Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 13 ส.ค.52 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.) ออกแถลงการณ์: ประณามคำตัดสินของศาลพิเศษพม่า เมื่อวันที่ 11 ส.คใที่ผ่านมา กรณีตัดสินโทษนางออง ซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านของพม่า วัย 64 ปีคดีละเมิดข้อห้ามกักบริเวณในเดือนพฤษภาคม ซึ่งนางซู จี จะถูกกักบริเวณในบ้านพักเป็นเวลาต่อเนื่องอีก 18 เดือน หลังจากการถูกจองจำในบ้านพักเป็นเวลานานกว่า 14 ปี จาก 20 ปีที่ผ่านมาในการกักขัง นาง ออง ซาน ซูจี ต่อเนื่องอีก 1 ปี 6 เดือน

แถลงการณ์ระบุว่า การกลับคำตัดสินของศาลพิเศษพม่าโดย นายพล ตันฉ่วย โดยการลดโทษคำตัดสินของศาลพิเศษพม่าจากการจำคุกสามปีลงเหลือการกักขัง 18 เดือนในบ้านพักของ นางอองซาน ซูจี ไม่ได้แสดงว่าเผด็จการทหารยอมอ่อนข้อลงตามเสียงเรียกร้องของนานาประเทศ แต่แสดงถึงความล้มเหลวของระบบยุติธรรมของพม่าที่ฝ่ายบริหารมีอำนาจเหนืออำนาจตุลาการ ซึ่งขัดกับหลักการยุติธรรมที่เป็นที่ยอมรับกันของนานาอารยะประเทศ โดยการทำงานของศาลในพม่าไม่มีอิสระเพียงพอ และถูกเผด็จการทหารใช้เป็นเครื่องมือตบตาชาวโลก

“คณะกรรมการณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.) ขอประณามการใช้อำนาจโดยปราศจากหลักนิติธรรมดังกล่าว และขอวิงวอนให้ประชาชนชาวไทยและประชาคมโลกร่วมกันประณามการกระทำของเผด็จการทหารพม่าในครั้งนี้” แถลงการณ์ระบุ

แถลงการณ์ระบุถึงข้อเสนอว่า ความร่วมมือของประเทศต่างๆ กับรัฐบาลพม่าต้องยุติลงได้แล้ว ประเทศไทยและประเทศในอาเซียนต้องระบุประเด็นปัญหาในพม่าอย่างจริงจังและชัดเจน ในฐานะที่รัฐบาลทหารในประเทศพม่าเป็นผู้ก่อภัยคุกคามต่อสันติสุข ความมั่นคงในภูมิภาค รวมถึงการโจมตีทำร้ายกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศ ที่สำคัญอย่างยิ่ง อาเซียนต้องแสดงจุดยืนและประณามต่อท่าทีอันเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงในภูมิภาค การละเมิดกฎบัตรอาเซียนของรัฐบาลทหารพม่า

“คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่าขอเรียกร้องให้ผู้นำชาติอาเซียน ต้องบรรจุประเด็นว่าด้วยการสร้างประชาธิปไตย การต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเน้นย้ำถึงการเป็นภัยคุกคามของพม่าต่อสันติสุขในภูมิภาคในการประชุมอาเซียน ซัมมิท ครั้งที่15 ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2553” แถลงการณ์ระบุถึงข้อเรียกร้อง

 

 
แถลงการณ์: ประณามคำตัดสินของศาลพิเศษพม่าในการกักขัง นาง ออง ซาน ซูจี ต่อเนื่องอีก 1 ปี 6 เดือน
13 สิงหาคม 2552
 
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.) ขอประณามคำตัดสินของศาลพิเศษพม่า เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ที่ผ่านมา กรณีตัดสินโทษนางออง ซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านของพม่า วัย 64 ปีคดีละเมิดข้อห้ามกักบริเวณในเดือนพฤษภาคม ซึ่งนางซู จี จะถูกกักบริเวณในบ้านพักเป็นเวลาต่อเนื่องอีก 18 เดือน หลังจากการถูกจองจำในบ้านพักเป็นเวลานานกว่า 14 ปี จาก 20 ปีที่ผ่านมา
 
การกลับคำตัดสินของศาลพิเศษพม่าโดย นายพล ตัน ฉ่วย โดยการลดโทษคำตัดสินของศาลพิเศษพม่าจากการจำคุกสามปีลงเหลือการกักขัง 18 เดือนในบ้านพักของ นาง ออง ซาน ซูจี ไม่ได้แสดงว่าเผด็จการทหารยอมอ่อนข้อลงตามเสียงเรียกร้องของนานาประเทศ หากแต่แสดงถึงความล้มเหลวของระบบยุติธรรมของพม่าที่ฝ่ายบริหารยังมีอำนาจเหนืออำนาจตุลาการ ซึ่งขัดกับหลักการยุติธรรมที่เป็นที่ยอมรับกันของนานาอารยะประเทศ การทำงานของศาลในพม่าไม่มีอิสระเพียงพอ และเผด็จการทหารต้องการตบตาชาวโลกโดยใช้ระบบศาลยุติธรรมเป็นเครื่องมือ
 
คณะกรรมการณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.) ขอประณามการใช้อำนาจโดยปราศจากหลักนิติธรรมดังกล่าว และขอวิงวอนให้ประชาชนชาวไทยและประชาคมโลกร่วมกันประณามการกระทำของเผด็จการทหารพม่าในครั้งนี้
 
จนถึงวันนี้ “การสร้างประชาธิปไตย” ของพม่าตามที่ระบุไว้ใน Roadmap to Democracy ล้วนเป็นเพียงลูกไม้เก่าๆ พร้อมทั้งคำสัญญาว่าด้วยการปลดปล่อยนักโทษทางการเมือง เผด็จการทหารพม่าหาได้มีความพยายามที่จะสนองตอบความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง การตัดสินของศาลไม่ได้ช่วยทำให้กระบวนการสร้างความปรองดองในพม่าเกิดขึ้น หากแต่แสดงให้เห็นถึงความพยายามของเผด็จการทหารในการกีดกันการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยออกจากการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2553
 
พัฒนาการด้านประชาธิปไตยในพม่าตั้งแต่ ขั้นตอนการร่างรัฐธรรมนูญ การลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นธรรม และ การตัดสินโทษกักขัง นาง ออง ซาน ซูจี ล้วนแต่เป็นข้อพิสูจน์แล้วว่าไม่สามารถนำไปสู่ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่แท้จริงได้ ฉะนั้นความร่วมมือของประเทศใดๆ ก็ตามกับรัฐบาลพม่าต้องยุติลงได้แล้ว ประเทศไทยและประเทศในอาเซียนต้องระบุประเด็นปัญหาในพม่าอย่างจริงจังและชัดเจน ในฐานะที่รัฐบาลทหารในประเทศพม่าเป็นผู้ก่อภัยคุกคามต่อสันติสุข ความมั่นคงในภูมิภาค รวมถึงการโจมตีทำร้ายกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในประเทศ
 
ที่สำคัญอย่างยิ่ง อาเซียนต้องแสดงจุดยืนและประณามต่อท่าทีอันเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงในภูมิภาค การละเมิดกฎบัตรอาเซียนของรัฐบาลทหารพม่า คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่าขอเรียกร้องให้ผู้นำชาติอาเซียน ต้องบรรจุประเด็นว่าด้วยการสร้างประชาธิปไตย การต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเน้นย้ำถึงการเป็นภัยคุกคามของพม่าต่อสันติสุขในภูมิภาคในการประชุมอาเซียน ซัมมิท ครั้งที่15 ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2553
 
คณะกรรมการณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.)
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net