Skip to main content
sharethis
 
  
ภาพจาก www.thaipoetsociety.com
 
 
อันที่จริงสำหรับ “ไม้หนึ่ง ก.กุนที” เขาไม่ได้เพิ่งจะแดงและแรงเอาพักนี้ แต่ฉายแววแรงตั้งแต่ช่วงที่การเมืองเพิ่งเริ่มต้นฮึ่มๆ กัน สังเกตจากบทกวีในมติชนสุดสัปดาห์ที่เปิดโอกาสให้คนตีความกันขนลุกขนชันเป็นระยะ
 
ยิ่งในช่วงที่ความขัดแย้งทางการเมืองสุกงอม เราเห็นเขาปรากฏบนเวทีเสื้อแดงแทบทุกเวที ทั้งใหญ่ ย่อย กร่อย คึก เพื่ออ่านบทกวีของเขาในลีลา “กระชากไส้” เรียกเสียงฮือ เสียงปรบมือสนั่น ทำเอาป้าๆ ลุงๆ อุทานด้วยความซาบซึ้ง “ไอ้นี่มันใคร” !
 
แน่ล่ะ เขาเป็นด้านกลับหลายๆ อย่างของบรรดากวีรุ่นใหญ่ที่เป็นที่รู้จักกันดีในสังคม นอกจากเนื้อหาจะ (ขัดแย้ง) แม่นมั่นแล้ว ยังมีสไตล์เป็นของตัวเองชัดเจน กวีใหญ่ตระเวณอ่านบทกวีเปิดงานนิทรรศการภาพวาดเฉลิมพระเกียรติและงานระดับชาติมากมาย กวี ‘ข้าวหน้าเป็ด’ ตระเวณอ่านบทกวีสดุดีประชาชนในงานบวช งานแต่ง งานขึ้นบ้านใหม่ของคนเสื้อแดงที่เพิ่งรู้จักกันในม็อบ
 
ยิ่งคุยกับเขา เรายิ่งพบส่วนผสมที่แปลกประหลาด ไม่เฉพาะอาชีพที่เป็นพ่อค้าข้าวหน้าเป็ดและเป็นกวีในเวลาเดียวกัน ในวิธีคิดทางสังคมเศรษฐกิจการเมือง เราก็จับเขาแปะฉลากได้ยาก เป็นมาร์กซิสต์ เป็นเสรีนิยม เป็นพุทธ เป็นคนชั้นกลาง เป็นคนรักทักษิณ ฯลฯ
 
ถ้าคิดว่าเขาน่าสนใจเพียงพอ สามารถทำความเข้าใจทั้งหมดทั้งปวงได้ตามสะดวก...
 
 
000
 
 
“หนึ่งหน่วย หนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงที่แต่ละคนออกมาสู้เพื่อตัวเอง
สู้เพื่อชิงอำนาจของตัวเอง สู้เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง
มันคือเส้นทาง มันคือรอยเท้าแต่ละรอยที่สะสมกัน
เพื่อนำไปสู่อุดมคติใหญ่ที่เรียกว่า ประชาธิปไตยของพลเมือง”
 
 
การเมืองเป็นเรื่องรสนิยมส่วนตัวหรือเปล่า ทุกคนจำเป็นต้องชอบ หรือสนใจในการเมืองเหมือนกันหรือ
ในมุมมองของผม การที่ใครจะออกมาแสดงออก มีส่วนร่วมทางการเมือง มันมีสองลักษณะ คือลักษณะที่เป็นจริง กับลักษณะที่ลวง การดำเนินการทางการเมืองมีสองแนวทางมาตลอด ดูจากประวัติศาสตร์การต่อสู้ของจีนก็ได้ การต่อสู้ของจีนก่อนจะมายุคปลดปล่อยเป็นประเทศใหม่ มันคือการต่อสู้กับชาวต่างชาติ คือ คนญี่ปุ่น ซึ่งเริ่มต้นด้วยอุดมคติชาตินิยม แต่หลังจากไล่ญี่ปุ่นแล้ว ต่อมาอุดมคตินั้นก็กลายเป็นสองแนวทาง คือแนวทางชาตินิยมอนุรักษ์แบบเดิม กับแนวทางใหม่ที่มุ่งผลประโยชน์ส่วนตัว ส่วนตัวหมายถึง ส่วนตัวแต่ละคนๆ ของประชาชาติ ของประชาชน  
 
ผมมองว่า ‘ประชาชน’ เป็นหน่วยที่เล็กที่สุด เขาไม่มีทางสู้เพื่อคนอื่น มโนคติของพันธมิตรฯ ที่บอกว่าเขาต่อสู้เพื่อใครบางคน อันนั้นเป็นแนวทางที่มันไม่ใช่ความจริง แต่ถ้าเป็นอุดมคติที่บอกว่าสู้เพื่อประชาธิปไตย ถึงแม้มันดูเป็นม็อตโต้ เป็นคำพูดซ้ำๆ แบบอัตโนมัติ หรือสำเร็จรูป แต่ประชาธิปไตย มันคือเรื่องของหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงที่มันเป็นจริง เพราะฉะนั้น ถ้าเราแปลสมการออโตเมติกอันสวยหรูว่า แต่ละคนสู้เพื่อตัวเอง มันก็เหมือนกับย้อนมาถึงคำถามที่ถามเรื่องการเข้ามาร่วมทางการเมือง ผมมาร่วมการเมือง ก็เหมือนกับทหารซึ่งอาสาสมัครรบเวลามีสงคราม แต่เขาไม่ได้สู้เพื่อชาติ เขาสู้เพื่อตรึงแนวรบ เพื่อชนะสงคราม หรืออย่างน้อย ข้าศึกจะไม่ทำร้ายลูกเมีย ไม่ทำลายไร่นาของเขา พูดตรงๆ ก็คือว่า การต่อสู้ที่แท้จริงคือการต่อสู้บนผลประโยชน์ของประชาชนคนตัวเล็กๆ ครอบครัวแต่ละครอบครัว เพื่อที่จะได้ยันฝ่ายตรงข้ามไม่ให้มารุกรานครอบครัวของตัวเอง
 
ทีนี้หนึ่งหน่วย หนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง หรือผลประโยชน์ของแต่ละคนของพลเมือง มันก็รวมเป็นอุดมคติที่ใหญ่  คือ สังคมไทยทุกวันนี้ หนึ่งหน่วย หนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงที่แต่ละคนออกมาสู้เพื่อตัวเอง สู้เพื่อชิงอำนาจของตัวเอง สู้เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง มันคือเส้นทาง หรือรอยเท้าแต่ละรอยที่สะสมกัน เพื่อนำไปสู่อุดมคติใหญ่ที่เรียกว่า ‘ประชาธิปไตยของพลเมือง’
 
 
 
ถ้าคุณชนะสงครามสื่อ มวลชนคุณจะจริงหรือปลอมก็แล้วแต่
คุณสามารถทำให้มันเป็นจริงได้...”
 
 
ถ้าใช้ตรรกะนี้ การต่อสู้อะไรก็ย่อมไม่มีทางผิด พันธมิตรฯ ต่อสู้กับการคอรัปชั่น เขาก็สู้เพื่อตัวเขาเหมือนกัน
เราต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า สองแนวทางที่พูดถึงก็เหมือนเจียงไคเช็คกับเหมาเจอตุง พันธมิตรฯ ก็คือ เจียงไคเช็ก ชัดเจนมาก เขาต้องการสร้างความเป็นชาตินิยมเพื่อหลอมรวมมวลชน มันเป็นสูตรเดิม ไม่ว่าสังคมไหนก็แล้วแต่ ถ้าต้องการที่จะหลอมรวมมวลชนให้ได้รวดเร็ว ต้องหาศัตรูร่วมหรือผลประโยชน์ร่วมที่เข้าใจได้ง่ายที่สุด ความเป็นชาติ ความเป็นเชื้อชาติ อะไรพวกนี้เป็นสิ่งที่เข้าใจง่าย การสร้างอสูรกาย  ปีศาจขึ้นมา ยกตัวอย่างว่าเป็น ‘ทักษิณ ชินวัตร’ มันจะสร้างศัตรูที่จะเผชิญหน้า ให้สามารถแบ่งฝักแบ่งฝ่ายชัดเจน เพราะฉะนั้น มวลชนจึงจุดติดง่าย
 
ผมมองว่าการต่อสู้ของพันธมิตรฯ ที่เขาเลือกแนวทางนี้ เพราะว่าเขาใจร้อน เขาไม่สามารถรอให้มวลชนสุกงอมจากกระเป๋าตัวเองได้ ผมใช้คำว่า ‘สุกงอมจากกระเป๋าตัวเอง’ ก็คือ ประชาชนทุกวันนี้ คนเสื้อแดง ทำไมจึงออกมา อย่างรายงานข่าวอันหนึ่งที่ผมเจอ ครอบครัวหนึ่ง พ่อแม่ลูกสองคน มีคนไปถามว่า ทำไมคุณถึงออกมาต่อสู้ร่วมกับ นปช. ทั้งที่เขาไม่ได้สังกัดกลุ่มรักทักษิณเลย เขามาในฐานะส่วนตัว เขาบอกว่า ประสบการณ์ตรงที่ทำให้เขาต้องออกมาร่วมกับ นปช. เพราะว่าเขาได้ผลประโยชน์จาก 30 บาทรักษาทุกโรค คือลูกคนเล็กของเขาป่วยเป็นไข้เลือดออก ถ้าอยู่ในเงื่อนไขเดิมที่เขาเห็นจากตัวเองสมัยวัยเด็ก เห็นจากพ่อแม่ เห็นจากญาติพี่น้อง หรือเครือญาติที่เป็นชนชั้นล่างทั้งปวง กว่าคุณจะได้รับการรักษาพยาบาล กว่าจะอยู่ในภาวะที่หมดห่วงที่ว่าไม่ตาย โห มันเนิ่นนานมาก แต่ในขณะที่รัฐบาลที่นำโดยพรรคไทยรักไทย มีนโยบายออกมาแล้วลูกเขาปลอดภัยในระยะเวลาอันสั้น เขาถึงสรุปว่า นี่เป็นผลประโยชน์ส่วนตัวของเขาที่มันเปลี่ยนไปจากยุคบรรพบุรุษ เพราะฉะนั้น เขาจึงมาร่วมต่อสู้กับ นปช.
 
แต่ในขณะที่การเคลื่อนไหวมวลชนบางอัน เขาต้องการปริมาณในระยะเวลาที่รวดเร็ว อย่างให้ผมวิจารณ์พันธมิตรฯ การเคลื่อนมวลชนของเขาใช้การจัดตั้งที่ชัดเจน แต่เนื่องจากภาวะวิสัยทางมวลชน ส่วนใหญ่เขากลับเห็นดีเห็นงามจากนโยบายประชานิยมของไทยรักไทย เพราะฉะนั้นการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ไม่สามารถชิงมวลชนจากประชานิยมมาได้ ดังนั้น ทางหนึ่งเขาจึงสร้างกระแสชาตินิยม และกระแสศัตรูร่วมของการหลอมมวลชนของเขา นี่ก็คือความต่าง
 
ที่คุณคิดซับซ้อน นั่นเพราะมันไม่ยืนอยู่บนพื้นฐานความจริง คือ ความสุกงอมของประชาชน คุณจึงต้องมีกระบวนการจัดตั้งที่พลิกแพลงมากมาย เพื่อที่จะสะสมปริมาณ แล้วเอามาชูในสังคม แต่ภาวะวิสัยของสังคมไทยก็คือสื่อ และเทคโนโลยีการสื่อสาร ทำให้พันธมิตรฯ สามารถสรุปได้เร็วมากว่า ถ้าคุณชนะสงครามสื่อ มวลชนคุณจะจริงหรือปลอมก็แล้วแต่…คุณสามารถทำให้มันเป็นจริงได้...
 
แล้วยิ่งเขาสรุปอารมณ์ของสังคมไทย หรือธรรมชาติของสังคมไทยที่มีฉันทาคติ อคติแบบหนึ่งๆ หรือชนชั้นที่แอบแฝงอยู่ เขาย่อมรู้ว่ามิตรของเขาในหมู่เมือง หรือในสังคมที่ทำเรื่องสื่อมีอยู่มากมาย พวกเขามีจริตเดียวกัน รสนิยมเดียวกัน อ่านหนังสือเล่มเดียวกัน ครูบาอาจารย์เถือกเขาเหล่ากอเดียวกัน เพราะฉะนั้นเขาคุยกันไม่ยาก เขาจึงเลือกแนวทางที่มันลัด มวลชนของเขาไม่ได้สุกงอมจริง แต่ได้มาปริมาณหนึ่งที่จะโชว์ภาพได้ว่ามีขนาดเท่านี้ ที่เหลือก็เป็นเรื่องการติดต่อ connection ที่คุยกันง่าย เพราะรสนิยม และพื้นฐานการศึกษาแบบเดียวกัน ตรงนี้เป็นแนวทางลัด แต่ไม่ได้หมายความว่า แนวทางนี้จะไม่สามารถยกระดับมาสู่แนวทางที่เป็นจริง เหมือนกับที่ นปช.ทำ
 
 
 
“ผมมีข้อมูลของคนที่ผมต้องการเผชิญหน้า ผมดูเอเอสทีวี แม้แต่การชุมนุมครั้งที่ผ่านมา
มันไม่ได้ไง ที่เราจะคับแคบจนไม่ยอมรับการมีอยู่ของฝ่ายที่เราไม่เห็นด้วย
หรืออคติจนมองเห็นว่าเขาไม่มีดีเลย
เช่นที่ผมบอกข้อดีของเขา เช่น เขาจุดประเด็นสภาสาขาอาชีพ เป็นเรื่องถูกต้อง
แต่ไม่ใช่เปลี่ยนสภาผู้แทนราษฎรไปเป็นสภาสาขาอาชีพเลย
เพราะทันทีที่คุณเปลี่ยนเลย มันมีปัญหากับโครงสร้าง”
 
ผมเองก็ยอมรับว่า นปช. ก็มีการผสมหลายส่วน แนวทางที่จัดตั้ง แต่มันเป็นส่วนที่น้อย หรือแนวทางที่ยึดติดกับตัวบุคคล คนรักทักษิณ แต่คนที่รู้สึกว่าต่อสู้มาจากกระเป๋า ต่อสู้มาจากสุขภาพ ต่อสู้มาจากบ้านเรือนของตัวเองนั้นมีไม่น้อย และพอถึงจุดหนึ่ง ทุกคนอยากหาเพื่อน บางคนเริ่มต้นด้วยการต่อสู้ส่วนตัว แต่ก็เข้าไปสังกัดกลุ่มคนรักทักษิณ หลักการอธิบายเหตุผลมันอย่างเดียวกัน
 
และการเมืองใหม่ของพันธมิตร จะล้มเลิกสภาผู้แทนราษฎรแล้วแทนที่ด้วยสภาประชาชน ผมบอก มึงจะบ้าเหรอ ราษฎรมันก็คือประชาชน ทำไมคุณจะเปลี่ยนให้มันวุ่นวาย ทำไมไม่ส่งเสริม อย่างไรก็ตาม ผมยอมรับเรื่องหนึ่งของพันธมิตรฯ คือ เรื่องผู้แทนจากแต่ละสาขาอาชีพ ตอนนี้กลายเป็นว่า ส.ส.ที่ควรจะเป็นคือ ส.ส.ปกติจากเขตเลือกตั้ง ส.ส.สัดส่วน วุฒิสมาชิก ทั้งหมดมาจากการเลือกตั้ง แล้วก็เพิ่ม ส.ส.จากสาขาอาชีพ โดยทำทะเบียนเลยว่า ประชาชนมีอาชีพอะไรเท่าไร แล้วให้เขาเลือกตั้งในสาขาอาชีพเขา เราจะมีผู้แทนเพิ่มเข้ามาอีก 250 คน หรือ 500 คนก็ได้ ประชาชนจะมี 2 คุณภาพ ในฐานะพลเมืองปกติกับพลเมืองสังกัดอาชีพ ถามว่า เพิ่มมาเยอะขนาดนี้ไม่บ้าไปกันใหญ่หรือ ผมว่าคุณสิบ้า ทุกวันนี้ผู้แทนไม่สามารถรับใช้ประชาชนได้อย่างทั่วถึง อัตราประชาการของเรา 60 กว่าล้านคน เพิ่มผู้แทนมาอีก 500 คน ไม่ใช่เรื่องไร้สาระ
 
ตอนนี้เรากำลังถูกดึงโดยการจำกัดจำเขี่ยทั้งปวงของอำนาจประชาชน ผู้แทน 500 คนก็เหลือ 480 คน เอาทุกอย่าง 20 ก็เอา คุณเป็นนักข่าวเป็นอะไรกัน เคยมีคำถามไหม อ้าว เหตุผลที่มันหายไปเพราะอะไร การแบ่งเขตการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญปี 50 มันชัดเจนมากว่าเพื่อส่งเสริมใครและทำลายใคร
 
 
 
“ถึงที่สุดเรายังต้องกลับมาตีความคำว่า “ผู้แทนราษฎร” ด้วย
เขาคือตัวแทนของเรา แต่ปัญหาสังคมไทย 3-4 ปี ทุกวันนี้คือ
คุณพยายามทำลายประชาชนนั่นแหละ แต่ทำลายมาทีละขั้น
แล้วปัญญาชนชั้นกลางก็ไม่รู้ว่าถูกชี้นำให้ทำลายบันไดขั้นแรกคือ ผู้แทนราษฎร
ซึ่งขั้นสุดท้ายมันก็คือประชาชน”
 
คุณศึกษาแนวทางของพันธมิตรฯ ของเอเอสทีวีด้วยใช่ไหม
คนที่ทำงานในเอเอสทีวีผู้จัดการก็พี่น้องผมหลายคน สมัยที่พันธมิตรฯ เคลื่อนมวลชน ผมก็ยังได้ป้าย VIP ที่เข้าไปหลังเวทีได้ พูดตรงๆ เวทีพันธมิตรฯ เป็นเวทีของอภิชน คุณจะเป็นใครก็ได้ ถ้าคุณมีต้นทุนทางสังคมแล้วต่อคอนเน็กชั่นได้ ผมมีข้อมูลของคนที่ผมต้องการเผชิญหน้า ผมดูเอเอสทีวี แม้แต่การชุมนุมครั้งที่ผ่านมา แต่มันไม่ได้ไง ที่เราจะคับแคบจนไม่ยอมรับการมีอยู่ของฝ่ายที่เราไม่เห็นด้วย หรืออคติจนมองเห็นว่าเขาไม่มีดีเลย เช่นที่ผมบอก ข้อดีของเขาคือเขาจุดประเด็นสภาสาขาอาชีพ เป็นเรื่องถูกต้อง แต่ไม่ใช่เปลี่ยนสภาผู้แทนราษฎรไปเป็นสภาสาขาอาชีพเลย เพราะทันทีที่คุณเปลี่ยนเลย มันมีปัญหากับโครงสร้าง เพราะผู้แทนของเราส่วนหนึ่งเป็นผู้แทนในระบบเก่า เหมือนชนชั้นหมอผีในสังคมบรรพกาล ทันทีที่คุณเป็นหมอผี คุณไม่ต้องทำนา ไม่ต้องทอผ้า ทันทีที่คุณเป็นผู้แทน คุณมีหน้าที่รับเรื่องร้องทุกข์ ต่อสู้เพื่อประชาชนที่เขาเลือกคุณมา คุณไม่มีเวลาไปทำมาหากินส่วนตัว ส่วนใหญ่แล้วคุณไม่มีสภาวะของผู้ประกอบอาชีพ ฉะนั้น ผู้แทนก็กลายเป็นอภิชนเกือบหมดโดยสิ้นเชิง อาจยกเว้นสมัยคุณจำลอง ดาวเรือง คุณเตียง ศิริขันธ์ ต้องยอมรับว่าพวกนี้ยังยืนหยัดอยู่บนชนชั้นและที่มาที่ไปของตัวเอง แต่ทุกวันนี้ทันทีที่คุณเข้าสู่รัฐสภา คุณได้ชีวิตที่ดีกว่า และคุณสมควรได้ เพราะคุณเป็นผู้แทนของประชาชน บางครั้งเราต้องเข้าใจสถานภาพของการเป็นตัวแทน คนพวกนี้เราเลือกมาใช้ชีวิตที่ดีกว่าแทนเรา เพื่อกลับมารับใช้พวกเราซึ่งเป็นประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ให้ชีวิตมันดีใกล้เคียงกับชีวิตที่ดีซึ่งมีน้อย
 
ถึงที่สุดเรายังต้องกลับมาตีความคำว่า “ผู้แทนราษฎร” ด้วย เขาคือตัวแทนของเรา แต่ปัญหาสังคมไทย 3-4 ปีทุกวันนี้คือ คุณพยายามทำลายประชาชนนั่นแหละ แต่ทำลายมาทีละขั้น แล้วปัญญาชนชั้นกลางก็ไม่รู้ว่าถูกชี้นำให้ทำลายบันไดขั้นแรกคือ ผู้แทนราษฎร ซึ่งขั้นสุดท้ายมันก็คือประชาชน พูดง่ายๆ ตอนนี้มีปัญญาชนฝ่ายอนุรักษ์นิยมบางคนแพลมออกมาในข้อเขียนของตัวเองว่า ไม่ได้เรียกการเมืองการปกครองในประเทศไทยว่าประชาธิปไตย เรียกว่า ...อธิปไตย คุณไปรื้อดูได้ยังอยู่ในสื่อสิ่งพิมพ์บางเล่ม
 
 
 
“รูปแบบการเคลื่อนไหวในลักษณะนำ มันก็มีส่วนใหม่ แต่จะว่าล้าหลังก็มีส่วนล้าหลัง 
ผมขออธิบายคำว่า “ล้าหลัง” ว่า ยังมีบุคลิกของการทำมวลชนทางลัด
คือ ใช้วิธีการของ ส.ส. ใช้เครือข่ายพรรคการเมือง หัวคะแนน
จัดตั้งมวลชนขึ้นมา รูปแบบนี้ล้าหลัง แต่มันก็จำเป็นในระยะแรก
สรุปว่า ผมยอมรับไอ้ทฤษฎีการจัดตั้งเต็มที่อยู่แล้ว
แต่ความก้าวหน้าของ นปช. ที่ทำให้ในที่สุด
ระดับนำหรือแกนนำในการเคลื่อนไหวมวลชนต้องละล้าละลัง ก็คือ
ความก้าวหน้ามันอยู่ที่มวลชน มวลชนสุกงอม”
 
 
รูปแบบและเนื้อหาการเคลื่อนไหวของ นปช. มีอะไรใหม่บ้าง
รูปแบบการเคลื่อนไหวในลักษณะนำ เหมือนกับจะพูดว่าใหม่ มันก็มีส่วนใหม่ จะว่าล้าหลังก็มีส่วนล้าหลัง ผมขออธิบายคำว่า ‘ล้าหลัง’ ว่ายังมีบุคลิกของการทำมวลชนทางลัด คือ ใช้วิธีการของ ส.ส. ใช้เครือข่ายพรรคการเมือง หัวคะแนนจัดตั้งมวลชนขึ้นมา รูปแบบนี้ล้าหลัง แต่มันก็จำเป็นในระยะแรก สรุปว่าผมยอมรับไอ้ทฤษฎีการจัดตั้งเต็มที่อยู่แล้ว แต่ความก้าวหน้าของ นปช. ที่ทำให้ในที่สุดระดับนำหรือแกนนำในการเคลื่อนไหวมวลชนต้องละล้าละลังก็คือ ความก้าวหน้ามันอยู่ที่มวลชน มวลชนสุกงอม ซึ่งไม่ได้หมายความว่า สุกงอมจากความคิด ทฤษฎี แต่สุกงอมจากพื้นฐานข้อจำกัดการปะทะทางชีวิตรายวันแล้วได้รับการสะกิดความคิด ผมไม่อยากพูดว่า เป็นการให้การศึกษานะ แต่อย่างที่คุณสุรชัย แซ่ด่าน ทำ ผมมองว่า เขาทำได้ดีที่สรุปทฤษฎีเพื่อประชาชน เพื่อสังคมทั้งปวง แล้วเอามาย่อยด้วยภาษาง่ายๆ สำหรับส่งให้ชาวบ้าน ซึ่งจริงๆ แล้ว นี่ไม่ใช่การให้การศึกษา มันเป็นการแค่สะกิด
 
อันนี้พูดถึงความสุกงอมของมวลชนที่เหมือนกับตอนแรก เริ่มต้นจากความห่ามๆ พอสะกิดนิดหนึ่ง มันสุกเลย ขณะที่ฝ่ายการเมืองเองยังก้าวหน้าไปไม่เท่า หลายคนขึ้นมาระดับ mass เป็นขวัญใจของมหาประชาชน แต่เขายังมองว่า มหาประชาชนคือผลผลิตในฤดูเก็บเกี่ยว แล้วเขาถือเคียวเพื่อที่จะไปเก็บเกี่ยวผลผลิตนั้นมาเป็นคะแนนเสียง หรือเป็นฐานสนับสนุนในการเริ่มต้น ตั้งแต่นักการเมืองท้องถิ่น ส.ส. จนถึงระดับรัฐมนตรี แล้วทันทีที่มันมีบุคลิกแบบฝ่ายการเมือง ความเห็นแก่ตัวอย่างนี้ทำให้มีทิศทางการมองต่างกันไป
 
อย่าง นปช.ทุกวันนี้ ทิศทางหนึ่งในการเคลื่อนมวลชน อำนาจการนำอยู่ในฝ่ายการเมือง ซึ่งมีความพร้อมทั้งการจัดตั้งพื้นฐาน คะแนนเสียงในภูมิภาคหรือในชนบท อีกส่วนหนึ่งอำนาจการนำอยู่ในภาคประชาชนซึ่งพวกนี้เป็นนักเคลื่อนไหวที่มีประวัติศาสตร์ มีต้นทุนมาจากการเคลื่อนไหวของสังคมไทยอยู่แล้ว ตั้งแต่ยุค 14 ตุลา หรือก่อนหน้านั้นด้วยซ้ำ บางคนเคลื่อนไหวโดยที่ไม่มีบทบาทมาตั้งแต่สมัยจิตร ภูมิศักดิ์ ตอนนี้แก่มาก แต่ก็ยังผลิตรุ่นลูกรุ่นหลานรุ่นเหลนออกมาเป็นเมล็ดพันธุ์ใหม่ๆ เป็นถั่วงอกใหม่ๆ ที่ออกมารับใช้สังคม
 
โดยสรุปว่ามีสองส่วนนี้ ส่วนหนึ่งยังมีปัญหาคลุมเครือที่ถูกวิพากษ์ได้เสมอ คุณต่อสู้เพื่อตัวเอง คุณต้องการลงไปเก็บเกี่ยวข้าวเพื่อใส่ยุ้งฉางที่บ้านคุณ ในขณะที่อีกแนวทางหนึ่งที่เป็นภาคประชาชน ต้องการเก็บเกี่ยวข้าวเพื่อมาเป็นยุ้งฉางกลางแล้วแจกจ่ายแต่ละมวลชน หรือแต่ละครัวเรือน เพราะฉะนั้น ทั้งสองอันนี้จึงทำให้การเคลื่อนไหวของ นปช.ดูไม่เนียน ดูกระด้างกระเดื่อง ไม่สามารถหลอมรวมได้กลมกลึง
 
 
“การเมืองเก่าต้องส่งเสริมอย่างจริงใจและจริงจัง
ปัญหาของสังคมไทยคือ การส่งเสริมประชาธิปไตยไม่ได้เกิดขึ้นจริง
ทุกอย่างเล่นละครกันโดยสิ้นเชิง”
 
 
มองสิ่งที่เรียกว่า “การเมืองใหม่” ยังไง
คำว่า การเมืองใหม่ถูกจุด แพร่ขยายเชื้อวงกว้างโดยเวทีของพันธมิตรฯ ซึ่งผมไม่เห็นด้วย ผมมองว่าสังคมไทยมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เรายังไปไม่ถึงจุดอิ่มตัวกับของที่มีอยู่แล้ว เหมือนว่าคุณต้องใช้ภาชนะอันหนึ่งให้คุ้มค่า ถ้ายังไม่ถึงเวลาก็ไม่ต้องเปลี่ยนใหม่ ผมกำลังพูดถึงการเมืองเก่า พูดตรงๆ นะครับ ไอ้ประชาธิปไตยของเมืองไทย ถ้าหากมันเป็น เพราะตอนนี้ก็มีการถกเถียงกันในระดับนักวิชาการระดับสูงว่า จริงๆ ตามรัฐธรรมนูญมันเป็นประชาธิปไตย หรืออะไรอธิปไตย สมมติว่าเป็นอะไรก็แล้วแต่ แต่ถ้าโดยโครงสร้างอำนาจการปกครองมันยังใช้ได้ก็ควรใช้ ผมเองมองย้อนไปถึงรัฐธรรมนูญ 2540 ว่า เรายังไม่ต้องหาของใหม่ เอาของเก่ามาใช้ แล้วรัฐธรรมนูญ 2540 มีจุดบอดในโครงสร้างคร่าวๆ ที่ยังมีรายละเอียดต้องปรับเปลี่ยนอีกหลายส่วน คร่าวๆ ที่เห็นก็คือว่า องค์กรอิสระทั้งปวงต้องมาจากการเลือกตั้งด้วย
 
ยกตัวอย่างศาลรัฐธรรมนูญ คุณก็ต้องให้เลือกตั้งเหมือน ส.ส.นี่แหละ เพียงแต่คุณอาจระบุคุณสมบัติไปว่า ต้องจบกฎหมาย หรือว่าไม่จบก็ได้ เป็นประชาชน ใบสมัครมี 2 ประเภท ผู้ที่มีวุฒิการศึกษาสมัครได้เลย ผู้ไม่มีวุฒิการศึกษา เรามีแบบทดสอบเบื้องต้นที่เหมือนการสอบใบขับขี่ ถ้าคุณสอบผ่าน คุณมีสิทธิสมัครเป็นคณะกรรมการศาลรัฐธรรมนูญ ทุกอย่างใช้การเลือกตั้ง กกต.ก็ด้วย ทุกวันนี้เป็นลักษณะการแทรกแซงจากการแต่งตั้ง แต่จริงๆ แล้วการแทรกแซงก็เกิดขึ้นได้ การเลือกตั้งก็แทรกแซงได้ ซึ่งจากประวัติศาสตร์เราก็มี แต่การแต่งตั้ง มันไม่เคลียร์มากกว่า ซึ่งถ้าคุณออกแบบโครงสร้างทุกอย่างให้มาจากประชาชนมันจะแข็งแรงขึ้น
 
ที่นี้ผมก็อยากพูดถึงการเมืองเก่า คุณทำให้มันสมบูรณ์ก่อนสิ หรือใช้ให้มันเปล่งศักยภาพสูงสุดเสียก่อน อย่างเช่นคุณมีสิ่วอย่างดีที่คมมาก แต่คุณใช้แค่ทำไม้จิ้มฟัน คุณไม่เคยเอาสิ่วไปใช้ให้เปล่งศักยภาพสูงสุดเพื่อแกะสลักประติมากรรมมาสักอันหนึ่ง
 
เพราะฉะนั้น ผมมองว่า ‘การเมืองเก่า’ ต้องส่งเสริมอย่างจริงใจและจริงจัง ปัญหาของสังคมไทยคือ การส่งเสริมประชาธิปไตยไม่ได้เกิดขึ้นจริง ทุกอย่างเล่นละครกันโดยสิ้นเชิง คำว่า ‘ไม่ส่งเสริมอย่างจริงจัง’ คือ เราใฝ่ฝันและปรารถนาที่จะเห็นยอดผู้มาใช้สิทธิเต็ม 100% หรือใกล้เคียง 100% กันทั้งนั้น แต่เราไม่มีนโยบายที่จริงจังที่จะส่งเสริมยอดผู้มาใช้สิทธิ นโยบายที่มันตอแหล ทุ่มงบไปให้ กกต.โหมประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ และทีวี ผมเห็นว่ามันเป็นนโยบายที่ลวงและตอแหล เงินก้อนนี้ เป็นเงินหลายล้านบาท คุณลองไปเช็คนะ ผมไม่แน่ใจว่ามันอาจเป็นพันล้านบาท เงินก้อนนี้คุณเอามาแบ่งให้กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งดีกว่า จะหารได้เท่าไหร่ก็แล้วแต่ จะ 200 หรือ 500 บาท ระบุไปในรัฐธรรมนูญเลยว่า ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งทุกสมัยมีสิทธิได้เงินสนับสนุนจากรัฐบาลคนละเท่าไหร่ เป็นค่าชดเชยการหยุดงาน เป็นค่าการเดินทาง เป็นค่าอะไรทั้งปวง ที่สุดคุณก็จะเลิกอ้างกันเรื่องพลังเงียบซะที ทุกวันนี้ยอดผู้มาใช้สิทธิ 60 หรือ 70% เขาก็ถามถึง 40% หรือ 30% ที่เหลือ เลิกเบี่ยงเบนให้เฉไฉ คุณเปิดเผยพลังเงียบกันด้วยวิธีนี้เลย ที่สุดใครจะเอาทักษิณหรือไม่เอา เขาจะเอาประชาธิปไตย หรือ อำมาตย์ โดยปริมาณ โดยสถิติ จะประจานกันเองว่าอะไรคือความจริง
 
ทุกวันนี้ มีอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่ได้ส่งเสริมประชาธิปไตย คือการห้ามขายเหล้าในวันเลือกตั้ง ทำไมผมพูดจาผิดปกติเช่นนี้ นอกจากคุณให้เงินประชาชนในการมาใช้สิทธิการเลือกตั้งแล้ว คุณต้องให้ประชาชนรู้ค่าวันเลือกตั้ง ทำให้รู้สึกเหมือนเป็น Festival เป็นมหกรรมเฉลิมฉลองที่ทุกคนหยุดงานหมด หลังจากออกไปเลือกตั้งเสร็จ ทุกคนมีเงินออกไปกิน ดื่ม เพื่ออะไร เพื่อแสดงว่าประชาชน แม่งเป็นใหญ่ที่สุด ประชาชนสามารถสำมะเลเทเมา หรือว่าทำอะไรก็ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า เราส่งเสริมให้ประชาชนสำมะเลเทเมา แต่เราต้องการสื่อสารให้ประชาชนเขาเห็นถึงอำนาจของเขาว่า จริงๆ คนที่ใหญ่ที่สุดในแผ่นดิน คือ เขา ไม่ใช่ให้อภิชนปิดห้องกินไวน์ชั้นดี ไม่ว่าผู้ชาย ผู้หญิง หรือว่ามั่วเสพยาเสพติดกัน การสำมะเลเทเมาของมวลมหาชนนั้น ไม่ต้องห่วงมันจะคุมเชิงกันเอง สังคมจะตรวจสอบกันเอง ทุกคนมีเงินบางส่วนเท่านั้น มันจึงจะมากินเหล้าหรือสุดฤทธิ์สุดเดชกับความฟุ่มเฟือยเท่าที่มี เงินเหล่านี้จะทำให้ชีวิตที่มีข้อจำกัด หรือชีวิตที่อาภัพบางชีวิตมีโอกาสเพิ่มขึ้น เงิน 500 บาทสำหรับการเลือกตั้งครั้งหนึ่ง อาจเป็นนมผงชั้นดีหนึ่งกระป๋อง เป็นอะไรหลายอย่าง คำพูดของผมเป็นการฉีกหน้ากากอภิชนชั้นสูงที่เตะสกัดประชาธิปไตยมาโดยตลอด ด้วยการไม่ได้ส่งเสริมอย่างจริงจัง
 
 
 
“เราแสวงหาความใหม่โดยเครื่องมือเก่ายังไม่สามารถใช้งานได้เต็มที่
เพราะมีกลุ่มคนที่จะเตะสกัดถ่วงมันไว้
เราจึงต้องทำลายวาทกรรมว่าผู้แทนเลวเสียก่อน”
 
ที่ผ่านมาการเลือกตั้งเป็นเรื่องพื้นฐานของประชาธิปไตยที่ใครก็รู้อยู่แล้ว ต่อมาพันธมิตรฯ เขามาอีกกระแสหนึ่ง โดยมีเอ็นจีโอและภาคประชาชนร่วม โดยพยายามผลักดันเรื่องการมีส่วนร่วมโดยตรงของประชาชน เช่น การต่อสู้กับโครงการที่กระทบกับคนในพื้นที่ มันก่อตัวมาจากเรื่องพวกนี้ด้วยจนกลายเป็นวาทกรรมใหญ่ว่า แนวทางแบบพันธมิตรฯ นี่แหละ คือการเข้าสู่ประชาธิปไตยที่เหนือกว่าประชาธิปไตยมาจากการเลือกตั้ง 4 นาทีในคูหาเลือกตั้ง
เราแสวงหาความใหม่โดยที่เครื่องมือเก่ายังไม่สามารถใช้งานได้เต็มที่ เพราะมีกลุ่มคนที่จะเตะสกัดถ่วงมันไว้ เราจึงต้องทำลายวาทกรรมว่าผู้แทนเลวเสียก่อน พูดง่ายๆ ทุกวันนี้ ทำไมผู้แทนบางคนแม่งเลว โอเค ที่เลวโดยสันดานมีอยู่ แต่บางคนเสียคน เพราะการประจบสอพลอของบริวาร ผู้แทนแต่ละคนมีที่ปรึกษา แต่ทันทีที่สังคมสร้างวาทกรรมให้ว่าผู้แทนเลว มันก็จะไม่มีปัญญาชนเข้าไปทำงานให้ผู้แทนไปโดยปริยาย ผู้แทนบางคนอาจจะแย่ แต่มันกลายเป็น Symbol (สัญลักษณ์) ของท้องถิ่น ซึ่งไม่ได้หมายความว่ามันจะทำงานไม่ได้ รับใช้ประชาชนไม่ได้ ถ้าเอาความเป็นขวัญใจของประชาชนมารวมกับคณะทำงานซึ่งมีปัญญาชนกลุ่มหนึ่งอุทิศตัวเข้าไปรับใช้ไอ้คนนี้ ผู้แทนทุกคนจะยกระดับตามวันและเวลา ยิ่งประชาธิปไตยในเมืองไทยเบ่งบานเท่าไหร่ ผู้แทนที่ดีก็จะมีมากขึ้น ส่วนไอ้ที่เลวก็จะดี ไอ้ที่ล้าหลังก็จะอัพเกรด
 
ทัศนคติต่อนักการเมืองเป็นปมสำคัญ ในช่วงพันธมิตรฯ ที่ทำการตรวจสอบทักษิณในช่วงแรก ก่อนไปสู่การเรียกร้องมาตรา 7 คนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่า นักการเมืองเลว และยิ่งกว่านั้นคือประชาชนกำลังคุมนักการเมืองไม่ได้ เพราะทักษิณมีอำนาจมาก ขณะที่ระบบตรวจสอบก็มีช่องโหว่มาก ทำไมคุณจึงเชื่อว่า ประชาชนคุมนักการเมืองได้ และเชื่อว่านักการเมืองพัฒนาได้
ถ้าคุณพูดถึงพรรคไทยรักไทย พวกเราติดกับอคติอยู่นะ นโยบายของไทยรักไทย ทำให้คนกลุ่มเล็กเท่านั้นที่เสียผลประโยชน์ แม้แต่เราเองก็ได้ประโยชน์ แต่เราไปมีอารมณ์ร่วมกับคนเสียผลประโยชน์ โดยผ่านคอนเนคชั่นของข้อมูลข่าวสาร ผ่านความสัมพันธ์ส่วนตัว ประโยชน์ของพวกคุณคืออะไร พวกคุณคือคนหนุ่มคนสาวที่เพิ่งเริ่มต้นทำงาน หรือเพื่อนนักเขียนหลายคน ทุกวันนี้ไม่ได้ทำงานประจำที่ไหน เป็นนักเขียนอิสระ นโยบายไทยรักไทยที่สอดคล้องกับชีวิตพวกคุณที่กำลังก่อร่างสร้างตัว คือ บ้านเอื้ออาทร และ 30 บาทรักษาทุกโรคแต่บ้านเอื้ออาทรกลับถูกทำให้กลายเป็นสิ่งเหินห่างกับพวกคุณ ถูกทำให้พวกคุณไม่ใช่กลุ่มลูกค้า ทั้งที่บ้านเอื้ออาทรคือพวกคุณเลย แต่คำว่าเอื้ออาทรมันดูเป็นลูกทุ่งไง มันล้าสมัย
 
ตรงนี้ผมมองแล้ว ที่สุดหลายอย่างเป็นเรื่องการขัดผลประโยชน์ ผมอยากพูดถึงวิธีมองของมาร์กซิสม์ในเรื่องสังคม คู่ขัดแย้งหลัก คู่ขัดแย้งรอง ถ้าพูดถึง 14 ตุลา 6 ตุลา ตอนนั้นยังไม่ใช่ลักษณะความขัดแย้ง ถึงแม้ว่าจะมีคนทุกข์ยาก ลำบากยากจนจริง แต่กระแสชาตินิยมอะไรมันยังแรงมาก เพราะฉะนั้นการรู้ตื่น รู้เบิกบานของประชาชนนั้นมีความคลุมเครือ แล้วเขาก็ต่อไม่ติดกับ พคท. (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) หรือว่าทฤษฎีฝ่ายก้าวหน้าที่นำโดยกลุ่มปัญญาชนนักศึกษา แล้วกลุ่มนั้นก็เป็นกลุ่มคนเล็กๆ ซึ่งมาก่อนกาล คำว่า ‘มาก่อนกาล’ ที่ผ่านมา เราใช้กับผู้อภิวัตน์อย่างนายปรีดี (ปรีดี พนมยงค์) หรือว่าเสรีไทย หรือว่ากลุ่มในเครือข่ายนายปรีดีที่ก้าวหน้า หรือแม้แต่ ‘บุษบา ท่าเรือจ้าง’ หรือ ‘นรินทร์ กลึง’ คนขวางโลก  ตอนนั้นอัตวิสัยของปัญญาชนสุกงอม แต่ภาวะวิสัยของประชาชนยังไม่สุกงอม ที่สุด พคท.ก็ล่มสลายไป กลุ่มความคิดก้าวหน้าก็ล่มสลายไป แล้วที่สุดก็สวิงกลับมาเป็นกลุ่มอนุรักษนิยมในปีปัจจุบัน ขณะที่ทุกวันนี้ภาวะวิสัยมันสุกงอม แต่เรากลับไม่มีกลุ่มปัญญาชนที่จะลงไปรับใช้เขาในปริมาณที่พอสมควรที่จะทัดทานความล้าหลังของนักการเมืองที่กุมทรัพยากรและอำนาจบางอย่างไว้
 
 
“สังคมไทยเป็นสังคมไร้สติที่คุณไม่ให้โอกาสกับกลุ่มความคิดที่ก้าวหน้า
ทันทีที่คุณเห็นว่า สังคมกำลังเปลี่ยนไปสู่ทิศทางที่แปลกใหม่
คุณหากระบวนการแทรกแซงและล้มทันที
คุณเอาสิ่งที่มีมาไม่ถึงสิบปี
ไปเทียบกับพัฒนาการหลายอย่างๆ ของต่างประเทศไม่ได้”
 
การเคลื่อนไหวเพื่อตรวจสอบรัฐบาลทักษิณ มันเจือปนอคติมากเกินไปหรือ
ผมพยายามบอกว่า สมัย 14 ตุลา กับ 6 ตุลา มันยังไม่มีความชัดเจนในคู่ขัดแย้งหลัก พูดตรงๆ มันยังเป็นคู่ขัดแย้งรองด้วยซ้ำ ผมมองว่าปัญญาชนทะเลาะกับอำนาจรัฐแค่นั้น ปัญญาชนคิดแทนชาวบ้าน ว่าชาวบ้านเสียเปรียบ ยากจน แต่ยังไม่สามารถปลุกเร้าให้เขาตื่นฮือได้ทั้งประเทศเหมือนกับปัจจุบัน เพราะฉะนั้น มันเหมือนกับปัญญาชนทะเลาะกับอำนาจรัฐเท่านั้น
 
แต่ถึงรัฐบาลทักษิณ มันมี 2 ลักษณะ คือคู่ขัดแย้งหลักมันออกมาเคลื่อนไหวการเมือง ตามแรงผลักดันของกระเป๋าตังค์ ตามสุขภาพของลูกเมีย ตามข้าวที่หายไป ตามเสาเรือนที่แม่งโยกโย้เย้แล้วไม่สามารถหาเงินมาซ่อมบำรุงได้ กับคู่ความขัดแย้งรอง คือการขัดแย้งระหว่างชนชั้นสูงกับทักษิณ ซึ่งต้องยอมรับว่าทักษิณก็คือชนชั้นสูงเช่นกัน เขาพัฒนาตัวเองจากพ่อค้า ที่สุดมาได้อำนาจรัฐ ที่สุดมาพัฒนารสนิยมจริตอะไรหลายอย่าง ทักษิณขัดแย้งกับชนชั้นสูงบางคน ที่สุดก็เกิดการปะทะกัน แต่พอถึงจุดหนึ่งทักษิณเห็นภาวะวิสัยที่สุกงอมของประชาชน หรือว่า ทักษิณเอง หรือว่า ทีมงานของไทยรักไทยเองนั่นแหละที่เอื้อให้เกิดภาวะสุกงอมผ่านนโยบายประชานิยม  
 
สิ่งหนึ่งที่เราต้องมาไตร่ตรองกันคือ เวียดนาม กว่าอำนาจจะเป็นของประชาชน ไม่ว่าจะปลดปล่อยจากฝรั่งเศส ไม่ว่าจะปลดปล่อยจากรัฐบาลอนุรักษนิยม ไม่ว่าจะปลดปล่อยออกจากกลุ่มอภิชน ทั้งหลายทั้งปวงกินเวลาเกือบร้อยปี แต่พัฒนาการเมืองไทยสมัยใหม่ที่นำโดยไทยรักไทย มันเกิดขึ้นแค่ 6-7 ปี สังคมไทยเป็นสังคมไร้สติที่คุณไม่ให้โอกาสกับกลุ่มความคิดที่ก้าวหน้า ทันทีที่คุณเห็นว่า สังคมกำลังเปลี่ยนไปสู่ทิศทางที่แปลกใหม่ คุณหากระบวนการแทรกแซงและล้มทันที คุณเอาสิ่งที่ไม่มีมาถึงสิบปีไปเทียบกับพัฒนาการหลายอย่างๆ ของนานาชาติของต่างประเทศไม่ได้
 
สิ่งที่ผมพูดก็คือคู่ขัดแย้งรอง นั่นคือการทะเลาะกันของอภิชน ที่สุดอภิชนฝ่ายหนึ่งก็ไปอยู่กับประชาชน หรือการสะกิดที่ผมพูดถึง ที่สุดชนชั้นนำที่แพ้พ่ายมาในสมรภูมิหอคอย แล้วลงมาอยู่กับมหาประชาชน ลงไปสะกิดมหาประชาชนที่ห่างอยู่ให้สุกงอมไปเลย
 
บางครั้งความสำคัญของการสะกิดก็ไม่ได้มากมายมหาศาล เพียงแต่เขาถูกพรากสิ่งที่เขาเห็นว่าเป็นโลกใหม่ไปจากเขา ก็คือประชานิยม อยู่ๆ คุณกำลังจะมีชีวิตใหม่ มีอะไรใหม่ๆ หลายอย่าง แต่พอรัฐประหาร สิ่งนั้นหายไปจากคุณ นี่คือการที่ทุกคนต่อสู้มาจากกระเป๋าของตัวเอง อย่างเช่นที่อุดรธานี มีคนที่ส่งลูกไปเรียนเยอรมัน ไปเรียนฝรั่งเศส รัฐประหารเสร็จระงับทุน มันคือการเสียผลประโยชน์ส่วนตัว
 
นี่แหละการต่อสู้ของ นปช.ที่ออกมาต่อสู้ ต่อต้านรัฐประหาร 2549 ส่วนหนึ่งหรือส่วนใหญ่เลยมาจากการเสียผลประโยชน์ส่วนตัว เงินกองทุนหมู่บ้าน ถึงแม้จะมาซื้อโทรศัพท์ ซื้อมอเตอร์ไซด์ก็แล้วแต่ ประเด็นคือ ปีก่อนกูได้ แต่พอรัฐประหารเสร็จกูไม่ได้
 
 
 
 
 
ติดตามตอน 2 ว่าด้วย SMEs OTOP และการเหวี่ยงกลับของซ้ายเก่า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net