ย้ำ !! กทช.มีอำนาจเต็มถอน-พักใบอนุญาตไอเอสพี ไม่ปิดกั้นเว็บไม่เหมาะสม

(3 ก.ย.) ร.ต.หญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง"การบูรณาการตรวจสอบและดำเนินการปิดกั้นเว็บไซต์ที่ ไม่เหมาะสมและผิดกฎหมาย" ว่า ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องการปิดกั้นเว็บไซต์ ดังนั้นจำเป็นต้องระดมสมองและทำความเข้าใจร่วมกัน เพื่อร่วมมือผลักดันและขัดเคลื่อนการดูแลสังคมออนไลน์ และจะทำงานใกล้ชิดกับคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ให้มากยิ่งขึ้น เพราะกทช.เป็นผู้ให้ใบอนุญาตประกอบกิจการผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเกตเวย์
“ลำพังไอซีที ทำงานปิดเว็บไซต์คนเดียวไม่ได้ เพราะต้องมีหลายหน่วยงานมาช่วยกัน โดยเฉพาะเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม ที่กระจายอยู่บนโลกอินเทอร์เน็ตอย่างรวดเร็ว รวมถึงเว็บไซต์ที่บ่อนทำลายความมั่นคงประเทศ ไม่ว่าจะเป็นชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ดังนั้นทุกฝ่ายต้องช่วยกันอย่างเข้มข้น” รมว.ไอซีที กล่าว

ร.ต.หญิงระนองรักษ์ กล่าวว่า จากกรณีดังกล่าว กระทรวงไอซีทีจึงดำเนินโครงการ “ศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังภัยคุกคามการกระทำความผิดด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ” เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายและรองรับนโยบายด้านความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศ ด้วยการดูแลปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ยังมีการจัดศูนย์ปฏิบัติความปลอดภัยอินเทอร์เน็ต (Internet Security Operation Center : ISOC) เพื่อกำหนดกรอบนโยบาย แนวการดำเนินงาน และมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ผิดกฎหมายหรือไม่เหมาะสม ตลอดจนเป็นศูนย์กลางประสานความร่วมมือเพื่อรับแจ้งการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ไม่เหมาะสม เพียงแจ้งผ่านสายด่วน 1212

ร.ต.หญิงระนองรักษ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังบูรณาการแนวทางดำเนินงานของทุกภาคส่วน ร่วมกับผู้ประกอบการการให้บริการอินเทอร์เน็ตและผู้ให้บริการเกตเวย์ประมาณ 100 บริษัท สมาคมอินเทอร์เน็ตไทย สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ รวมถึง สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกรมสอบสวนพิเศษ เพื่อตรวจสอบและปิดกั้นเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมหรือผิดกฎหมาย โดยมี พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันตชัย รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นประธานคณะทำงานฯ และเปิดโอกาสให้ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 180 คน ร่วมสัมมนาในหัวข้อดังกล่าว เพื่อระดมความคิดเห็นและเสนอแนะแนวทางในการแก้ปัญหา พร้อมทั้งกำหนดนโยบายและหลักเกณฑ์ในการปิดกั้นเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม

ด้าน พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันตชัย รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะประธานคณะทำงานบูรณาการการดำเนินการปิดกั้นเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมและผิดกฎหมาย กล่าวว่า ปัจจุบันเว็บไซต์ที่เป็นอันตรายมากคือ เว็บไซต์การพนัน เพราะทำให้คนเข้าถึงง่ายที่สุด ดังนั้นทุกฝ่ายควรจะเข้ามาดูแลอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะ กทช.ที่มีอำนาจเต็มในการดูแล เพราะสามารถถอนใบอนุญาต พักใบอนุญาต และอื่นๆ ตามประกาศของ กทช. ได้ แต่ที่ผ่านมาไม่ได้ดำเนินการ ใด โดย กทช.แจ้งว่าไอซีที ไม่เคยแจ้งข้อมูลว่ามีไอเอสพีรายใดเกี่ยวข้องกับเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม จึงไม่สามารถดำเนินการใดได้ แต่จากนี้ไปทำให้จะมีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิด เพื่อควบคุมและสกัดกั้นเว็บไซต์ไม่เหมาะสม ปัจจุบันมีไอเอสพีที่ได้รับใบอนุญาตจาก กทช. 100 รายมีผู้ได้รับใบอนุญาตอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ 10 ราย ดังนั้นจากนี้ไปถ้ามีคำสั่งศาลให้ปิดกั้นเว็บไซต์แล้ว แต่ไอเอสพีนั้นๆ ยังปล่อยให้มีข้อความอยู่บนเว็บอีก ก็จะให้ กทช.จัดการขั้นเด็ดขาดตามประกาศของ กทช.

พ.ต.อ.สุชาติ กล่าวต่อว่า การแก้ปัญหาเว็บไซต์ไม่เหมาะสม ไอซีทีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องสร้างเครื่องมือในการคัดกรองเว็บไซต์ ซึ่งจำนวนเงินลงทุนอยู่ที่ประมาณ 100 ล้านบาท เครื่องมือดังกล่าวมีใช้ในสหรัฐอเมริกาและอิสราเอลแล้ว ซึ่งขณะนี้ ดีเอสไอ ได้นำร่องสร้างเครื่องมือคัดกรองดังกล่าวแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ ซึ่งเชื่อมั่นว่าเครื่องมือคัดกรองดังกล่าวจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการปราบปรามให้ดีกว่าปัจจุบันถึง 90 %

 

เรียบเรียงจาก เว็บไซต์ไทยรัฐ (1,2) และเว็บไซต์เดลินิวส์
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท