Skip to main content
sharethis

วันศุกร์ที่ 7 สิงหาคม 2552 เวลา 10:00 น. ทางกลุ่มปกป้องที่ดินวะกัฟและขอทวงคืน อ.จะนะ จ.สงขลา ปฏิเสธคำวินิจฉัยของจุฬาราชมนตรีที่ระบุว่า  “ไม่มีหลักฐานชัดเจนที่แสดงว่าทางสาธารณะดังกล่าวได้มาโดยการวะกัฟของชาวมุสลิม” 

ทั้งนี้ กลุ่มปกป้องที่ดินวะกัฟและทวงคืน ได้ยกประเด็นที่ดินวะกัฟขึ้นต่อสู้โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะนะ จ. สงขลา โดยระบุว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินวะกัฟ ซึ่งถือเป็นที่ดินทีอุทิศให้กับพระเจ้า ไม่สามารถนำไปใช้เป็นประโยชน์แก่เอกชน
โดยทางกลุ่มฯ พยายามรณรงค์เรียกร้องให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา และสำนักจุฬาราชมนตรี รับผิดชอบด้วยการสร้างกระบวนการสอบสวนที่ถูกต้องตามหลักการศาสนา เพื่อวินิจฉัยว่า ว่าที่ดินในพื้นที่ ตำบลตลิ่งชัน และตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย บุกรุกเข้าล้อมรั้วปิดกั้น และครอบครองนั้น   เป็นที่ดินวะกัฟหรือไม่ แต่ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ จากผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ จนกระทั่งได้รับหนังสือวินิจฉัยจากจุฬาราชมนตรีว่า ไม่มีหลักฐานชัดเจนที่แสดงว่าทางสาธารณะดังกล่าวได้มาโดยการวะกัฟของชาวมุสลิม และ “...การครอบครองที่ดินของผู้วะกัฟที่ทางกลุ่มฯ ร้องเรียนไปนั้น เกิดขึ้นก่อนหน้าการออกโฉนดแผนที่ฉบับแรกของประเทศไทย จึงถือได้ว่าอาจเป็นการครอบครองที่ดินมือเปล่า ซึ่งยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวโดยสมบูรณ์ จึงไม่อาจนำมาวะกัฟได้…”   
ทางกลุ่มฯ จึงจัดทำหนังสือเพื่อปฏิเสธการวินิจฉัยและเผนแพร่ เพื่อทำความเข้าใจต่อครูสอนศาสนา ในโรงเรียนปอเนาะต่างๆ โดยวานนี้ เดินทางไปที่โรงเรียนจริยธรรมศึกษา (ปอเนาะโคกยาง) ม.8 ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา
โดยภายหลังจากแจกหนังสือฉบับดังกล่าวแล้ว ตัวแทนกลุ่มปกป้องฯ ยังได้ชี้แจงข้อเท็จจริงกับนายอภิสิทธิ์ สาเม๊าะ คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา ซึ่งนายอภิสิทธิ์ก็รับปากว่า จะประสานงานให้ตัวแทนคณะกรรมการอิสลามฯ ในพื้นที่อำเภอจะนะ มาร่วมตรวจสอบและรับฟังความคิดเห็นร่วมกันเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาตามหลักการศาสนาอิสลามต่อไป
 
รายละเอียดของหนังสือ
“จากการที่สำนักจุฬาราชมนตรี มีคำวินิจฉัยกรณี ที่ดินวะกัฟในบริเวณพื้นที่ก่อสร้างโครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ไทย-มาเลเซีย อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ส่งถึง บริษัท ทรานส์ ไทย-มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด ว่า “ไม่มีหลักฐานชัดเจนที่แสดงว่าทางสาธารณะดังกล่าวได้มาโดยการวะกัฟของชาวมุสลิม” ซึ่งผลการวินิจฉัยดังกล่าวสนับสนุนให้บริษัทฯ ใช้เป็นข้ออ้างในการบุกรุก ปิดกั้น และเข้าครอบครองที่ดินวะกัฟ สร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องมุสลิม มีผลกระทบกระเทือนต่อบทบัญญัติศาสนา เนื่องจากเป็นฐานให้รัฐบาลพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ใช้ออกกฎหมายพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพที่ดินวะกัฟดังกล่าว เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2549 อันเป็นการออกกฎหมายขัดแย้งต่อหลักการศาสนาเพื่อให้เป็นประโยชน์ และสร้างความชอบธรรมให้แก่ บริษัท ทรานส์ ไทย-มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด
ต่อมาเมื่อพี่น้องมุสลิมในพื้นที่กรณีปัญหาดังกล่าว ยืนยันหลักฐานอันชัดเจนว่าเส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางวะกัฟจริง โดยมีทายาท (วาเรส) ของผู้วะกัฟ พยานและประชาชนผู้ใช้ประโยชน์ออกมายืนยัน ชี้แจงข้อเท็จจริง และจัดเวทีต่อสาธารณชนหลายครั้ง จึงปรากฏชัดแจ้งแล้วว่าการวินิจฉัยดังกล่าวเป็นการวินิจฉัยที่คลาดเคลื่อน ไม่สอดคล้องกับหลักการทางศาสนา (ฮูกม) ทั้งกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง          และการวินิจฉัย ทางกลุ่มฯ จึงทำหนังสือร้องเรียนขอให้สำนักจุฬาราชมนตรีทบทวนคำวินิจฉัยใหม่ แล้วเริ่มต้นคลี่คลายปัญหาด้วยการแก้ไขคำวินิจฉัยเดิมของสำนักจุฬาราชมนตรี ให้ถูกต้องเป็นไปตามหลักฐาน พยาน และหลักการศาสนา ว่าเส้นทางดังกล่าวเป็นทางวะกัฟจริง
หลังจากทางกลุ่มฯ ยื่นหนังสือขอให้ทบทวนคำวินิจฉัยแล้วนั้น เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2551 นายพิเชษฐ์ สถิรชวาล เลขาธิการ ได้ออกมารับปากในนามคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ว่าจำเป็นต้องให้ผู้ทรงคุณวุฒิฯ ทำการทบทวนคำวินิจฉัย และจะทำหนังสือแจ้งกลับมาให้ผู้ร้องฯ ทราบผล ผู้ร้องฯ จึงเชื่อมั่นว่าการทบทวนคำวินิจฉัยของผู้ทรงคุณวุฒิฯ ครั้งนี้ต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง เป็นเสมือนฮากีมผู้เที่ยงธรรม สร้างกระบวนการสอบสวนอย่างมีสำนึกรับผิดชอบ   โดยเริ่มต้นกระบวนการสอบสวนเพื่อจะวินิจฉัยว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินวะกัฟหรือไม่ ด้วยกระบวนการสอบสวนหาข้อเท็จจริง ว่าเดิมที่ดินดังกล่าวเป็นของใคร? เจ้าของที่ดินได้วะกัฟจริงหรือไม่? และการวะกัฟนั้นถูกต้องตามหลักการศาสนาหรือไม่? เมื่อสรุปข้อเท็จจริงดังกล่าวจนได้ความชัดเจนเป็นที่ยุติแล้ว จึงนำบทบัญญัติตามหลักนิติศาสตร์อิสลามมาใช้ในการวินิจฉัย
หลังจากนั้นได้มีหนังสือจากคณะผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี ที่ สฬ.117.07.ศ/2551 ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2551 แจ้งกลับมา ซึ่งทางผู้ร้องฯ และผู้รู้ทางศาสนาจำนวนมาก พิจารณาในรายละเอียดแล้ว กลับเห็นว่าวิธีการให้เหตุผลในคำวินิจฉัยของผู้ทรงคุณวุฒิฯ มิได้เป็นไปตามหลักการดังกล่าวข้างต้นเลย
ในหนังสือจากประธานผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี ฉบับ ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2551 ให้เหตุผลที่ไม่ถูกต้อง ดังต่อไปนี้
1. “ทรัพย์ที่วะกัฟแล้วนั้นได้พ้นไปจากกรรมสิทธิ์ของผู้วะกัฟไปเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮ์ แล้ว จะซื้อขายไม่ได้ ยกให้ไม่ได้ และให้เป็นมรดกไม่ได้”
“กรรมสิทธิ์ในตัวสิ่งที่ถูกวะกัฟนั้น จะย้ายไปหาอัลลลอฮฺ ตะอาลา หมายความว่าจะหลุดออกจากการครอบครองของมนุษย์ไป ดังนั้นสิ่งที่ถูกวะกัฟจะไม่เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้วะกัฟ และไม่เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้รับวะกัฟ”
 “ดังนั้นผู้ใดจะมาอ้างตนว่าเป็นทายาทของผู้วะกัฟที่มีส่วนได้เสีย ในสิ่งที่ได้วะกัฟไปแล้ว หรืออ้างการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมใดๆ ไม่ได้อีกต่อไป...”
 “บาปใหญ่ที่สี่ร้อยหกสิบหกคือ การที่คนหนึ่งอ้างเหนือผู้อื่นด้วยสิ่งที่ตนรู้ดี ว่าไม่ใช่เป็นกรรมสิทธิ์ของตน ในเรื่องนี้มีฮะดีษกล่าวไว้ว่า ผู้ใดอ้างสิ่งที่ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของตน ให้เขาเตรียมที่พำนักของเขาไว้ในนรกเถิด เป็นสัญญาลงโทษที่รุนแรงมาก” นั้น 
 
ทางผู้ร้องเรียนไม่ได้มีความเห็นขัดแย้ง ผู้ร้องฯ ยอมรับว่าไม่มีใครถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินวะกัฟได้ต่อไป ในขณะเดียวกันก็ไม่สามารถจะยกให้ใครได้ โดยเฉพาะไม่สามารถยกผืนดินซึ่งมอบให้อัลลอฮฺ (ซบ)แล้ว      เอาไปให้เอกชนอย่าง บริษัท ทรานส์ ไทย-มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด ครอบครองใช้เป็นที่ตั้งโรงแยกก๊าซฯ อันส่งผลกระทบ สร้างความเดือดร้อนต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง
คำร้องเรียนของผู้ร้องฯ ซึ่งผู้ทรงคุณวุฒิฯ รับปากว่าจะวินิจฉัยนั้น ทางผู้ร้องฯ ไม่เคยจะหวงกันที่ดินดังกล่าวไว้ให้เป็นของผู้หนึ่งผู้ใด การที่ทายาท (วาเรส) ออกมาให้ข้อมูลก็ในฐานะพยานยืนยันข้อเท็จจริง ไม่ใช่ในฐานะผู้อ้างกรรมสิทธิ์     โดยยืนยันว่าเส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางวะกัฟจริง อันเป็นการป้องกันไม่ให้ที่ดินวะกัฟตกเป็นของบริษัทเอกชน และเพื่อให้คณะผู้ทรงคุณวุฒิฯ ได้มีข้อมูลความจริงของกรณีการวะกัฟดังกล่าว ที่จำเป็นต้องใช้ในกระบวนการสอบสวน พิจารณาให้ถูกต้อง ซึ่งทางผู้ร้องฯ เชื่อว่าคณะผู้ทรงคุณวุฒิฯ ย่อมทราบเจตนาดังกล่าว ในการให้ข้อมูลของทายาท (วาเรส) และกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่อยู่แล้ว แต่กลับอ้างหลักการดังกล่าวราวกับว่าทายาท (วาเรส) และพยานที่เกี่ยวข้องกำลังอ้างสิทธิ์ความเป็นเจ้าของในที่ดิน และมุ่งจะทวงเอาความเป็นเจ้าของที่ดินดังกล่าวคืน จึงเป็นที่น่าสงสัยว่า ผู้ทรงคุณวุฒิฯ มีจุดมุ่งหมายอันใด นอกจากเจตนาจะจูงใจให้ผู้ที่ได้อ่านคำวินิจฉัยฉบับนี้เข้าใจว่าการกระทำของบรรดาทายาท (วาเรส) และพยานเป็นความผิดบาปอย่างร้ายแรงจนจนถึงขั้นตกนรก เพื่อเป็นการหาความชอบธรรมในการปฏิเสธความจริงที่ทายาท (วาเรส) และพยานได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการวะกัฟมาใช้ในกระบวนการทำคำวินิจฉัย
2. “สิ่งที่วะกัฟ (เมากูฟ) นั้น ต้องเป็นกรรมสิทธิ์ครอบครองของผู้วะกัฟ (วากิฟ) โดยสมบูรณ์” และ “...การครอบครองที่ดินของผู้วะกัฟที่ทางกลุ่มฯ ร้องเรียนไปนั้น เกิดขึ้นก่อนหน้าการออกโฉนดแผนที่ฉบับแรกของประเทศไทย จึงถือได้ว่าอาจเป็นการครอบครองที่ดินมือเปล่า ซึ่งยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวโดยสมบูรณ์ จึงไม่อาจนำมาวะกัฟได้…” นั้น คำกล่าวอ้างเช่นนี้ของคณะผู้ทรงคุณวุฒิฯ หากฟังเพียงผิวเผินก็อาจจะเห็นคล้อยตามไปได้ว่า ตามหลักกฎหมายบ้านเมืองคือประมวลกฎหมายที่ดิน มีการกำหนดหลักเกณฑ์การได้กรรมสิทธิ์ที่ดินเอาไว้โดยชัดแจ้ง โดยการออกเป็นเอกสารสิทธิ์ เป็นโฉนดที่ดิน โฉนดแผนที่ ตราจอง หรือตราจองที่ตราว่าได้ทำประโยชน์แล้วในที่ดินแปลงนั้นๆ จึงถือว่าที่ดินแปลงนั้นๆ มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามกฎหมายได้ ดังนั้นหากที่ดินที่ยังไม่มีเอกสารสิทธิ์ย่อมเท่ากับยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน จึงไม่อาจนำมาวะกัฟได้
ข้ออ้างเช่นนี้เท่ากับเป็นการกำหนดว่า การวะกัฟไม่อาจมีขึ้นได้ หากไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน เช่นนี้แล้ว ก็เป็นที่น่าสงสัยว่าในสมัยที่บัญญัติหลักการวะกัฟในอัลกุรอ่านนั้น ยังไม่มีการออกเอกสารสิทธิ์สำหรับที่ดิน แม้กระทั่งในประเทศไทยก่อนสมัย รัชกาลที่ 5 ก็ยังไม่มีการออกเอกสารสิทธิ์สำหรับที่ดินเช่นกัน เช่นนั้นจะหมายความว่า การอุทิศที่ดินเป็นวะกัฟของบรรดาศรัทธาชนทั้งหลายในยุคสมัยนั้นก็ไม่อาจจะมีขึ้นได้ หรือหมายความเท่ากับไม่มีผลเป็นการวะกัฟแต่อย่างใด
นอกจากนั้นหลักกฎหมายที่ดินที่ผู้ทรงคุณวุฒิฯ ได้อ้างถึง แล้วนำมาเทียบเคียงกับการให้วะกัฟก็ยังเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอย่างยิ่ง เพราะว่าตามหลักกฎหมายที่ดินเองแล้วในยุคก่อนที่จะมีการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน รัฐไทยยอมรับความเป็นเจ้าของผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน แม้จะไม่มีเอกสารสิทธิ์ก็ตาม โดยให้สิทธิของผู้ครอบครองทำประโยชน์ที่จะโอนการครอบครองนี้ให้แก่ผู้อื่นได้ ตามหลักกฎหมายที่ปรากฏในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และตามหลักนิติศาสตร์อิสลามแล้วก็ไม่เคยมีบทบัญญัติใดๆ กำหนดไว้ว่า ความเป็นเจ้าของทรัพย์จะต้องได้รับการรับรองเป็นเอกสารสิทธิ์ จากผู้ปกครองบ้านเมืองเสียก่อน ดังนั้นการวะกัฟย่อมเกิดขึ้นได้ หากทรัพย์ที่วะกัฟนั้นเป็นสิทธิ์แก่เจ้าของที่แท้จริง ซึ่งหมายความรวมถึงผู้ทรงสิทธิครอบครองในที่ดินเองด้วย
แม้แต่ในประเทศไทยเอง ที่ดินที่ใช้ในกิจการศาสนาจำนวนมากก็เป็นการวะกัฟ ด้วยวิธีการดังกล่าว ในกรณีที่ที่ดินที่ผู้ร้องฯ ขอให้ทำการตรวจสอบนี้ก็เช่นกัน ข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ครอบครองที่ดินดังกล่าวได้ทำการวะกัฟตั้งแต่ก่อนมีเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน โดยเห็นได้ชัดแจ้งก็คือ ต่อมาเมื่อได้มีการออกเอกสารสิทธ์ในที่ดินนั้นแล้ว ผู้วะกัฟก็ได้กันส่วน เอาที่ดินส่วนที่ยังเป็นของตนและส่วนที่วะกัฟออกจากกัน และระบุในการจดทะเบียนและจัดทำแผนที่ระวางในที่ดินดังกล่าว สำหรับส่วนที่เป็นที่ดินวะกัฟว่าเป็นที่ดินทางเดินสาธารณประโยชน์ ดังนั้นการวินิจฉัยโดยอ้างหลักกฎหมายที่ดินดังกล่าว ก็เห็นได้ว่าเป็นไปเพื่อที่จะปฏิเสธข้อเท็จจริงที่ว่าที่ดินดังกล่าวได้มีการวะกัฟกันไว้ ก่อนที่จะออกเอกสารสิทธิ์และระบุว่าที่ดินดังกล่าวเป็นทางเดินสาธารณะ ผู้ทรงคุณวุฒิฯ กลับอ้างแต่เฉพาะข้อเท็จจริงที่ว่าเป็นเพียงทางเดินสาธารณะตามเอกสารราชการ (ซึ่งไม่มีบทบัญญัติใดๆ หรือหลักการใดๆ ในหลักกฎหมายไทยที่จะยอมรับ หรือยินยอมให้มีการบันทึกเรื่องการวะกัฟไว้ในเอกสารสิทธิ์ของทางราชการ)
ฉะนั้นการยอมรับเพียงข้อเท็จจริงตามหลักกฎหมายทางราชการ แต่กลับปฏิเสธข้อเท็จจริงที่เชื่อถือได้ตามกฎหมายอิสลามเช่นนี้ จึงเป็นการวินิจฉัยของฮากีมที่น่าจะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง
เช่นนี้แล้วผู้ทรงคุณวุฒิฯ มีเหตุผลใดในการที่ยกหลักกฎหมายการออกเอกสารแสดงสิทธิ์ในที่ดินของฝ่ายกฎหมายบ้านเมือง มาแทนที่หลักชะรีอะฮฺ และคณะผู้ทรงคุณวุฒิฯ ย่อมทราบดีว่าหลักนิติศาสตร์อิสลามตามบทบัญญัติแห่งอัลลอฮฺ (ซบ) ที่ได้ประทานมาผ่านอัลกุรอ่าน ไม่ขึ้นกับกฎเกณฑ์อื่นใดที่มนุษย์กำหนดขึ้น ดังนั้นกฎหมายของผู้มีอำนาจปกครองในแต่ละประเทศจะมาลบล้างเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติในอัลกุรอ่านไม่ได้
จากการพิจารณาทั้ง 2 ประเด็นข้างต้น ปรากฏชัดว่าเอกสารคำชี้แจงฉบับนี้ไม่ได้มีกระบวนการสอบสวนที่ถูกต้องตามหลักกฎหมายอิสลามเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัย และไม่ได้ตอบประเด็นคำถามของผู้ร้องเรียนแต่อย่างใด เพียงแต่คณะผู้ทรงคุณวุฒิฯ กลับนำความเห็นของตน ขึ้นมาใช้มาเป็นข้อสรุปเสียเองก่อน แล้วจึงหาเหตุผลมาอ้างประกอบ เพื่ออธิบาย ดังความเห็นที่ว่า “ทางกลุ่มไม่มีสิทธิ์เรียกร้องใดๆ ในกรณีที่ดินวะกัฟนี้” ก็เอาเหตุผลที่ว่า ทายาท (วาเรส) ไม่สามารถอ้างกรรมสิทธิ์ได้ ดังกล่าวในข้อ 1. ขึ้นมาสนับสนุน นอกจากนั้นยังมีข้อสรุปไว้ก่อนว่า “กรณีนี้ไม่ใช่การวะกัฟ” แล้วจึงเอาเหตุผลที่ว่า การวะกัฟนี้จะทำไม่ได้ก่อนมีเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน ดังกล่าวแล้วในข้อ 2. มาอธิบายสนับสนุน
หลังจากพิจารณาเอกสารชี้แจง ทั้ง 2 ประเด็น แล้วจึงเห็นได้ว่า ประเด็น “เส้นทางดังกล่าว เป็นเส้นทางวะกัฟหรือไม่นั้น” ผู้ทรงคุณวุฒิฯ ไม่มีกระบวนการสอบสวนใดๆ เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยครั้งใหม่ (ฉบับลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2551) นี้ นอกจากใช้วิธีเดิม (ฉบับลงวันที่ 27 มีนาคม 2547) โดย หาได้ยอมรับไม่ว่าวิธีวินิจฉัยเดิมนั้น เป็นกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่บกพร่องและผิดพลาดตรงไหนบ้าง   ไม่รับฟังข้อเท็จจริงที่รอบด้านอย่างเพียงพอใช้ข้อมูลเดิมที่รับฟังเพียงด้านเดียวคือรับฟังจากบริษัท ทรานส์ ไทย-มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด ส่วนกลุ่มประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งมีฐานะเป็นผู้ร้องเรียนขอให้สำนักจุฬาฯ พิจารณาแก้ไขปัญหาดังกล่าว กลับไม่มีโอกาสให้ข้อมูล คณะผู้ทรงคุณวุฒิฯ จึงได้ข้อสรุปเช่นเดิมว่า “ไม่มีหลักฐานชัดเจนที่แสดงว่าทางสาธารณะดังกล่าวได้มาโดยการวะกัฟของชาวมุสลิม”
3. คณะผู้ทรงคุณวุฒิฯ ได้ทำคำวินิจฉัยใหม่ (ฉบับลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2551) ซึ่งยังคงยืนยันตามคำวินิจฉัยเดิม (ฉบับลงวันที่ 27 มีนาคม 2547) ว่า “หากการแลกเปลี่ยนไม่ทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ชุมชน ที่ใช้สัญจร และทำให้เกิดประโยชน์เพิ่มขึ้นแก่ชุมชนที่ใช้สัญจร อีกทั้งยังเกิดประโยชน์แก่สาธารณะก็สามารถแลกเปลี่ยนได้” ทางผู้ร้องฯ เห็นว่าก่อนจะวินิจฉัยว่า ที่ดินวะกัฟจะสามารถนำมาแลกเปลี่ยน หรือมีความจำเป็นเพียงพอที่จะนำมาแลกเปลี่ยนหรือไม่นั้น จำเป็นจะต้องสอบสวนและวินิจฉัยให้ชัดเจนเสียก่อนว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินวะกัฟหรือไม่ แต่ปรากฏว่าแม้แต่ในคำวินิจฉัยใหม่ของคณะผู้ทรงคุณวุฒิฯ ก็ยังมิได้ทำข้อสรุปในเรื่องนี้
คณะผู้ทรงคุณวุฒิฯ นำคำวินิจฉัยเดิมมายืนยัน โดย นำตัวอย่างกรณีแลกเปลี่ยนสิ่งวะกัฟหลายกรณี ที่ปรากฏในประวัติศาสตร์มาอ้างอิงเพื่อสนับสนุนการแลกเปลี่ยนที่ดินวะกัฟของ บริษัท ทรานส์ ไทย- มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ร้องฯ เห็นว่า การนำกรณีตัวอย่างที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ดังกล่าว คณะผู้ทรงคุณวุฒิฯ มิได้ศึกษาเปรียบเทียบโดยการแยกแยะเงื่อนไข มูลเหตุ วัตถุประสงค์ ของการแลกเปลี่ยนแต่ละกรณีเปรียบเทียบกับกรณีของผู้ร้องฯ ว่าเป็นไปเช่นเดียวกันหรือไม่
ประการแรก มูลเหตุของการแลกเปลี่ยนที่ดินวะกัฟ ตามกรณีในประวัติศาสตร์ล้วนแต่เกิดจากความจำเป็นของชุมชนชาวมุสลิมที่ผูกพันวิถีชีวิตของชุมชน เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์ในสิ่งวะกัฟนั้น ดังนั้นหลักการพื้นฐานของการแลกเปลี่ยนสิ่งวะกัฟ จึงต้องเกิดจากผลประโยชน์และความต้องการของชุมชนมุสลิมนั้นๆ เป็นสำคัญ ทั้งวัตถุประสงค์ และเงื่อนไขของการแลกเปลี่ยนก็เห็นได้ว่า ทุกกรณีในประวัติศาสตร์ดังกล่าว ก็ไม่ได้ทำให้สภาพการใช้ประโยชน์ วัตถุประสงค์เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่นเปลี่ยนจากวัสดุที่ไม่ดีให้ดีขึ้น เป้าหมายการใช้งานยังคงเดิม บางกรณีอาจเปลี่ยนสภาพการใช้ทรัพย์แต่ยังคงเป็นประโยชน์เพื่อกิจการทางศาสนาเช่นเดิม รวมทั้งชุมชนใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้นโดยไม่กระทบกระเทือนถึงการใช้ประโยชน์เดิม
หากเปรียบเทียบกับการแลกเปลี่ยนที่ดินวะกัฟในโรงแยกก๊าซฯ จะพบว่าสภาพหรือเงื่อนไขการใช้ทรัพย์และสิทธิของการใช้ทรัพย์ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง จากทางเดินซึ่งประชาชนทั่วไปใช้ประโยชน์ในการสัญจร ไป-มา เปลี่ยนมาเป็นพื้นที่สร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติฯ ของบริษัท ทรานส์ ไทย-มาเลเซีย (ประทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทของเอกชน หาใช่เป็นของส่วนรวมไม่ อีกทั้งยังเป็นโครงการฯ ที่สร้างผลกระทบทั้งทางกายภาพ และทางจิตใจแก่พี่น้องมุสลิมที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง
นอกจากนั้นเส้นทางที่อ้างว่าจะนำมาแลกเปลี่ยนให้นั้น เนื่องจากวิธีการเพิกถอนที่ดินสาธารณประโยชน์เดิม (ที่ดินวะกัฟ) กับการแลกเปลี่ยนกับที่ดินใหม่ที่จัดหา ยังขัดแย้งกับหลักกฎหมาย โดยไม่อาจทำได้ด้วยการออกเป็นพระราชกฤษฎีกา และไม่มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ จึงเป็นการกระทำที่ขัดกับหลักกฎหมาย ซึ่งถือเป็นข้อยุติไม่ได้ว่าเส้นทางใหม่ที่ บริษัท ทรานส์ ไทย-มาเลเซีย (ประทศไทย) จำกัด อ้างนั้น จะนำมาใช้ยื่นข้อเสนอแลกได้จริง และเป็นประโยชน์ต่อชุมชนจริง ตามที่คณะผู้ทรงคุณวุฒิฯ ได้สรุปในคำวินิจฉัยหรือไม่เพียงใด
4. ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคณะผู้ทรงคุณวุฒิฯ อ้างว่า “คำตัดสินของฮากิม จะยกทรรศนะที่ขัดแย้งออกไป” นั้นหมายถึง ฮากิมผู้เที่ยงธรรม ซึ่งตัดสินหลังจากได้สร้างกระบวนการสอบสวนฟังความทุกฝ่ายอย่างรอบด้านแล้ว และใช้หลักนิติศาสตร์อิสลามในการวินิจฉัย เมื่อนั้นจึงไม่ต้องนำทรรศนะต่างๆ ที่มีการขัดแย้งกันในเรื่องนั้นมาพิจารณาอีก
แต่จากข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วในหนังสือร้องเรียน ฉบับลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2551 และรายละเอียดในข้อที่ 1) ข้างต้น เห็นได้ว่า คำวินิจฉัยสำนักจุฬาราชมนตรีต่อกรณีที่ดินวะกัฟนี้ไม่ถูกต้อง เนื่องจากขาดกระบวนการสอบสวนหาข้อเท็จจริงที่รอบด้าน ใช้เพียงการคาดการณ์ ไม่มีหลักฐาน พยาน และความชัดเจนในการวินิจฉัย อันเป็นการวินิจฉัยที่ไม่สอดคล้องกับหลักการ และเหตุผลทางนิติศาสตร์อิสลาม หรือหลักฐานคำวินิจฉัยตาม ตัวบทอัลกุรอาน หรือ อัซซุนนะห์ของท่านศาสดา (ซ.ล.) ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของอิสลาม ( “ผู้ใดที่ไม่ทราบชัดว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร และยังกล้าตัดสิน” เขาผู้นั้นต้องจัดอยู่ในกลุ่มใด)
ยิ่งไปกว่านั้นการฟังความข้างเดียวดังกล่าว เป็นการฟังจากบริษัท ทรานส์ ไทย-มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด และหน่วยงานราชการ ซึ่งเอื้อประโยชน์กันอยู่ และกรณีพิพาทครั้งนี้เกิดขึ้นจากบริษัทฯ เอง ต้องการจะฮุบที่ดินดังกล่าวไปครอบครองใช้ในกิจการเฉพาะอันเป็นการส่วนตัว ทั้งที่ในกรณีนี้ที่ดินดังกล่าวยังอยู่ในสภาพที่ประชาชนทั่วไปยังใช้ประโยชน์ได้ตามปรกติ
