นักวิชาการนิเทศ จุฬาฯ ชี้สื่อยุคใหม่เจอท้าทาย เทคโนโลยีเปลี่ยน-คนอ่านตรวจสอบ

 
ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศและผู้อำนวยการศูนย์ศึกษานโยบายสื่อคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในหัวข้อ “วารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนในทศวรรษหน้า: ปัญหาข้อท้าทายและพันธกิจต่อสังคมในงานสัมมนาเรื่องโครงการจินตนาการปฏิรูปสื่อ2010-2020 ทิศทางสื่อใ นทศวรรษหน้า: แนวโน้มข้อจำกัดและจินตนาการซึ่งจัดโดยคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) เครือข่ายพลเมืองเน็ต มูลนิธิหนังไทย ร่วมกับศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ว่า สองประเด็นหลักทางสังคมในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 ซึ่งส่งผลต่อวารสารศาสตร์และอุตสาหกรรมสื่อทั่วโลก คือ เทคโนโลยีดิจิตอลหรือสื่อใหม่ และพหุนิยมทางวัฒนธรรม  
 
ผศ.ดร.พิรงรอง กล่าวว่า จากมุมมองของผู้ผลิตเทคโนโลยีสื่อใหม่ทำให้เกิดองค์กรสื่อแบบหลอมรวมในแง่การทำงานบนฐานของเนื้อหา นักข่าวหนึ่งคนต้องทำได้หลายอย่าง มองในมุมบวกคือเป็นการเสริมแรงกัน เช่น ASTVผู้จัดการ ที่มีทั้งหนังสือพิมพ์ เว็บไซต์ ที่รายงานทั้งวิดีโอคลิป และข่าวที่เป็นตัวอักษร โดยลงทุนเพียงต้นทุนการผลิตครั้งแรก จากนั้นก็นำมารีไซเคิลได้ อย่างไรก็ตาม การมีองค์กรสื่อแบบหลอมรวมก็อาจเป็นการผูกขาดทางความคิดได้
 
หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ กล่าวต่อว่า สิ่งที่น่ากลัวสำหรับสื่อเก่าตอนนี้เกิดขึ้นแล้วในสหรัฐฯ โดยหนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นฐานสำคัญของวารสารศาสตร์ ประสบปัญหาคนอ่านน้อย ขณะที่ต้นทุนสูง ผู้บริหารของมีเดียนิวส์ เจ้าของหนังสือพิมพ์กว่า 50 แห่งในอเมริกา ได้บอกให้จ้างงานบริษัทนอกประเทศ อาทิ ให้คนในอินเดียเป็นบรรณาธิกร หรือวางเลย์เอาท์ และปัจจุบันมีแนวโน้มว่าจะมากขึ้น โดยขณะนี้มีเพียงเรื่องของการก็อปปี้เท่านั้น ที่ยังไม่จ้างให้บริษัทข้างนอกทำ
 
สำหรับผู้ผลิตเนื้อหาในแง่ของปัจเจก ผศ.ดร.พิรงรอง กล่าวว่า เมื่อปี 2000 มีงานวิจัยว่า ความเป็นปัจเจกนิยมของนักข่าวแต่ละคน ซึ่งมักไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลงจะเป็นปัจจัยขัดขวางการเกิดขึ้นของสื่อมัลติมีเดีย แต่ 9 ปีผ่านมา พบว่า นักข่าวรู้จักปรับตัวมากกว่ายึดโยงกับความเป็นปัจเจกของตัวเอง โดยได้บูรณาการตัวเองเข้ากับระบบ เป็นนักวารสารแบบหลอมรวม คือจะไม่เขียนเรื่องหลายๆ รูปแบบ โดยยกตัวอย่างนักข่าวสำนักข่าวเนชั่นว่า เมื่อก่อน นักข่าวคนเดียวต้องเขียนข่าวได้ทั้งภาษาไทยในภาษาแบบ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ภาษาแบบคมชัดลึก ภาษาอังกฤษ และเขียนให้สั้นสำหรับข่าวออนไลน์ แต่ปัจจุบัน นักข่าวที่เก่งจริงจะต้องเขียนงานเพียงชิ้นเดียว แล้วใช้ได้ทุกสื่อ ทำให้ภาระหนักขึ้น ซึ่งก็เป็นความท้าทายของนักข่าวในองค์กรข้ามสื่อ
 
ในแง่ความน่าเชื่อถือ ผศ.ดร.พิรงรอง กล่าวว่า ปัจจุบัน ข้อมูลต่างๆ เข้าถึงได้โดยเสรีกว่าในอดีต ทำให้มีนักข่าวบางคนฆ่าตัวตายทางวิชาชีพโดยขโมยผลงานคนอื่นมาเป็นของตนเอง และเกิดปรากฎการณ์นักข่าวอาร์มแชร์ โดยนักข่าวที่อายุงานนาน มีแหล่งข่าวของตัวเองก็จะเช็คข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์สัมภาษณ์ ซึ่งก็จะเจอคู่แข่งอย่างบล็อกเกอร์ต่างๆ ซึ่งอยู่ในพื้นที่จริง ไม่ใช่นักวิชาชีพ แต่เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้ ซึ่งต้องรอดูต่อไปว่าใครจะชนะ
 
ผศ.ดร.พิรงรอง กล่าวถึงความท้าทายในด้านอิสรภาพกับการทำหน้าที่ตรวจสอบสังคมของสื่อว่า เมื่อก่อน สื่อได้รับหน้าที่หมาเฝ้าบ้าน (watchdog) เพราะสื่อเข้าถึงข้อมูลและมีอิสรภาพ ขณะที่ปัจจุบัน ข้อมูลเข้าถึงได้ง่าย และเกิดการตรวจสอบสื่อกลับ โดยขณะที่เกิดการเปรียบเทียบว่า บล็อกเกอร์ไม่มีความเป็นมืออาชีพเหมือนนักข่าว ที่ต้องตรวจสอบข่าวก่อนและมีจรรยาบรรณวิชาชีพกำกับ
 
เธอยกตัวอย่างกรณีไอเอ็นเอ็นรายงานข่าวคราวความเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งต่อมามติชนตรวจสอบพบว่าไม่ใช่ข่าวจริง อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวคิดว่า เนื่องจากไอเอ็นเอ็น นำเสนอข่าวสารผ่านข้อความสั้น (เอสเอ็มเอส) และทางออนไลน์ ซึ่งต้องอาศัยความรวดเร็ว จึงไม่ได้ตรวจสอบอย่างละเอียดพอ หรือกรณี “นักสืบพันทิป” หรือผู้ใช้งานเว็บบอร์ดของเว็บไซต์พันทิปดอทคอม ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเรื่องของนาธาน โอมาน หลังเจ้าตัวให้สัมภาษณ์สื่อเก่าว่าได้ไปแสดงภาพยนตร์เรื่อง The Prince of Red Shoes ที่ต่างประเทศ สองตัวอย่างนี้ แสดงให้เห็นว่า ตำแหน่ง watchdog ของโลกไซเบอร์กำลังเลื่อยขาบทบาทของสื่อเก่า แต่ก็ยังมีความท้าทายเรื่องความครบถ้วนของข้อมูล
 
ผศ.ดร.พิรงรอง กล่าวถึงข้อท้าทายที่เกิดจากสื่อใหม่ ไม่ว่าจะเป็นบล็อก ข้อความสั้น หรือทวิตเตอร์ว่า จากเดิมที่การสื่อสารเป็นแบบทางเดียวและจากบนลงล่าง กลายเป็นการสื่อสารที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้ และเชื่อมโยงกันในลักษณะเครือข่าย อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.พิรงรองตั้งคำถามว่า ข้อมูลที่มากขึ้น ทำให้เราฉลาดขึ้นจริงหรือ การมีเสรีภาพที่ไม่จำกัดนั้น ทำให้การเปิดรับข้อมูลเฉพาะตัวมากขึ้นหรือไม่ โดยยกตัวอย่างการเปิดหนังสือพิมพ์ แม้จะอ่านข่าวอื่น แต่ก็มีโอกาสได้อ่านหน้าการเมือง ขณะที่การอ่านจากสื่อใหม่จะเป็นการอ่านตามประเด็นย่อย จุดยืนและความสนใจของผู้ใช้
 
ในแง่ของการกำหนดวาระข่าวสารจากเดิมที่สื่อเก่าอย่างสื่อของรัฐหรือสื่อเชิงพาณิชย์เคยเป็นผู้กำหนดข่าวสารนั้นผศ.ดร.พิรงรองกล่าวว่าปัจจุบันบล็อกของนักข่าวพลเมืองหรือผู้ใช้ผู้อ่านสื่อที่นำเสนอในเรื่องที่ตัวเองเชี่ยวชาญนั้นก็มีอิทธิพลมากขึ้นหรือถูกสื่อหลักนำไปขยายความต่อเช่นบล็อกเกอร์ Pen ของโอเคเนชั่นที่เสนอเรื่องผังเมืองเชียงใหม่หรือกรณีทวิตเตอร์ของ @thaksinlive ที่ทวีตข้อความว่าจะลงทุนเหมืองเพชรถูกสื่อต่างๆหยิบไปเล่นข่าวและเกิดการขยายกลุ่มผู้รับในเวลาต่อมา
 
ทั้งนี้ ผศ.ดร.พิรงรอง ตั้งคำถามว่า เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนไป แต่เนื้อหายังเป็นสาระหลักหรือไม่ หรือสำคัญที่ตัวสื่อ นอกจากนี้ มีข้อสังเกตว่า สังคมที่ค่อนข้างรวดเร็ว แต่คนจำนวนมากก็ยังดูรายการย่อยข่าว-สรุปข่าวอยู่ ทำให้มีการตั้งคำถามว่า การทำเช่นนี้ทำให้วารสารศาสตร์ไม่ประเทืองปัญญามากขึ้นหรือไม่ นอกจากนี้ในแง่ต้นทุนแล้ว รายการประเภทนี้แทบไม่มีค่าใช้จ่ายอะไร ยกเว้นค่าตัวคนจัดรายการ เพราะอาศัยเนื้อหาข่าวจากหนังสือพิมพ์ สำหรับหนังสือพิมพ์แทบลอยด์ ประเภทเร้าอารมณ์ แนวปาปารัซซี่เองก็มีคำถามว่า การมีสื่อใหม่จะทำให้หนังสือเหล่านี้ขายดีน้อยลงหรือไม่ ขณะที่หนังสือพิมพ์คุณภาพหลายฉบับต้องลดขนาดลง และแม้หนังสือพิมพ์เอง มีคุณค่าของการพกพาได้และมีเนื้อหาแบบมืออาชีพเป็นโอกาส แต่ก็ต้องลงทุนค่ากระดาษและค่าจ้างมืออาชีพ  
 
ผศ.ดร.พิรงรองกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามการเกิดขึ้นของสื่อใหม่ก็ทำให้การเคลื่อนย้ายอำนาจในการเข้าถึงและให้คำนิยามข่าวต่างประเทศโดยมีนักวิชาการระดับโลกหลายคนบอกว่าต้องให้นิยามสิ่งที่เรียกว่าจักรววรรดินิยมทางสื่อกันใหม่จากเดิมที่มีศูนย์กลางอยู่ที่“big four” ได้แก่สำนักข่าวเอพีเอเอฟพีรอยเตอร์สและเอพีไอเดี๋ยวนี้คนไม่สนใจแล้วเพราะค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงข่าวบนเว็บถูกกว่าค่าสมัครสมาชิกรับบริการข่าวของสำนักข่าวตะวันตกจนเกิดเป็นกระแสbye bye “big four”! hello “big ten”! ซึ่งเป็นสื่อครบวงจรขนาดใหญ่ซึ่งเป็นเจ้าของสื่อทั่วโลกแทนอาทิAOL time warner
 
หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศกล่าวว่า นอกจากนี้ ตัวแทนบรรณาธิการต่างประเทศของ Straits Times จากสิงคโปร์เคยบอกว่าที่ผ่านมาสื่อตะวันตกพูดถึงประเทศไทยเกี่ยวกับเรื่องซ่องการค้าประเวณีและรัฐประหาร อย่างไรก็ตาม มีนักวิชาการระบุว่าอินเทอร์เน็ตทำให้เราสามารถเข้าไปดูในแต่ละประเทศว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างแล้วค่อยตัดสินใจแต่ละข่าวด้วยตัวเองมากกว่าที่จะให้ข่าวถูกตัดสินโดยสำนักข่าวตะวันตก
 
สำหรับแนวโน้มของผู้ใช้ ผศ.ดร.พิรงรองกล่าวว่า เราไม่ใช้คำว่าaudience หรือผู้ชมอีกแล้วเำพราะผู้ใช้จะเลือกว่าจะใช้หรือเข้าไปดูข้อมูลเพื่ออะไร นอกจากนี้ ทักษะต่างๆ ยังเปลี่ยนไปด้วย โดยจากการวิจัยในยุครับสื่อทีวี พบว่าคนเราอ่านน้อยลงแต่ก็พบว่าคนอ่านออนไลน์ได้ยาวขึ้นซึ่งตั้งข้อสังเกตว่า อาจเพราะถูกใจกับเนื้อหาหรือเลือกแล้วว่าจะอ่านอะไร รวมทั้งผู้ใช้ยังรับรู้ virtual สูงขึ้น ซึ่งอาจหมายถึงนักข่าวอาจต้องเสนอด้วยภาพมากขึ้นกว่าตัวอักษรด้วย ทั้งนี้ พบด้วยว่า ปัจจุบัน ผู้ใช้ไม่ได้ทำอะไรเพียงอย่างเดียว แต่ทำหลายอย่างในเวลาเดียวกัน ทั้งบริโภคและผลิตข้อมูล เช่น ดูทีวี คุยโทรศัพท์ และหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต คือเป็นmulti-tasking
 
ผศ.ดร.พิรงรอง สรุปว่า ในอนาคต สื่อเองต้องปฏิรูปมุมมองและการทำงานของตัวเอง ว่าจะเพิ่มคุณค่าให้ตัวเองได้อย่างไีร ขณะที่ผู้รับสารได้เปลี่ยนไปแล้ว คงต้องมองคนใช้สื่อเป็นพลเมืองที่ต้องอยู่ร่วมมากกว่าคนที่จะขายของโดยส่วนตัวคิดว่า สื่อน่าจะมีศักยภาพสร้างวัฒนธรรมใหม่ที่จรรโลงคุณค่าเชิงบวกได้เช่น การเห็นด้วยที่จะไม่เห็นด้วย(agree to disagree) ต้องยอมรับความแตกต่างได้และที่สำคัญคือต้องมีความรับผิดรับชอบโปร่งใสตรวจสอบได้ในแง่เทคโนโลยีก็คงต้องนำมาบูรณาการอย่างรู้จักใช้และเป็นนายของเทคโนโลยีเช่น RSS feed ที่หนังสือพิมพ์หลายแห่งอาจจะรู้สึกเป็นปฏิปักษ์เพราะรู้สึกว่าถูกเอาเนื้อหาไปใช้สื่ออาจจะต้องสร้างโมเดลทางธุรกิจขึ้นมา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท