Skip to main content
sharethis
 
 
10 ก.ย.52 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการเสวนาเรื่อง “เจตนารมณ์และกลไกตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 67” โดยมีชาวบ้านในจังหวัดต่างๆ หลายเครือข่ายเข้าร่วม สืบเนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีการจัดตั้งองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ตามมาตร 67 และคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตีความมาตราดังกล่าวตามคำร้องขอของหลายหน่วยงานเพื่อหาความชัดเจนในการอนุมัติโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ ว่า มาตรา 67 ยังไม่มีผลใช้บังคับทันที ต้องมีการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ โดยระหว่างนี้ให้หน่วยงานต่างๆ ดำเนินการไปตามกฎหมายเดิมก่อน
 
ทั้งนี้ มาตรา 67 ระบุหลักเกณฑ์ในการทำโครงการขนาดใหญ่ไว้ว่า “โครงการที่อาจก่อนให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง” ต้องศึกษาและประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA) ด้านสุขภาพ (HIA) ต้องมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งต้องจัดให้มีองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเพื่อให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินโครงการ
 
นายสัญชัย สูติพันธ์วิหาร จากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัยพากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ขณะนี้สิ่งที่น่าจับตามองคือ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เสนอนิยามและหลักเกณฑ์ของ “โครงการที่มีผลกระทบรุนแรง” และต้องดำเนินการตามมาตร 67 ให้กฎษฎีกาพิจารณาแล้ว ซึ่งจากเนื้อหาดังกล่าวมีการขยายขนาดของอุตสาหกรรมต่างๆ ให้ใหญ่ขึ้นมากกว่าจะเข้าเกณฑ์ เช่น โรงถลุงเหล็ก กำหนดที่ 5,000 ตันต่อวัน ขณะที่กระทรวงทรัพฯ พยายามร่างหลักเกณฑ์เช่นกันและกำหนดขนาดโรงถลุงเหล็กไว้ที่ 50 ตันต่อวัน ภาคประชาชนจึงจำเป็นต้องจับตาเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด
 
นายไพโรจน์ พลเพชร ประธาน กป.อพช. กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงทรัพฯ จะแก้ไขกฎหมายพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ที่ใช้บังคับอยู่เดิม โดยเพิ่มเรื่ององค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเข้าไปเพียงเท่านั้น ไม่มีการร่างกฎหมายใหม่ และไม่มีความเป็นอิสระเพราะทุกอย่างขึ้นกับรัฐมนตรี ขณะนี้ภาคประชาชนกำลังอยู่ระหว่างรวบรวม 10,000 รายชื่อเสนอ ร่างพ.ร.บ.องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ พ.ศ.....
 
นายเดชรัตน์ สุขกำเนิด จากมูลนิธินโยบายสุขภาวะระบุถึงร่างหลักเกณฑ์การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ หรือ HIA ของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ว่าจะมีการรับฟังความคิดเห็นร่างนี้ในวันที่ 5 ตุลาคมโดยพยายามแก้ไขจุดอ่อน ช่องโหว่เดิมที่เกิดขึ้นในกระบวนการทำ EIA ในหลายประเด็น และคาดว่าจะบังคับใช้ได้ภายในเดือนตุลาคม เพื่อให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำมาตรฐานดังกล่าวนี้ไปใช้ให้สอดคล้องกับมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญ นอกเหนือจากนี้ ประชาชนมีสิทธิ มีช่องทางในการผลักดันการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นจากโครงการอีกช่องหนึ่ง คือ มาตรา 11 ของพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ 2550
 
ท้ายการเสวนาเครือข่ายชาวบ้านและองค์กรพัฒนาเอกชนได้ร่วมกันร่างข้อเสนอซึ่งมีเนื้อหาดังนี้
 
องค์กรภาคประชาชนดังมีรายนามข้างท้ายนี้ จึงขอแสดงความคิดเห็น และเรียกร้องให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
 
1.       ไม่เห็นด้วยกับการตีความมาตรา 67 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ประกอบกับมาตรา 303 (1) ตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เพราะ การตีความ ว่า หน่วยงานสามารถดำเนินการอนุมัติ อนุญาตตามกฎหมายที่มีอยู่เดิม โดยไม่ต้องรอให้มีองค์กรอิสระสิ่งแวดล้อมตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ เป็นการตีความที่ขัดแย้ง และละเมิดสิทธิในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีของชุมชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67
 
2.       ไม่เห็นด้วยและให้ยกเลิกร่างประกาศประเภทโครงการกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ที่จัดทำโดยกระทรวงอุตสาหกรรม
 
 
3.       ให้ยุติการอนุมัติอนุญาตโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชุมชนไว้จนกว่าการดำเนินการตามข้อ 4 และข้อ 5 จะเสร็จสิ้น
 
4.       ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ พ.ศ. ... และร่างประกาศประเภทโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบ ต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ที่จัดทำโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้คณะรัฐมนตรี ให้ความเห็นชอบและดำเนินการให้เป็นกฎหมายภายในสมัยประชุมนิติบัญญัติ ของรัฐสภานี้โดยเร่งด่วน
 
 
5.       รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการจัดให้มีกฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินผลกระทบทางสุขภาพและกระบวนการรับฟังความคิดเห็นตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญโดยเร็ว
 
 
กลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง
กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด
กลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก-กุยบุรี
เครือข่ายติดตามผลกระทบโรงไฟฟ้าถ่านหิน ต.เขาหินซ้อน จ.ฉะเชิงเทรา
เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม หนองแซง ภาชี
เครือข่ายชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ 3 จังหวัด พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก
ตัวแทนชาวบ้านต.ห้วยขมิ้น ต.ห้วยทราย(ตลาดหินกอง) อ.หนองแค จ.สระบุรี
เครือข่ายชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแก่งคอย จ.สระบุรี
กลุ่มพลังไท
โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)
กลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคต (AEPS)
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)
เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA)
เครือข่ายสิ่งแวดล้อมไทย
โครงการติดตามการเมืองภาคประชาชน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
มูลนิธินโยบายสุขภาวะ
มูลนิธิบูรณะนิเวศ
      เครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net