นักวิจัยระบุคาร์บอนเครดิตลดโลกร้อนได้ไม่จริง ผู้ซื้อยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามเดิม

สัมมนาเรื่องโลกร้อนโดยกระทรวงการต่างประเทศ ที่ มช. ‘ดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์ เจริญเมือง’ ระบุปัญหาโลกร้อนไม่ใช่แค่เรื่องสิ่งแวดล้อมแต่เป็นเรื่องความเป็นความตายที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต ชี้คาร์บอนเครดิตลดก๊าซเรือนกระจกได้ไม่จริง แนะลดใช้พลังงานฟอสซิล ติงณรงค์ประหยัดไฟแต่ระดับครัวเรือน เมินรณรงค์กับห้างสรรพสินค้า

เมื่อวันที่ 20 ส.ค. ที่ผ่านมา กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดสัมมนาเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับองค์การระหว่างประเทศแก่นักศึกษาและประชาชนในหัวข้อ “การเจรจาระหว่างประเทศในปัญหาโลกร้อน: เมื่อวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องเดียวกับการเมืองระหว่างประเทศ” ณ ห้องประชุมคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยในช่วงบ่ายได้มีการอภิปรายในหัวข้อ “ปัญหาโลกร้อน: ปฏิบัติการท้องถิ่นสู่การเจรจาระหว่างประเทศ” ดำเนินรายการโดย นายธนพ ปัญญาพัฒนากุล นักการทูตชำนาญการ กระทรวงการต่างประเทศ

 
ชี้โลกร้อนสร้างผลกระทบวงกว้างต่อสิ่งมีชีวิต
ดร.ดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์ เจริญเมือง นักวิจัยจากสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวว่าภาวะโลกร้อนนั้นไม่ใช่เป็นประเด็นแค่เรื่องสิ่งแวดล้อม แต่เป็นเรื่องความเป็นความตาย เห็นได้จากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย เช่น จีน ไต้หวัน ปากีสถาน โดยอุณหภูมิที่สูงขึ้นนั้นจะส่งผลให้การสืบพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติเปลี่ยน รวมไปถึงการระบาดโรคร้ายต่างๆ จะแพร่จากสัตว์สู่คนได้ง่ายขึ้น เช่น ไวรัสค้างคาวในอินโดนีเซียและมาเลเซีย หรือไข้เลือดออกที่ตอนนี้ระบาดทั้งปีทั้งที่แต่เดิมจะระบาดเฉพาะในช่วงฤดูเท่านั้น
 
“หากโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นอีก 1 องศาเซลเซียส จะทำให้เกสรตัวผู้หรือละอองเรณูของข้าวเป็นหมัน คือข้าวมีรวงแต่ไม่ติดเมล็ด ซึ่งสภาพดังกล่าวนั้นถือว่าเป็นอันตรายต่อความมั่นคงทางอาหารอย่างมาก นอกจากนี้ยังส่งผลให้ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะพัดเลยประเทศไทย ซึ่งจะไม่นำฝนมาให้ทำให้ต้นน้ำหาย และถ้าอุณหภูมิโลกสูงขึ้นถึง 41 องศาเซลเซียส นั้นจะทำให้เซลล์ในร่างกายของคนสามารถเป็นมะเร็งได้ง่าย”
 
 
ฝุ่นละอองเชียงใหม่สาเหตุใหญ่จากภาคขนส่ง
ดร.ดวงจันทร์ ได้ให้ข้อมูลว่าในกรณีของเมืองเชียงใหม่นั้นฝุ่นละอองขนาดเล็กในชั้นบรรยากาศที่เกิดจากการเผาไหม้นั้นได้ทำหน้าที่เก็บกักความร้อนไว้เหมือนก๊าซเรือนกระจก ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะมองเรื่องการเผาแค่การเผาป่าเท่านั้น ทั้งที่จริงแล้วการเผาไหม้จากภาคการคมนาคมขนส่งเป็นสาเหตุสำคัญเช่นกัน ยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่มีการใช้ยานพาหนะส่วนตัวสูงมาก ส่วนเมืองเชียงใหม่เองก็ยังไม่มีระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ และวัฒนธรรมการใช้จักรยานในประเทศไทยนั้นก็ไม่เหมือนในต่างประเทศที่ใช้เดินทางในชีวิตประจำวัน
 
ดร.ดวงจันทร์ ได้กล่าวเสริมว่าการเดินทางโดยเครื่องบินนั้นเป็นวิธีการเดินทางที่ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมหาศาล ฉะนั้นการเดินทางในประเทศควรมีระบบรถไฟที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งรถไฟในประเทศไทยได้เริ่มดำเนินการในสมัยรัชกาลที่ 5 ในช่วงไล่เลี่ยกับญี่ปุ่น แต่ตอนนี้รถไฟญี่ปุ่นนั้นมีเส้นทางเดินรถที่ทั่วถึงและกลายเป็นหัวใจหลักในการเดินทางของคนญี่ปุ่น
 
“นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้นควรจะต้องมีบทบาทในการเรียกร้องให้มีระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ และอย่าคิดว่าการปลูกต้นไม้ต้นเดียวจะช่วยชีวิตคุณได้ เพราะกว่ามันจะโตนั้นต้องใช้เวลาและปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ต้นไม้ต้นหนึ่งจะสามารถดูดซับได้นั้นไม่เพียงพอกับปริมาณก๊าซที่เราสร้าง”
 
 
คาร์บอนเครดิตลดก๊าซเรือนกระจกได้ไม่จริง แนะลดใช้พลังงานฟอสซิล
สำหรับประเด็นเรื่องคาร์บอนเครดิตนั้น ดร.ดวงจันทร์ มองว่าไม่ได้ทำให้เกิดการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ เพราะเป็นเพียงการซื้อขายคาร์บอนเครดิตโดยที่ผู้ซื้อยังสามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามเดิม นอกจากนี้ก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทยที่เกิดขึ้นจากการลงทุนของประเทศพัฒนาแล้วในประเทศที่กำลังพัฒนาต้องคำนวณคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นในฐานความรับผิดชอบของผู้ลงทุนที่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว
 
ดร.ดวงจันทร์ ได้เสนอว่าควรที่จะมีการลดใช้พลังงานฟอสซิลแล้วเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างจริงจัง อย่างรัฐวอชิงตันและโอเรกอนในสหรัฐอเมริกาที่ได้ตั้งเป้าว่าจะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 100 % สำหรับประเทศไทยถึงแม้กระทรวงพลังงานนั้นได้มีนโยบายกำหนดให้มีการปลูกต้นปาล์มน้ำมันภายในประเทศเป็นพื้นที่ 4 ล้านไร่ และในประเทศเพื่อนบ้านเป็นพื้นที่ 1 ล้านไร่ จึงทำให้เกิดการรุกพื้นที่ป่าเพื่อดำเนินโครงการดังกล่าว
 
“เรื่องการรณรงค์ประหยัดไฟนั้นพูดถึงแต่ในระดับครัวเรือน แต่ไม่สนใจการใช้ไฟของห้างสรรพสินค้า และการรณรงค์ลดสิ่งใดก็ตามต้องมีทางเลือกให้และต้องเป็นนโยบายระดับประเทศ และอย่าคิดว่าการรีไซเคิลนั้นคือคำตอบ เพราะในกระบวนการรีไซเคิลนั้นต้องใช้พลังงานจำนวนมากและก่อให้เกิดมลพิษตามมา”
 
 
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เตรียมจัดประชุมแก้โลกร้อนที่ กรุงเทพฯ ปลายกันยานี้, 26 ส.ค. 52

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท