โปรดช่วยกันดูแล “คนดี”: จาก ‘คนดี’ แบบจารีตถึง ‘คนดี’ ในสังคมประชาธิปไตย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

- 1 -
 
“...ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้...” [1]
 
เราสามารถกล่าวได้ว่าข้างต้นเป็นหนึ่งในไม่กี่ข้อความการเมืองที่คนไทยรู้จักแพร่หลายที่สุด (อีกประโยคขึ้นต้นว่า “…ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไปฯ...”) ซึ่งไม่ว่าจะเป็นใครก็คงต้องยอมรับความจริงข้อนี้ แล้วคนดีเป็นอย่างไร???
 
คำถามง่ายๆ แต่ตอบยากพอๆ กับคำถามที่ว่า “อะไรคือความดี?” อันเป็นคำถามเชิงปรัชญาที่นักคิดนักปรัชญาพยายามครุ่นคิดหาคำตอบกันมาเนิ่นนาน แน่นอนว่าคนดีในสายตาของแต่ละคน แต่ละกลุ่ม แต่ละสำนักนั้น ย่อมแตกต่างกันออกไปตามทัศนะมุมมองที่อยู่เบื้องหลัง
 
ความต้องการของบทความชิ้นนี้ ใคร่อยากเชื้อเชิญให้ผู้อ่านช่วยแสดงความคิดเห็นถึง คนดี” ในทัศนะของเราท่าน อย่างน้อยๆ ก็เพื่อแสวงหา ‘จุดร่วม’ ของคนดีที่ควรเป็นในสังคมการเมืองไทย
 
 
- 2 -
 
“สองนัคราประชาธิปไตย” [2] เป็นชื่อของหนังสือเล็กๆ เล่มหนึ่งที่ได้รับการกล่าวขวัญและถูกอ้างถึงเสมอๆ โดยเฉพาะกับข้อเสนอที่ว่า “คนต่างจังหวัดตั้งรัฐบาล คนกรุงเทพล้มรัฐบาล” ได้แฝงถึงประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจ
 
ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ เห็นว่ามาตรฐานคนดีระหว่างชนชั้นกลางในเมืองกับชาวชนบทแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะทั้ง 2 กลุ่มมองประชาธิปไตยไม่เหมือนกัน ขณะที่คนกลุ่มแรกใช้มาตรฐานตะวันตก คือให้ความสำคัญกับนโยบาย อุดมการณ์ และคุณธรรมความสามารถของพรรคและนักการเมือง ถือว่าการลงคะแนนเสียงของประชาชนต้องกระทำในฐานะปัจเจกชนผู้ใช้วิจารณญาณทางการเมืองโดยไม่คำนึงถึงความผูกพันหรือหนี้บุญคุณที่มีต่อผู้สมัคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องไม่คำนึงถึงอามิสสินจ้างใดๆ
 
ขณะที่ชาวชนบทนั้น โดยทั่วไปเห็นประชาธิปไตยเป็นเรื่องของผู้น้อยหรือลูกน้องที่ใช้การลงคะแนนเสียงเป็นการเลือกว่าจะเชื่อมโยงตนเองและชุมชนเข้ากับเจ้านายหรือสายอุปถัมภ์สายใด การที่ชาวนาชาวไร่จะสนับสนุนใครในทางการเมืองนั้น ขึ้นอยู่กับบุญคุณที่ผู้สมัคร (หรือเครือข่ายของเขา) มีต่อตนเองและครอบครัวหรือพวกพ้องในอดีตเป็นสำคัญ รวมทั้งขึ้นกับความคาดหวังว่าจะได้รับความช่วยเหลือคุ้มครองในอนาคตจากผู้สมัครและบริวารอย่างไร เมื่อชาวชนบทหย่อนบัตรเลือกตั้งนั้น มักไม่เห็นตัวเองเป็นอิสระชนที่แยกการเมืองออกจากความผูกพันภักดีเป็นส่วนตัวกับใครคนใด ทั้งไม่มองว่าการลงคะแนนเสียงให้ผู้ที่ให้เงินทองแก่ตนเองหรือกลุ่มของตนในระหว่างการหาเสียงเป็นการรับอามิสสินจ้างแต่อย่างใด
 
ถึงแม้น อเนก เหล่าธรรมทัศน์ จะไม่บอกเล่าลักษณะคนดีในแบบของเขาว่าต้องเป็นอย่างไรตรงไปตรงมา แต่จากย่อหน้าที่กล่าวข้างต้น ก็เหมือนจะบอกกับเราโดยนัยอยู่แล้วว่า คนดีในสายตาอเนกอยู่ฟากฝั่งไหน ข้างเมืองหรือชนบท?
 
และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ดีที่สุดเมื่อต้องอธิบายให้เห็นรูปธรรมในกระบวนการทำงานของ “ความรู้” เพื่อมารับใช้อำนาจอย่างแนบเนียน ซึ่งคำอธิบายดังกล่าวยังคงส่งอิทธิพลเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ ถ้าพูดด้วยภาษาวิชาการยุคหลังสมัยใหม่ก็เรียกได้ว่าเป็น “วาทกรรม” เป็นพลังแห่งถ้อยคำที่ยังคงตอกย้ำให้เราเข้าใจอยู่เรื่อยว่า “คนจนซื้อได้” ในทุกๆ เรื่อง คำอธิบายนี้มักถูกผลิตซ้ำ และนำมาใช้เสมอหากเขาไม่เชื่อสายตาตัวเองในสิ่งที่กำลังได้เห็น (ไม่ว่าจะเป็นในการเลือกตั้ง ชุมนุมประท้วง ลงประชามติ กระทั่งการเข้าชื่อถวายฎีกา) ซึ่งผลมักออกมาตรงกันข้ามกับสิ่งที่เขาอยากให้เป็น
 
 
- 3 –
 
“...แต่คนดีก็อยู่กับเราไม่นาน โดนแรงเสียดทานโถมจนพ่ายล้า
ใครโง่ไม่เป็นใครเด่นเกินไปต้องโดนคนว่า ทำถูกใจช้า ยังด่าทอ...
ใช้คนดีเปลืองฝืดเคืองคำชม โยนเรื่องทับถมถึงทนก็ท้อ
เมื่อทำดียากใครอยากจะทำดีต่อ ก่อนที่คนดีจะท้อจึงร้องขอแรงส่งมา...
 
 
และนั่นก็คือบางท่อนบางตอนจากบทเพลงลูกทุ่งเพลงหนึ่ง ซึ่งสำหรับหมู่คนเสื้อแดงแล้วย่อมคุ้นหูกับเพลงนี้เป็นอย่างดี เพราะถูกขอและเปิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างไม่รู้จักเบื่อในคลื่นวิทยุชุมชนของกลุ่มคนเสื้อแดงต่างๆ มาหลายปีแล้ว
 
เนื้อหาของบทเพลงได้สะท้อนลักษณะเฉพาะของสังคมการเมืองไทย ตลอดยุคสมัยที่เรียกว่า “ประชาธิปไตย” (อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ที่ใครดีใครเด่นไม่ได้ จะต้องมีอันเป็นไป (ในทางการเมือง) เสมอมา
 
เพลงนี้เป็นเพลงลำดับสุดท้ายในอัลบั้มถนนคนฝัน ของนักร้องสาวน้ำเสียงระดับปรากฏการณ์อย่าง ตั๊กแตน ชลดา ที่มีเพลงดังอย่าง “ไม่ใช่แฟนทำแทนไม่ได้” อยู่ด้วย อัลบั้มนี้วางแผง เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2550 ยิ่งไปกว่านั้น คือ เพลงนี้มี สลา คุณวุฒิ ครูเพลงระดับตำนาน เจ้าของผลงานเพลงลูกทุ่งยอดนิยมมากมายเป็นผู้แต่งให้ เจ้าตัวเผยว่า เพลงนี้พูดถึงคนดีโดยรวมๆ และอดีตนายกฯ ทักษิณก็รวมอยู่ในนั้นเช่นกัน“ก็ไม่หมายถึงทักษิณคนเดียว ทักษิณเป็นส่วนหนึ่งของตัวละครของเพลงนี้... แต่จริงๆ ยังมีก่อนหน้านั้นอีก” [3]
 
อย่างไรก็ดี จากเนื้อเพลงคงพอสรุปได้ว่าคนดีในทัศนะของครูสลาประกอบด้วย 2 เงื่อนไขสำคัญด้วยกัน คือ หนึ่ง คนที่ยอมอุทิศตนเพื่อคนส่วนใหญ่ และ สอง เป็นคนเสียสละ เป็นคำอธิบายสั้นๆ เข้าใจง่าย แต่ก็ยังมีความเป็นนามธรรมอยู่มิใช่น้อยๆ
 
 
- 4 -
 
คงต้องยอมรับกันว่าความหมายของคนดีเป็นที่ถกเถียงกันตลอดมา ทั้งความหมายและขอบเขตของคำๆ นี้ก็แปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลาและสภาพแวดล้อม ในยุคหนึ่งการกระทำบางอย่าง เฉกเช่นที่การสูบบุหรี่เคยเป็นองค์ประกอบของความเป็นพระเอก หรือของผู้ดีมีรสนิยมมาก่อน แต่ปัจจุบันการสูบบุหรี่ถือว่าเป็นสิ่งน่ารังเกียจ และมิใช่เท่ห์อีกแล้ว จนถึงขนาดหลายๆ ประเทศต้องออกกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะออกมา คนที่สูบบุหรี่อาจกลายเป็นอาชญากรได้หากพลังเผลอไม่รู้ตัว
 
กล่าวในเชิงหลักการคำจำกัดความของคนดี ก็หลากหลายมากมายขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกมองจากมุมไหนเป็นหลัก
 
คนดีภายใต้ “ระบบศักดินา” ย่อมจำกัดเฉพาะ ผู้ดี มีชาติตระกูล พูดให้ชัดๆ ก็คือ การเป็นคนดีตามมาตรฐานนี้อิงอยู่กับสถานะทางชนชั้น ส่วนอะไรผิด อะไรถูก อะไรชั่ว อะไรดี ชนชั้นปกครองเท่านั้น เป็นผู้กำหนด
 
ตามแบบพุทธศาสนา คนดีก็ได้แก่ คนที่ถือศีล ทำบุญ ให้ทาน
 
ส่วน คนดีในสายตาเหล่าอำมาตย์ (เหล่าอภิชน ทหาร ตุลาการ สื่อมวลชน) นั้น อย่างน้อยๆ ขึ้นกับ 1. ตำแหน่งแห่งหน เช่น อธิการบดี ปลัดกระทรวง ผู้ว่าฯ ฯลฯ และ 2. ความมีการศึกษาสูง โดยเชื่อมั่นว่า 2 สิ่งนี้เป็นที่มาของมาตรฐานทางจริยธรรมและศีลธรรมอันสูงส่งอยู่ในตัว
 
ทว่าเอาเข้าจริงๆ ในบริบทสังคมไทยแล้ว การที่จะเป็นคนดีหรือคนไม่ดีนั้น เป็นเรื่องของ ความเป็นพวกเดียวกัน มากกว่าอย่างอื่น เช่น ถ้าท่านคิดแบบเดียวกับที่พวกอำมาตย์คิด หรือทำให้สิ่งที่พวกอำมาตย์อยากเห็น ท่านก็ถือเป็นคนดีตามแบบฉบับของเขาแล้ว
 
และหากมองจากตัวอย่างในชีวิตจริงใกล้ตัวเข้ามาจะพบว่าคนดียังมีคุณสมบัติที่หลากหลายกว่านั้นมาก เป็นต้นว่า
 
คนไม่ขายเสียง คือคนดีในแบบที่ กกต. รณรงค์ให้ประชาชนเป็น
คนซื่อสัตย์สุจริต ก็เป็นต้นแบบคนดีของ ปปช. พยายามพร่ำสอน
คนที่ไม่ดื่มเหล้าสูบบุหรี่ ก็ถือเป็นคนดีแบบ สสส. ประชาสัมพันธ์
เด็กที่ว่านอนสอนง่าย เชื่อฟังคำสั่งผู้หลักผู้ใหญ่ ก็คือคนดีของคุณครูหรือของพ่อแม่
หญิงที่รักนวลสงวนตัว และชายที่รักเดียวใจเดียว (ไม่มีกิ๊ก) ก็คือคนดีในมุมมองแบบคุณระเบียบรัตน์
หากคิดแบบว๊ากเกอร์ๆ รุ่นน้องที่ยกมือไหว้รุ่นพี่ ย่อมเป็นคนที่ดีแล้ว
ฯลฯ
 
กล่าวให้เห็นเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น โดยระบุออกมาเป็นชื่อตัวบุคคล เช่น
 
คนดีในสายตากลุ่ม พันธมิตรฯ รวมถึงคนใต้ คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ อาจหมายถึงคนอย่าง น้องโบว์ อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ ผู้ต้องมาเสียชีวิตเพราะปกป้องสถาบัน หรือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ปัจจุบัน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่คนดีในสายตากลุ่ม นปช. รวมถึงคนเหนือ คนอีสาน ส่วนใหญ่ อาจได้แก่ลุงนวมทอง ไพรวัลย์ผู้ยอมพลีชีพตนเพื่อตอกหน้าเผด็จการ หรือคนอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้นำซึ่งโดนยึดอำนาจไปในปี 49
 
ส่วนคนดีแบบ นักปรัชญาชายขอบ นั้น ย่อมหมายถึงคนอย่าง ปรีดี พนมยงค์, กุหลาบ สายประดิษฐ์, จิตร ภูมิศักดิ์, นายผี, ป๋วย อึ้งภากรณ์ และคนอื่นๆ ที่มีความเป็น ขบถ ต่อสู้เรียกร้องเพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นธรรมบนความเท่าเทียมของประชาชนเป็นหลัก [5]
 
หรือดังที่นักรัฐศาสตร์เช่น ธเนศวร์ เจริญเมือง พยายามถ่ายทอดออกมา นั่นก็คือ คนที่เป็นพลเมืองเข็มแข็ง เอาการเอางาน อย่างเช่น วิลเลี่ยม วอลลัส (William Wallace, 1272-1305) วีรบุรุษชาวสก๊อตแลนด์ เป็นสามัญชนที่ทำการก่อกบฏของชาวสก๊อตแลนด์ต่อสู้กับกองทัพอังกฤษที่เหนือกว่าทุกกระบวนอย่างองอาจกล้าหาญ จนในที่สุดก็ถูกจับได้และถูกประหารชีวิต, มหาตมา คานธี (Mohandas Karamchand Gandhi, 1869-1948) ผู้นำในการคัดค้านนโยบายเมืองขึ้นของอังกฤษ เพื่อเอกราชของอินเดีย เสนอหลักการไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลอังกฤษ และยึดมั่นในการต่อสู้ด้วยสันติวิธี ด้วยการอดอาหาร, เจน แอ๊ดดัมส์ (Jane Addams, 1860-1935) สตรีผู้ทำงานเพื่อช่วยเหลือคนยากจนจำนวนมากในชิคาโก้ เพื่อให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น และได้ริเริ่มระบบการศึกษาแบบใหม่ที่เน้นการสาธิต เพื่อเปรียบเทียบและเรียนรู้จากกัน อีกทั้งยังผลักดันให้เกิดขบวนการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสังคมในระดับชาติ เช่น เรียกร้องให้ผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้งเท่าเทียมกับชาย, วิลเลี่ยม แฮริส (William Harris, 1870-1962) คริสตชนชาวอเมริกันที่ยิ่งใหญ่ของล้านนา ท่านผู้นี้ได้อุทิศตนบริหารและพัฒนาสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย คือ โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเวลานานถึง 41 ปี, เฮนรี่ เดวิด ธอโร (Henry David Thoreau, 1817-1862) นักเขียนอเมริกัน คนรักสันโดษ ผู้ต่อต้านระบบทาส เจ้าของหนังสือ ชื่อ วอลเดน ซึ่งแฝงแนวคิดกบฏต่อสิ่งที่ไม่เห็นด้วยอย่างประนีประนอม และการใช้ชีวิตตามธรรมชาติอย่างสมถะ เป็นอาทิ [6]
 
ขณะที่นักเขียนอย่าง ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา เห็นว่านักการเมืองที่ดี จะต้องเป็น ผู้นำแห่งความเปลี่ยนแปลง เช่น เติ้งเสี่ยวผิง ประธานาธิบดีคนที่ 2 ของจีน ผู้ริเริ่มใช้เศรษฐกิจแบบตลาดภายใต้ระบบสังคมนิยม นับเป็นผู้นำที่สานต่อนโยบายนำจีนให้เปิดกว้าง ปฏิรูป และก้าวสู่การเป็นผู้เล่นสำคัญของโลกยุคใหม่, เควิน รัดด์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 26 ของออสเตรเลีย เขาคือนายกฯ คนแรกที่กล่าวคำขอโทษอย่างเป็นทางการต่อชนพื้นเมือง ซึ่งรัฐบาลในอดีตได้ใช้นโยบายละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และร่วมลงนามในพิธีสารเกียวโต เพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดภาวะโลกร้อน ซึ่งรัฐบาลก่อนหน้านี้ปฏิเสธที่จะให้สัตยาบัน ตลอดจน บารัค โอบามา ประธานาธิบดีคนที่ 44 ของอเมริกา ผู้ที่ผู้คนเชื่อกันว่าเขาจะนำพาอเมริกาก้าวข้ามความขัดแย้งแบ่งฝ่าย ทั้งทางแนวคิด เชื้อชาติ และพรรคการเมือง [7]
 
 
- 5 -
 
แต่หากกำหนดกรอบชัดเจนขึ้นให้จำกัดเฉพาะแต่คนดีในสังคม “ประชาธิปไตย” [8] แค่นั้น ก็คงจะอธิบายได้ง่ายยิ่งขึ้น สำหรับคนดีในแง่ทางการเมือง (ตามทัศนะของผม) คุณจะเป็นใครก็ได้ ขอให้มี ‘ที่มา’ จากประชาชน และทำเพื่อ ‘ผลประโยชน์ส่วนรวม’ จริงๆ ส่วนถ้าเป็นคนดีในทางสังคม (กินปริมณฑลกว้างขวางกว่า) ต้องเป็น คนที่เสียสละและทำเพื่อคนส่วนใหญ่เฉกเช่นเดียวกับคนดีในเพลงของตั๊กแตนนั่นเอง
 
แน่นอนที่สุด ถ้าใช้คำอธิบายแรกมาจับ หากจะกล่าวว่าคนดียังคงเป็นของสงวนในบริบทการเมืองไทยปัจจุบันก็คงไม่เกินจริงกระมัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งกำหนดให้มีตำแหน่งที่ปราศจากความเชื่อมโยงกับประชาชนอยู่เต็มไปหมด (รวมถึงในองค์กรตามรัฐธรรมนูญต่างๆ) ขณะที่คนที่มาจากการเลือกตั้งกลับต้องเผชิญหน้ากับกติกาหยุมหยิมสารพัดส่งผลให้ไม่สามารถทำอะไรได้เต็มที่มากนัก ยังมิพักเอ่ยถึงปัจจัยจากนอกระบบ (กองทัพ กลุ่มทุน พันธมิตรฯ ฯลฯ) ที่กำลังทำงานอย่างแข็งขัน ส่งผลให้ประชาชน (ส่วนใหญ่) ต้องมาทีหลังไม่ใช่มาก่อนอย่างที่เคยโฆษณา
 
ความเลวร้ายประการหนึ่งของการรัฐประหาร 19 กันยา’49 นั่นคือ การทำให้ประชาชนทั่วๆ ไปมีทัศนะแง่ลบต่อ ‘การเมือง’ ทำนองว่า มันเป็นสิ่งชั่วร้ายไม่ควรข้องเกี่ยว / เป็นเรื่องของนักการเมืองเลวๆ คนดีๆ อย่ายุ่ง [9] ทั้งๆ ที่ การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน แท้ๆ แต่ยอมปล่อยให้คนดีแบบจารีตเข้ามาสัมผัสกับอำนาจนั้นๆ ได้อย่างไม่เคอะเขิน และพยายามผูกขาดเอาไว้ในมือของคนกลุ่มตนแต่เพียงเท่านั้น ซึ่งก็เท่ากับเป็นการบ่อนเซาะทำลายความชอบธรรมของการเมืองแบบเสียงคนส่วนใหญ่จนหมดความหมายลง โดยพยายามแก้ต่างว่ามันเป็นคนละเรื่องกัน เหมือนๆ ที่เป็นอยู่มา 6 เดือนนี้
 
ชวนให้นึกถึงประโยคที่เคยเห็นอยู่บ่อยๆ ตามกำแพงวัดหรือรั้วโรงเรียน ที่ว่า “คนเก่งนั้นมีมากที่หายากคือคนดีอีกครั้ง ซึ่งก็ช่างแตกต่างเหลือเกินจากที่ ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข เพิ่งว่าไว้“…หลังวันนั้น (หมายถึงวันนี้) คนเสื้อแดงน่าจะได้ลองวางทักษิณลง เพราะไม่ว่าอย่างไร การเรียกร้องความเป็นธรรมให้ทักษิณก็เป็นเพียงแค่ส่วนเล็กๆ ของประชาธิปไตยอันใหญ่ยิ่ง คนเสื้อแดงได้ทักษิณคืนมาก็อาจจะไม่ได้หมายความว่าเป็นประชาธิปไตย แต่หากเราสร้างบ้านแปงเมืองเป็นประชาธิปไตยได้อย่างสันติ เราจะมีคนเก่งและดีกว่าทักษิณอีกเต็มประเทศ...” [10]
 
แล้วคนดีในสังคมประชาธิปไตยของท่านล่ะเป็นอย่างไรกัน ???
 
 
 
อ้างอิง
[1] พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ 6
ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2512
[2] เอนก เหล่าธรรมทัศน์, สองนัคราประชาธิปไตย, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2539).
[3] “นักเพลงรากหญ้า สลา คุณวุฒิ โปรดช่วยกันดูแลคนดี,” D magazine ฉบับแนะนำตัว 24 มิถุนายน 2552, หน้า 85-88.
[4] นักปรัชญาชายขอบ, “อาการโหยหา ‘คนดี’ กับ ‘การปฏิวัติสังคมไทย’,’’ http://www.prachatai.com/journal/2009/05/23943
[5] ธเนศวร์ เจริญเมือง, พลเมืองเข้มแข็ง, (กรุงเทพฯ: วิภาษา, 2551).
[6] ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา, ผู้นำ อำนาจ ประวัติศาสตร์ และการเมืองใหม่, (กรุงเทพฯ: Openbooks, 2551).
[7] โปรดดู ณัฐกร วิทิตานนท์, “แน่ใจหรือว่า "ประชาธิปไตย" แบบ "อภิสิทธิ์" หมายถึง "ประชาธิปไตย" จริงๆ,’’ http://www.prachatai.com/journal/2009/03/20415
[8] สุรพร เสี้ยนสลาย, “วาทกรรมว่าด้วย “นักการเมืองเลว”,’’
[9] ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข, “ใต้เท้าขอรับ: หุ่นเชิดอำมาตย์,” http://www.prachatai.com/journal/2009/08/25409

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท