Skip to main content
sharethis
เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก อ.คลองท่อม จ.กระบี่ เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นสมาชิกที่ทำสวนปาล์ม จำนวน 18 ราย เพื่อหาข้อมูลการทำสวนปาล์มของสมาชิก ปรากฎว่า จากการสำรวจสมาชิกมีพื้นที่ทำสวนปาล์มรายละ 18 ไร่
 
ผลผลิตในรอบปี 2550 เฉลี่ยรายละ 40 ตันต่อปี แต่กว่าจะได้ผลผลิตจำนวนดังกล่าวสมาชิกแต่ละรายมีต้นทุนประกอบด้วย ค่าจ้างและปัจจัยการผลิตเจ้าของสวนปาล์มรายหนึ่งอยู่ที่ 52,484 บาทต่อปี ขณะที่มีรายได้จากการขายผลผลิตตกรายละ 140,944 บาทต่อปีต่อราย หักลบกลบหนี้กันแล้วเหลือเป็นกำไรให้ครอบครัวเจ้าของสวนครอบครัวละ 88,460 บาทต่อปี
 
หลายคนอาจจะเกิดคำปลอบใจว่า ''ยังดีที่ไม่ขาดทุน'' แต่น้าสุภาพ ภู่ทับทิม สมาชิกเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก แย้มความว่า ''ตัวเลขนี้ ยังไม่ได้รวมแรงงานของครอบครัวเจ้าของนะ''
 
เพื่อความเข้าใจเกี่ยวกับสวนปาล์ม ควรที่จะนำประสบการณ์ของผู้ที่อยู่กับสวนปาล์มจริงๆ มาถ่ายทอดสู่กันฟังว่า ''ปาล์ม'' มีธรรมชาติอย่างไร
 
คุณลุงสมพงษ์ สามเมือง หนึ่งในสมาชิกบอกว่า ปาล์มเป็นพืชกินน้ำอย่างมาก ระบบรากของปาล์มจะแผ่กระจายไปตามผิวดินเพื่อหาน้ำและธาตุอาหาร ส่วนปุ๋ยนั้นต้นปาล์มต้องการปุ๋ย 2 แบบ คือปุ๋ยบำรุงต้น กับปุ๋ยเพื่อให้มีลูก ซึ่งปุ๋ยสำหรับบำรุงต้นนั้นใช้ปุ๋ยชีวภาพที่ชาวบ้านผลิตเองทดแทนได้ แต่ปุ๋ยสำหรับเพื่อให้ได้ทลายปาล์มนั้นจำเป็นต้องอาศัยปุ๋ยเคมี เพราะธาตุอาหารตามธรรมชาติไม่เพียงพอให้ต้นปาล์มออกลูก
 
คุณลุงสมพงษ์ กล่าวต่อว่า ที่กล่าวกันว่า 15 วันตัดทีนั้น ความจริงคือว่า นับตั้งแต่ดอกปาล์มตัวเมียออกช่อจนกลายเป็นทลายปาล์มต้องใช้เวลานานถึง 6 เดือนจึงจะได้ตัดขาย โดยเฉลี่ยต้นปาล์มแตะละต้นที่สมบูรณ์จะมีดอกตัวเมียออกครั้งละ 4-6 ช่อ แต่ก็ออกมาไม่พร้อมกัน ดังนั้นที่ว่า 15 วันตัดทีนั้นเป็นการตัดแบบเวียนเก็บเกี่ยวจากทลายที่สุกแล้วไปตลอดทั้งปี ไม่ใช่ว่าหลังจากเก็บผลผลิตไปแล้วอีก 15 วันก็จะผลผลิตใหม่ออกมาให้ตัดอีก ไม่ใช่อย่างที่คำโฆษณาเชิญชวนให้ปลูกปาล์มกล่าว
 
ลุงประเสริฐ แสงวิมาน สมาชิกอีกรายกล่าวเสริมว่า ปลูกปาล์มไม่ใช่ตัด 2 ครั้งต่อเดือน และไม่ใช่ตัดได้ตลอดปี เช่นปลูก 22 ต้นต่อไร่ เราจะตัดสลับเปลี่ยนไปไม่ได้ครบทุกต้น รอบการตัดอยู่ที่ประมาณ 2 เดือนตัด 3 ครั้ง  และยังมีช่วงที่เรียกว่าปาล์มขาดคอ เป็นช่วงเวลาที่ต้นปาล์มหยุดออกดอกตัวเมีย กินเวลานานราว 3 เดือน ในช่วงเดือนธันวาคมถึงเมษายน หรือคือช่วงหน้าแล้ง
 
นอกจากทำความเข้าใจธรรมชาติต้นปาล์มแล้ว ลุงนิตย์ บุญเศษ สมาชิกจาก ต.คลองท่อมเหนือ กล่าวถึงปัญหาที่ต้องประสบในการปลูกปาล์มคือ นับตั้งแต่ต้นพันธุ์ เป็นความเสี่ยงที่ชาวสวนต้องเจอเพราะกว่าจะรู้ว่าได้พันธุ์ที่ไม่ดี ถูกหลอกขาย ต้องใช้เวลาพิสูจน์นานกว่า 3 ปี บวกกับการลงทุนทั้งหมดที่ผ่านมา และถ้าชาวสวนไม่อาจตัดใจโค่นทิ้งก็ต้องทนกับปัญหาผลผลิตปาล์มต่ำไม่คุ้มค่าปุ๋ยค่ายาไปตลอดอายุปาล์มราว 25 ปี บางรายพบว่าในสวนของตนมีพันธุ์ปาล์มหลายพันธุ์ปนกัน เอาสายพันธุ์ไม่ดีขายปนมา ทั้งที่ลงทุนซื้อมาจากที่เดียวกันที่ได้ใบรับรองจากกรมวิชาการเกษตร
 
ลุงนิตย์ แก้ปัญหาเรื่องพันธุ์ปาล์มด้วยการเพาะพันธุ์เอง โดยเก็บผลปาล์มจากต้นที่สมบูรณ์มาเพาะพันธุ์ แล้วเลือกต้นที่โตขึ้นสมบูรณ์ไม่แคระแกรนไปปลูก และที่ผ่านมาก็ไม่ผิดหวัง
 
สมาชิกในเครือข่าย ยังได้ช่วยแถลงไขต่อไปอีกว่า ต้นทุนในการปลูกปาล์มนั้นมีมาก ตั้งแต่เริ่มแรกไถที่ดินประมาณแปลงละ 3,700 บาท จ้างปักหมุดวางแนวพร้อมขุดหลุมปลูกต้นละ 9 บาท จ้างตัดแต่งทางปาล์มต้นละ 10-15 บาท จ้างเก็บตันละ 300 บาท ค่าขนส่งครั้งละ 200-300 บาท ค่าน้ำมันตัดหญ้าครั้งละ 100-200 บาท ถ้าเป็นยาฆ่าหญ้าลิตรละ 250 บาท ค่าจ้างใส่ปุ๋ยสอบละ 10 บาท ค่าปุ๋ยราคาสูงขึ้นตลอดจากกระสอบละ 600 บาทเมื่อต้นปีที่แล้ว ปลายปีเป็นกระสอบละ 850 บาทและล่าสุดเมื่อข้ามปีเป็นกระสอบละ 1,150 บาท
 
สมาชิกเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก อ.คลองท่อม จ.กระบี่ สรุปบทเรียนออกมาตรงกันว่า รายได้จากการทำปาล์มไม่ใช่มีแต่รวย ๆ ๆ ตามที่ใครว่า กำไรครอบครัวละ 88,460 บาทต่อปี ตกเดือนละ 7,300 บาท หากหักค่าใช้จ่ายครอบครัวในยุคสมัยนี้อย่างต่ำวันละ 150 บาท ตกเดือนละ 4,500 บาท เหลือเป็นเงินเก็บของครอบครัวประมาณเดือนละ 2,800 บาท แต่ถ้าหักค่าผ่อนจ่ายหนี้ที่กู้มาลงทุนทำสวนปาล์มและหนี้ก้อนอื่นๆ เดือนหนึ่งก็อาจติดลบได้
 
ลงความคือ ''มายาคติ'' แม้ว่าราคาผลผลิตปาล์มจะพุ่งทะยาน แต่ต้นทุนอื่นๆก็พุ่งตามเป็นเงา
 
วันนี้เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก อ.คลองท่อม จ.กระบี่ กำลังทดลองหาทางออกไปให้พ้นจากภาพมายา เช่น การปลูกพืชผสมผสานในสวนปาล์ม การเลี้ยงวัว แพะ ขุดสระเลี้ยงปลา กระจายความเสี่ยง ไม่หวังพึ่งแต่ผลผลิตปาล์ม ทำปุ๋ยชีวภาพลดต้นทุนค่าปุ๋ย
 
บทเรียนที่สวนกระแส และการทดลองหาทางแก้ปัญหาของเกษตรกร จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจยิ่ง.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net