เอ็นจีโอด้านสุขภาพร้องนายก ทบทวนยุทธศาสตร์ทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ

มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ นำขบวนเครือข่ายผู้ป่วย NGOs และนักวิชาการ ร้องนายกฯในฐานะประธานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ให้ทบทวนยุทธศาสตร์ทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ และ แผนเร่งรัดการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

20 ส.ค. ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรี มีมติให้ความเห็นชอบต่อ “ยุทธศาสตร์ทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ” และ “แผนเร่งรัดการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา” ที่เสนอโดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายอลงกรณ์ พลบุตร) รองประธานคณะกรรมการนโยบายด้านการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2552 ที่ผ่านมา
เครือข่ายภาคประชาสังคม นำโดยมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เครือข่ายผู้ป่วย และนักวิชาการได้ทำหนังสือถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ โดยใช้สิทธิตามมาตรา 11 ในพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติเพื่อขอให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติทบทวนยุทธศาสตร์ทรัพย์สินทางปัญญาฯ และแผนเร่งรัดการป้องกันและปราบปรามฯ ดังกล่าวอย่างเร่งด่วน ก่อนที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการใดๆต่อไป และขอสิทธิร่วมในกระบวนการทบทวนครั้งนี้ด้วย เพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์ของผู้ป่วยและผู้บริโภคชาวไทย ตามที่รัฐบาลได้ประกาศเจตนารมณ์
“ภาคประชาสังคมตามรายนามด้านล่าง มีความกังวลอย่างยิ่ง เนื่องจากยุทธศาสตร์ทรัพย์สินทางปัญญาฯ และแผนเร่งรัดการป้องกันและปราบปรามฯ ดังกล่าว มีหลายส่วนขัดแย้งกับหลักการของ “ยุทธศาสตร์การเข้าถึงยาถ้วนหน้าของประชากรไทย” ที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2552 (มติ คสช. ครั้งที่ 6/2551 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2551 และมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 1 พ.ศ. 2551)” ระบุอยู่ในตอนหนึ่งของหนังสือที่มีไปถึงนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ทรัพย์สินทางปัญญาฯและแผนเร่งรัด ได้รับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงวัฒนธรรม และสำนักงาน ก.พ. ไปประกอบการพิจารณาดำเนินการ แต่ไม่มีความเห็นจากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการและภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง โดยมีเนื้อหาที่เป็นการยกระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้เข้มข้นขึ้นเกินไปกว่าความตกลงขององค์การการค้าโลก (ทริปส์ผนวก/TRIPS+) ที่นอกจากจะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาในเรื่องเศรษฐกิจ (เช่น ไม่มีมาตรการการควบคุมราคายา หรือ รับรองการเข้าถึง) และไม่ช่วยหนุนเสริมการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริงแล้ว ยังกลับบั่นทอนการพัฒนาของอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็กให้ขาดโอกาสมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นอุปสรรคกีดกันการเข้าถึงปัจจัยสำคัญในการพัฒนาสังคมไทย เช่น ยา สื่อการเรียนการสอน เทคโนโลยี ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่มีเนื้อหาใดที่กล่าวถึงการคุ้มครองทรัพยากรชีวภาพที่เป็นสมบัติของประเทศ ซึ่งทั้งหมดจะส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการเข้าถึงยาและการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนไทย  
“เราตั้งข้อสังเกตว่า ยุทธศาสตร์ทรัพย์สินทางปัญญาฯ และแผนเร่งรัดฯ มีเนื้อหาที่สอดคล้องกับข้อเรียกร้องในการเจรจาจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ และข้อตกลงระหว่างสหภาพยุโรปกับอาเซียน  และที่สำคัญคือ ตรงกับข้อเรียกร้องของผู้แทนการค้าแห่งสหรัฐฯที่ยื่นไว้เพื่อ แลกเปลี่ยนกับการพิจารณาถอดถอนประเทศไทยออกจาก “ประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ” ซึ่งไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อคนไทยโดยรวมอย่างแท้จริง แต่กลับเป็นการใช้ทรัพยากรของรัฐและงบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชนคนไทย เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจยาข้ามชาติอย่างชัดเจน” นายนายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์กล่าว
สำหรับภาคประชาสังคมที่ร่วมลงนามในหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีประกอบไปด้วย มูลนิธิเข้าถึงเอดส์, เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย, เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก, ชมรมเพื่อนโรคไต, เครือข่ายเพื่อนมะเร็ง, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มูลนิธิเภสัชชนบท, มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิด้านเอดส์, คณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์, กลุ่มศึกษาปัญหายา, มูลนิธิชีววิถี, มูลนิธิบูรณะนิเวศ, มูลนิธิสุขภาพไทย และ กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)
 
      

 
ที่ มขอ. 209/2552
        
วันที่ 14 สิงหาคม 2552
   
เรื่อง ขอให้ทบทวนยุทธศาสตร์ทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ และ แผนเร่งรัดการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
 
เรียน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
 
อ้างถึง 1. มติคณะรัฐมนตรีเรื่อง ยุทธศาสตร์ทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ และเรื่อง แผนเร่งรัดการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา2. ยุทธศาสตร์การเข้าถึงยาถ้วนหน้าของประชากรไทย
สิ่งที่ส่งมาด้วย 1. บทวิเคราะห์ของภาคประชาสังคม      
 
