เครือข่ายวิทยุชุมชนเดินขบวนรณรงค์-จดทะเบียนขอใบอนุญาตชั่วคราว ที่สำนักงาน กทช.

เครือข่ายวิทยุชุมชนทั่วประเทศรวมตัวประกาศเจตนารมณ์ รักษาสิทธิขึ้นทะเบียนขอใบอนุญาตชั่วคราว 1 ปี ตามประกาศ กทช. ด้านเลขาธิการ กทช.ระบุ เร่งจัดประเภทและออกใบอนุญาตเฉพาะวิทยุชุมชน ระหว่างรอ กสทช. ยังเหลือวิทยุสงฆ์ที่ยังไม่มาขึ้นทะเบียน

10 ส.ค.52 ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เครือข่ายวิทยุชุมชนจากพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศประมาณ 110 สถานี ในนามสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ (สวชช.) นำโดยประชาชนจากพื้นที่ประจวบคีรีขันธ์และกาญจนบุรี ได้เดินขบวนรณรงค์เรื่องวิทยุชุมชน มายังสำนักงาน และประกาศเจตนารมณ์สื่อภาคประชาชน (อ่านรายละเอียดในล้อมกรอบ) พร้อมทั้งยื่นหนังสือต่อประธาน กทช. เลขาธิการ กทช. ก่อนจะทยอยเข้าลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ประกอบกิจการวิทยุชุมชน หลังจากอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ภายใต้ กทช. ได้ประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชนชั่วคราว ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 24 ก.ค.52 มีผลบังคับใช้เมื่อ 25 ก.ค. โดยกำหนดให้วิทยุชุมชนต่างๆ เข้าแจ้งความประสงค์เพื่อขอใบอนุญาตชั่วคราว 1 ปี ภายใน 30 วัน และหลังจากนั้นคณะอนุกรรมการฯ จะพิจารณาแยกประเภทและออกใบอนุญาตให้วิทยุชุมชนต่างๆ ภายใน 300 วัน

นายสำราญ วัดอักษร ตัวแทนจากวิทยุชุมชนคนบางสะพาน FM 93.75 เมกะเฮิร์ต กล่าวว่า ประชาชนต้องการรวมตัวกันเพื่อมาแจ้งความประสงค์และขอใบอนุญาตกับกทช. และหวังว่า กทช.จะให้ใบอนุญาต ส่งเสริมความเข้มแข็งของวิทยุชุมชนที่ไม่มีโฆษณาซึ่งอยู่ประมาณ 150 แห่งทั่วประเทศอย่างแท้จริง
 
เมื่อ ถามถึงนโยบายจัดระเบียบวิทยุชุมชนที่เน้นวาระทางการเมือง สำราญระบุว่า วิทยุชุมชนที่จะเน้นประเด็นทางการเมือง ไม่ว่าสีอะไรก็มีสิทธิจะสื่อสารเช่นกัน แต่ต้องเป็นการสื่อสารที่สร้างความรู้ความเข้าใจในระบบการเมืองกับประชาชน และไม่ควรเป็นการปลุกระดมผู้คนให้กระทำการรุนแรงต่างๆ
 
สุ รนันท์ วงศ์วิทยากำจร เลขาธิการ กทช. กล่าวว่า อนุกรรมการฯ จะเร่งดำเนินการให้ใบอนุญาตอย่างโปร่งใสและเป็นธรรมสำหรับผู้มาลงทะเบียน แจ้งความประสงค์ประกอบการวิทยุชุมชน ซึ่งตามกฎหมายระบุให้อนุกรรมการฯ ออกใบอนุญาตได้แต่วิทยุชุมชนเท่านั้น และวิทยุชุมชนส่วนใหญ่ที่ยังไม่มาจดทะเบียนคือ วิทยุสงฆ์ ซึ่งมีสถานีจำนวนมากและคงยังมีเวลาจนถึงวันที่ 25 ส. ค.นี้ สำหรับปรเด็นสำคัญสำหรับคณะอนุกรรมการฯ คือการพยายามจัดสรรคลื่นความถี่ซึ่งมีอยู่อย่างจำกัดให้วิทยุทุกรูปแบบ สามารถอยู่ด้วยกันได้โดยไม่รบกวนกันในระหว่างที่เรายังไม่มีเทคโนโลยีในการ แบ่งสรรคลื่นความถี่ให้ได้ปริมาณมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีการแก้ไขพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543  หากการแก้ไขแล้วเสร็จก่อนการพิจารณาออกใบอนุญาต ซึ่งกำหนดไว้ 300 วัน ก็สามารถสรรหากรรมการ กทช. ชุดใหม่ และให้ตัวจริงดำเนินการต่อได้เลย เพราะชุดปัจจุบันเป็นเพียงชุดชั่วคราวเท่านั้น
 
นาย สุเทพ วิไลเลิศ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ไข พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ทำให้ยังไม่มีความชัดเจนในการจัดสรรคลื่นวิทยุประเภทต่างๆ โดยเฉพาะที่เป็นสถานีวิทยุธุรกิจมีโฆษณา แต่ก็ใช้ชื่อว่าวิทยุชุมชนเช่นเดียวกัน ภาคประชาชนที่ทำวิทยุชุมชนมานานจึงต้องรวมตัวกันเพื่อแสดงจุดยืนของวิทยุชุ มน ชิงบทบาททางสังคมและช่วงชิงวาทกรรม “วิทยุชุมชน” รวมถึงเสนอแนวทางในการควบคุมดูแลกันเอง ระหว่างรอการสรรหาร กทช. ตัวจริงที่จะเกิดขึ้นหลังจากแก้ไข พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ เสร็จเรียบร้อย
 
ทั้งนี้ มาตรา 47 ในรัฐธรรมนูญ 2550 กำหนด ให้องค์กรอิสระสำหรับการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม วิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ จะต้องมีเพียงองค์กรเดียว ทำให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ที่ได้มีการจัดตั้งขึ้นมาดูแลกิจการโทรคมนาคมแล้วกว่า 3 ปี จะต้องถูกควบรวมเข้ากับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) ที่อยู่ระหว่างดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการอีกครั้ง ภายใต้ชื่อ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
 
ก่อน หน้านี้ เมื่อวันที่ นายวิโรจน์ พูลสุข ประธานสภาองค์กรวิทยุโทรทัศน์ท้องถิ่นแห่งประเทศไทย (สอทช.) เปิดเผยว่า สอทช.ไม่เห็นด้วยกับนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ที่เตรียมเปิดให้ประมูลคลื่นวิทยุภาคประชาชน ทั้งที่ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาล แต่ควรให้ กทช. ดำเนินการเอง นอกจากนั้น สอทช.ไม่เห็นด้วยที่กทช.ใช้หลักเกณฑ์ของวิทยุชุมชนเข้ามาควบคุมขึ้นทะเบียน จัดระเบียบวิทยุธุรกิจและวิทยุสาธารณะ ถือเป็นการกระทำที่เกินขอบเขตอำนาจหน้าที่ของกทช. ทำให้เกิดความสับสน
 
ทั้ง นี้ กระแสการเปิดให้วิทยุชุมชนขึ้นทะเบียนและขอใบอนุญาตรอบล่าสุดนี้ เริ่มขึ้นเมื่อนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีประกาศจะจัดระเบียบวิทยุชุมชนที่เป็นเครื่อง มือทางการเมืองปลุกระดมมวลชน และได้เร่งรัดไปยัง กทช.ให้ออกกติกาในการจัดระบบให้ชัดเจน และย้ำว่าหากใครไม่ขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องจะต้องถูกจับกุม ทั้งนี้ วิทยุชุมชนที่จดทะเบียนจะต้องทำตามประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตประกอบ กิจการบริการชุมชนชั่วคราว ซึ่งจะต้องไม่มีเนื้อหาล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหา กษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีการกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจาร หรือมีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน อย่างร้ายแรง 
 

 
คำประกาศเจตนารมณ์สื่อภาคประชาชน
 
ใน นามสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ (สวชช.) ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดตั้งโดยภาคประชาชนจากทุกภูมิภาคของประเทศที่ได้รวมตัว และติดตามผลักดันการปฏิรูปสื่อ ภายหลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 หรือรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยมีเจตนารมณ์สำคัญในอันที่จะรับรองสิทธิเสรีภาพการสื่อสารของประชาชน ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ถึงแม้นจะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในปี 2550 ก็มีอาจปฏิเสธหลักการและเจตจำนงค์ดังกล่าวของประชาชนได้   
 
ตลอด ระยะเวลากว่าสิบปีที่ภาคประชาชนได้พยายามเข้าถึงช่องทางและใช้สิทธิในการ สื่อสารการจัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงขึ้นเพื่อสื่อสารถึงกันในระดับชุมชน อันเป็นประโยชน์แก่คนทุกกลุ่มในท้องถิ่นโดยตรง แต่กลับต้องเผชิญกับการขัดขวาง ยื้อยุด และแทรกแซง ทั้งจากอำนาจรัฐและอำนาจทุนในหลายมิติ แต่กระนั้นก็ไม่อาจบิดเบือนเจตนารมณ์ของภาคประชาชน ที่แสวงหาสิทธิ ความเป็นธรรม และความเป็นประชาธิปไตยทางการสื่อสารได้  
 
ใน วาระที่ประชาชนจะได้รับการคุ้มครองสิทธิตามรัฐธรรมนูญ จากการยื่นขอรับใบอนุญาตวิทยุกระจายเสียงชุมชน ซึ่งจะทำให้เสียงของประชาชนทุกหนทุกแห่งในประเทศนี้ ไม่ถูกปิดกั้นโดยกฎหมาย สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ และเครือข่ายวิทยุชุมชนในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ จึงขอประกาศเจตนารมณ์ในการใช้สิทธิการสื่อสารของภาคประชาชนอีกครั้งหนึ่งว่า สื่อภาคประชาชน จะต้องเป็นของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน เพื่อประโยชน์สาธารณะ 
 
สหพันธ์ วิทยุชุมชนแห่งขาติ และเครือข่ายวิทยุชุมชนในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ จะยืนหยัดรักษาหลักการดังกล่าว ด้วยการติดตามตรวจสอบ ทั้งรัฐบาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ให้กระจายอำนาจการสื่อสารให้กับประชาชน และให้สิทธิในการกำกับดูแลตนเอง รวมถึงการสนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายการสื่อสารของ ชาติให้สมดังเจตนารมณ์การปฏิรูปสื่อที่ก่อตัวขึ้นจากประชาชน เพื่อประชาชนได้กำหนดอนาตตนเองสืบไป
 
 
ด้วยความเชื่อมันและศรัทธาในประชาธิปไตย
สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งาติ
10 สิงหาคม 2552
 
  

อ่านประกาศ กทช. ฉบับเต็ม http://www.ntc.or.th/uploadfiles/0724200962304126.104.pdf
 
ขอบเขตและเงื่อนไขของผู้ได้รับอนุญาต
 
(1) ผู้รับใบอนุญาตต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามข้อ 4 ตลอดระยะเวลาการประกอบกิจการบริการชุมชน (วิทยุกระจายเสียงชุมชน)
(2) ผู้รับใบอนุญาตต้องประกอบกิจการด้วยตนเอง
(3) ผู้รับใบอนุญาตต้องแบ่งเวลาให้ผู้ที่ยื่นขอรับใบอนุญาตรายอื่นดำเนินรายการ ตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
(4) ผู้ รับใบอนุญาตต้องไม่หารายได้จากการโฆษณา ซึ่งหมายถึง การดำเนินการโดยวิธีใดๆ ซึ่งมีเจตนาให้ผู้ฟังเกิดความต้องการบริโภคสินค้าหรือบริการนั้น ๆ
(5) ผู้ รับใบอนุญาตสามารถมีรายได้หรือได้รับการสนับสนุนด้วยวิธีการที่มิใช่การ โฆษณา เช่น การสนับสนุนการประกอบกิจการจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรอิสระ มูลนิธิ ภาคเอกชน กองทุนพัฒนากิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เพื่อประโยชน์สาธารณะ ตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เป็นต้น แต่จะต้องมิใช่การกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดที่มีลักษณะครอบงำการประกอบกิจการ ทั้งนี้ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
(6) ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีป้ายชื่อสถานีวิทยุกระจายเสียงชุมชน โดยจะต้องแสดงให้สาธารณชนเห็น ณ ที่ตั้งดำเนินการอย่างชัดเจน
(7) ผู้ รับใบอนุญาตต้องแต่งตั้งบุคคลเป็นผู้อำนวยการสถานีเพื่อควบคุมดูแลการออก อากาศ รับผิดชอบดูแลการจัดรายการ การดำเนินรายการ และการออกอากาศของสถานีรวมทั้งควบคุมดูแลผู้จัดรายการ/ผู้ประกาศ ให้ใช้ภาษาอย่างถูกต้อง ชัดเจน และใช้วาจาสุภาพในการออกอากาศ
(8) ผู้รับใบอนุญาตต้องกำกับให้มีการประกาศชื่อสถานีและเวลา ด้วยภาษาราชการทุกต้นชั่วโมงที่ดำเนินรายการ
(9) ใน กรณีที่มีภัยพิบัติหรือมีเหตุฉุกเฉิน หรือมีกรณีอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด ซึ่งมีความจำเป็นต้องออกอากาศแจ้งข่าวหรือเตือนภัยให้ประชาชนทราบ เมื่อรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องร้องขอ ให้ผู้รับใบอนุญาตดำเนินการตามที่ร้องขอ
(10) ผู้ รับใบอนุญาตมีหน้าที่ตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระ ที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรง เป็นประมุข หรือที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีการกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจาร หรือมีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน อย่างร้ายแรง
(11) ผู้ รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีการบันทึกรายการที่ได้ออกอากาศไปแล้วทุกรายการ โดยอาจบันทึกไว้ในเทปหรือวัสดุโทรทัศน์อย่างอื่น หรือด้วยวิธีการใด ๆ ที่สามารถถ่ายทอดกลับมาเป็นรายการนั้นได้ และเก็บรักษาไว้เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบได้ โดยระยะเวลาการจัดเก็บต้องไม่น้อยกว่าสามสิบวัน เว้นแต่คณะกรรมการจะกำหนดเป็นอย่างอื่น
(12) ผู้ รับใบอนุญาตต้องจัดทำรายงานสถานะทางการเงิน โดยแสดงรายรับและรายจ่าย ที่ถูกต้องตามความเป็นจริงเสนอต่อคณะกรรมการทุกหกเดือนหลังจากที่ได้รับใบ อนุญาต
(13) ผู้รับใบอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตโดยเคร่งครัด
(14) คณะกรรมการอาจกำหนดให้มีการเปลี่ยนแปลงความถี่ออกอากาศได้
 
 
  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท