Skip to main content
sharethis
 
ชื่อเดิม: โรงงานไม่มีเจ้านายได้ชัยชนะในสมรภูมิกฎหมาย: โรงงานซานองเป็นของประชาชนแล้ว
 
 

 

  
คนงานที่โรงงานเซรามิกส์ FASINPAT (คำย่อจาก “โรงงานไม่มีเจ้านาย”) ซึ่งเป็นสถานประกอบการที่แรงงานกอบกู้ในอาร์เจนตินาได้รับชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ตอนนี้โรงงานเป็นสมบัติของประชาชนอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว สภานิติบัญญัติประจำมณฑลลงคะแนนเสียงเห็นชอบกับการยึดโรงงานเซรามิกส์และมอบโรงงานให้สหกรณ์แรงงานเป็นผู้บริหารจัดการอย่างถูกกฎหมายและไม่มีระยะเวลาจำกัด  
 
นับตั้งแต่ ค.ศ. 2001 เป็นต้นมา แรงงานในโรงงานซานอง (ชื่อเดิมของโรงงานแห่งนี้) ต่อสู้เรียกร้องให้กฎหมายรับรองอำนาจการบริหารของแรงงานในโรงงานเซรามิกส์ที่ใหญ่ที่สุดในละตินอเมริกา สถานประกอบการที่แรงงานกอบกู้แห่งนี้ก่อให้เกิดการจ้างงาน เป็นหัวหอกโครงการต่างๆ ในชุมชน สนับสนุนขบวนการสังคมทั่วโลก และแสดงให้โลกเห็นว่า แรงงานไม่จำเป็นต้องมีเจ้านาย
 
“ไม่อยากจะเชื่อ พวกเรามีความสุขมาก การเวนคืนโรงงานคือปฏิบัติการแห่งความยุติธรรม” คือคำพูดที่ท่วมท้นไปด้วยความรู้สึกถึงชัยชนะของอเลฆันโดร โลเปซ เลขาธิการของสหภาพแรงงานเซรามิกส์ “เราไม่เคยลืมประชาชนที่คอยสนับสนุนเราในช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุด รวมทั้งประชาชน 100,000 คนที่ลงชื่อในคำร้องสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ด้วย”
 
คนงานหลายร้อยคนจากโรงงาน FASINPAT รอคอยการตัดสินใจของสภาอย่างกระวนกระวายจนกระทั่งดึกดื่น กฎหมายเวนคืนโรงงานผ่านด้วยคะแนนเห็นชอบ 26 เสียงและคัดค้าน 9 เสียง ผู้สนับสนุนหลายพันคนจากองค์กรแรงงานอื่นๆ กลุ่มสิทธิมนุษยชนและขบวนการสังคม ตลอดจนครอบครัวคนงานและนักศึกษามาสมทบกับคนงานและรอคอยหน้าสภานิติบัญญัติในเมืองเนวเก้นซึ่งเป็นเมืองหลวงของมณฑลแห่งนี้ พวกเขาต้องอดทนกับอากาศร้ายกาจในฤดูหนาวของดินแดนปาตาโกเนีย บรรดานักกิจกรรมจึงตีกลองและตะโกนแก้หนาวว่า “พวกเขาคือแรงงานแห่งซานอง แรงงานไม่มีเจ้านาย”
 
FASINPAT บริหารภายใต้การควบคุมของแรงงานมาตั้งแต่ ค.ศ. 2001 เมื่อเจ้าของโรงงานซานองตัดสินใจปิดโรงงานและไล่คนงานออกโดยไม่จ่ายเงินเดือนที่ค้างอยู่หรือค่าชดเชยใดๆ ก่อนการลอยแพครั้งใหญ่และการปิดโรงงาน คนงานหยุดงานประท้วงต่อเนื่องตลอดปี ค.ศ. 2000   ลูอิซ ซานอง เจ้าของโรงงาน ซึ่งมีหนี้สินกว่า 75 ล้านดอลลาร์ โดยมีเจ้าหนี้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน (รวมทั้งหนี้ธนาคารโลกกว่า 20 ล้านดอลลาร์) ไล่คนงานส่วนใหญ่ออกเกือบทั้งหมดและปิดโรงงานเพื่อลอยแพคนงานใน ค.ศ. 2001 ในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน คนงานประกาศให้โรงงานอยู่ภายใต้การควบคุมของคนงาน จากนั้น คนงานก็ตั้งค่ายอยู่หน้าโรงงานถึงสี่เดือน แจกใบปลิวและปิดกั้นถนนสายที่ไปเมืองหลวงเนวเก้นเป็นบางส่วน ขณะที่คนงานตั้งค่ายหน้าโรงงาน ศาลก็ตัดสินให้ลูกจ้างขายสินค้าที่เหลืออยู่ในโกดังได้   หลังจากสินค้าหมดในวันที่ 2 มีนาคม ค.ศ. 2002 สมัชชาคนงานก็ลงคะแนนเสียงให้เปิดสายการผลิตใหม่โดยไม่ต้องมีเจ้านาย นับตั้งแต่ยึดโรงงานมา คนงานก็ตั้งชื่อโรงงานใหม่ว่า FASINPAT (โรงงานไม่มีเจ้านาย)
 
คนงานตั้งเวทีพร้อมจอขนาดยักษ์เพื่อให้ผู้สนับสนุนหลายพันคนชมการลงคะแนนเสียงของสภา เมื่อมติสภาประกาศออกมา คนงานสวมกอดกันทั้งน้ำตา พวกเขาแทบไม่เชื่อว่าหลังจากต่อสู้มา 8 ปี ในที่สุด คนงานก็ควบคุมโรงงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายเสียที 
 
“มติสภาครั้งนี้สะท้อนถึงการต่อสู้อย่างมีการจัดตั้ง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากทั่วทั้งสังคม” คือคำกล่าวของเวโรนิกา อุลลิปาน จากสหพันธ์ชาวพื้นเมืองมาปูเช เธอกล่าวว่าเครือข่ายชุมชนชาวพื้นเมืองมาปูเชในปาตาโกเนียร่วมสนับสนุนการต่อสู้ของคนงานซานอง และกล่าวว่าการตัดสินใจทางกฎหมายครั้งนี้คือ “ชัยชนะทางการเมืองขององค์กรแรงงาน”
 
คนงานซานองเตือนใจผู้สนับสนุนว่าการต่อสู้ของซานองคือการต่อสู้ของคาร์โลส ฟูเอนเตอัลบา ด้วย คาร์โลส ฟูเอนเตอัลบาเป็นครูโรงเรียนรัฐจากมณฑลเนวเก้น ซึ่งถูกตำรวจฆ่าตายระหว่างการประท้วงอย่างสงบเพื่อปกป้องการศึกษาภาครัฐ คนงานซานองไม่เพียงสร้างการจ้างงาน แต่พวกเขายังสนับสนุนการต่อสู้ของแรงงานทั้งในท้องถิ่น ในระดับประเทศและระหว่างประเทศ แรงงานจาก FASINPAT อยู่ร่วมในการประท้วงที่ฟูเอนเตอัลบาถูกตำรวจยิงกระสุนแก๊สน้ำตากลางแสกหน้า ขณะที่ตำรวจเข้าปราบปรามการประท้วงตามคำสั่งของแนวร่วมพรรคการเมือง MPN ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองสายอนุรักษ์ที่ปกครองเมืองเนวเก้นและมณฑลปาตาโกเนียมาตั้งแต่ยุคเผด็จการทหารในสมัย ค.ศ. 1976-1983
 
“นี่คือบทสำคัญในการต่อสู้ของแรงงานซานอง ซึ่งต่อสู้บนท้องถนนมานานกว่า 9 ปี ตอนแรกพวกเขาพยายามขับไล่เราออกไปเพื่อขายทิ้งโรงงาน การต่อสู้ของแรงงานและชุมชนกดดันจนรัฐบาลต้องยอมเวนคืนโรงงาน “ ราอูล โกโดย คนงานซานองบอกนักข่าวจาก Página/12 ซึ่งเป็นสำนักข่าวระดับประเทศ ทุกวันนี้ โรงงานส่งออกกระเบื้องให้แก่ 25 ประเทศ
 
 
 
ผู้แทนในสภาส่วนใหญ่ต้องการเรียกร้องให้คนงานในสถานประกอบการที่แรงงานกอบกู้ “ยอมรับกติกาเพื่อความสงบสุขของสังคม” แต่สำหรับแรงงาน กติกาเพื่อความสงบสุขของสังคมถูกละเมิดจนป่นปี้ไปแล้ว เมื่อนักธุรกิจฉ้อโกงและแกล้งล้มละลาย แล้วขับไล่คนงานหลายร้อยหลายพันคนออกไปกลางถนน   “นายทุนประกาศสงครามกับการขึ้นภาษีเสมอ พวกนั้นสนับสนุนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและการไล่คนงานออก ก่อนสถานการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้น คนงานต้องปกป้องตัวเองก่อน และคนงานซานองตั้งปณิธานว่าจะปกป้องตัวเรา ไม่ว่าในท้องถนนหรือที่ไหน ไม่ว่าด้วยวิธีการไหนก็ตาม”
 
ตามกฎหมายฉบับใหม่ที่ออกมา สหกรณ์ FASINPAT ซึ่งจ้างคนงาน 470 คนและส่งออกเซรามิกส์ไปกว่า 25 ประเทศ จะยังคงอยู่ภายใต้การบริหารของสหกรณ์ รัฐจะจ่ายหนี้ 22 ล้านเปโซ (ราว 7 ล้านดอลลาร์) ให้แก่เจ้าหนี้ เจ้าหนี้รายใหญ่รายหนึ่งคือธนาคารโลก ซึ่งให้เงินกู้ถึง 20 ล้านดอลลาร์แก่ลูอิซ ซานอง เพื่อนำมาสร้างโรงงาน ซึ่งเขาไม่เคยจ่ายคืนเลย เจ้าหนี้รายใหญ่อีกรายคือบริษัท SACMY ของอิตาลี ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องจักรผลิตกระเบื้องระดับแนวหน้าและเป็นเจ้าหนี้กว่า 5 ล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม คนงานคัดค้านการที่รัฐจะจ่ายหนี้แทน โดยกล่าวถึงเรื่องที่ศาลได้พิสูจน์แล้วว่าเจ้าหนี้เหล่านี้มีส่วนรู้เห็นการแกล้งล้มละลายของโรงงานใน ค.ศ. 2001 ทั้งนี้เพราะเงินสินเชื่อทั้งหมดไหลลงกระเป๋าของลูอิซ ซานองที่เป็นเจ้าของโรงงานและไม่เคยเอามาลงทุนจริง ๆ ในโรงงานเลย   “ถ้ามีใครต้องจ่ายหนี้ คนนั้นก็ควรเป็นลูอิซ ซานอง ซึ่งกำลังเจอข้อหาหลีกเลี่ยงภาษีอยู่” โอมาร์ วีญาบลันกาจาก FASINPAT กล่าว
 
ชัยชนะกับการขับไล่
ในขณะที่ชัยชนะของ FASINPAT นำพาความหวังมาสู่สถานประกอบการที่แรงงานกอบกู้กว่า 200 แห่ง ซึ่งดำเนินงานภายใต้การบริหารจัดการด้วยตัวเองของแรงงานในอาร์เจนตินา แต่ก็มีอีกหลายแห่งที่ยังเผชิญหน้ากับการโจมตีทางกฎหมาย  
 
ในเช้าตรู่หลังจากซานองได้ชัยชนะแค่ไม่กี่ชั่วโมง ตำรวจก็เข้าขับไล่คนงานในโรงงาน Textil Quilmes โรงงานด้ายที่คนงานเข้ายึดในกระแสยึดโรงงานระลอกใหม่ใน ค.ศ. 2009 คนงานสี่คนที่เฝ้ายามกลางคืนถูกขับไล่ด้วยวิธีการรุนแรง รัฐบาลท้องถิ่นประจำมณฑลบัวโนสไอเรสกำลังหารือเกี่ยวกับการออกกฎหมายเวนคืนโรงงาน Textil Quilmes และสถานประกอบการอื่นอีกหลายแห่งในมณฑลบัวโนสไอเรส คนงานสิ่งทอออกมาขัดขืนการขับไล่หน้าประตูโรงงาน ระดมกำลังสนับสนุนเพื่อกลับเข้าไปในโรงงานอีก แม้จะมีตำรวจเฝ้าอยู่ก็ตาม คนงานได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายชั่วคราว เนื่องจากกฎหมายเวนคืนได้รับการเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ในสภาผู้แทนราษฎรประจำมณฑล
 
คนงาน Textil Quilmes ยึดโรงงานเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2009 “เราตั้งค่ายหน้าโรงงานเพื่อกันไม่ให้พวกเจ้านายขายเครื่องจักรทิ้ง แล้วคนงานก็ตัดสินใจปฏิบัติการท้าทายซึ่งหน้า เข้ายึดโรงงานและก่อตั้งสหกรณ์”เอดูอาร์โด ซานติญาน กล่าว เขาเป็นคนงานสิ่งทอคนหนึ่งในโรงงานนี้ จากฝ้ายดิบที่ยังเหลืออยู่ในโรงงาน คนงานเริ่มเดินเครื่องผลิตด้ายทันที ตอนที่มีการไล่คนงานออกนั้น มีคนงานทำงานที่โรงงานกว่า 80 คน เช่นเดียวกับเจ้าของธุรกิจทุกคนที่ยื่นล้มละลายทั้งๆ ที่มีคำสั่งซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นตลอดเวลา เจ้าของบริษัท Febatex นายรูเบน บาญานี ติดหนี้ค่าแรงคนงานมาหลายเดือน ทั้งยังไม่ยอมให้คนงานหยุดพักร้อนและไม่จ่ายเงินประกันสังคม คนงานรายงานด้วยว่า เจ้าของคนนี้บังคับให้ลูกจ้างทำงานถึงกะละ 12 ชั่วโมง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายมาเกือบ 100 ปีแล้ว
 
หกเดือนหลังจากคนงานถูกไล่ออก และสหภาพแรงงาน (Sindicato Textil—AOT) ไม่ยอมเข้ามาแทรกแซง คนงาน Textil Quilmes ก็เริ่มเดินสายพานการผลิตอีกครั้ง พวกเขากล่าวหาสหภาพว่าหันหลังให้คนงานตอนที่ถูกไล่ออก แถมตอนนี้ยังไปเจรจาเพื่อประโยชน์ของเจ้านายอีก
 
การยึดสถานประกอบการในอาร์เจนตินาเพิ่มสูงขึ้นเมื่อวิกฤตเศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบต่อประเทศในอเมริกาใต้ โรงงานช็อกโกแลต Arrufat โรงงานขนมหวาน Disco de Oroempanada โรงพิมพ์ Indugraf โรงงานผลิตด้าย Febatex และโรงงานบรรจุเนื้อ Lidercar เข้าร่วมขบวนการสถานประกอบการที่แรงงานกอบกู้ในช่วง ค.ศ. 2008-2009 คนงาน Textil Quilmes ต่อสู้ร่วมกับคนงานโรงงานอื่น ๆ ที่ยึดโรงงานนับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกเพื่อเรียกร้องกฎหมายเวนคืน ยังไม่มีโรงงานไหนที่มีอนาคตทางกฎหมายที่แน่นอน
 
นักวิเคราะห์อิสระหลายคนคาดการณ์ว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในระดับโลกส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงของอาร์เจนตินา อัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้นและความเติบโตของอุตสาหกรรมชะลอตัวลง ในขณะที่ภาคการเงินยังไม่ได้รับผลกระทบ เพราะมันเจอผลกระทบอย่างสาหัสมาแล้วตั้งแต่ปี 2001 กลุ่มคนที่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของอาร์เจนตินากำลังใช้วิกฤตการณ์รอบใหม่นี้เป็นข้ออ้างเพื่อลดขนาดและลอยแพคนงาน โดยมุ่งหวังเงินช่วยเหลือและสินเชื่อจากภาครัฐ
 
ปรากฏการณ์ของสถานประกอบการที่แรงงานกอบกู้จะยังคงขยายตัวต่อไป ขณะที่โลกจมดิ่งลงสู่ภาวะถดถอยในปัจจุบัน นับแต่ปี 2008 มีการยึดโรงงานครั้งใหม่ในอาร์เจนตินาเกือบ 20 โรงงาน นี่อาจเป็นสัญญาณว่าคนงานกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางการเงินของโลกรอบใหม่ด้วยบทเรียนและเครื่องมือที่ได้จากขบวนการยึดโรงงานหลังการล่มสลายทางเศรษฐกิจหลัง ค.ศ. 2001 และการลุกฮือของประชาชน   ทุกวันนี้ มีกิจการที่แรงงานกอบกู้ราว 250 แห่งที่เปิดดำเนินการ มีการจ้างงานกว่า 13,000 ตำแหน่ง ส่วนใหญ่บริหารงานภายใต้การบริหารจัดการด้วยตัวเองของแรงงานมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2002 โรงงานเหล่านี้จึงกลายเป็นขุมคลังที่สั่งสมบทเรียน การทดลอง ยุทธศาสตร์และการเรียนรู้จากความผิดพลาดมาเกือบหนึ่งทศวรรษ
 
คนงานซานองและคนงานอื่นๆ จากขบวนการสถานประกอบการที่แรงงานกอบกู้ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า พวกเขาสามารถทำสิ่งที่เจ้านายไม่สนใจจะทำ นั่นคือ การสร้างงานและการทำงานอย่างมีศักดิ์ศรี นี่คือเหตุผลที่พวกผู้แทนราษฎรในรัฐบาล ผู้นำภาคอุตสาหกรรมและเจ้าของโรงงานจึงปิดปากเงียบ และหลายครั้งก็แสดงออกถึงความเป็นปฏิปักษ์ในประเด็นนี้ เพราะพวกเขากลัวว่าสถานประกอบการเหล่านี้จะเพิ่มมากขึ้นและกลายเป็นตัวอย่างให้ปฏิบัติตาม
 
ที่โรงงานซานอง คนงานมีคำขวัญที่ใช้กันอยู่เสมอว่า “Zanon es del pueblo” หรือ “ซานองเป็นของประชาชน” คนงานตั้งเป้าหมายของการผลิต ไม่ใช่แค่การมีงานทำและมีเงินเดือนสำหรับคนงาน 470 คนเท่านั้น แต่ยังต้องการสร้างงานเพิ่ม บริจาคเงินแก่ชุมชนและสนับสนุนขบวนการสังคมอื่นๆ สำหรับคนงานในสถานประกอบการที่แรงงานกอบกู้ การยึดสถานประกอบการมีความหมายมากกว่ารักษางานของตัวเองไว้ มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อโลกที่ปราศจากการกดขี่ขูดรีด ในขณะที่ชัยชนะของซานองคือย่างก้าวในทิศทางที่ถูกต้อง แต่ยังมีสถานประกอบการอื่นอีกมากมายที่กำลังเผชิญกับคำสั่งขับไล่ ตอนนี้สหกรณ์ FASINPAT สามารถดำเนินการได้อย่างถูกกฎหมายและอาจสนใจแค่การผลิตเซรามิกส์ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ล้มลุกคลุกคลานก็ได้ แต่สหกรณ์ซานองกลับแสดงออกถึงปณิธานที่จะสืบสานต่อไปในการปกป้องสิทธิของคนงานและสิทธิในการบริหารจัดการด้วยตัวเอง ซึ่งหมายถึงการปกป้องงานทุกตำแหน่งของแรงงานตามคำขวัญที่ว่า “si nos tocan a uno, nos tocan a todos” “รังแกพวกเราคนหนึ่ง เท่ากับรังแกพวกเราทุกคน” 
 
*Marie Trigona เป็นนักเขียน ผู้ผลิตรายการวิทยุและนักสร้างภาพยนตร์ในอาร์เจนตินา   เธอกำลังเขียนหนังสือเรื่อง Worker Self-Management in Latin America ซึ่งจะจัดพิมพ์โดย AK Press สามารถติดต่อเธอได้ที่ mtrigona(at)msn.com

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net