สืบเนื่องจากการที่ คณะรัฐมนตรี มีมติให้ความเห็นชอบต่อ “ยุทธศาสตร์ทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ” และ “แผนเร่งรัดการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา” ที่เสนอโดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายอลงกรณ์ พลบุตร) รองประธานคณะกรรมการนโยบายด้านการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2552 ที่ผ่านมา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงวัฒนธรรม และสำนักงาน ก.พ. ไปประกอบการพิจารณาดำเนินการ แต่ไม่มีความเห็นจากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการและภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง
เครือข่ายภาคประชาสังคมตามรายนามด้านล่าง มีความกังวลอย่างยิ่ง เนื่องจากยุทธศาสตร์ทรัพย์สินทางปัญญาฯ และแผนเร่งรัดการป้องกันและปราบปรามฯ ดังกล่าว มีหลายส่วนขัดแย้งกับหลักการของ “ยุทธศาสตร์การเข้าถึงยาถ้วนหน้าของประชากรไทย” ที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2552 (มติ คสช. ครั้งที่ 6/2551 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2551 และมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 1 พ.ศ. 2551)
อีกทั้ง เนื่องจากยุทธศาสตร์ทรัพย์สินทางปัญญาฯ และแผนเร่งรัดการป้องกันและปราบปรามฯ มีเนื้อหาที่เป็นการยกระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้เข้มข้นขึ้นเกินไปกว่าความตกลงขององค์การการค้าโลก ที่นอกจากจะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาในเรื่องเศรษฐกิจ (เช่น ไม่มีมาตรการการควบคุมราคายา หรือ รับรองการเข้าถึง) และไม่ช่วยหนุนเสริมการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริงแล้ว ยังกลับบั่นทอนการพัฒนาของอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็กให้ขาดโอกาสมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นอุปสรรคกีดกันการเข้าถึงปัจจัยสำคัญในการพัฒนาสังคมไทย เช่น ยา สื่อการเรียนการสอน เทคโนโลยี ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่มีเนื้อหาใดที่กล่าวถึงการคุ้มครองทรัพยากรชีวภาพที่เป็นสมบัติของประเทศ ซึ่งทั้งหมดจะส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการเข้าถึงยาและการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนไทย
เท่าที่ผ่านมา ระบบทรัพย์สินทางปัญญาก็เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าถึงยาของประชาชนไทยอยู่แล้ว การกำหนดยุทธศาสตร์ทรัพย์สินทางปัญญาฯ และการวางแผนเร่งรัดการป้องกันและปราบปรามฯ เช่นนี้ เท่ากับเป็นการทวีปัญหาในเรื่องสุขภาพของประชาชนไทยให้รุนแรงมากขึ้น ตัวอย่างมาตรการที่ระบุไว้ในยุทธศาสตร์ฯ และแผนฯ เช่น การแก้ไขพระราชบัญญัติต่างๆ (พ.ร.บ. สิทธิบัตร, พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ และ พ.ร.บ. เครื่องหมายทางการค้า) ให้มีข้อบังคับเกินกว่าความตกลงทริปส์ขององค์การการค้าโลก การแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติให้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการจัดการเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา การเร่งรัดลงนามในสนธิสัญญาความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญา การให้อำนาจแก่กรมศุลกากรในการยึดสินค้าผ่านแดนได้ และการเปลี่ยนแปลงกฎหมายให้การละเมิดทรัพย์สินเป็นคดีอาญา เป็นต้น
เครือข่ายภาคประชาสังคมตั้งข้อสังเกตว่า ยุทธศาสตร์ทรัพย์สินทางปัญญาฯ และแผนเร่งรัดการป้องกันและปราบปรามฯ มีเนื้อหาที่สอดคล้องกับข้อเรียกร้องในการเจรจาจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ และข้อตกลงระหว่างสหภาพยุโรปกับอาเซียน  และที่สำคัญคือ ตรงกับข้อเรียกร้องของผู้แทนการค้าแห่งสหรัฐฯที่ยื่นไว้เพื่อ แลกเปลี่ยนกับการพิจารณาถอดถอนประเทศไทยออกจาก “ประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ” ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องดังกล่าวถือเป็นการกระทำเกินกว่ามาตรฐานของความตกลงทริปส์ทั้งสิ้น และไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อประชาชนในประเทศไทยโดยรวมอย่างแท้จริง แต่กลับเป็นการใช้ทรัพยากรของรัฐและงบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชนคนไทย เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจยาข้ามชาติอย่างชัดเจน
เครือข่ายภาคประชาสังคมตามรายนามด้านล่างจึงขอใช้สิทธิตามมาตรา 11 ในพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติเพื่อขอให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจัดให้มีการทบทวนยุทธศาสตร์ทรัพย์สินทางปัญญาฯ และแผนเร่งรัดการป้องกันและปราบปรามฯ ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 9 กรกฎาคม 2552 ดังกล่าวอย่างเร่งด่วน ก่อนที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการใดๆต่อไป ทั้งนี้เครือข่ายภาคประชาสังคมตามรายนามด้านล่างขอสิทธิร่วมในกระบวนการทบทวนครั้งนี้ด้วย เพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์ของผู้ป่วยและผู้บริโภคชาวไทย สมดังเจตนารมณ์ของรัฐบาล
 
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
 
 
(นายนิมิตร์ เทียนอุดม)
ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์
 
เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย
เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก
ชมรมเพื่อนโรคไต
เครือข่ายเพื่อนมะเร็ง
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
มูลนิธิเภสัชชนบท
มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิด้านเอดส์
คณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์
กลุ่มศึกษาปัญหายา
มูลนิธิชีววิถี
มูลนิธิบูรณะนิเวศ
มูลนิธิสุขภาพไทย
กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท