จากปรัสเซียถึงเยอรมนี : การปรับตัวของกลุ่มอนุรักษนิยมเพื่อธำรงอำนาจนำ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
 
ชื่อบทความเดิม
การปรับตัวของกลุ่มอนุรักษนิยมเพื่อธำรงอำนาจนำ :
จากศักดินาปรัสเซียถึงจักรวรรดิเยอรมนี ในคริสตศตวรรษที่ 19
 
 
 
            ท่ามกลางการต่อสู้ทางสังคมที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดในประวัติศาสตร์นั้น มีคำถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่พลังอนุรักษนิยมจะแอบแฝงกลมกลืนเข้ามาใช้แนวทางที่ทันสมัยเพื่อธำรงอำนาจนำในการปกครองและขมขี่ประชาชนของตนเองไว้ให้เหมือนกับในอดีต หากพิจารณาแล้วก็คงต้องตอบว่าได้ และมีผู้ประสบความสำเร็จมาแล้ว โดยจะขอยกตัวอย่างเรื่องของประเทศเยอรมนีตั้งแต่การรวมประเทศในช่วงคริสต์ศตวรรษที่19ถึงการล่มสลายของจักรวรรดิเยอรมนีในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เสียเล็กน้อย
 
 
ก.ประวัติศาสตร์เยอรมนี ยุคศักดินาก่อนรวมประเทศ
            ก่อนยุคศตวรรษที่ 19 นั้น ประเทศเยอรมนียังมิได้รวมเป็นหนึ่งเดียวกันแต่ว่าแตกแยกเป็นแคว้นศักดินาขนาดเล็กจำนวนมากซึ่งมารวมตัวกันหลวมๆ ภายใต้ร่มธงของอดีตจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งกลายเป็นสหพันธรัฐเยอรมนีภายหลังยุคนโปเลียนเข้ายึดครองพื้นที่ประเทศเยอรมนี โดยแต่ละแว่นแคว้นนั้นก็มีเจ้าศักดินาปกครองอยู่แยกกันโดยอิสระ  (บางแคว้นผู้ปกครองก็มิใช่คนเยอรมันเองด้วยซ้ำ ยกตัวอย่างเช่นแคว้นฮันโนเวอร์ซึ่งถูกปกครองโดยราชวงศ์อังกฤษ เป็นต้น)
 
สภาพเศรษฐกิจในแว่นแคว้นเหล่านั้นส่วนใหญ่ก็เป็นระบบศักดินาอย่างชัดเจน กล่าวคือประชาชนเป็นไพร่ติดที่ดินที่ต้องคอยส่งส่วยให้กับเจ้าศักดินาเหล่านี้ โดยแคว้นศักดินาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดก็คือแคว้นปรัสเซีย (Prussia ตั้งอยู่ค่อนไปทางตะวันออกของเยอรมนีในปัจจุบัน) และแคว้นออสเตรีย (Austria มีอาณาเขตรวมออสเตรียในปัจจุบัน อิตาลีบางส่วน อดีตยูโกสลาเวียบางส่วน ฮังการี และสาธารณเช็คบางส่วน) ซึ่งต่างก็พยายามจะแย่งชิงความเป็นใหญ่ในพื้นที่ประเทศเยอรมนีและบริเวณยุโรปตะวันออกในปัจจุบันกันอยู่ตลอดเวลา  
 
โดยศักดินาออสเตรียนั้นแต่เดิมได้เปรียบกว่า เพราะมีพื้นที่ใหญ่กว่าและราชวงศ์ฮับส์บวร์กผู้ปกครองออสเตรียนั้นได้รับสืบทอดตำแหน่ง “จักรพรรดิแห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์” อันเป็นตำแหน่งผู้ปกครองจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์เป็นอาณาจักรโบราณของชาวเยอรมนีซึ่งถือตนสืบต่อมาจากอาณาจักรคาโรลิงเจียน (Carolingian) โบราณ ของพระเจ้าชาร์ลเลอมาญ (Charlemange) หรือพระเจ้าคาร์ลผู้ยิ่งใหญ่ (Karl the great) มิได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับจักรวรรดิโรมันโบราณในอิตาลี จักรวรรดินี้เกิดจากการรวมตัวอย่างหลวมๆ ของแคว้นต่างๆ ในเขตเยอรมนี ออสเตรีย สวิตเซอร์แลนด์ และบางส่วนของอิตาลี โดยการจัดการของศาสนจักรโรมันแคธอลิคที่หวังจะเอาแคว้นเหล่านี้มาอยู่ภายใต้อาณัติศักดินาของตน แต่ว่าต่อมาแว่นแคว้นเหล่านี้ก็มีอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองมากขึ้น ทำให้ค่อยๆ หลุดพ้นจากอำนาจของศาสนจักรโรมันแคธอลิค จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์จึงค่อยๆ หมดความหมายไปในช่วงคริสตศตวรรษที่ 14-15 จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ถูกยุบอย่างเป็นทางการโดยนโปเลียนในปี ค.ศ.1806 แต่ออสเตรียยังคงครอบครองมงกุฎและเครื่องราชกกุฏภัณฑ์ของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์อยู่จนถึงปัจจุบัน จึงเป็นข้ออ้างสำคัญของศักดินาออสเตรียในการถือสิทธิชอบธรรมในการรวมประเทศเยอรมนี)  
 
ส่วนศักดินาปรัสเซียนั้นแม้จะมีพื้นที่เล็กกว่า แต่มีการปรับตัวตามยุคสมัย โดยเฉพาะสมัยคริสต์ศตวรรษที่18 พระเจ้าเฟรเดอริคมหาราช (Friedrich II) แห่งปรัสเซียพยายามปรับปรุงเปลี่ยนแปลงจากศักดินาเต็มรูปแบบเป็นระบบสมบูรณาญาสิทธิราชที่มีโครงสร้างอมาตยาธิปไตยค้ำจุน และพยายามนำเอาความรู้วิทยาศาสตร์และเศรษฐกิจจากในฝรั่งเศส อิตาลี และที่อื่นๆ ในยุโรปมาปรับปรุงแคว้นและอำนาจรัฐของตน ตัวอย่างเช่น พระองค์ต้อนรับวอลแตร์ (Voltaire นักคิดคนสำคัญของฝรั่งเศสในยุคก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส) เข้ามาอยู่ในราชสำนักของพระองค์ ทำให้แคว้นปรัสเซียมีความเข้มแข็งมากขึ้นและกลายเป็นแคว้นสำคัญแคว้นหนึ่งในยุโรปไม่แพ้แคว้นอื่นๆ
 
 
 
รูปที่ 1 แผนที่แคว้นศักดินาต่างๆ ในบริเวณประเทศเยอรมนีปัจจุบันช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19
รัฐที่มีความสำคัญได้แก่อาณาจักรปรัสเซีย (สีน้ำเงินเข้ม) และอาณาจักรออสเตรีย (สีเขียวขี้ม้า)
อ้างอิงจาก World History at KMLA historical atlas
 
 
 
ณ ห้วงเวลาเดียวกันนั้นเอง อังกฤษ และฝรั่งเศสก็ได้เริ่มก้าวเข้าสู่ยุคทุนนิยม โดยอังกฤษได้ก้าวเข้าสู่ทุนนิยมเต็มตัวตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมในคริสตศตวรรษที่ 18 การเมืองก็เข้าสู่ยุคประชาธิปไตยชนชั้นนายทุน ในขณะที่ฝรั่งเศสนั้น การเมืองได้เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่โดยการปฏิวัติฝรั่งเศสที่เริ่มมาตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่18 จนในที่สุด นโปเลียนก็ขึ้นเถลิงอำนาจเป็นกงสุลคนที่ 1 ตั้งตัวเป็นจักรพรรดิ โดยการสนับสนุนของนายทุนอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมในฝรั่งเศส ได้สร้างกองทัพอันเกรียงไกรซึ่งทำให้ศักดินาใหญ่ในยุโรปทุกแว่นแคว้นต้องระย่นย่อ แม้ว่าจักรวรรดิฝรั่งเศสภายใต้การนำของนโปเลียน จะต้องพ่ายแพ้ให้กับการรวมกำลังของอังกฤษ ศักดินาปรัสเซีย ศักดินาออสเตรีย และศักดินารุสเซีย ในการยุทธ์ที่วอร์เตอร์ลู แต่คุณค่าที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งของการปฏิวัติฝรั่งเศสและการขยายอำนาจของนโปเลียนคือ ได้จุดประกายความหวังของประชาชนในแว่นแคว้นต่างๆ ทั่วยุโรปว่า โอกาสที่จะหลุดพ้นจากศักดินานั้น มิใช่เรื่องของความฝันอีกต่อไป ทั้งที่ในยุคนั้น เยอรมนี และประเทศในทวีปยุโรปที่อยู่ทางตะวันออกของเยอรมนีนั้น ไม่เคยรู้เลยว่า มีระบบที่ก้าวหน้ากว่าระบบศักดินาดำรงอยู่ในโลก  
 
 
ข. กระแสความเปลี่ยนแปลงในเยอรมนียุคคริสตศตวรรษที่ 19
การลุกขึ้นสู้ของประชาชนในเยอรมนี ค.ศ.1848
และการฉวยโอกาสเกาะกระแสการเปลี่ยนแปลงของศักดินาปรัสเซีย
หลังจากยุคนโปเลียนแล้ว เหล่าศักดินาในยุโรปนำโดยเจ้าชายเมตเตอร์นิค เสนาบดีแห่งจักรวรรดิศักดินาออสเตรีย ได้ทำความตกลงกับรุสเซีย ปรัสเซีย และอังกฤษในสมัชชาเวียนนา (Congress of Vienna) ค.ศ.1815 ให้ยุโรปหวนคืนสู่ “สภาพเดิม” (Status quo) โดยฟื้นฟูระบบสมบูรณาญาสิทธิราชของศักดินาราชวงศ์บูรบองขึ้นใหม่อีกครั้งในฝรั่งเศส และคืนสภาพให้ยุโรปกลับไปเหมือนยุคก่อนการปฏิวัติ ค.ศ.1789 โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญต้องการให้ยุโรปดำรงอยู่ใน “สภาพเดิม” ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้อำนาจในการปกครองและอำนาจทางเศรษฐกิจนั้นตกอยู่กับพวกศักดินาเหมือนดังที่เคยเป็นมาในอดีต
 
ทว่าความพยายามเหล่านั้นไม่ประสบความสำเร็จ ในฝรั่งเศส ราชวงศ์บูรบองถูกโค่นล้มลงจากอำนาจอีกครั้งหนึ่งในการปฏิวัติเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1830 เนื่องจากพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 10 แห่งราชวงศ์บูร์บองพยายามฟื้นฟูอำนาจและทรัพย์สินของบรรดาขุนนางและศาสนจักรโรมันแคธอลิคที่ถูกริบไปในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส (ในยุคก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศสปี ค.ศ.1789 นั้น ที่ดินและสิทธิในการทำกินในที่ต่างๆ เกือบทั้งหมดในฝรั่งเศสตกเป็นของกษัตริย์ เชื้อพระวงศ์ ขุนนาง และศาสนจักรโรมันแคธอลิค ชาวนาได้แต่เป็นผู้เช่าที่ทำนาซึ่งต้องปันผลผลิตให้กับเจ้าที่ดินเหล่านั้นในบางครั้งถึงครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว ในขณะที่ชนชั้นพ่อค้าและช่างฝีมือล้วนต้องรับภาระค่าอากรมากมาย ทำให้ชนชั้นอื่นต่างเคียดแค้นกษัตริย์ เชื้อพระวงศ์ ขุนนาง และศาสนจักรโรมันแคธอลิคอย่างมหาศาล) รวมถึงพยายามจำกัดสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนาโดยบังคับให้ทุกคนต้องนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันแคธอลิค
จากเหตุการณ์นี้ ฝรั่งเศสจึงเปลี่ยนแปลงระบบจากสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ มีรัฐสภา (แต่ว่าเฉพาะชนชั้นกลางและชนชั้นสูงซึ่งมีรายได้ถึงระดับที่กฎหมายกำหนดจึงจะมีสิทธิเลือกตั้ง) และดยุคแห่งออร์เลยองได้ขึ้นเสวยราชสมบัติในนามพระเจ้าหลุยส์-ฟิลลิป ในฐานะตัวแทนกลุ่มนายทุนการเงิน แต่ว่าจากการปกครองโดยระบบข้าราชการที่เหี้ยมโหด ขูดรีดภาษีเอากับประชาชนทุกชนชั้น จนเกิดสภาพเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง และการกีดกันมิให้ชนชั้นล่างที่มีรายได้น้อยสามารถมีสิทธิเลือกตั้งได้
 
ทำให้ในที่สุดเกิดการเคลื่อนไหวของมวลชนครั้งใหญ่ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ.1848 ซึ่งนำโดยชนชั้นกลางระดับล่างเพื่อเรียกร้องให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิเลือกตั้งได้เท่าเทียมกัน และให้คืนเสรีภาพในการวิจารณ์รัฐบาลหลังจากถูกทำลายไปในยุคราชวงศ์บูร์บอง จนสามารถโค่นล้มรัฐบาลพระเจ้าหลุยส์-ฟิลลิปได้ในที่สุด (ถึงแม้ว่ากลุ่มผู้จงรักภักดีต่อราชวงศ์บูร์บอง นโปเลียน พระเจ้าหลุยส์-ฟิลลิป จะจับมือรวมกันมาโค่นล้มกลุ่มปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ได้สำเร็จในเวลาต่อมาเพราะกลุ่มปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลที่เข้มแข็ง มีวินัย และมีเอกภาพพอที่จะบริหารประเทศได้)
 
จากฝรั่งเศส กระแสของการปฏิวัติเพื่อโค่นล้มชนชั้นสูงได้แพร่กระจายไปทั่วยุโรปอย่างรวดเร็วประดุจไฟลามทุ่ง เนื่องจากประชาชนในยุโรปต่างก็ต้องการโค่นล้มอำนาจเก่าที่กดขี่พวกตนมาเป็นระยะเวลายาวนาน อย่างเช่นในกรณีของเยอรมนีนั้น กระแสการรวมชาติก็กระหึ่มขึ้นทั่วทุกแว่นแคว้น เพราะประชาชนต่างรู้สึกเคียดแค้นชิงชังกับระบบศักดินาที่กดขี่พวกเขามาตั้งแต่สิ้นสุดยุคทาสของจักรวรรดิโรมัน และรู้สึกว่ามีเพียงการรวมชาติและการพัฒนาประเทศให้ทันสมัยเท่านั้น ประชาชนเยอรมนีจึงจะสามารถลืมตาอ้าปากขึ้นได้ ซึ่งในเวลานั้นการรวมชาติเยอรมนีนั้นมีรากฐานสนับสนุนอยู่พอสมควรแล้ว ได้แก่
 
·         การเติบโตของทุนนิยมทั้งอุตสาหกรรมและการเงิน โดยเฉพาะฟากตะวันตกของเยอรมนี ซึ่งเป็นแรงขับดันให้เกิดการรวมชาติโดยกลุ่มนายทุนเหล่านี้ เพราะกลุ่มทุนเหล่าต้องการเข้าถึงแหล่งทรัพยากร ตลาด และแรงงานในแว่นแคว้นต่างๆได้โดยง่าย
 
·         ระบบศุลกากรร่วม (Zollverein) ซึ่งถูกจัดตั้งทำให้สินค้าที่เดินทางผ่านแคว้นศักดินาต่างๆ ในเยอรมนีไม่ต้องผ่านด่านศุลกากรระหว่างแคว้นเพื่อเสียภาษี การดำเนินการเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นโดยการผลักดันร่วมกันของกลุ่มนายทุนในเยอรมนีเพื่อขยายตลาดสินค้าในประเทศ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว กับปรัสเซียซึ่งต้องการใช้ระบบศุลกากรร่วมเป็นเครื่องมือในการรวมประเทศเยอรมนีภายใต้การนำของตน (ออสเตรียพยายามสร้างระบบที่คล้ายคลึงกันแต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่า จึงต้องเลือกเข้ามารวมกับระบบศุลกากรร่วมของปรัสเซีย ก่อนที่จะแยกออกมาในภายหลังอีกครั้งเมื่อปรัสเซียสามารถรวมชาติเยอรมนีได้สำเร็จ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจของอาณาจักรออสเตรียนั้นมีการพัฒนาระบบทุนนิยมน้อยมากเมื่อเทียบกับรัฐอื่นๆในยุโรป)
 
·         ความพยายามที่จะรวมชาติกันในด้านวัฒนธรรม ภาษา และเชื้อชาติในนามลัทธิมหาเยอรมัน (Pan-Germanism) ซึ่งได้มีผลงานต่างๆ ที่เป็นการรวมรวมเอาวัฒนธรรม และภาษาของแว่นแคว้นต่างๆ เข้าเป็นอัตลักษณ์ของชาวเยอรมัน ในช่วงศตวรรษที่19 เริ่มตั้งแต่งานรวบรวมเทพนิยายโบราณเรื่อง “เขาวิเศษแห่งเยาวภาพ” (Des Knaben Wunderhorn) โดย ลุดวิก อาคิม ฟอน อาร์นิม(Ludwig Achim Von Arnim) และเคลเมนส์ เบรตาโน (Klemens Brentano) ในปี ค.ศ.1805 และงานเรื่อง “นิทานกริมม์”(Grimm’s Fairy tales) ของสองพี่น้องตระกูลกริมม์ (Brothers Grimm) อันโด่งดัง ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญสุดคือ เพื่อรวบรวมเอาวรรณกรรมของแต่ละท้องถิ่นเข้ามาเป็น “วรรณกรรมเยอรมัน” และงานเขียนเกี่ยวกับตัวภาษาเยอรมนีจำนวนมาก เช่น ประวัติศาสตร์ภาษาเยอรมนี (History of the German Language) พจนานุกรมภาษาเยอรมัน (German dictionary) และไวยากรณ์ภาษาเยอรมัน (German grammar) ซึ่งงานเหล่านั้นล้วนมุ่งทำให้ภาษาในแต่ละท้องที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของ “ภาษาเยอรมัน”
 
เมื่อเกิดการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1848 ขึ้นในฝรั่งเศส กระแสดังกล่าวก็ได้แพร่ขยายเข้ามายังเยอรมนีอย่างรวดเร็วตามรัฐต่างๆ ประชาชนต่างเรียกร้องรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการนับถือศาสนา กระแสดังกล่าวแพร่ขยายไปรวดเร็วทั่วทุกรัฐ เกิดการรวมตัวกันของประชาชนออกไปแสดงพลังตามที่ต่างๆ หรือแม้กระทั่งการจัดตั้งเป็นกองกำลังของประชาชนในแต่ละพื้นที่ศักดินา ซึ่งการเคลื่อนไหวเหล่านี้ก็ได้พัฒนามาจนมีการตั้งสมัชชาแห่งชาติ (National Assembly) ซึ่งมีกลุ่มปัญญาชนในขบวนการเคลื่อนไหวต่างๆ เป็นแกนหลัก มีที่ตั้งที่เมืองแฟรงค์เฟิร์ท โดยมีความประสงค์จะร่างรัฐธรรมนูญที่ใช้รวมแว่นแคว้นต่างๆ เข้าเป็นประเทศเยอรมนีที่เป็นปึกแผ่นภายใต้ระบอบประชาธิปไตย
 
 
 
รูปที่ 2 ภาพ Germania เป็นภาพบุคลาธิษฐาน (Personification) ของประเทศเยอรมนี วาดโดยฟิลลิป ไฟท์(Philipp Veit) ในเดือนมีนาคม ค.ศ.1848 เป็นสัญลักษณ์ของการลุกขึ้นสู้ของชาวเยอรมนีใน ค.ศ.1848 ดาบในมือนางชื่อ Joyeux เป็นดาบของพระเจ้าชาร์เลอมาญ (Charlemange) หรือพระเจ้าคาร์ลผู้ยิ่งใหญ่ (Karl the great) กษัตริย์พระองค์สำคัญที่เป็นต้นรากของอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire) อันเป็นรากเหง้าของเยอรมนีอีกต่อหนึ่ง ตรานกอินทรี 2 หัวที่หน้าอกของนาง เป็นสัญลักษณ์ประจำอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์เช่นกัน ในขณะที่ธงที่ถือในมือนั้นเป็นธงชาติเยอรมนีที่ถูกเสนอขึ้นในช่วง ค.ศ.1848 และกลายเป็นธงชาติในปัจจุบันของเยอรมนี ภาพดังกล่าวได้ถูกแขวนในสมัชชาแห่งชาติเยอรมนี ณ เมืองแฟรงค์เฟิร์ทในช่วง ค.ศ.1848-1849 อีกด้วย [รูปภาพจาก http://en.wikipedia.org/wiki/Germania_(painting)]
 
 
ทว่า ถึงแม้จะมีปัญญาชนและนักเคลื่อนไหวในสมัชชาแห่งชาติเป็นจำนวนมาก แต่คนเหล่านั้นกลับมิได้คิดอ่านที่จะทำการสร้างประเทศใหม่โดยพลังของตนเอง และหวังพึ่งแคว้นใหญ่ต่างๆ ให้เป็นแกนกลางรวมรัฐเล็กๆเข้าด้วยกัน โดยคะเนเอาเองว่า แคว้นใหญ่นั้นจะยอมรับระบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ ทำให้ภายในรัฐสภาดังกล่าวเกิดการแตกแยกออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือกลุ่มแนวทางเยอรมนีใหญ่ (Big Germany solution) ที่หวังให้รัฐศักดินาออสเตรียเป็นศูนย์กลาง กับกลุ่มแนวทางเยอรมนีน้อย (Little Germany solution) ที่หวังเอารัฐศักดินาปรัสเซียเป็นแกนกลางในการรวมชาติ การถกเถียงเรื่องดังกล่าวแทบจะกินเวลาทั้งหมดของสมัชชาแห่งชาติ ทำให้เรื่องรัฐธรรมนูญหรือข้อเรียกร้องอื่นๆ เกือบจะถูกลืมเลือนไปเสียสิ้น
 
 
 
 
รูปที่ 3 สมัชชาแห่งชาติเยอรมนีประชุมกันในโบสถ์เซนต์ พอล ณ เมืองแฟรงค์เฟิร์ท ภาพ Germaniaของ ฟิลลิป ไฟท์ (รูปที่2) ถูกแขวนอยู่ด้านบน
 
 
ขณะนั้นเอง รัฐศักดินาปรัสเซียได้ฉวยโอกาสครั้งยิ่งใหญ่ โดยหลังจากตำรวจยิงกระสุนเข้าไปยังกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย 2 นัดในกรุงแบร์ลิน ได้มีการลุกขึ้นสู้ของประชาชนทั่วทั้งกรุงแบร์ลิน เกิดแรงกดดันอย่างหนักต่ออำนาจรัฐศักดินาปรัสเซียที่กลายเป็นเล็กกระจ้อยร่อยต่อหน้าประชาชน  พระเจ้าเฟรเดอริค วิลเฮมที่4 (King Freidrich Wilhelm IV) แห่งแคว้นปรัสเซีย จึงรีบเสด็จไปร่วมงานศพของผู้เสียชีวิตจากการชุมนุม และทรงออกมาประกาศสนับสนุนการรวมชาติ การจัดตั้งรัฐสภา ระบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ และประชาธิปไตยต่อหน้าประชาชนชาวแบร์ลินที่ออกมาชุมนุมประท้วงเรียกร้องโดยทันที จัดตั้งรัฐบาลที่มีพวกเสรีนิยมเข้าไปร่วมด้วย รวมถึงจัดตั้งสมัชชาแห่งชาติของปรัสเซียเพื่อร่างรัฐธรรมนูญ
 
ทำให้กระแสการสนับสนุนแนวทางเยอรมนีน้อยที่ให้รัฐปรัสเซียเป็นแกนกลางในการรวมชาติได้รับการตอบสนองจากปัญญาชนโดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นกลางเสรีนิยมในเยอรมนี ด้วยความหลงว่า ปรัสเซียจะกลายสภาพเป็นรัฐประชาธิปไตยซึ่งมีกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญตรงตามอุดมการณ์และความใฝ่ฝันของพวกตน จึงทำให้สมัชชาแห่งชาติเยอรมนีที่แฟรงค์เฟิร์ท มีมติสำคัญที่สร้างเสริมอำนาจให้กับรัฐศักดินาปรัสเซีย ดังในช่วงเดือนมีนาคม ค.ศ.1849 ต่อไปนี้
 
·         ลงมติเลือกแนวทางเยอรมนีน้อย (Little Germany solution) คือให้รัฐปรัสเซียเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมประเทศด้วยคะแนนเสียง 273 ต่อ 263 คะแนน
 
·         ลงมติถวายตำแหน่งจักรพรรดิแห่งเยอรมนี (Kaiser of Germany) แด่พระเจ้าเฟรเดอริค วิลเฮมที่ 4 เจ้าผู้ครองแคว้นปรัสเซีย ด้วยคะแนนเสียง 290 เสียงต่องดออกเสียง 248 เสียง พร้อมทั้งได้ทูลเกล้าฯถวายรัฐธรรมนูญ ที่ร่างโดยสมัชชาแห่งชาติเยอรมนีแด่พระองค์เพื่อพระราชทานเป็นรัฐธรรมนูญของเยอรมนี
 
 
 
รูปที่ 4 ภาพการลุกขึ้นสู้ของประชาชนในกรุงแบร์ลิน ค.ศ.1848
 
แต่แท้ที่จริงแล้วพระเจ้าเฟรเดอริค วิลเฮมที่ 4 ทรงมิได้สนใจในคำมั่นสัญญาที่ว่าจะให้ประชาธิปไตยอันแท้จริงและระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเลย ในปลายปี ค.ศ.1848 พระองค์ได้แต่งตั้งอัครมหาเสนาบดีคนสำคัญคือ ออตโต ฟอน บิสมาร์ค (Otto Von Bismarck) ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มศักดินาและพลังอนุรักษ์นิยมในเยอรมนี (บิดาของบิสมาร์คเป็นชนชั้นเจ้าที่ดิน [Junker] จากแคว้นบรันเด็นบวร์ก [Brandenburg] ซึ่งเป็นดินแดนเมืองออกหนึ่งของปรัสเซีย
 
ในขณะที่มารดาของบิสมาร์คเป็นชนชั้นข้าราชการอมาตยธิปไตย[Aristocrat] ระดับสูงในราชสำนักปรัสเซีย) และได้สร้างเสริมพลังอนุรักษ์นิยมภายในแคว้นปรัสเซีย เช่น กลุ่มทหาร กลุ่มขุนนาง และกลุ่มเจ้าที่ดิน ให้เข้ามามีบทบาทในรัฐบาลและคณะรัฐมนตรีแทนที่กลุ่มเสรีนิยม สมัชชาแห่งชาติของปรัสเซียถูกยุบทิ้ง และรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ร่างโดยกลุ่มอนุรักษ์นิยม ถูกนำมาใช้แทนที่จะเป็นฉบับของสมัชชาแห่งชาติปรัสเซียหรือของสมัชชาแห่งชาติเยอรมนี ณ เมืองแฟรงค์เฟิร์ท
 
แต่ประการที่สำคัญที่สุดคือ พระองค์ปฏิเสธไม่รับการทูลเชิญให้ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิแห่งเยอรมนี โดยหน้าฉากอ้างว่า ต้องให้เจ้าศักดินาทุกแคว้นอนุมัติก่อน แต่เบื้องหลังแล้ว พระองค์ปฏิเสธเพราะ “...ควรหรือที่พระมหากษัตริย์อันประเสริฐชอบธรรมด้วยพระกรุณาธิคุณแห่งพระผู้เป็นเจ้าจักยอมรับมงกุฎสมมติอันกระจ้อยร่อยที่ปั้นขึ้นมาจากธุลีและดินเหนียว...? ”(พระราชสาสน์ในพระเจ้าเฟรเดอริค วิลเฮมที่ 4 ที่มีถึงเอกอัครราชทูตปรัสเซียประจำกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ค.ศ.1849)  
 
 
 
รูปที่ 5 ภาพวาดล้อเลียนพระเจ้าเฟรเดอริค วิลเฮมที่ 4 แห่งปรัสเซียกำลังทรงชูมงกุฎที่ทำขึ้นจาก “ธุลีและดินเหนียว” ของสมัชชาแห่งชาติเยอรมนี ณ เมืองแฟรงค์เฟิร์ต อย่างไม่ใยดี
 
 
หลังจากท่าทีดังกล่าวแล้ว สมาชิกสมัชชาแห่งชาติส่วนใหญ่ก็ยอมสลายตัวอย่างง่ายดาย ยกเว้นกลุ่มผู้ยืนยันในหลักการประชาธิปไตยที่ยังพยายามรวมกลุ่มกันในนาม “สภาส่วนหลัง” (Rump parliament) ณ เมืองสตุตการ์ด แต่วก็โดนกำลังทหารของแคว้นวืตเต็มแบร์กอันเป็นแคว้นใต้อาณัติของปรัสเซียกวาดล้างจนหมดสิ้น ในขณะเดียวกัน ปรัสเซียก็ส่งกำลังทหารเข้าไปปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องตามแคว้นต่างๆ อย่างโหดร้าย เช่น ในแคว้นบาเดน (Baden) แคว้นซักโซนี (Saxony) และแคว้นพาลาทิเนต (Palatinate) เป็นต้น สิทธิเสรีภาพต่างๆซึ่งเคยมีมาในช่วงปี ค.ศ.1848 ก็อันตรธานหายไปจนหมด
 
 
 
รูปที่ 6 ทหารม้าของแคว้นวืตเต็มแบร์กเข้ากวาดล้าง “สภาส่วนหลัง” ในเมืองสตุตการ์ต ในปี ค.ศ.1849 
 
 
ค. การสร้างความมั่นคงโดยกโลบายต่างๆ ของปรัสเซีย หลัง ค.ศ.1848 และการรวมชาติเยอรมนีภายใต้อำนาจของปรัสเซีย
ภายหลังจากเหตุการณ์การลุกขึ้นสู้ในค.ศ.1848 ปรัสเซียภายใต้การบริหารเป็นเวลายาวนานของอัครมหาเสนาบดีบิสมาร์คได้ใช้นโยบาย “เลือดกับเหล็ก” ในการปกครองภายในปรัสเซียเพื่อสร้างความร่ำรวยและรักษาสถานะของ “อภิสิทธิ์ชน” ให้ได้มากที่สุด เช่น กฎเกณฑ์การเลือกตั้งที่ให้ผู้ที่มีรายได้มากกว่า (วัดโดยการเสียภาษีให้รัฐมากกว่า) มีน้ำหนักคะแนนในการเลือกตั้งมากกว่าผู้ที่มีรายได้น้อยกว่า (ซึงไม่สามารถเสียภาษีให้รัฐได้เท่ากับคนรวย) แม้ว่าจะมีรัฐสภา แต่การบริหารประเทศก็ยังตกอยู่ในมือของขุนนางข้าราชการที่สืบเชื้อสายมาจากเจ้าที่ดิน (Junker) และอำนาจสิทธิ์ขาดยังตกอยู่ในมือของพระมหากษัตริย์เช่นเดิม บิสมาร์คดำเนินนโยบายอันชาญฉลาดในการพยายามสร้างเสริมอำนาจรัฐของปรัสเซียโดย
 
·         พยายามประนีประนอมกับเจ้าที่ดินใหญ่ และผู้ครองแคว้นต่างๆ โดยให้ความคุ้มครองทางทหารและการเมืองผ่าน “สหพันธรัฐเยอรมนีเหนือ” ซึ่งจัดตั้งขึ้นใน ค.ศ.1866 เพื่อปกป้องอำนาจของเจ้าที่ดินและผู้ครองแคว้นต่างๆ เหนือดินแดนของตนจากมหาอำนาจประเทศใกล้เคียงเช่น ออสเตรียและฝรั่งเศส และจากประชาชนในแคว้นของตนที่ไม่พอใจกับการปกครองภายใน ซึ่งสหพันธ์ดังกล่าวได้กลายเป็นจักรวรรดิเยอรมนีในเวลาต่อมา
 
·         ประนีประนอมให้กลุ่ม ชนชั้นกลางและปัญญาชน “เสรีนิยม” เข้ามามีส่วนร่วมในรัฐบาลและสภา (Imperial Diet) มากขึ้นเพื่อดึงคนเหล่านี้มิให้คัดค้านอำนาจรัฐศักดินาปรัสเซีย หรือไปร่วมมือกับชนชั้นล่างในทางการเมือง
 
·         พยายามใส่ร้ายป้ายสีขบวนการประชาชนในระดับล่างว่าเป็นพวก “หัวรุนแรง” (Radical) ที่ “ไร้วัฒนธรรม” และ ”ต้องการทำลายเสถียรภาพของสังคม” และสร้างภาพลักษณ์ให้อำนาจรัฐปรัสเซียเป็นผู้รักษา “กฎหมายและระเบียบ”ในสังคมปรัสเซียและประเทศเยอรมนีโดยรวม รวมถึงใช้กำลังทั้งทหารประจำการและตำรวจลับปราบปรามขบวนการประชาชนเหล่านี้อย่างหฤโหด
 
·         พยายามดึงเอากระแสชาตินิยมมาเปลี่ยนแปลงให้เป็น “ลัทธิคลั่งชาติ-ทหารของเยอรมนี” อันมีกำลังทหารปรัสเซียเป็นศูนย์กลาง โดยการทำสงครามกับภายนอก เช่น สงครามกับศักดินาเดนมาร์ค 2 ครั้งในอาณาเขตชเวลสวิก-โฮลสไตน์ (Schleswig-Holstein) ในช่วง ค.ศ.1848-1864ซึ่งมีชาวเยอรมันอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ภายใต้การปกครองของศักดินาเดนมาร์ค (เขตชเวลสวิก-โฮลสไตน์ได้ลุกขึ้นประกาศแยกตัวจากศักดินาเดนมาร์ค เนื่องจากกระแสการปฏิวัติ ค.ศ.1848 ทั้งในเดนมาร์คและเยอรมนี แต่ว่าปรัสเซียได้ฉวยโอกาสที่ศักดินาเดนมาร์คเข้าปราบ ส่งกำลังเข้าต่อต้านศักดินาเดนมาร์คจนเดนมาร์คต้องถอนทัพไป) และสงครามกับฝรั่งเศสใน ค.ศ.1871 (พระเจ้านโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส ตกหลุมพรางของบิสมาร์คในเรื่องนโยบายต่างประเทศต่อสเปน จนต้องประกาศสงครามกับปรัสเซีย และปรัสเซียสามารถรบชนะฝรั่งเศสและรุกกลับถึงกรุงปารีส)
 
กลุ่มชนชั้นกลางและปัญญาชนเมื่อเผชิญกับความหวาดกลัวว่า ชนชั้นล่างจะขึ้นมามีอำนาจแทนที่จะเป็นพวกตน และกระแสคลั่งชาติที่พุ่งขึ้นสูงอย่างรุนแรง ซึ่งแต่เดิมอ้างตนว่าเป็นกลุ่ม “เสรีนิยม” ก็กลับเห็นดีเห็นงามและกลายเป็นพันธมิตรให้การสนับสนุนรัฐศักดินาปรัสเซียอย่างเต็มตัวในเรื่องกิจการต่างๆ อำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง และการทหารของศักดินาปรัสเซียก็ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วประดุจติดปีก จนกระทั่งปรัสเซียสามารถรบชนะฝรั่งเศสในสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย ปีค.ศ.1871 กองทัพปรัสเซียสามารถเข้ายึดครองกรุงปารีสและได้ดินแดนอัลซาส-ลอเรนส์ ซึ่งอุดมด้วยถ่านหินกับทรัพย์สมบัติของฝรั่งเศสเป็นจำนวนมาก เป็นก้าวกระโดดครั้งยิ่งใหญ่สำหรับปรัสเซียในการสร้างความเข้มแข็ง
 
ด้วยเหตุนี้ พระเจ้าวิลเฮล์มที่ 1 แห่งปรัสเซีย จึงได้ประกาศสถาปนาตัวเองเป็น “สมเด็จพระจักรพรรดิแห่งเยอรมนี” (Kaiser of Germany) ณ พระราชวังแวร์ซายล์ ในระหว่างที่กองทัพปรัสเซียกำลังยึดครองประเทศฝรั่งเศส การเลือกสถานที่ดังกล่าว นัยหนึ่งจึงเป็นการประกาศความมีอำนาจของพระองค์เหนือประเทศฝรั่งเศส และแสดงให้ทั่วโลกเห็นว่า ปรัสเซียเป็นแคว้นที่เข้มแข็งและยิ่งใหญ่ เหตุการณ์นี้ถือเป็นการรวมชาติเยอรมนีอย่างเป็นทางการ
 
 
 
รูปที่ 7 พระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระเจ้าวิลเฮล์มที่ 1 เป็น สมเด็จพระจักรพรรดิแห่งเยอรมนี ณ ห้องกระจก พระราชวังแวร์ซายล์ (Versaille) ประเทศฝรั่งเศส โดยมีเจ้าผู้ครองแคว้นต่างๆ ในเขตประเทศเยอรมนีปัจจุบันเข้าเฝ้าถวายความจงรักภักดี
 
 
ง.จักรวรรดิเยอรมนีภายใต้การนำของกลุ่มศักดินาปรัสเซียเดิม
จักรวรรดิเยอรมนีที่ตั้งขึ้นใหม่นั้นกลายเป็นอาณาจักรที่มีการพัฒนาทุนนิยมอย่างมากจนเกือบจะเรียกได้ว่าเป็น “จักรวรรดินิยมตัวใหม่” แข็งแกร่งไม่แพ้จักรวรรดินิยมอังกฤษที่ได้พัฒนาระบบทุนนิยมมาก่อนหน้าเยอรมนีเกือบ 2 ศตวรรษ รีบเร่งสร้างอุตสาหกรรมหนัก โครงสร้างการเงิน และพยายามเข้าไปเบียดแย่งตลาดและอาณานิคมจากบรรดาเจ้าอาณานิคมเดิมอย่างเร่งรีบ แต่ว่าโครงสร้างอำนาจภายในจักรวรรดินั้นแท้จริงแล้ว เพียงแต่เพิ่มกลุ่มนายทุนทั้งอุตสาหกรรมและการเงินบางส่วนเข้ามามีบทบาทเท่านั้น อำนาจ และความมั่งคั่งยังอยู่ในมือของจักรพรรดิเยอรมัน เชื้อพระวงศ์ ข้าราชการระดับสูง ผู้ครองแคว้นต่างๆ และเจ้าที่ดินบางส่วนเป็นจำนวนมาก
 
ในขณะที่ประชาชนก็ยังยากจน ไม่มีสิทธิ์มีเสียงเช่นเดียวกับในอดีต การบริหารประเทศตกอยู่ในมือของจักรพรรดิ ขุนนาง ข้าราชการระดับสูง กลุ่มเจ้าที่ดิน ร่วมกับนายทุนขนาดใหญ่ รัฐสภา (Diet) นั้นไม่มีอำนาจดูแลหรือตรวจสอบการบริหารประเทศเลยแม้แต่น้อย และประชาชนจำนวนมากก็ยังคงเดินทางออกจากประเทศไปเสี่ยงโชค ณ แดนไกล เช่นในอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ หรือในแอฟริกา เพราะว่ายังยากจนข้นแค้นและถูกกดขี่ขูดรีดอยู่เช่นเดิมไม่ผิดกับสมัยก่อนปี ค.ศ.1848 ซึ่งความเป็นไปเช่นนี้ก็ยังคงดำรงอยู่จนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่อำนาจของศักดินาส่วนใหญ่หมดสิ้นไป เนื่องจากจักรวรรดิเยอรมนีแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 ทว่าเจ้าที่ดินตระกูลใหญ่ยังคงครอบครองที่ดินอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในทางฝั่งอดีตเยอรมนีตะวันออก และยังมีอิทธิพลในแวดวงราชการมาโดยตลอด จำต้องรอจนถึงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เจ้าที่ดินทั้งหลายหมดสิ้นไปอย่างแท้จริง นับเป็นระยะเวลายาวนานมากกว่าหนึ่งพันปีที่ระบบศักดินาและอำนาจนำของเจ้าศักดินาดำรงอยู่ในเยอรมนีตั้งแต่ยุคพระเจ้าชาร์เลอมาญในปี ค.ศ.800 เป็นอย่างน้อย จนถึงปี ค.ศ.1918 ที่สงครามโลกครั้งที่ 1สิ้นสุด และจักรวรรดิเยอรมนีถึงแก่กาลล่มสลาย
 
จะเห็นได้ว่า เยอรมนีเป็นตัวอย่างที่ดีว่า กลุ่มพลังอนุรักษ์นิยมสามารถปรับตัวเข้ากับระบบใหม่และนำระบบใหม่เข้ามาสร้างประโยชน์ให้กับตนเองได้ในระยะเวลาหนึ่ง โดยมักอาศัยกโลบายต่างๆ เพื่อหลอกล่อชนชั้นกลางและปัญญาชนให้เข้ามาเป็นพวกและรับใช้ตน ในขณะที่กดขี่บีฑาประชาชนมิให้มีสิทธิมีเสียงในการปกครองประเทศ แต่ว่าในที่สุดแล้ว กลุ่มอนุรักษ์นิยมในเยอรมนีนั้นก็ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ ต้องโดนกงล้อแห่งประวัติศาสตร์บดขยี้เข้าไปจนราบคาบในที่สุด
 
 
 
 
บรรณานุกรม
 
·         บรรพต กำเนิดศิริ. ประวัติศาสตร์การทูต ตั้งแต่การประชุมที่กรุงเวียนนา ค.ศ.1815 จนถึงจุดเริ่มต้นของสงครามเย็นปี ค.ศ.1947. พ.ศ.2551; กรุงเทพฯ โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
·         ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. เอกสารคำสอนรายวิชา 2204180  อารยธรรม. พ.ศ.2550; ไม่ปรากฏที่พิมพ์
·         สัญชัย สุวังคบุตร, อนันตชัย เลาหะพันธุ. ทรรปณะประวัติศาสตร์ยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่19. พ.ศ.2551; กรุงเทพฯ โรงพิมพ์ศักดิโสภาการพิมพ์.
·         Engels, Frederick and Marx, Karl. The eighteenth brumaire of Louis Bonarparte. 1963; New York, USA. International publisher.
·         Engels, Frederick. Revolution and Counter-revolution in Germany. 1977; Beijing. PRC. Foreign language press.
·         Raff, Deither (Auth.) Little,Bruce(transl.). A History of Germany: from the medieval empire to the present (English edition). 1988; Great Britain. Berg publishers.
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท