Skip to main content
sharethis

วานนี้ (18 ก.ค.)  เวลา 14.00 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล และญาติผู้เสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ กรณีอุ้มฆ่าที่จังหวัดกาฬสินธุ์ และขอนแก่น, นายเมธา มาสขาว เลขาธิการ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน(ครส.) และ นายสุนัย ผาสุก กรรมการ ครส.และที่ปรึกษา Human Rights Watch ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรมอย่างจริงจัง พร้อมทั้งปฏิรูปการทำงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ และสร้างบรรทัดฐานคดีสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้กระทำความผิดจะต้องไม่ลอยนวล   จะต้องไม่ส่งเสริมวัฒนธรรมไม่ต้องรับผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ

 

ที่ (พิเศษ) / ๒๕๕๒
๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๒
 
เรื่อง ขอให้ปฏิรูปตำรวจและกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สร้างบรรทัดฐานคดีสิทธิมนุษยชน หยุดวัฒนธรรมไม่ต้องรับผิดของเจ้าหน้าที่รัฐและผู้มีอำนาจ ผู้กระทำผิดจะต้องไม่ลอยนวล
 
กราบเรียน ฯพณฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
 
สืบเนื่องจากสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน มีปัญหาการคอร์รัปชั่นในหมู่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนหนึ่งซึ่งเกี่ยวพันถึงการใช้อำนาจโดยมิชอบ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐผู้มีอำนาจตามกฏหมาย จนสั่งสมเป็นโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมทางสังคม ระบบอุปถัมป์ และระบอบอำนาจนิยมมาอย่างยาวนาน รวมทั้งสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยหลายกรณีเกี่ยวข้องและพัวพันกับโครงสร้างและวัฒนธรรมของการใช้อำนาจเหล่านั้น โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรม อันมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นประตูด่านชั้นแรก ภายใต้กฏหมายที่คุ้มครองปกป้องความยุติธรรมทางสังคม แต่ข้อเท็จจริงกลับพบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจบางส่วนมีส่วนพัวพันกับการใช้อำนาจโดยมิชอบเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว และการละเมิดสิทธิมนุษยชนเสียเอง ตามที่ปรากฏว่า,
 
มีการซื้อขายตำแหน่งผู้พิทักษ์สันติราษฎร์โดยมิชอบ ภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อแลกกับอำนาจและผลประโยชน์ โดยมิได้คำนึงถึงความรู้ ความสามารถที่แท้จริง ซึ่งเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ตั้งใจทำงานเพื่อประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมและโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน จากข้อครหานี้ ทำให้ภาพลักษณ์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ตกต่ำลง จากผู้รักษากฎหมายกลายเป็นเพียงองค์กรแห่งอำนาจ   ผู้มีอิทธิพลและผลประโยชน์
 
รวมทั้ง คดีสิทธิมนุษยชนหลายคดี มีเจ้าหน้าที่ตำรวจไปเกี่ยวข้อง พัวพัน รวมถึงมีการใช้อำนาจช่วยเหลือกัน จนเป็นอุปสรรคในการคลี่คลายคดีเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่สังคมและประชาชนที่ได้รับผลกระทบ หลายกรณีมีการซ้อมทรมานผู้ต้องหาและไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกฏหมายและกระบวนการยุติธรรม อาทิ คดีเชอร์รี่แอน ดันแคน คดีผู้กองณัฐ คดีการอุ้มทนายสมชาย นีละไพจิตร คดีช็อตไข่ที่อยุธยา   นอกจากนี้ยังมีคดีการลอบสังหารนักเคลื่อนไหวทางการเมือง นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งมีอุปสรรคในการทำคดีล่าช้ามาจากปัญหาภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) เอง
 
รวมถึง คดีนายกมล เหล่าโสภาพันธ์ ซึ่งถูกอุ้มหายที่สถานีตำรวจภูธรบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ตั้งแต่วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ ภายหลังร้องเรียนปัญหาคอร์รัปชั่นและมีปัญหากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนบัดนี้ไม่มีวี่แววและความคืบหน้าของคดีที่จะเอาผิดเจ้าหน้าที่ตำรวจ แม้ภายหลังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) จะรับดูแลคดีไปเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ที่ผ่านมา
 
คดีการอุ้มฆ่าเยาวชนและประชาชนหลายสิบคดีที่จังหวัดกาฬสินธุ์ นับตั้งแต่ช่วงสงครามปราบปรามยาเสพติดในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จนกระทั่งปัจจุบัน หลายคดีเกี่ยวพันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจบางส่วน ซึ่งอาจใช้ระบบศาลเตี้ยและฆ่าตัดตอนเหยื่อที่รู้เห็นการคอร์รัปชั่น ยาเสพติด หรือปัญหาการใช้อำนาจโดยมิชอบ โดยเฉพาะ คดีนายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จับกุมและต่อมาถึงแก่ความตาย โดยคณะกรรมการคดีพิเศษได้มีมติในการประชุมครั้งที่ ๕ /๒๕๔๘ เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน   ๒๕๔๘   ให้คดีเกี่ยวกับการเสียชีวิตของนายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง เป็นคดีพิเศษที่จะต้องทำการสืบสวนสอบสวนตามมาตรา   ๒๑ วรรค ๑ (๒)   แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. ๒๕๔๗ และเห็นชอบให้พนักงานอัยการเข้าร่วมทำการสอบสวนด้วย   จากการทำงานของคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนเป็นเวลา ๔ ปี สามารถสรุปผลและออกหมายเรียก เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองกาฬสินธุ์จำนวน ๖ นาย เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นสัญญาบัตร ๓ นาย ได้แก่ พ.ต.ท. สำเภา อินดี พ.ต.ต. สุมิตร นันทสถิตย์ พ.ต.อ. มนตรี   ศรีบุญลือ และชั้นประทวน ๓ นาย ได้แก่ ด.ต. อังคาร คำมูลนา ด.ต.สุทธินันท์ โนนทิง และ ด.ต.พรรณศิลป์ อุปนันท์ มารายงานตัวและรับทราบข้อกล่าวหา ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและซ่อนเร้นปิดบังอำพรางการตาย ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ส่งสำนวนให้อัยการรับไปพิจารณาเมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันผู้ต้องหาตามคดีอาญาร้ายแรงทั้ง 6 คน มิได้ถูกพิจารณาทางวินัย สั่งให้ย้ายออกนอกพื้นที่ หรือให้ออกจากราชการไว้ก่อนแต่อย่างใด
 
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายคดีที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่อาจเป็นการฆาตรกรรมต่อเนื่องจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ตามการศึกษาของคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน(ครส.) และเครือข่าย ซึ่งยกเป็นจังหวัดตัวอย่างของปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและกระบวนการยุติธรรม แต่คดียังไม่มีความคืบหน้ามากกว่า ๒๘ ราย โดยเจ้าหน้าที่ให้เหตุผลว่า การเสียชีวิตนั้นเนื่องมาจากการฆ่าตัดตอนกันเองของผู้ค้ายาเสพติด หรือหากเป็นการเสียชีวิตจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเองก็เป็นเพราะผู้ค้ายาเสพติดต่อสู้ขัดขวางจึงต้องทำการวิสามัญฆาตกรรม   อาทิ (๑) นายประเสริฐ กรุงศรีวัฒนา ถูกยิงเสียชีวิต เมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๖   (๒) นายจตุพล   นันนาเชือก ถูกยิงเมื่อวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๔๗ ที่หน้าโรงเรียนอนุกูลนารี (๓) นายทองจัน ภารพี ถูกฆ่าแขวนคอเมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๗ ที่กระท่อมปลายนาบ้านเตาไห อ.เมืองกาฬสินธุ์ (๔) นายสุพรรณ   พลอยวิเลิศ ถูกยิงเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๔๗ บริเวณซอยคำผลพัฒนา เขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ (๕) นายชาญชัย   กอหาญ ถูกยิงเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๔๗ (๖) นางแพง   แสงสว่าง ถูกยิงเมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๔๗ ที่บ้านโจด ต.ภูปอ อ.เมืองกาฬสินธุ์   (๗) นายพิทูรย์ ไร่เกียรติ ถูกยิงเมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๔๗ (๘) น.ส.น้ำฝน ดลรัศมี ถูกยิงเมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ ที่ถนนโค้งพร้อมพรรณ (๙) นายประวิทย์ สัตวุธ ถูกฆ่าแขวนคอเมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ ที่สวนสาธารณะกุดน้ำกิน เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ (๑๐) นายสงกรานต์ เดชกรภัทร ถูกยิงเมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๔๗ (๑๑) นายด๊าด ปาทาน ถูกยิงเมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๔๗ (๑๒) นายกฤตชาดล ปัญจะ หายตัวอย่างไร้ร่องรอยตั้งแต่วันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๔๗ (๑๓) นายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง ถูกฆ่าแขวนคอ เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฏาคม ๒๕๔๗ (๑๔) นางอ้อยนภา สุขประสงค์ หายตัวโดยการถูกอุ้มหาย เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๔๗ (๑๕) นางวันทนา ทักษิมา หายตัวโดยการถูกอุ้มหาย เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๔๗ (๑๖) นายวัน ยุบลชู หายตัวไปในระหว่างกลับจากหาหมอฟันในอำเภอเมืองจังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๔๘ (๑๗) นางสมหมาย ยุบลชู หายตัวไปในระหว่างกลับจากหาหมอฟันในอำเภอเมืองจังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๔๘ (๑๘) นายสมสิน วรวัฒนาวงค์ ถูกยิงเมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๔๘ (๑๙) นายไพรวัลย์ ภูขิด ถูกยิงเมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๔๘ (๒๐) นายสาคร สาระวิถี ถูกยิงเมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๔๘ (๒๑) นายวินัย โกมาร ถูกยิงเมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๔๘ (๒๒) นายปรีชา คำประเทือง ถูกยิงเมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๔๘ (๒๓)             นายชัยวุฒิ เหลาเจริญ ถูกยิงเดือนมีนาคม ๒๕๔๘ (๒๔) นายปุ้ย หรือนายวินัย   หนวดคำ ถูกฆ่าแขวนคอ วันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๔๘ ที่ ศาลามอดินแดง (๒๕) นายอุดม นามไว ถูกยิงเสียชีวิต ที่หน้าสถาบันเทคโนโลยีการเกษตรกาฬสินธุ์ (๒๖) นาย สุพรรณ ดอนชมพู หายตัวไประหว่างบ้านหนองแต้-บ้านหนองบัว ตำบลหัวงัว อำเภอยางตลาดจังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๔๙ (๒๗) นางลำยอง ดอนชมพู หายตัวไประหว่างบ้านหนองแต้-บ้านหนองบัว ตำบลหัวงัว อำเภอยางตลาดจังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๔๙ และ (๒๘) นายสมาน มีธรรม หายตัวอย่างไร้ร่องรอย เมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๕๐ ที่ถนนหลวงกาฬสินธุ์-ร้อยเอ็ด บริเวณบ้านเตาไห อ.เมืองกาฬสินธุ์
จากปัญหาดังกล่าว คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน(ครส.) ซึ่งติดตามคดีสิทธิมนุษยชนดังกล่าวมาโดยตลอด มีข้อเสนอต่อรัฐบาล ดังต่อไปนี้
 
1.ขอให้ใช้โอกาสนี้ปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรมอย่างจริงจัง และสอบสวนคดีต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นโดยเร่งด่วน เพื่อสร้างบรรทัดฐานสิทธิมนุษยชนและกระบวนการยุติธรรมไทย เพื่อยุติวัฒนธรรมการใช้อำนาจโดยมิชอบ และสร้างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ที่เป็นที่ยอมรับของประชาชน ส่งเสริมเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดีให้มีโอกาสเติบโตภายใต้ระบบคุณธรรมที่เท่าเทียมกัน ลดระบบอำนาจนิยม ชั้นยศแบบกองทัพ เพื่อปฏิรูปตำรวจไทยให้เป็นต้นธารของกระบวนการยุติธรรมอย่างแท้จริง มีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น แยกอำนาจสอบสวน-สืบสวนออกจากกัน กรณีที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมกระทำความผิด จะต้องมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานอื่นร่วมสอบสวน-สืบสวนด้วย เช่น สภาทนายความ อัยการพิเศษ องค์กรสิทธิมนุษยชน ฯลฯ รวมถึงมีการจัดตั้งองค์กรกลางที่คอยตรวจสอบการใช้อำนาจและการทำงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้ เพื่อสร้างสังคมที่เคารพในหลักนิติรัฐ และนิติธรรมอย่างแท้จริง ที่ผู้มีอำนาจหรือเจ้าหน้าที่รัฐ จะยุติวัฒนธรรมไม่ต้องรับผิดอีกต่อไป
 
2.ขอให้มีการปฏิรูปการทำงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)   จากเหตุการณ์ที่ปรากฎว่า มีการรื้อค้นตู้เหล็กเก็บเอกสารและสำเนาสำนวนสอบสวนในยามวิกาล ภายในสำนักงานกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) คดีเจ้าหน้าที่ตำรวจของรัฐมีส่วนพัวพันในข้อกล่าวหา ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและซ่อนเร้นปิดบังอำพรางการตาย ซึ่งสะท้อนว่า มีเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งอาจเป็นคนในกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เอง ดำเนินการช่วยเหลือผู้กระทำผิดในคดีดังกล่าว จึงขอให้รัฐบาลดำเนินการสอบสวนเรื่องดังกล่าว เพื่อหาตัวผู้กระทำผิดอย่างเร่งด่วน รวมถึงพิจารณาสั่งย้ายหรือพักราชการผู้ต้องหาที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง ๖ นาย เพื่อป้องกันการใช้อำนาจข่มขู่คุกคามญาติผู้เสียหายในพื้นที่
 
คดีดังกล่าว จะเป็นบรรทัดฐานสำคัญในการสร้างความเป็นธรรมของกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ และลบล้างวัฒนธรรมไม่รับผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ หากมีการใช้อำนาจช่วยเหลือกันเพื่อให้ลอยนวล(Impurity) ก็จะเกิดความมัวหมองแก่กระบวนการยุติธรรมไทยไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้น คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) จึงขอให้รัฐบาล สร้างบรรทัดฐานสิทธิมนุษยชนโดยใช้คดีนี้เป็นกรณีตัวอย่าง ไม่ว่าผู้ต้องหาจะเป็นผู้มีอำนาจระดับใด   นอกจากนี้ การบุกรื้อค้นตู้เอกสารสำนวนสอบสวนสืบสวนคดีดังกล่าวภายในสำนักงานกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เอง ยังสะท้อนถึงปัญหาภายในกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐยังมีผลประโยชน์ทับซ้อน และยังคงมีการใช้อำนาจโดยมิชอบเพื่อปกป้องพวกพ้องตนเองไม่ให้รับผิด และหากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ไม่สามารถแม้แต่ปกป้องสำนวนสอบสวนสืบสวนของสำนักงานได้แล้ว ก็เท่ากับไม่มีหลักประกันที่จะสามารถปกป้องคุ้มครองพยานในคดีได้เช่นกัน จึงควรให้มีการประเมินการทำงานของอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)
 
3.ขอให้สร้างบรรทัดฐานคดีสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้กระทำความผิดจะต้องไม่ลอยนวล   จะต้องไม่ส่งเสริมวัฒนธรรมไม่ต้องรับผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยปล่อยให้มีการช่วยเหลือกันในระบบอุปถัมป์ของผู้มีอำนาจ และจะต้องทำให้เป็นคดีตัวอย่างเพื่อสร้างบรรทัดฐานคดีสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะคดีสิทธิมนุษยชนที่กล่าวมาข้างต้น ไม่ว่าจะเป็น คดีการฆาตรกรรมต่อเนื่องที่จังหวัดกาฬสินธุ์ คดีการอุ้มหายที่สถานีตำรวจภูธรบ้านไผ่ คดีการอุ้มทนายสมชาย นีละไพจิตร คดีการทรมานด้วยการช็อตไข่ที่อยุธยา คดีการลอบสังหารนักเคลื่อนไหวทางการเมืองและนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน(Human Rights Defenders)   เป็นต้น
 
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) หวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลจะดำเนินการเรื่อง ดังกล่าวอย่างจริงจัง และผลักดันให้มีการปฏิรูปตำรวจ รวมถึงกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ เพื่อลดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะการซ้อม-ทรมาน การฆ่านอกระบบกฎหมาย และการอุ้มหาย เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมสามารถมีบทบาทในการปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้อย่างแท้จริง
 
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง
 
(นายเมธา มาสขาว)                                                       (นายสุณัย ผาสุข)
เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน(ครส.)       องค์การ Human Rights Watch
                            
 
(นางพิกุล   พรหมจันทร์)                                                 (นางสาวประทับจิตร นีละไพจิตร)
ญาติผู้เสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ                      คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ
(นายประเสริฐ เหล่าโสภาพันธุ์)                                                       
ญาติผู้เสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net