'ไซยาไนด์' นับ 1 หายนะ เหมืองทองของไทย

 

''ทองคำ'' ใครได้ยินคำนี้ก็ต่างตาลุกวาว เพราะความหมายตรงๆ ของมันก็คือความร่ำรวยนั่นเอง แล้วยิ่งช่วงที่ผ่านมา ด้วยภาวะผันทางเศรษฐกิจ ทั้งตลาดเงิน และตลาดทุนต่างขยับขึ้นลงตามปัจจัยการเก็งกำไรต่างๆ หลายต่อหลายคนต่างเสียน้ำตาไปกับส่วนต่างของการขยับขึ้นลงของค่าอะไรต่อมิอะไรต่างๆ เหล่านั้น แต่ว่าในทางกลับกัน ทองคำ กลับได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจเป็นอันดับต้นๆ ค่าของมันแทบจะคงที่ไม่ขยับเขยื้อนขึ้นลง หรือว่าขยับขึ้นในระดับที่น้อยมากแล้วเมื่อยิ่งได้รู้ว่าใต้ผืนดินของประเทศไทยเราอุดมไปด้วยขุมทอง นั่นยิ่งทำให้หลายคนยิ่งตาโต

 

จากประทานบัตรที่อนุญาตทำเหมืองในประเทศนั้น ข้อมูลล่าสุดเมื่อประมาณปลายเดือนสิงหาคมนั้น มีการออกประทานบัตรประมาณ 30 ใบ แต่ว่าประทานบัตรที่ยังคงดำเนินการอยู่นั้นมี จำนวน 20 ใบ แบ่งเป็นพื้นที่หลักๆ 3 พื้นที่ คือ  ในพื้นที่ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ในพื้นที่ ต.วังโป่ง อ.ท้ายดง จ.เพชรบูรณ์ และที่ จ.เลย ใน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง ซึ่งทุกพื้นที่ล้วนกำลังดำเนินการขุดหาแร่ทองคำกันอย่างเมามัน เพราะยิ่งขุดพบเจอมากขึ้นเท่าไหร่ นั่นก็หมายถึงความร่ำรวยมากยิ่งขึ้นเท่านั้น

 

แต่ว่าก่อนที่เราจะพูดถึงความร่ำรวยและอื่นๆ ที่ประเทศชาติจะได้รับจากเหมืองทอง ลองมาทำความรู้จักกับไซยาไนด์ที่เป็นสาระสำคัญในการสกัดทองจากสินแร่กันสักนิด เผื่อจะลองเอาบวกลบคูณหารกับความร่ำรวยที่กำลังคิดกันอยู่ในใจ

 

''ไซยาไนด์'' ถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมเหมืองครั้งแรกราวช่วงปี 2510 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นสารเคมีที่อุตสาหกรรมทองทั่วทั้งโลกใช้กัน ประมาณการกันว่ามากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ของผลผลิตทองคำทั่วโลกแต่ละปี จำนวนกว่า 2,500 ตัน ใช้สารไซยาไนด์เป็นตัวสกัดที่สำคัญในกระบวนการชะล้างแร่ ด้วยว่ามันสามารถทำให้รวบรวมทองคำขนาดเล็กจิ๋วจากสินแร่คุณภาพต่ำได้ มีตัวเลขออกมาว่าเหมืองทองคำทั่วโลกน่าจะใช้ไซยาไนด์ในแต่ละปีสูงถึงประมาณ 182,000 ตัน !

 

การเปิดเหมืองแร่เพื่อขุดทองเป็นผลให้เกิดของเสียและสิ่งปฏิกูลจำนวนมาก มีของเสีย 79 ตัน เพื่อที่จะสกัดทองคำออกมาให้ได้ 1 ออนซ์ (เท่ากับ ½ ปอนด์) ซึ่งในกระบวนการนั้นรวมถึงการบดสินแร่ และนำไปเข้าสู่กระบวนการสกัดเพื่อให้ได้ทองออกมาซึ่งต้องใช้สารไซยาไนด์ สารซัลไฟด์ในการระเบิดหิน เมื่อทำปฏิกิริยากับน้ำบนอากาศทำให้เกิดฝนกรด โดยไซยาไนด์ที่ใช้ในการสกัดแร่ทองคำนั้นเป็นสารเคมีที่อันตรายที่สุด โดยอาจจะทำให้ตัวผู้ได้รับสารเคมีนี้ตายอย่างกะทันหันได้ การแพร่กระจายของสารเคมีชนิดนี้อาจจะเป็นต้นเหตุของการอาการปวดหัว อาการคลื่นไส้ สะอิดสะเอียน อาการหายใจไม่ออก อาการสับสน และระบบหลอดเลือดหัวใจล้มเหลว

 

ข้อที่สมควรน่าจะรู้เอาไว้เกี่ยวกับไซยาไนด์ก็คือว่ามันเป็นสารเคมีแห่งความตาย ที่เคยถูกใช้ในห้องรมควันของทหารเยอรมันช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 !

 

สิ่งที่เป็นอันตรายที่สุดในการใช้สารไซยาไนด์ในอุตสาหกรรมเหมืองทองก็คือ การชะล้างของสารพิษชนิดนี้ลงในพื้นดินและแหล่งน้ำ ไซยาไนด์เป็นสารเคมีที่มีคุณสมบัติเป็นพิษสูงมาก ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเมื่อมันเล็ดลอดสู่ระบบนิเวศมันจะทำลายทุกอย่างให้เสียหายได้โดยสิ้นเชิง จากเหมืองทอง ไซยาไนด์สามารถแทรกซึมลงสู่กระแสน้ำใต้ดิน หรือถูกชะลงสู่แม่น้ำ ทันทีที่ลงสู่แม่น้ำปลาจะตาย น้ำใต้ดินไม่สามารถนำมาใช้ดื่มได้ ระบบชลประทานเพื่อการเกษตรเสียหายไปทั้งหมด

 

การทำลายแหล่งน้ำเป็นข้อเสียหลักๆที่จะตามมาจากการทำเหมืองทองคำ น้ำเสียจากการทำเหมืองแร่จำนวนมากจะสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชุมชนท้องถิ่น ซึ่งหลายต่อหลายชุมชนได้รับผลกระทบจากการที่ไม่มีน้ำใช้ไปเรียบร้อยแล้ว

 

มีตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้วในหลายๆ ประเทศเช่นตัวอย่างที่สำคัญคือ ปี 2535 ไซยาไนด์ที่ปนเปื้อนออกมาจากเหมืองทองบริวเวอร์ ในรัฐเซาท์ คาโรไลน่าร์ และปนเปื้อนลงในแม่น้ำลินซ์ เป็นระยะทาง 80 กิโลเมตร ปลาราวๆ 11,000 ตาย ปี 2538 หางแร่จำนวนกว่า 3.2 ล้านลิตรที่มีไซยาไนด์ ไหลลงไปในแม่น้ำเอสไควโบ ในกายอานา เมื่อเขื่อนในเหมืองทองโอไมแตก

 

ในแทนซาเนีย ชาวบ้านที่อยู่อาศัยใกล้กับเหมืองทอง ที่ดำเนินการโดยบริษัทจากแคนาดา Canada's Barrick Gold Corp ในเขตอำเภอทาริม เขตมาลา ที่ต้องการให้ปิดเหมืองทองนี้อย่างเร่งด่วน ชาวบ้านบอกว่าพวกเขากำลังเอาชีวิตเพื่อจ่ายเป็นราคาค่างวดเพื่อให้เหมืองทองดำเนินการต่อไป

 

พวกเขากล่าวว่า เพียงแค่รอบสัปดาห์เดียวในเดือนมิถุนายนนั้น มีชาวบ้านเสียชีวิตไปกว่า 20 คนจากสารพิษที่ปนเปื้อนลงในแม่น้ำ

 

''บางทีที่นี่อาจจะเป็นประเทศเดียวในโลกที่หิน (เขาหมายถึงทองคำ) มีค่ามากกว่าความเป็นมนุษย์'' ชาวบ้านที่แทนซาเนีย ผู้ได้รับผลกระทบบอก

 

จากภาพถ่ายและหลักฐานอื่นๆ ในพื้นที่ทำเหมืองอันตรายที่แท้จริงของชาวบ้านที่อยู่รอบๆ พื้นที่การทำเหมืองและใช้น้ำดื่มน้ำกินจากแม่น้ำทิเกตี้เกิดเป็นโรคที่รุนแรง ซึ่งยังคงเป็นปริศนาของแพทย์ในท้องถิ่น และโรคนี้สามารถฆ่าพวกเขาให้ตายทีละช้าๆ โดยชาวบ้านอธิบายว่าการติดเชื้อโรคเริ่มจากการที่ชาวบ้านเริ่มรู้สึกว่าระคายเคืองร่างกายและเริ่มหาวบ่อยขึ้น เป็นต้นเหตุให้พวกเขาเกาแล้วจบลงด้วยการถลอกปอกเปิกทั่วร่างกายของพวกเขา

 

ซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าชาวบ้านสามารถได้รับเชื้อจากสารพิษไซยาไนด์ ซึ่งเป็นผลมาจากกิจกรรมของเหมืองแร่ เป็นที่รับรู้กันว่าไซยาไนด์เพียงนิดเดียวสามารถที่จะทำลายระบบประสาทส่วนกลาง ระบบหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือดได้  แม้แต่ไซยาไนด์เข้มข้นจำนวนนิดเดียวสามารถฆ่ามนุษย์ ปลา สัตว์บนพื้นโลก นก และสัตว์เลี้ยงได้

 

ราวปี 2543 ในสภาวะฝนตกหนักและหิมะตกอย่างรุนแรง  ในเหมืองแร่อาแมร์ โรมาเนียเป็นเหตุให้มันชะเอาน้ำล้างแร่ลงไปแพร่กระจายในแม่น้ำเป็นพื้นที่ราว 100,000 ลูกบาศก์เมตร ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำ ตัดวงจรน้ำเพื่อการบริโภคของประชากรจำนวน 2,500,000 คน และปลาในแม่น้ำต้องตายลง ซึ่งจากการปนเปื้อนครั้งนั้นถูกบรรยายโดยเจ้าหน้าที่ชาวฮังกาเรียนว่า เป็นหายนะที่เกิดขึ้นกับทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคอีกครั้ง นับตั้งแต่การรั่วไหลของปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลตอนปี 2529 นักวิทยาศาสตร์ยังกลัวอีกว่าไซยาไนด์ และโลหะหนักส่วนที่เหลือจะยังคงอยู่ในน้ำเป็นสิบปีข้างหน้า

 

ส่วนในประเทศไทยนั้น พื้นที่บ้านเขาหม้อ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ที่เป็นพื้นที่รังวัดปักหมุดทำเหมืองทองมาประมาณ 6-7 ปีที่ผ่านมา บนแปลงประทานบัตร 5 แปลง รวมเนื้อที่ประมาณ 1,309 ไร่ 2 งาน 53 ตารางวา ในพื้นที่ต้องย้ายหมู่บ้านออกไปเกือบทั้งหมู่บ้าน จนแทบจะกลายเป็นหมู่บ้านร้าง แต่ว่ายังมีครอบครัวของชาวบ้านอีกจำนวนหนึ่งที่ยังปีกหลักต่อสู่อยู่ในพื้นที่ที่ผลกระทบเริ่มเปิดเผยให้เห็นอย่างช้าๆ อาจจะไม่ใช่เกิดจากไซยาไนด์โดยตรง แต่ก็มีทั้งเรื่องฝุ่นละออง เรื่องกลิ่น เรื่องเสียง เรื่องผื่นคันที่เกิดขึ้นตามตัว ไอ จาม หายใจไม่สะดวก เรื่องน้ำกินน้ำใช้ที่เวลานี้ชาวบ้านในหมู่บ้านต้องซื้อกินซื้อใช้ ไม่กล้าใช้น้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะอีกต่อไป

 

อาจจะไม่ได้เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากไซยาไนด์โดยตรง แต่อย่างน้อยการตะโกนบอกกล่าวกันตรงๆ นั้นก็น่าจะดีกว่า หลบเลี่ยงแล้วรอให้ปัญหานั้นค่อยๆ ลุกลามบานปลาย และมีข่าวคราวว่า ในพื้นที่แห่งเดิม มีคำขออาชญาบัตรเพื่อขอสำรวจแร่ในพื้นที่ราว 5 แสนไร่! ซึ่งน่ากลัวว่าเกิดบริษัทแห่งนั้นได้ประทานบัตรไปจริงๆ จะต้องย้ายชาวบ้านอีกกี่หมู่บ้านกัน

 

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ จากกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา กล่าวว่า ประเทศไทยไม่ควรจะมีเหมืองทองคำที่ปล่อยปละละเลยเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เพราะว่าสารพิษที่จะเกิดขึ้นจากไซยาไนด์นั้นรุนแรงมากเกินไป และเมื่อเอาค่าภาคหลวงแร่ที่ได้มามาเปรียบเทียบกับสิ่งที่เราต้องจ่ายจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากไซยาไนด์แล้ว ก็คงไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

 

''ไซยาไนด์จะถูกใช้ในกระบวนการเอาทองคำออกมาจากหิน คือจะบดหินให้ละเอียดเป็นโคลนเลนแล้วจะใช้ไซยาไนด์เพื่อที่จะดึงทองคำขึ้นมาอีกที แล้วจะใช้ถ่านกัมมัน ดูดทองคำออกมาจากไซยาไนด์อีกที แล้วไซยาไนด์ที่เป็นโคลนเลนก็ถูกนำไปไว้ในบ่อไซยาไนด์ ซึ่งถ้าหากบ่อรั่วแล้วเกิดไซยาไนด์รั่วซึมออกไปด้านนอกก็จะเกิดปัญหาผลกระทบไปทั่ว''

 

''ผลกระทบที่เกิดขึ้นหนักๆ เกิดขึ้นแล้วในต่างประเทศ ถ้าหากเราตื่นตัวตอนนี้มันอาจจะไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย แต่ถ้าไม่ตื่นตัวจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แบบเช่นที่เหมืองเซโปนที่ไม่มีบ่อเก็บไซยาไนด์ ปล่อยลงลำธาร หรือเอาไว้ในหุบเขาที่ไม่มีคนอยู่อาศัย'' เลิศศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

 

ทั้งหมดทั้งมวล ไม่ใช่เรื่องที่คิดไปเอง จริงอยู่ที่ในประเทศไท ปัญหาไซยาไนด์ปนเปื้อนลงแหล่งน้ำจะยังไม่เกิดขึ้น แต่ใครจะรู้ได้ ระบบการจัดการประเทศเป็นแบบไหน ข้อพิสูจน์นักต่อนักก็มีให้เห็น ชาวบ้านที่กาญจนบุรีเคยกินน้ำปนตะกั่วมาแล้ว หรือชาวบ้านที่แม่ตาวก็กินข้าวผสมแคดเมี่ยมมาแล้ว ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ปัญหาของพวกเขาเหล่านั้นก็ยังไม่ได้ถูกแก้ไขให้หมดไป

 

ใครจะรู้ได้ว่าต่อไปชาวบ้านในเขตเหมืองทองเหล่านั้น อาจจะไม่ได้เป็นแค่มีอาการอย่างที่บอกเท่านั้น ต่อไปข้างหน้าพวกเขาอาจจะได้กินน้ำผสมไซยาไนด์ก็ได้. 

 

ข้อมูลประกอบจาก  www.protestbarrick.net

                                   www.matichon.co.th

                                   www.rainforestinfo.org.au/gold/cyanide.htm

 

ภาพประกอบจาก    http://socioeconomic.wordpress.com

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท