Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
 
ชื่อบทความเดิม: ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘ (๑๙๔๕) ประวัติศาสตร์ที่ “ให้จำ” กับ “ให้ลืม”
                         16 August 1945 A History of Remembering and Forgetting
 
  
ในแง่ของ “ประวัติศาสตร์การเมือง” ของสยามประเทศ/ไทยสมัยใหม่ วันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ เป็นวัน-เดือน-ปีที่สำคัญอย่างยิ่ง สมควรที่จะได้รับการทำ “ให้จำ” และ “รำลึก” แต่ ๑๖ สิงหาคม ก็เป็นวันที่ถูกทำ “ให้ลืม” โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้กลายเป็นหน้ากระดาษที่ “ว่างเปล่า” ในหนังสือแบบเรียนวิชาประวัติศาสตร์ ฉบับราชการของกระทรวงศึกษาธิการ
 
เมื่อ ๖๔ ปีมาแล้ว เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้นำของ “ขบวนการเสรีไทย” และในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ ได้ออก “ประกาศสันติภาพ” ซึ่งมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า “การประกาศสงครามเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๘๕ ต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา ตลอดทั้งการกระทำทั้งหลาย ซึ่งเป็นปรปักษ์ต่อสหประชาชาตินั้น เป็นการกระทำอันผิดจากเจตจำนงของประชาชนชาวไทย และฝ่าฝืนขืนขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ”
 
ดังนั้น “ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงขอประกาศโดยเปิดเผยแทนประชาชนชาวไทย ว่าการประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่เป็นโมฆะ ไม่ผูกพันประชาชนชาวไทย”
 
ทำไมถึงต้องมี “ประกาศสันติภาพ” คำตอบก็คือ เพราะว่าได้มี “ประกาศสงคราม” มาก่อนนั่นเอง เราๆท่านๆทั้งหลาย ก็คงถูกทำ “ให้ลืม” ไปแล้วว่า ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้น ประเทศไทยถูกกองทัพญี่ปุ่นบุกเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงครามได้เจรจาสงบศึกอย่างรวดเร็ว และตกลงร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นด้วยการลงนามใน “กติกาสัญญาพันธไมตรี” เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม หรืออีก ๑๒ วันถัด การลงนามครั้งนั้นกระทำในโบสถ์วัดพระแก้ว (วัดพระศรีรัตนศาสดาราม)
โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม และเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น
 
และอีก ๑ เดือนกับ ๕ วันต่อมา คือ ในวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๕ รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็มีการประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่ และสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้
               
"โดยที่ฝ่ายอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ได้กระทำการรุกรานประเทศไทยมาเป็นลำดับ โดยส่งทหารรุกล้ำเขตแดนเข้ามาบ้าง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้ส่งเครื่องบินลอบเข้ามา ทิ้งระเบิดบ้านเรือนของราษฎร ผู้ประกอบการหาเลี้ยงชีพอย่างปกติ ทั้งระดมยิงราษฎรสามัญ ผู้ไร้อาวุธอย่างทารุณผิดวิสัยของอารยชน  ไม่กระทำการอย่างเปิดเผยตามประเพณีนิยมระหว่างชาติ  นับได้ว่าเป็นการละเมิดต่อกฏหมายระหว่างประเทศ และมนุษยธรรม  ประเทศไทยไม่สามารถที่จะทนดูต่อไปได้อีก
           
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 54 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ  ให้ประกาศทราบทั่วกันว่า  ได้มีสถานะสงคราม  ระหว่างประเทศไทยฝ่ายหนึ่ง กับบริเตนใหญ่ และสหรัฐอเมริกาอีกฝ่ายหนึ่ง  ตั้งแต่เวลาเที่ยงวัน วันที่ 25 มกราคม 2485  เป็นต้นไ
 
อนึ่ง ในการ “ประกาศสงคราม” ของรัฐบาลไทยครั้งนี้ แม้สหรัฐอเมริกา จะมิได้มีการประกาศสงครามโต้ตอบ แต่บริเตนใหญ่ หรืออังกฤษ กับประเทศในเครือ ก็ได้ประกาศสงครามตอบโต้ตามลำดับ ดังนี้ อังกฤษ ๖ กุมภาพันธ์ แอฟริกาใต้ ๑๑ กุมภาพันธ์ ออสเตรเลีย ๒ มีนาคม นิวซีแลนด์ ๑๖ มีนาคม ๒๔๘๕ นับได้ในทางกฏหมายระหว่างประเทศว่า ไทยเรามีสถานะสงครามกับประเทศเหล่านั้น
 
ฉะนั้น จะเห็นได้ว่าเมื่อรัฐบาลพันธมิตรของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ต้องปราชัยไปตามลำดับ กล่าวคือเมื่อ ๖ พฤษภาคม ๒๔๘๘ เยอรมนีต้องยอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตร (ภายหลังวัน D-Day ๖ มิถุนายน ๒๔๘๗) และต่อมาระเบิดปรมาณูลูกแรก ก็ถูกทิ้งลงที่เมืองฮิโรชิมาเมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๔๘๘ และลูกที่สองลงที่เมืองนางาซากิ ๙ สิงหาคม ทำให้พระเจ้าจักรพรรดิฮิโรฮิโตแห่งญีุ่ปุ่น ต้องประกาศยอมจำนนในวันที่ ๑๔ สิงหาคม
 
เมื่อเป็นเช่นนี้ ด้วยความร้ายแรงของระเบิดปรมาณูที่ทำให้ญี่ปุ่นต้องยอมจำนนอย่างรวดเร็ว ความคาดหมายของฝ่ายขบวนการเสรีไทย ทั้งในและนอกประเทศ ที่จะทำการรุกฮือขึ้นต่อสู้กับญี่ปุ่นในวัน VJ-Day (Victory Over Japan) อย่างเช่นที่ฝ่ายสัมพันธมิตรกระทำในยุโรปเมื่อวัน D-Day ก็เป็นไปไม่ได้ และถูกระงับไป และนี่ก็ทำให้เราได้มาซึ่ง “ประกาศสันติภาพ” เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคมฉบับนั้น นั่นเอง
 
กล่าวได้ว่า “ประกาศสันติภาพ” ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘ นั้น เป็นเอกสารสำคัญอย่างยิ่ง ที่ได้ “กู้ชาติ” ที่ทำให้รัฐบาลไทยชุดหลังสงคราม สามารถเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตรหรือฝ่ายสหประชาชาติ “ผู้พิชิต” ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ อังกฤษ สหภาพโซเวียต จีน และฝรั่งเศส ทำให้ประเทศไทยและประชาชนชาวไทยไม่ต้องถูก “ปรับ” หรือ “ลงโทษ” อย่างรุนแรงในฐานะของ “ผู้แพ้สงคราม” อย่างในกรณีของเยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น
 
ประเทศไทยและประชาชนไทย ภายใต้รัฐบาลใหม่หลังสงคราม ไม่ว่าจะเป็นชุดของ นรม. ทวี บุณยเกตุ (๓๑ สิงหาคม-๑๗ กันยายน ๒๔๘๘) หรือ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช (๑๗ กันยายน ๒๔๘๘-๓๑ มกราคม ๒๔๘๙) ทั้งนี้โดยการนำของ ฯพณฯ ท่านปรีดี พนมยงค์ สามารถแก้ไขสถานการณ์และ “กู้” สถานะของประเทศ จนสามารถเข้าเป็นสมาชิกใหม่ของเวทีใหม่ของการเมืองระหว่างประเทศ นั่นคือ องค์การสหประชาชาติ (The United Nations Organization) ได้อย่างค่อนข้างรวดเร็ว เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๔๘๙ หรือเพียง ๑ ปีกับ ๔ เดือนในสมัยของรัฐบาลพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (๒๓ สิงหาคม ๒๔๘๙-๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐)
 
ดังนั้น ในแง่ของวิชาประวัติศาสตร์ “๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘” จึงน่าจะเป็นประวัติศาสตร์ที่ต้องถูกทำ “ให้จำ” แต่ด้วยเหตุใดเล่า “๑๖ สิงหาคม” จึงถูกทำ “ให้ลืม”
 
คำตอบก็น่าจะอยู่ที่ “การเมืองภายใน” นั่นเอง ทั้งนี้ เพราะในช่วงของการนำประเทศกลับเข้าสู่สภาวะของ “สันติ” นั้น ก็เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้น นั่นคือการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙
 
ความมืดมนต์ของกรณีสวรรคต การนำเรื่องขององค์พระมหากษัตริย์และสถาบัน มาเป็นเครื่องมือโจมตีและโค่นล้มรัฐบาล นำมาซึ่งการ “รัฐประหาร” ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ โดยคณะทหารที่มีพลโทผิน ชุณหะวัณเป็นผู้นำ ซึ่งก็นำมาซึ่งการฟื้นฟู “อำนาจนิยม” กับ “อประชาธิปไตย” อันยืดเยื้อยาวนานของ “ระบอบพิบูล-สฤษดิ์-ถนอม” (๒๔๙๑-๒๕๐๐-๒๕๑๖) หรือแม้แต่ในทุกวันนี้ พ.ศ. ๒๕๕๒ประชาธิปไตยของไทย ก็ยังอยู่ในสภาพของการล้มลุกคลุกคลาน เต็มไปด้วยการใช้กำลังทหารเปลี่ยนแปลงรัฐบาล และการฉีกทิ้งทำลายและร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า
 
ความเป็น “อประชาธิปไตย” นี้แหละ ที่ทำให้หน้าประวัติศาสตร์ของ “๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘” ต้องกลายเป็น “หน้าว่าง” และถูกทำ “ให้ลืม” มากกว่าถูกทำ “ให้จำ”
 
ในช่วงของการเตรียมตัวที่จะกล่าวปาฐกถาครั้งนี้ ผู้เขียนได้ทำการทดลองสำรวจ ด้วยการสุ่มตัวอย่างหนังสือแบบเรียน “ประวัติศาสตร์” ของนักเรียนชั้นมัธยม ๕ ที่จัดพิมพ์โดย ๓ บริษัทด้วยกัน คือ
 
(หนึ่ง)                    สำนักพิมพ์ บริษัทพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.)
(สอง)                    สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช (วพ.) และ
(สาม)                     บริษัทอักษรเจริญทัศน์ (อจท.)
 
หนังสือแบบเรียนของทั้งสามบริษัทนี้ตรงตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ๒๕๔๔ มี “ใบอนุญาตให้ใช้สื่อการเรียนรู้ในสถานศึกษา” มีตราครุฑและออกโดยกระทรวงศึกษาธิการ
 
หนังสือเล่มแรกของ พว. หนา ๑๓๔ หน้า พิมพ์ครั้งที่สอง ๒๕๕๒ จำนวน ๕,๐๐๐ เล่ม เขียนโดย ผศ. พลับพลึง คงชนะ มีผู้ตรวจคือ ดร. กร่าง ไพรวรรณ, อ. สมพงษ์ พละสูรย์, อ. สายัณห์ พละสูรย์ และมี บก. คือ ศ. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และมีคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รักษาการแทนปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ลงนามในใบอนุญาต
 
หนังสือเล่มที่สองของ วพ. หนา ๒๐๘ หน้า พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง ๒๕๔๗ เขียนโดย รศ. ทวีศักดิ์ ล้อมลิ้ม และประทุม กุมาร มีผู้ตรวจ คือ ธนาลัย ลิมปรัตนคีรี, จรรยภรณ์ เชิดพุทธ, สุเทพ จิตรชื่น และมี บก. คือ สุระ ดามาพงษ์, สมพร อ่อนน้อม, สุชาดา ยะหัตตะ, กรณรงค์ เหรียนระวี และมีนางพรนิภา ลิมปพยอม ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ลงนามในใบอนุญาต
 
หนังสือเล่มที่สามของ อจท. หนา ๒๑๕ หน้า พิมพ์ครั้งที่สิบ ๒๕๕๑ เขียนโดย รศ. ณรงค์ พ่วงพิศ, รศ. วุฒิชัย มูลศิลป์, ผศ. ดร. ชาคริต ชุ่มวัฒนะ, ศ. สัญชัย สุวังบุตร, รศ. อนันต์ชัย เลาหะพันธุ และมี บก. คือนายเอกรินทร์ สี่มหาศาล กับนายสมเกียรติ ภู่ระหงษ์ กับมีนางพรนิภา ลิมปพยอม ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ลงนามในใบอนุญาตเช่นกัน
 
ผลการสำรวจ พบดังนี้ คือ เล่มแรกไม่มีเรื่องเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่สอง และ/หรือ ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘ กับเรื่องของขบวนการเสรีไทยเลย
 
ส่วนเล่มที่สอง มี “บทที่ ๗ สงครามโลก” ทั้งครั้งที่ ๑ และ ๒ จากหน้า ๑๘๐ ถึงหน้า ๒๐๔ คือ ๒๔ หน้า และมีหัวข้อสุดท้าย คือ“ไทยกับสงครามโลกครั้งที่ ๒” จากหน้า ๒๐๑ ถึง ๒๐๓ มีการกล่าวถึงการ (ต้อง) “ประกาศสงคราม” เมื่อ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๕ แต่ไม่มีการกล่าวถึง “ประกาศสันติภาพ ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘” เว้นแต่จะกล่าวอย่างรวบรัดว่า “ฝ่ายไทยได้อ้างว่าการประกาศสงครามเป็นโมฆะ...” และก็น่าสังเกตว่าใช้คำว่า “ไทย” แบบลอยๆ โดยไม่กล่าวว่าเป็น “รัฐบาล” (สมัย นรม. ใด)
 
อย่างไรก็ตามหนังสือแบบเรียนเล่มนี้ได้กล่าวอย่างผ่านๆถึง “ขบวนการเสรีไทย” หนึ่งบรรทัด
 
สำหรับเล่มที่สามนั้น พบว่าก็มีบทสุดท้ายว่าด้วย “สงครามโลกครั้งที่ ๑ และสงครามโลกครั้งที่ ๒” เช่นกัน จากหน้า ๒๐๐ ถึง๒๑๐ แต่ก็น่าแปลกใจที่ว่าในบทสุดท้ายดังกล่าว ไม่มีการกล่าวถึงประเทศไทยในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ แต่อย่างใด ดังนั้น จึงไม่มีข้อความใดเกี่ยวกับ “๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘” หรือ “ขบวนการเสรีไทย”
 
อนึ่ง ผู้เขียนยังพบว่า หนังสือเล่มที่หนึ่ง มีบทสุดท้ายว่าด้วย “ประวัติและผลงานของบุคคลสำคัญ” ที่เป็นชาวไทยและชาวต่างประเทศ ซึ่งกล่าวถึงบุคคลต่างๆไว้ตามลำดับ ดังนี้ คือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระยารัษฏานุประดิษฐ์ฯ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี พระยาอนุมานราชธน ดร. คุณบรรจบ พันธุเมธา และพระยากัลยาณไมตรี (ดร. ฟรานซิส บี. แซร์) ส่วนหนังสืออีกสองเล่มหลัง ไม่มีบทว่าด้วยบุคคลสำคัญแต่อย่างใด
 
น่าสังเกตว่า นอกจาก “เจ้า ขุนนาง และชาวต่างชาติ” นี้แล้ว ก็จะไม่มีบุคคลสำคัญ ที่เป็นตัวแทนของประชาชนไทย ไม่ว่านักคิดนักเขียน ศิลปิน นักประดิษฐ์ นักวิทยาศาสตร์ นักธุรกิจ นักการเมือง ตลอดจนผู้ใช้แรงงาน และเกษตรกรแล้ว ก็ยังไม่ปรากฏนามของ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ทั้งๆ ที่ท่านได้รับยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกโดยองค์การยูเนสโกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๓ (๒๐๐๐) หรือหนึ่งปีก่อนหลักสูตร พ.ศ. ๒๕๔๔ นี้ของกระทรวงศึกษาธิการ
 
ครับ ถ้าเราคิดว่า “ประวัติศาสตร์” คือ “บทเรียน” ของมนุษย์ ก็เชื่อได้แน่ว่าเราจะไม่มีทางได้ “บทเรียน” นั้นจากหนังสือแบบเรียนวิชาประวัติศาสตร์ ฉบับราชการที่ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการ
 
คงจะถึงเวลาแล้วกระมัง ที่การเรียนการสอนประวัติศาสตร์ในโรงเรียนนั้น ต้องการ “การปฏิวัติ” ให้เป็น “ประชาธิปไตย” เสียที เราคงต้องการมากกว่า “การปฏิรูป”
 
และที่สำคัญคือ เราๆท่านๆ ควรจะเลิกพร่ำบ่น กล่าวโทษ และเฝ้าโยนความผิด ให้กับนักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชนคนหนุ่มคนสาวของเรา ว่าเขาและเธอไม่สนใจประวัติศาสตร์ ไม่รู้จักรากไม่รู้จักเหง้าของชาติบ้านเมือง
 
ถ้าเขาและเธอ ถูกสอน ถูกบังคับ “ให้จำ” ในสิ่งที่ไม่ควรจำ และถูกสอนให้ “ลืม” ในสิ่งที่ไม่ควรลืม เราๆท่านๆ ซึ่งอย่างน้อยก็มีการศึกษาระดับปริญญาตรี หรือไม่ก็โท หรือแม้แต่เอกก็ตาม ก็ควรจะโทษตัวเอง มิใช่หรือ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net