Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 9 ก.ย.52 เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและเมือง (คปสม.) และเครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทย ระนอง ประจวบ ชุมพร ทำหนังสือประท้วงการไม่สนับสนุนและไม่ให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาคนไร้สัญชาติ ของผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง สนอต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน โดยระบุว่า หลังจากหลายฝ่ายหารือกันเพื่อแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.สัญชาติ เพื่อคืนสัญชาติไทยแก่คนไทยพลัดถิ่นที่ย้ายเข้ามาอยู่ในประเทศนานแล้วนั้น เมื่อวันที่ 9 ก.ย.ที่ผ่านมา ทางเครือข่ายฯ ได้จัดเวทีประชุมร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพือ่ทำความเข้าใจเรื่องสิทธิ กระบวนการและข้อกฎหมายการคืนสัญชาติไทย ณ วัดประชาสนธิ จังหวัดประจวบ แต่การเดินทางของผู้แทนคนไทยพลัดถิ่นจังหวัดระนองจำนวน 42 คน ถูกสกัดไม่ให้เดินทางออกนอกจังหวัด ณ บริเวณด่าน จปร. อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง ตั้งแต่เวลา 14.00-00.00 น.ของวันที่ 8 ก.ย. ทั้งๆ ที่เครือข่าย ฯ ได้ทำหนังสือพร้อมแนบรายชื่อผู้เดินทาง แจ้งต่อผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง ตามทำเนียมที่เคยปฏิบัติมาเรียบร้อยแล้ว จนเป็นเหตุให้เวทีประชุม ฯ ที่จังหวัดประจวบ ฯ ต้องล้มเลิกไปในที่สุด                                                               

เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและเมือง (คปสม.) และเครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทย ระนอง ประจวบ ชุมพร
 
                                                                        วันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๒
 
เรื่อง ขอประท้วงการไม่สนับสนุนและไม่ให้ความร่วมมือ การแก้ปัญหาคนไร้สัญชาติ : คนไทยพลัดถิ่น
   ตามกระบวนการประชาธิปไตย ที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน และการสร้างสันติสุขในสังคมไทย
 
เรียน นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ เลขาธิการอาเซียน ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ
สิ่งที่ส่งมาด้วย      ร่างพระราชบัญญัติสัญชาติฉบับที่..พ.ศ....
 
ตามที่ เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) เสนอการแก้ไขปัญหาของเครือข่าย ฯ ต่อรัฐบาล และนายกรัฐมนตรีลงนาม แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ ๑๖๕ / ๒๕๕๒ โดยปัญหาคนไทยพลัดถิ่น คนไร้สัญชาติที่ถูกกดขี่เอาเปรียบ เป็นเรื่องหนึ่งในปัญหาดังกล่าว และทุกฝ่ายมีความเห็นร่วมกันว่าควรเร่งแก้ปัญหาคนไทยพลัดถิ่น โดยการแก้ไขเพิ่มเติม พรบ.สัญชาติ ให้มีการคืนสัญชาติไทย แก่คนไทยพลัดถิ่นที่ย้ายเข้ามาอยู่ในประเทศไทยนานแล้ว  
ซึ่งคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชนและการสื่อสารมวลชน โดยนายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ เป็นประธาน ฯ ได้ตั้งคณะทำงานร่วมหลายฝ่าย ฯ เพื่อยกร่าง แก้ไขเพิ่มเติมพรบ.สัญชาติแล้วเสร็จ และกำลังเตรียมการเพื่อผลักดันเข้าพิจารณาในสภา ฯ นั้น
ในวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๒ เครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทยได้จัดเวทีประชุมร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ) เพื่อทำความเข้าใจเรื่องสิทธิ กระบวนการและข้อกฎหมายการคืนสัญชาติไทย ณ. วัดประชาสนธิ จังหวัดประจวบ แต่การเดินทางของผู้แทนคนไทยพลัดถิ่นจังหวัดระนองจำนวน ๔๒ คน ถูกสกัดไม่ให้เดินทางออกนอกจังหวัด ณ บริเวณด่าน จปร. อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง ตั้งแต่เวลา ๑๔.๐๐ น.ถึงเที่ยงคืนของวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๕๒ ทั้งๆที่เครือข่าย ฯ ได้ทำหนังสือพร้อมแนบรายชื่อผู้เดินทาง แจ้งต่อผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง ตามทำเนียมที่เคยปฏิบัติมาเรียบร้อยแล้ว จนเป็นเหตุให้เวทีประชุม ฯ ที่จังหวัดประจวบ ฯ ต้องล้มเลิกไปในที่สุด
การสกัดการเดินทางเพื่อไปประชุมของคนไทยพลัดถิ่น ของผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง ไม่มีการชี้แจงและไม่ให้เหตุผลใดๆทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนที่รุนแรง ไร้เหตุผล และไม่คำนึงถึงแนวทางการแก้ปัญหาตามกระบวนการประชาธิปไตย ที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน และการสร้างสันติสุขในสังคมไทย ทั้งยังเป็นการละเมิดต่อกฎบัตรสิทธิมนุษยชนอาเซียน ที่ประเทศเป็นแกนนำในการเสนอ
ดังนั้น เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและเมือง (คปสม.) และเครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทย ระนอง ประจวบ ชุมพร ขอประท้วงการไม่สนับสนุนและไม่ให้ความร่วมมือ การแก้ปัญหาคนไร้สัญชาติ : คนไทยพลัดถิ่น ที่ถูกกดขี่เอาเปรียบ ดังกล่าว และหวังว่ารัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะตระหนักถึงแนวทางการแก้ปัญหาอย่างสันติโดยการ สนับสนุน อำนวยความสะดวกต่อคนไร้สัญชาติในการเข้าสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาดังกล่าว แทนการสกัดกั้นซึ่งเหมือนเป็นการซ้ำเติมชะตากรรมโหดร้ายที่พวกเขาเผชิญมาค่อนชีวิต ให้ยิ่งเลวร้ายมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดปัญหาต่อสังคมดังเช่นในบางพื้นที่ของประเทศในขณะนี้...ทั้งๆที่มีกระบวนการ ขั้นตอนการแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์ ได้ดำเนินคืบหน้ามาใกล้ความสำเร็จแล้ว
 
                                                            ขอแสดงความนับถือ
 
เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและเมือง (คปสม.)
และเครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทย ระนอง ประจวบ ชุมพร
 
 
 
 
ร่าง
บันทึกหลักการและเหตุผล
ประกอบร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ . .)
พ.ศ. . . . .
 
 


หลักการ
แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ
 
เหตุผล
                        โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงองค์ประกอบของผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกลั่นกรองสัญชาติให้เหมาะสมยิ่งขึ้น และแก้ไขปัญหาสัญชาติให้คนไทยพลัดถิ่นซึ่งเป็นคนชาติพันธุ์ไทยที่ต้องกลายเป็นคนในบังคับของต่างประเทศเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของราชอาณาจักรไทยในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ และผู้สืบสายโลหิตที่อพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยหรือเกิดในราชอาณาจักรไทยให้ได้คืนสถานะผู้มีสัญชาติไทยอย่างถูกต้องและเหมาะสม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
 
 
 
ร่าง
พระราชบัญญัติ
สัญชาติ (ฉบับที่ . .)
พ.ศ. . . . .
 
 


......................................
 
                       
                        โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ
                        ......................................................................................................................
                        มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ . .) พ.ศ. . . . .”
                        มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
                        มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความใน (๓) ของมาตรา ๒๕ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ ซึ่งเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
                        “(๓) ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกินหกคนซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์การทำงานด้านสัญชาติหรือสถานะบุคคลเป็นที่ประจักษ์ โดยต้องมีนักวิชาการด้านกฎหมายสัญชาติหรือสถานะบุคคล ด้านสังคมวิทยาหรือมานุษยวิทยา ผู้แทนจากภาคประชาชนและองค์กรพัฒนาเอกชน เป็นกรรมการ”
                        มาตรา ๔ คนชาติพันธุ์ไทยที่ต้องกลายเป็นคนในบังคับของต่างประเทศโดยเหตุอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของราชอาณาจักรไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์และไม่ได้อพยพกลับเข้ามาในราชอาณาจักรไทยก่อนวันที่พระราชบัญญัติแปลงชาติ รัตนโกสินทร์ศก ๑๓๐ และพระราชบัญญัติสัญชาติพุทธศักราช ๒๔๕๖ใช้บังคับ ย่อมเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิด เว้นแต่บุคคลที่ถือสัญชาติเป็นอย่างอื่น
                        ผู้ที่สืบสายโลหิตจากบุพการีซึ่งเป็นบุคคลตามวรรคหนึ่งย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิดเว้นแต่บุคคลที่ถือสัญชาติเป็นอย่างอื่น                                       
                       บุคคลตามวรรคหนึ่งและวรรคสองเรียกว่า “คนไทยพลัดถิ่น”
 
- ๒ -
 
                        มาตรา ๕ บุคคลที่มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ผู้ใดอ้างว่าเป็นคนไทยพลัดถิ่นเพื่อขอใช้สิทธิในความเป็นผู้มีสัญชาติไทย ให้ยื่นคำขอพิสูจน์และรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และจะใช้สิทธิในฐานะเป็นผู้มีสัญชาติไทยได้ต่อเมื่อผู้นั้นได้รับการรับรองจากคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น
                       (๑) เกิดในราชอาณาจักรไทย หรือเข้ามาอาศัยอยู่จริงโดยมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติหรือครอบครัวในชุมชนท้องถิ่นในราชอาณาจักรไทย
                        (๒) มีหลักฐานทะเบียนราษฎร และ
                        (๓) มีคุณสมบัติอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
                        การพิสูจน์และรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง 
                       มาตรา ๖ ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นเพื่อรับผิดชอบการพิสูจน์และรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นตามพระราชบัญญัตินี้
                        คณะกรรมการตามวรรคหนึ่งต้องมีนักวิจัยหรือนักวิชาการทางด้านกฎหมายสัญชาติ หรือสถานะบุคคล  ด้านสังคมวิทยาหรือมานุษยวิทยา ด้านประวัติศาสตร์หรือกลุ่มชาติพันธุ์ และผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชนและภาคประชาชน ร่วมเป็นกรรมการด้วยไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของคณะกรรมการที่ได้รับแต่งตั้ง  
                        มาตรา ๗ บุคคลที่ได้รับการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ให้ยื่นคำขอลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรแห่งท้องที่ที่ผู้นั้นมีภูมิลำเนาอยู่ในปัจจุบัน
                       มาตรา ๘ คนไทยพลัดถิ่นที่ได้แปลงสัญชาติเป็นไทยหรือได้สัญชาติไทยแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าเป็นคนไทยพลัดถิ่นที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นตามพระราชบัญญัตินี้โดยอนุโลม และให้มีสถานะเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิดด้วย
                        มาตรา ๙ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
 
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
      ..................................
           นายกรัฐมนตรี
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net