ผู้วินิจฉัยย่อมเห็นสภาพและเข้าใจได้อยู่แล้ว แต่กลับมีคำวินิจฉัย ว่า “ไม่มีหลักฐานชัดเจนที่แสดงว่าทางสาธารณะดังกล่าวได้มาโดยการวะกัฟของชาวมุสลิม” และ คำวินิจฉัยเรื่องการแลกเปลี่ยนยังทำให้บริษัทและรัฐบาลใช้เป็นข้ออ้างในการดำเนินการแลกเปลี่ยนได้ การวินิจฉัยดังกล่าวทำให้พี่น้องประชาชนทั่วไป ที่ทราบเรื่องราวเข้าใจไปได้ว่า สำนักจุฬาราชมนตรีตัดสินใจวินิจฉัยในเรื่องนี้โดยตั้งใจให้เป็นไป “เพื่อสมประโยชน์ของบริษัท ทรานส์ ไทย-มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด” ยิ่งไปกว่านั้น ทางสำนักจุฬาฯ ยังมีเอกสารสรุปคำวินิจฉัย (ฉบับลงวันที่ 27 มีนาคม 2547) เรียนไปถึงเฉพาะ บริษัท ทรานส์ไทย-มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด เพื่ออนุญาตให้ดำเนินการแลกเปลี่ยนเส้นทางวะกัฟดังกล่าว โดยที่สำนักจุฬาราชมนตรี ไม่ได้มีเอกสารแจ้งมายังกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบซึ่งเป็นผู้ร้องเรียนแต่อย่างใด การทำคำวินิจฉัยเช่นนี้ เป็นคำวินิจฉัยที่สร้างความเสียหายแก่สำนักจุฬาราชมนตรีเอง และสร้างความเสียหายต่อพี่น้องมุสลิมโดยรวมเช่นกัน
สรุปว่าเอกสารชี้แจงของคณะผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี ฉบับลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2551 ยังไม่ได้ตอบคำถามของผู้ร้องเรียนแม้แต่คำถามเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งยังไม่ได้สร้างกระบวนการสอบสวนที่แท้จริงของฮากิมผู้เที่ยงธรรมดังที่กล่าวอ้าง เอกสารฉบับดังกล่าวนี้จึงไม่สามารถถือว่าเป็นคำวินิจฉัยได้ กลุ่มปกป้องที่ดินวะกัฟและขอทวงคืนฯ จึงมีความจำเป็นที่ต้องโต้แย้งเพื่อให้เกิดกระบวนการสอบสวนที่เที่ยงธรรมขึ้นให้จงได้
หลักการที่ว่า “คำตัดสินของฮากิม จะยกทรรศนะที่ขัดแย้งออกไป” ไม่ใช่จะให้อำนาจฮากีมวินิจฉัยด้วยวิธีการที่ถูกต้อง หรือไม่ถูกต้องอย่างไรก็ได้ หากเป็นวิธีการวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้องชอบธรรมแล้ว แม้ผู้รู้ ผู้อาดิล คนเดียวทำการโต้แย้งด้วยเหตุผล และหลักนิติศาสตร์อิสลามอย่างถูกต้องเที่ยงธรรมแล้ว คำวินิจฉัยดังกล่าวก็ย่อมจะถือเป็นที่สุดมิได้ จำเป็นจะต้องทำคำวินิจฉัยใหม่เสียให้ถูกต้อง
ขอให้ท่านกลับไปทบทวนด้วยจิตสำนึกของผู้ภักดีตามหลักการของอัลลอฮฺ (ซบ) ตามวิถีทางที่เที่ยงธรรม ว่าการทำคำวินิจฉัยเช่นนี้ ได้ทำไปเพื่อประโยชน์อันใดกันแน่ และจะเกิดผลกระทบกระเทือนเพียงใดต่อกิจการศาสนาในประเทศไทย สำหรับกลุ่มปกป้องที่ดินวะกัฟฯ และพี่น้องมุสลิมในพื้นที่    คงทำได้เพียงขอดุอาจากอัลลอฮฺ (ซบ) ได้โปรดประทานความเมตตาให้แก่บรรดาเหล่าผู้ทรงคุณวุฒิและคณะผู้มีส่วนร่วมในการทำคำวินิจฉัยดังกล่าวให้ได้มีโอกาสทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงความผิดพลาดของพวกเขาเหล่านั้นที่ได้กระทำขึ้น
ด้วยดุอาแห่งความสันติและเราะห์มัต
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net