เจอเธอแล้ว! ดา ตอร์ปิโด หน้า 5 นิวยอร์กไทมส์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

แปลและเรียบเรียงจาก
There She Was: Daranee Charnchoengsilpakul on The New York Times
http://www.prachatai.com/english/node/1377

 

ในหน้า A5 ของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ ฉบับวันที่ 29 สิงหาคม 2552 มีภาพขาวดำขนาดประมาณ 1x1 นิ้ว ของหญิงคนหนึ่ง เธอกำลังยิ้ม ตั้งท่าราวกับหญิงงามในภาพวาดอันโด่งดังของ เลโอนาร์โด ดา วินชี --โมนา ลิซ่า

แต่สิ่งที่ออกจะต่างกันอยู่สักหน่อยคือ เธอผู้นี้เพิ่งถูกตัดสินจำคุกถึง 18 ปีในข้อหา ดูหมิ่นกษัตริย์!

ใช่แล้ว เธอคือ ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือที่รู้จักกันดีในนาม “ดา ตอร์ปิโด”

“ประเทศไทย: หมิ่นกษัตริย์ -- ถูกจำคุก 18 ปี” คือพาดหัวข่าวของรายงานข่าว ยาวสองย่อหน้าของ The New York Times ชิ้นนี้ ซึ่งเขียนโดยโทมัส ฟูลเลอร์ ผู้สื่อข่าวประจำประเทศไทย

(คุณสามารถอ่านข่าวเวอร์ชั่นออนไลน์ได้ที่ http://www.nytimes.com/2009/08/29/world/asia/29thai.html?_r=4)

“นักเคลื่อนไหวทางการเมืองถูกตัดสินจำคุก 18 ปีเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ในข้อหาทำลาย “ชื่อเสียงและเกียรติยศ” ของกษัตริย์และราชินีไทย ซึ่งคดีนี้เป็นหนึ่งในอีกหลายคดีที่เกี่ยวกับการดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์ ผู้พิพากษาทั้งสามคนกล่าวว่า ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ผู้ซึ่งเป็นอดีตนักข่าว ได้กล่าวพาดพิงถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ . . . [ผู้เขียนเซ็นเซอร์คำออกหนึ่งคำ เพื่อหลีกเลี่ยงข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ] . . . รัฐประหารเพื่อล้มอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ซึ่งดารณีกล่าวว่า เธอจะยื่นอุทธรณ์

“ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เข้มงวดมาเป็นเวลายาวนาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีวิกฤติทางการเมืองในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผนวกกับความกังวลถึงพระพลานามัยของกษัตริย์ผู้ทรงเจริญพระชนมายุ 81 พรรษา กฎหมายนี้ก็ถูกนำมาบังคับใช้บ่อยจนเป็นเรื่องปกติ”

เมื่อได้อ่านข่าวนี้แล้ว คุณผู้อ่านที่รักเห็นว่าอย่างไรบ้าง

เพื่อนของผู้เขียนคนหนึ่ง ซึ่งเป็นหญิงชาวอเมริกันผิวขาว จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นแนวหน้าของสหรัฐฯ กล่าวว่า ข่าวของดาทำให้เธอนึกถึงประเทศเกาหลีเหนือ

“มันตลกมาก . . . ฉันหมายความว่า มันทำให้ฉันขนลุก ในยุคนี้ เธอไม่น่าต้องเข้าคุกถึง 18 ปีเพราะการดูหมิ่นกษัตริย์”

“ล้าหลัง . . .”

“มันไร้สาระจริงๆ . . .”

“ยุคมืด . . . มันบั่นทอนประชาธิปไตย”

เธอขอที่จะไม่เปิดเผยชื่อ (เพื่อที่เธอจะได้มาพักผ่อนในช่วงวันหยุดในประเทศไทยได้อย่างไม่มีปัญหา)

คนต่อมา: เพื่อนร่วมงานหญิงชาวนิวซีแลนด์

“มันเป็นการทำเรื่องเล็กให้กลายเป็นเรื่องใหญ่ ฉันคิดว่า มันเป็นเรื่องน่าขัน และมันก็ได้ทำให้ประเทศไทยดูแย่มากๆ ในตอนนี้ ถ้า [มีกฎหมายอย่างนี้] ในประเทศอังกฤษ คนกว่าครึ่งประเทศคงต้องเข้าคุกไปแล้วกระมัง ฉันสงสัยว่า การมีกฎหมายแบบนี้ ราวกับว่าพวกเขา . . . [ผู้เขียนเซ็นเซอร์คำพูดของเธอออกไปสามคำ] . . .. เบื้องหลัง ถ้าพวกเขาเป็นกษัตริย์ที่ดีและเป็นบุคคลที่น่าเคารพยกย่อง ก็ไม่สำคัญเลยว่าใครจะพูดอะไร
มันเหมือนกับว่า . . . [ผู้เขียนเซ็นเซอร์คำไปสี่คำ] . . . ซ่อนอยู่”

เพื่อนร่วมงานชาวเม็กซิกันอีกคนหนึ่งกล่าวว่า
“ฉันคิดว่า มันเป็นเรื่องน่าอดสู จากมุมมองของตะวันตก มันเป็นความอัปยศอดสูของคนไทยที่ไม่สามารถพูด ... [ผู้เขียนเซ็นเซอร์คำหนึ่งคำ] ... ที่ได้รับรู้มาได้ และทำให้คำพูดเหล่านั้นเป็นที่รับรู้มากขึ้น พวกเขาจะทำลายตัวเองเพราะแบบนี้ การทำเช่นนี้ทำให้คำวิพากษ์วิจารณ์เหล่านั้นมีพลังยิ่งขึ้น มันกลายเป็นรูปแบบหนึ่งของการควบคุมทางสังคมไปแล้ว”

แต่ถ้าในที่สุดแล้ว ดาเลือกที่จะขอพระราชทานอภัยโทษ ดาก็ได้รับโทษจำคุกไปถึงหนึ่งปีแล้วใช่หรือไม่

เราต้องพิจารณาว่า กรณีของดายังคงทำให้อีกหลายๆ คนคิดว่า กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นอุปสรรคต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และความเท่าเทียมภายใต้กฎหมายของระบอบ “ประชาธิปไตย” และมีผลเสียต่อความสามารถในการแสดงความคิดเห็น คิด พูด และเขียนของคนไทยมากน้อยแค่ไหน

หากถามต่อว่า กฎหมายหมิ่นบรมเดชานุภาพมีผลกระทบต่อสมองส่วนไหนของคนไทย นั่นก็คงต้องให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองเป็นผู้ตอบ แต่ถ้าถามคนไทยผู้มีใจรักเสรีภาพ รักการแสดงความคิดเห็นและความเท่าเทียมแล้วล่ะก็ พวกเขาคงต้องตอบว่า มัน “ทำร้าย” จิตวิญญาณของพวกเขาอย่างมาก

แม้ว่าบางสิ่งที่ดาพูดอาจจะหยาบคาย และอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด หากแต่อนาคตจะเป็นเช่นไร ถ้าคนในสังคมถูกปิดปากและกดขี่ด้วยกฎหมายเช่นนี้

กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ยิ่งทำให้ความกลัวฝังรากลึกลงในสังคมไทย และยิ่งทำให้สถาบันกษัตริย์ถูกเชิดชูยกย่องอย่างไม่ลืมหูลืมตา ซึ่งประชาชนไทยควรถามตัวเองว่า นี่คือสิ่งที่เขาสามารถหรือควรที่จะภูมิใจหรือไม่

ใครจะสามารถภูมิใจที่ประเทศเรามีกฎหมายอย่างนี้ได้ กฎหมายที่มีบทลงโทษรุนแรงเช่นนี้ ทำให้ประชาธิปไตยของไทยก้าวหน้าได้หรือ และกฎหมายนี้ได้ส่งผลเสียต่อการคิดวิเคราะห์ของคุณใช่หรือไม่

 

ประวิตร โรจนพฤกษ์ ได้ทุนจาก Kettering Foundation เพื่อไปทำวิจัยเรื่องประชาธิปไตยแบบเสวนาหาทางออก ณ เมือง Dayton รัฐ Ohio ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

**แก้ไขล่าสุดเมื่อ 02.43 น. 3/09/2552**

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท