงานทางเลือก ก็จะเหมือนกับการย่ำหอยทากให้แหลกลาญ เพื่อจะได้เข้าไปทำบุญในวัด หรือว่า “บัวสมหมาย” จะเลือกเส้นทางนี้ เหมือนที่สร้าง “เจดีย์มหาบัวมงคล” ท่ามกลางวงล้อมของโรงแรมม่านรูด ภายใต้ชื่อ “รีสอร์ต”
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท