Skip to main content
sharethis

ขณะที่ประเด็นร้อนกรณีขายที่ดินของชาวนาไทย ถูกสร้างกระแสให้กลายเป็นขายชาติ ตามด้วยข่าวเจ้าหน้าที่รัฐพยายามสืบสวนผู้เข้ามากว้านซื้อที่ดิน เชื่อมโยงกับข่าวว่า ชาวต่างชาติจำนวนมากให้ความสนใจเข้ามาลงทุนธุรกิจด้านการเกษตรในประเทศไทย ด้วยการตั้งบริษัทนอมินีเพื่อหลบเลี่ยงบทบัญญัติทางกฎหมายที่สงวนอาชีพนี้ให้กับคนไทยโดยเฉพาะ

ประชาไท สัมภาษณ์ ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ทำการศึกษาเกี่ยวกับชาวนาและที่ดินมาเป็นเวลายาวนาน นับตั้งแต่ผลงานวิทยานิพนธ์ ไปจนถึงการเฝ้ามองปรากฏการณ์ต่างๆ ตลอดจนการบริหารนโยบายของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
 
0 0 0
 
อยากให้อาจารย์พูดถึงนโยบายเกี่ยวกับที่ดิน การขายที่ดินของชาวนาไทยของรัฐบาลทักษิณ จนมาถึงรัฐบาลอภิสิทธิ์สะท้อนถึงอะไร
ปรากฏการณ์เรื่องการขายที่ดินที่เกิดขึ้น ก็สะท้อนถึงยุคเสรีนิยมใหม่นี่แหละ ซึ่งมีความคิดที่อยู่เบื้องหลังว่า หากปล่อยให้ตลาดทำงานได้อย่างเสรี ทุกอย่างจะเป็นประโยชน์ต่อทุกคน ดังนั้น สิ่งที่ทักษิณทำอย่างเช่น นโยบายเกี่ยวกับแปลงสินทรัพย์เป็นทุน ก็เป๋นการดำเนินงานตามเสรีนิยมใหม่
 
เพราะฉะนั้น การกล่าวหาในขณะนี้ว่า บางคนเป็นนอมินีของทักษิณ แต่เมื่อก่อนทักษิณก็เป็นนอมินีของเสรีนิยมใหม่เช่นเดียวกัน กระนั้นนโยบายที่ทักษิณทำก็มีทั้ง 2 แบบ คือ มีทั้งแบบเศรษฐกิจชุมชน และเสรีนิยมใหม่ด้วย อย่างนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคก็เป็นรัฐสวัสดิการ คือ ทักษิณไม่ใช่เสรีนิยมใหม่อย่างเดียว หรืออาจจะพูดได้ว่า ทักษิณทำให้ชุมชนไปรับใช้เสรีนิยมใหม่ก็ได้
 
แต่ปัญหาของเสรีนิยมใหม่ที่แฝงอยู่คนก็มองไม่เห็น เสรีนิยมใหม่นั้นมีรัฐเข้าไปช่วยเหลือทำให้ตลาดทำงานได้ หรือการทำงานของตลาดนั้น อาศัยรัฐช่วยทำงานทั้งนั้น เช่น ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจของอเมริกา ก็ต้องให้รัฐเข้ามาช่วยจัดการให้ทุนนิยม เสรีนิยมใหม่ทำงานได้ โดยรัฐเข้ามาจัดการในส่วนที่สำคัญที่สุดก็คือ การจัดการทรัพยากรทางธรรมชาติ
 
นโยบายรัฐไม่ว่าจะเป็น ทำสินทรัพย์ให้เป็นทุน การเอกสารสิทธิ สปก. จะเป็นสมัยทักษิณ หรือสมัยพรรคประชาธิปัตย์ หรือไม่ว่าจะสมัยไหน การเปิดเสรีการค้า การเปิด FTA ต่างๆ ก็คือการเอาทรัพยากรไปป้อนตลาด เปิดช่องให้ตลาดเข้ามาใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสะดวก ซึ่งต้องอาศัยรัฐมาช่วยปลดเงื่อนไขทั้งนั้น
 
อย่างตอนนี้มีข่าวเรื่องขายที่ดิน แล้วก็ไปรณรงค์ว่า อย่าไปขายชาติ…ทั้งที่รัฐนั่นเองเปิดเสรีการค้า เปิดช่องขายทรัพยากรธรรมชาติตลอดมา ทั้งที่รัฐบาลในอดีตประกาศเขตป่าสงวน เขตอุทยานต่างๆ แต่พอกรณีปลูกยางพาราขนาดใหญ่ เพื่อผลประโยชน์ของรัฐก็ไม่ถูกจับ แต่พอชาวเขาทำไร่หมุนเวียนในเขตป่าสงวนกลับถูกจับ
 
กรณีการปลูกยางพาราขนาดใหญ่ เราก็จะเห็นได้ว่า มันเปลี่ยนทรัพยากรที่ดินให้เป็นสินค้า กลายเป็นที่ดินมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ซึ่งเท่ากับรัฐได้เปลี่ยนแปลงจากการขยายอำนาจรัฐเหนือพื้นที่ (Territorialization) มาสู่การถอนอำนาจรัฐออกจากพื้นที่ (De-Territorialization) โดยมอบให้ตลาดเป็นตัวขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจแทน คือรัฐทำเป็นไขสือ ปล่อยให้ตลาดทำงาน แล้วย้อนมาใช้พื้นที่ของป่า และรัฐก็ทำเขื่อน ปั่นไฟฟ้าจากน้ำ เช่น เขื่อนปากมูล
 
ดังนั้น เมื่อใครบอกว่าตลาดทำงานได้เองจึงไม่เป็นความจริง รัฐเปลี่ยนทรัพยากรให้เป็นทุนตลอดมา ลดต้นทุนให้ตลาด มีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการตลาดน้อยลง พูดง่ายๆ รัฐเข้ามาจัดการเพื่อเอื้ออำนวยประโยชน์ให้ทุน แต่ว่ารัฐไม่ได้ให้กับชาวบ้านเลย
 
ปัญหาเรื่องขายที่ดินเพื่อทำเกษตรให้กับชาวต่างชาติ ถูกโยงว่าเท่ากับขายชาติ
มักจะพูดกันว่า รัฐนั้นต้องส่งเสริมนโยบายควบคุมการใช้ที่ดิน และจัดการตลาด แต่ที่จริงรัฐในระบบทุนนิยมทำงานเพียงครึ่งเดียว โดยเฉพาะรัฐไทยไม่ทำการสร้างกลไกมาควบคุม (Regulate) ตลาด เพื่อไม่ให้ตลาดเอาเปรียบเกินไป กลไกลควบคุมอย่างเช่น นโยบายภาษีก้าวหน้า โฉนดชุมชน และกลไกเสริมความก้าวหน้าอื่นๆ ถ้ามีกลไกเหล่านี้ รัฐก็ไม่ต้องมาพูดว่า คนต่างชาติมาซื้อที่ดิน เพราะที่ผ่านมาชาวต่างชาติไม่ได้มาซื้อที่ดินนะครับ แต่เขามาเอาประโยชน์จากที่ดินต่างหาก เช่น มาปลูกมันฝรั่ง ปลูกข้าวโพดพันธุ์อ่อน ซึ่งบริษัทเหล่านี้ก็ใช้วิธีเกษตรพันธสัญญากันทั้งนั้น อย่างกรณีโรงงานไต้หวัน เขาเข้ามาซื้อที่ดินของคุณทำเป็นโรงงาน และคุณเป็นแรงงานของเขาเลย
 
ประเด็นจึงไม่ใช่แค่เรื่องที่ดิน แต่ไม่ได้หมายความว่า ชาวต่างชาติซื้อที่ดินไม่ได้นะครับ เพราะประเทศไทยอยู่ในภาวะไร้พรมแดนอยู่แล้ว แต่จะทำย่างไรให้ทุนของต่างชาติถูกกำกับ โดยไม่ให้ภาษีของไทยไปอุดหนุนชาวต่างชาติให้มาซื้อที่ดินอย่างง่ายๆ ซึ่งที่ผ่านมา รัฐได้แต่เอากระแสชาตินิยมมาใช้ ซึ่งเป็นลักษณะปากว่าตาขยิบเท่านั้น หากไม่สร้างกลไกของการจัดการที่ดิน เช่น หากให้ชาวต่างชาติซื้อที่ดิน เขาต้องทำเกษตรอินทรีย์ (Organic farming) และเราต้องตั้งกลไก เช่น อบต. และสถาบันท้องถิ่น ขึ้นมากำกับ ให้ชาวต่างชาติ ให้ตลาดถูกกำกับจากอำนาจท้องถิ่น แต่ไม่ได้หมายถึงการแทรกแซงตลาด เป็นแต่เพียงควบคุมตลาดไม่ให้คนของเราถูกกีดกันจากทรัพยากรธรรมชาติ เป็นการเพิ่มอำนาจให้ท้องถิ่น ให้ท้องถิ่นเป็นผู้ผลิตที่แท้จริง ไม่ใช่เรื่องชาตินิยม
 
ดังนั้น คุณจะเป็นใครก็ได้ แต่การผลิตต้องเป็นไปตามกลไกกำกับของเรา โดยที่เราไม่แคร์ว่า ใครมาเป็นเจ้าของที่ดิน เราต้องสร้างกลไกต่อรองกับตลาด ไม่ให้คนกลายเป็นแรงงานที่ได้รับเพียงแค่ค่าจ้าง แล้วเกิดภาวะแปลกแยกแบบที่คาร์ล มากร์ซพูดไว้ ทำให้คนถูกกีดกันจากทรัพยากรธรรมชาติ ที่ผ่านมารัฐช่วยเหลือตลาด ไปลดอำนาจต่อรองของชาวบ้าน ทำให้ตลาดไปกอบโกยค่าเช่าและส่วนเกินไว้สูงมาก(High Rent) ขณะที่ชาวบ้านกลับถูกกีดกันการเข้าถึงทรัพยากรจนเกิดความเสี่ยงในการดำรงชีวิต ทำให้ชาวนาเอย คนงานเอยมีชีวิตที่มีความเสี่ยงมากขึ้น ได้ค่าตอบแทนน้อย คุณกลายเป็นทรัพยากรแรงงาน  เปลี่ยนจากคนเป็นเครื่องจักร ทำให้คนงานกลายเป็นมนุษย์ล่องหน และผู้ผลิตมองไม่เห็นคนงาน
 
ต้องอย่าลืมว่า คนทั่วไปนั้นมองไม่เห็นตัวตนของคนงานเลย เช่น บริษัทเลย์ ซึ่งปลูกมันฝรั่งทำเป็นเลย์ แล้วมันฝรั่งมาจากไหน ไม่เคยถาม ทั้งที่มันฝรั่งก็มาจากชาวนา แต่ชาวนากลายเป็นมนุษย์ล่องหน และไร้อำนาจในการควบคุมชีวิตตนเอง ไร้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แล้วนโยบายออกมารัฐบาลก็ไม่คืนกำไรให้คุณ เพราะเขามองไม่เห็นคุณ การแบ่งปันมันจึงบิดเบี้ยวจากวาทกรรมของเสรีนิยมใหม่นี้ ทำให้เกิดช่องว่างมหาศาล ดังนั้นจึงต้องสร้างกลไกมาทำให้ความเป็นธรรมและเสมอภาคเกิดขึ้น ตอนนี้เราตกอยู่ภายใต้วาทกรรมและความหมายของเสรีนิยมใหม่ จนเป็นทาสของมัน ซึ่งเสรีนิยมจริงๆ นั้นต้องทำให้ทุกคนเสรีเท่าๆ กันทั้งหมด ไม่ใช่แค่พ่อค้าเท่านั้น
 
กรณีเกษตรทางพันธสัญญา หรือแม้กระทั่งโครงการหลวงเอง เป็นไปเพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยอาศัยพลังสังคม (Social Force) ทำให้เกิดการรีดส่วนเกิน (Surplus) สูงขึ้น โดยที่รัฐไม่ได้เปิดให้คนมีอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจเลย เกษตรพันธสัญญาบางพื้นที่ ยังเชื่อมโยงกับระบบพ่อเลี้ยงอุปถัมภ์ ยิ่งในเวลานี้ มันหลอมรวมทั้งเศรษฐกิจ การเมือง และอุดมการณ์ซ้อนกันอยู่ ทำให้มองไม่เห็นปัญหาได้ง่ายๆ
 
กระทั่งนักวิชาการก็ทำงานวิชาการของตัวเอง การทำงานวิชาการวิเคราะห์ทางการเมืองก็แยกส่วนออกมาเป็นประเด็นการเมืองอย่างเดียว โดยแยกส่วนเศรษฐกิจออกไป ซึ่งทำให้มองไม่เห็นปัญหา ฉะนั้นในฐานะที่เราเป็นนักวิจัย ซึ่งต้องวิเคราะห์ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และอุดมการณ์บวกกันทั้งหมด จึงต้องทำหน้าที่เปิดโปงปัญหาที่มองไม่เห็นต่อสังคม
 
แนวคิดเรื่องการมี ‘วันข้าว’ และ ‘ชาวนาแห่งชาติ’ อาจารย์คิดเห็นอย่างไร
ยาหอมๆ พวกนี้ เช่น การสร้างสภาเกษตรกรฯ…วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ นั้นก็คงต้องบอกว่า ไม่ได้อะไร คือ เขาจะตายอยู่แล้ว คุณดันให้เขาดมยาหอม แทนที่คุณจะให้ข้าวให้น้ำกับเขา ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ต้องเป็นกลไกเชิงสถาบันเข้ามากำกับควบคุมตลาด ไม่ให้ชาวนาถูกเอาไปล่อนจ้อนหมดตัว เราจะต่อสู้ทุนนิยมโลกไร้พรมแดนด้วยชาตินิยมแบบนี้ไม่ได้แล้ว เมื่อก่อนโลกเป็นโลกรัฐชาติ แต่ตอนนี้ มันเป็นโลกไร้พรมแดน และมันคนละบริบทประวัติศาสตร์ จะมาทำแนวทางชาตินิยมอย่างเดียวสู้ไม่ได้ เพราะมันอยู่ผิดโลกแล้ว 
 
ถ้าไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลต่างๆ เช่น โฉนดที่ดิน ซึ่งควรจะเป็นโฉนดชุมชนสำหรับปกป้องคนอ่อนแอ แล้วเมื่อไหร่คนจนถึงจะได้ลืมตาอ้าปากในสังคมเสรีนิยมได้ เราต้องมีตัวช่วยหลายมาตรการเพื่อให้อำนวจในการจัดการทรัพยากร สิ่งเหล่านี้เป็นหัวใจของการควบคุม (Regulate) เราต้องตรวจสอบถ่วงดุลตลาดที่ไร้ความรับผิดชอบ รวมทั้งข้าราชการ เอ็นจีโอ และทุกคน ก็ต้องถูกตรวจสอบ เราเป็นสังคมประชาธิปไตย การตรวจสอบจะทำให้ตลาดทำงานดีขึ้น แล้วทุกคนก็จะเป็นสุข (Happy) โดยคนที่อ่อนแอจะมีอำนาจเพิ่มมากขึ้น และจะเป็นประโยชน์แก่คนทั้งประเทศด้วย 
 
 
 

 
ข้อมูลเพิ่มเติม : วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ
เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2552 ประเด็นเรื่องพื้นที่ปลูกข้าว เป็นปัญหาหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงในการประชุมคณะรัฐมนตรี เนื่องจาก นายสุรศักดิ์ เจือสุคนธ์ทิพย์ รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ทำหนังสือถึง นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เพื่อสอบถามกรณี กลุ่มประเทศคณะรัฐมนตรีความมั่นคงรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) 6 ประเทศ ได้แก่ กาตาร์ โอมาน สหรัฐอาหรับ เอมิเรตส์ บาห์เรน คูเวต และซาอุดิอาระเบีย แสดงความสนใจเข้ามาทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์และทำนาปลูกข้าวในไทย
 
สืบเนื่องมาจากในช่วงเดือนพฤษภาคม 2551 สมัยที่นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ชักชวนนักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบียเข้ามาลงทุนทำนา หรือเช่าที่ดินทำนาและส่งข้าวออกขายต่างประเทศ พร้อมทั้งได้จัดตั้ง “บริษัทรวมใจชาวนา” ขึ้นเพื่อรองรับการลงทุนของนักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย แต่ถูกกระแสต่อต้านทั้งจากพรรคการเมือง องค์กรภาคประชาชนกลุ่มเกษตรกร
 
กรณีที่เกิดขึ้น มีเสียงตอบรับในหลายทาง ทั้งคัดค้าน และรอดูท่าที โดย นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า หากรัฐบาลสนับสนุนให้ชาวต่างชาติลงทุนทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์และปลูกข้าวในไทย ก็เท่ากับว่า ‘ขายชาติ’ และทำร้ายเกษตรกรและวิถีชีวิตบรรพบุรุษไทย โดยจะทำให้คนส่วนใหญ่ในชาติกว่า 40 ล้านคนที่ทำนา ทำไร่ ปลูกผักผลไม้ เลี้ยงสัตว์ เดือนร้อน…
 
ด้านบรรดาผู้ส่งออกข้าวระบุว่า รัฐไม่ควรอนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน เพราะไทยมีเทคโนโลยีการผลิตสูงอยู่แล้วและยังสามารถส่งออกเครื่องสีข้าวไปต่างประเทศได้ ส่วนเรื่องการร่วมทุนก็ไม่จำเป็น เพราะผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพ แต่เป็นห่วงว่า ขณะนี้มีนายทุนต่างชาติพยายามใช้สิทธินอมินีเข้ามาซื้อที่ดินทำเกษตรกรรมมากขึ้น รัฐจะต้องดูแลอย่างใกล้ชิด
 
ประเด็นดังกล่าวทำให้การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ที่ผ่านมา ได้หยิบยกกรณีดังกล่าวขึ้นมาพูดคุยกัน โดยคณะรัฐมนตรีได้พูดคุยกันถึงจุดยืนของประเทศไทยที่ว่า หากมีการลงทุนในอุตสาหกรรมการเกษตร การแปรรูป รับซื้อสินค้าเกษตร หรือร่วมโครงการสำรองอาหารและความมั่นคงทางอาหารในกรอบของอาเซียนนั้น ประเทศไทยไม่ได้ขัดข้อง แต่การจะเข้ามาทำนาซึ่งกฎหมายประเทศไทยสงวนอาชีพนี้ไว้ก็คงจะไม่ได้
 
ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้พูดถึงเรื่องนี้ว่า การเข้ามาลงทุนทำธุรกิจด้านการเกษตรของชาวต่างชาติ ต้องดูด้วยว่ามีรูปแบบอย่างไร หากเป็นรูปแบบการร่วมมือทางการค้า แบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี ในการรับซื้อสินค้าจากประเทศไทย โดยเฉพาะอาหารฮาลาล ก็มีความเป็นไปได้ เพราะไทยสามารถอาศัยความร่วมมือดังกล่าวในการให้กลุ่มประเทศอาหรับเหล่านี้เป็นศูนย์กลางในการขยายตลาดสินค้าฮาลาลได้ แต่ถ้าการลงทุนเป็นลักษณะการเข้ามาตั้งบริษัท เช่าที่ดิน และจ้างเกษตรกรเป็นพนักงานก็คงเป็นไปไม่ได้ โดยได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ตรวจสอบรายละเอียดการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเอกชนไทยด้านธุรกิจการเกษตรที่ชาวต่างชาติเข้ามาถือหุ้นในสัดส่วนตั้งแต่ 40-49.99% ว่ามีปัญหาเรื่องนอมินีเกิดขึ้นหรือไม่ ภายหลังเกิดกระแสข่าวว่ามีชาวต่างชาติจำนวนมากให้ความสนใจเข้ามาลงทุนธุรกิจด้านการเกษตรในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก เพราะอาชีพชาวนาเป็นอาชีพที่สงวนไว้สำหรับคนไทย และมีกฎหมายป้องกันเรื่องการตั้งบริษัทนอมินีของชาวต่างชาติอย่างเข้มงวด
 
ผลของกระแสข่าวการเข้าลงทุนดังกล่าว อาจกล่าวได้ว่า เป็นข่าวที่ทำให้ทุกๆ หน่วยงานได้ให้ความสำคัญด้านการทำนาและพื้นที่การเกษตรมากยิ่งขึ้น เนื่องจากในการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบให้วันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปี เป็น “วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ”
 
การจัดตั้งวันดังกล่าว ถือเป็นการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ข้าวไทย 2550-2554 เนื่องจากวันที่ 5 มิถุนายน 2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลฯ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทอดพระเนตรการทำนาที่ อ.บางเขน กรุงเทพมหานคร และทอดพระเนตรกิจการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้งทรงหว่านข้าวด้วยพระองค์เองในแปลงนา นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานต่อชาวสยามและข้าวไทย เป็นวาระสำคัญต่อกิจกรรมข้าวไทย ทำให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติเห็นชอบกำหนดให้วันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันข้าวและชาวนาแห่งชาติ
 
 
……………………………………….
ที่มาของข้อมูล: http://thainews.prd.go.th/view.php?m_newsid=255206270116&tb=N255206 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net