โรฮิงยา : 7 เดือนจากระนอง – สวนพลู ..สถานีต่อไปยังไร้ทิศทาง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

16 สิงหาคม 2552 – ต.ม. จังหวัดระนอง

16 สิงหาคม พวกเรา – มูลนิธิศักยภาพชุมชน – เดินทางมาที่ ต.ม.จังหวัดระนอง เพื่อเยี่ยมชาวโรฮิงยา 55 คน ที่ถูกควบคุมตัวอยู่ที่นี่ พวกเขาอยู่ที่นี่มานานกว่า 7 เดือนแล้ว ก่อนหน้าที่เราจะเดินทางออกจากกรุงเทพไม่กี่วัน เราได้รับข่าวที่ไม่สู้ดีนัก มีผู้ต้องขังเสียชีวิตเพิ่มอีกหนึ่งราย รวมเป็นสองรายในรอบ 7 เดือน เกิดอะไรขึ้นที่ ต.ม.ระนอง
เมื่อเรามาถึงเราไม่ได้รับอนุญาตให้เยี่ยมชมบริเวณห้องกักตัว แต่จากการสังเกตจากภาพจากกล้องวงจรปิดพบว่า ห้องที่ใช้ควบคุมตัวชาวโรฮิงยาทั้ง 55 คนนั้นอยู่ในสภาพที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากห้องกักที่ต.ม.นั้นเป็นห้องที่ใช้สำหรับกักตัวเพื่อเตรียมการส่งออกนอกประเทศ ซึ่งโดยปกติไม่ควรใช้เพื่อควบคุมตัวเกิน 1 อาทิตย์ แต่ชาวโรฮิงยาเหล่านี้อยู่มานานกว่า 7 เดือนแล้ว โดยทั่วไปสภาพห้องที่เราสังเกตเห็นถึงแม้ว่าจะมิได้แออัด แต่ก็มีปัญหาในเรื่องของการระบายอากาศ ห้องกักนั้นถึงจะมีช่องลมเพื่อระบายอากาศ หากแต่ก็มีกันสาดบังทิศทางของลมและแสงแดดเอาไว้ ให้เรื่องของการหมุนเวียนของอากาศภายในห้องกักตัวไม่ดี ส่งผลให้เมื่อมีใครสักคนป่วย ก็จะเกิดการติดต่อกันได้อย่างง่ายดาย
หลังจากนั้นเราก็ได้รับอนุญาตให้เยี่ยมผู้ต้องขังชาวโรฮิงยา (หรืออาจจะพูดว่าผู้ต้องขังชาวโรฮิงยานั้นได้รับอนุญาตให้ออกมาพบพวกเราก็ได้) เราพบว่าชาวโรฮิงยาจำนวนหนึ่งมีอาการป่วยจนถึงขั้นกล้ามเนื้ออ่อนแรง เดินไม่ได้ อาการป่วยนี้เกิดจากความอ่อนแอทั้งทางจิตใจที่ไม่รู้ว่าอนาคตตัวเองจะไปทางไหน จะถูกส่งตัวกลับพม่า หรือถูกผลักดันไปยังประเทศที่สาม หรือต้องอยู่ในสภาพนี้อีกนานเท่าไหร่ รวมถึงความเจ็บป่วยทางกายที่เกิดจากการไม่ได้มีโอกาสในการออกกำลังกาย เนื่องจากสถานที่ของต.ม.ระนองค่อนข้างจะคับแคบ แม้ในภายหลังจะมีนโยบายที่ให้ชาวโรฮิงยาเหล่านี้ได้ออกมาออกกำลังกายทุกวันพุธแต่จนถึงวันที่เราไปเยี่ยมพวกเค้าเหล่านี้ก็เพิ่งได้ออกมาออกกำลังกายไปแค่ 3 ครั้งเท่าที่เราสังเกตกลุ่มที่มีปัญหาเรื่องอาการป่วยมากที่สุดจะเป็นกลุ่มของเด็กวัยรุ่น อายุ 14-17 ปี ซึ่งก็น่าจะเป็นเพราะปัจจัยในเรื่องของความเข้มแข็งของจิตใจที่มีผลกระทบต่อไปยังร่างกาย
จากการที่เราได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ที่ ต.ม.ระนอง ก็พบว่ามีปัญหาเรื่องการดูแลไม่ทั่วถึง เนื่องจากจำนวนเจ้าหน้าที่ที่น้อย และเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ดูแลกรณีนี้กรณีเดียว แต่มีภาระหน้าที่ในส่วนอื่นอีก นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องความไม่ชัดเจนของนโยบายว่าทางส่วนกลางจะมีนโยบายต่อผู้ต้องขังกลุ่มนี้อย่างไร ในขั้นต้นนั้นจึงต้องให้ผู้ต้องขังช่วยดูแลกันเองในส่วนหนึ่ง ซึ่งในบางทีการที่ไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึงนั้นก็นำมาซึ่งเรื่องเศร้าอย่างการเสียชีวิตของผู้ต้องขังทั้ง 2 รายจากอาการป่วย (ในรายที่ 2 พบว่ามีการอาเจียนก่อนที่จะเสียชีวิต และได้มีความพยายามที่จะเรียกเจ้าหน้าที่ให้มาช่วยดูอาการแล้ว) ถึงแม้ว่าทางเจ้าหน้าที่เองจะพยายามปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถแล้วก็ตาม
ในวันนั้นเราได้ร่วมพูดคุยกับทางเจ้าหน้าที่ในหลายๆ เรื่อง ทั้งเรื่องของการฟื้นฟูสภาพของผู้ต้องขังที่ป่วย การย้ายผู้ต้องขังจากห้องกักตัวของต.ม.ไปยังสถานที่อื่นที่เหมาะสมในการกักตัวมากกว่า เช่น ค่ายทหารในจังหวัดระนอง หรื่อพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อให้ผู้ต้องขังได้มีพื้นที่เพื่อออกกำลังกาย ได้มีพื้นที่ทำการเกษตร หรือฝึกอาชีพบ้าง เรื่องความช่วยเหลือจากทั้งองค์กรอื่นๆ ภายนอก และชาวบ้านมุสลิมในพื้นที่ การจัดหาหมอเพื่อตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน ผู้พิการทางสายตาที่ยินดีมาช่วยร่วมนวดเพื่อบำบัดผู้ป่วยที่มีปัญหากล้ามเนื้ออ่อนแรง การจัดหาผู้มีความรู้ทางศาสนาเพื่อเข้ามาสอนศาสนาและปลอบประโลมจิต การมาถึงของเดือนรอมฎอน ที่จะเริ่มต้นประมาณวันที่ 21 สิงหาคม ซึ่งทางต.ม.ต้องเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับสภาพร่างกายของผู้ต้องขังที่อาจจะอ่อนแอลง รวมถึงเรื่องที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือการกำหนดนโยบายที่ชัดเจนว่าอนาคตของชาวโรฮิงยากลุ่มนี้จะเป็นอย่างไร จะเดินไปทางไหน เพื่อนำไปสู่การคลี่คลายของปัญหาที่จะเป็นผลดีต่อทุกฝ่าย
วันนั้นเราเดินทางกลับกรุงเทพพร้อมความคาดหวังว่าข้อเสนอของเราจะได้รับการตอบสนองจากฝ่ายกำหนดนโยบาย
20 สิงหาคม 2552 – ต.ม.สวนพลู กรุงเทพ
วันที่ 19 สิงหาคมเราได้รับข่าวดีแต่เช้า ทางต.ม.ได้ทำการย้ายผู้ต้องขังชาวโรฮิงยา จากต.ม.ที่ระนองขึ้นมาที่ ต.ม.สวนพลูแล้ว ถือว่าเป็นความคืบหน้าที่ดี
ตอนสายของวันที่ 20 เราเดินทางไปยัง ต.ม.สวนพลู เนื่องจากวันนี้จะมีการแถลงข่าว ทางต.ม.อนุญาตให้เราและสื่อได้เข้าไปเยี่ยมผู้ต้องขังชาวโรฮิงยาได้ หน้าตาท่าทางของผู้ต้องขังเหล่านี้ดูดีและสดชื่นขึ้นกว่าวันที่เราเจอพวกเขาที่ระนองมาก พื้นที่ที่บริเวณต.ม.สวนพลูมีความเหมาะสมสำหรับกักตัวในระยะเวลานานมากกว่าที่ระนอง มีลานออกกำลังกายเพื่อให้ผู้ต้องขังได้ยืดเส้นยืดสายอยู่บ้าง ที่นี่จะมีหมอจาก JRS(Jesuit Refugee Service) เข้ามาช่วยเหลือดูแลเรื่องของอาการเจ็บป่วย นอกจากนี้ทางสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยยังยินดีส่งหมอนวดตาบอดมาช่วยนวดเพื่อบรรเทาอาการของผู้ต้องขังที่มียังมีอาการเดินไม่ได้ หรือชาตามมือและเท้าอีกด้วย รวมถึงการที่ทาง ต.ม.อนุญาตให้ผู้ต้องขังได้ปฏิบัติศาสนกิจในช่วงเดือนรอมฎอนได้ รวมทั้งอนุญาตให้เพื่อน และพี่น้องกลุ่มองค์กรมุสลิมได้เข้าเยี่ยมเยียนเพื่อปฏิบัติศาสนกิจ และช่วยส่งอาหารได้
แต่นี่คือบทสรุปของทุกอย่างของปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองชาวโรฮิงยาอย่างนั้นหรือ....
วันพรุ่งนี้ และวันต่อๆ ไป
ถึงแม้ว่าจะมีการเคลื่อนย้ายผู้ต้องขังจากระนอง ขึ้นมาที่สวนพลู ที่มีสภาพแวดล้อมที่ดีกว่า แต่สถานกักตัว ต.ม.สวนพลูก็ยังคงเป็นเพียงสถานกักตัวชั่วคราวเพื่อรอการส่งออก ไม่ใช่สถานที่สำหรับควบคุมตัวระยะยาว และก็ยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนออกมาว่าจะกักตัวชาวโรฮิงยากลุ่มนี้ไว้ที่นี่อีกนานแค่ไหน น่าเป็นห่วงว่าถ้ายังคงต้องถูกกักตัวอยู่ที่นี่ต่อไปอีกเป็นเวลานาน ปัญหาทางด้านสภาพจิตใจที่เคยเกิดขึ้นเมื่อตอนที่ผู้ต้องขังอยู่ที่ระนองอาจจะกลับมาอีก ทางมูลนิธิของเราจึงได้มีข้อเสนอขึ้นไปทางเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการพิจารณาย้ายสถานที่ควบคุมตัวไปยังที่ที่มีอาณาเขตกว้างขวางกว่านี้ เช่นที่โรงเรียนพลตำรวจบางเขน เพื่อให้มีพื้นที่ในการออกกำลังกาย ทำการเกษตร หรือฝึกอาชีพ ในช่วงที่รอนโยบายที่ชัดเจน และควรมีการประสานไปยังองค์กรระหว่างประเทศ เช่น UNHCR IOM IRC รวมถึงสถานทูตต่างๆ ที่ยินดีสนับสนุนเรื่อง เพื่อสนับสนุนและ/หรือให้ความช่วยเหลือด้านงบประมาณสำหรับการการดูแลชาวโรฮิงยาแก่รัฐบาลไทย ในช่วงที่ยังรอนโยบาย
นอกจากนี้เรื่องที่สำคัญอีกเรื่องคือ ชาวโรฮิงยากลุ่มนี้คงมิใช่ชาวโรฮิงยากลุ่มสุดท้ายที่จะเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย คาดว่าในปีนี้จะมีชาวโรฮิงยาที่หลบหนีเข้าเมืองทั้งทางเรือ และทางบกอีก รัฐบาลไทยต้องเตรียมพร้อม และหามาตรการตั้งรับที่ดี เคารพสิทธิมนุษยชน และโปร่งใส รวมทั้งต้องพยายามประสานกับภาคส่วนต่างทั้งระดับอาเซียน และจากประชาคมโลกในการช่วยเหลือกันแก้ปัญหา เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่รัฐบาลไทยต้องใส่ใจ ต้องมีนโยบายชัดเจน และควรเป็นผู้นำในการแก้ปัญหาเรื่องชาวโรฮิงยา ในประชาคมอาเซียน ไม่ใช่เพื่อรับผิดชอบในฐานะจำเลย แต่ในฐานะที่ไทยเป็นผู้รับภาระผู้ลี้ภัยมากกว่าประเทศใดๆ ในภูมิภาคนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท