Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หมายเหตุ: ผู้แปลขออุทิศบทความแปลชิ้นนี้ให้กับอับดุล ซาลามและฮามาทูลา ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยาสองคนที่เสียชีวิตในที่คุมขังของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในเดือนที่แล้ว และให้กับนโยบายทางด้านสิทธิมนุษยชนของพรรคประชาธิปัตย์ตามที่เสนอกับ กกต. เพื่อจดทะเบียนในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2550 ที่กล่าวว่าพรรคประชาธิปัตย์ให้รัฐ “มีความตระหนักในเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค การไม่เลือกปฏิบัติ มาตรการพิเศษสำหรับผู้ด้อยโอกาส” ผู้แปลขอขอบคุณคุณ Voranai Vanijaka นักข่าวหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เจ้าของบทความมาอย่างสูง ณ ที่นี้ด้วย 

 
สุภาษิตหนึ่งกล่าวว่า “เวลาจะทำให้บาดแผลทุกอย่างหายได้” ไม่เพียงเช่นนี้เวลายังทำให้คนลืมและเดินต่อไป ดังเช่นกรณีนี้ที่เวลาทำให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีและประชาชนไทยลืมเหตุการณ์ของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยาไปได้ราวกับว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่เคยเกิดขึ้น
 
ก่อนกรณีสงกรานต์เลือด ก่อนการพยายามฆ่านายสนธิ ลิ้มทองกุล หรือก่อนการโฟนอินของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี รวมถึงก่อนการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ที่ในขณะนี้ยังตกลงกันไม่ได้) ประเด็นโรฮิงยาเป็นประเด็นใหญ่ที่สั่นเครือรัฐบาลใหม่ของนายกฯ หนุ่มคนนี้
 
ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยาที่ว่านี้ได้นั่งเรือมาถึงทางตอนใต้ของประเทศไทย พร้อมกันกับข่าวที่ได้พาดหัวไปทั่วโลกที่มีการอ้างถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่ของไทยซึ่งรวมไปถึงข่าวว่ามีการทรมานอย่างเป็นระบบและการส่งผู้ลี้ภัยกลับออกไปยังทะเลโดยไม่มีอาหารหรือน้ำดื่มโดยมีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้ผู้ลี้ภัยเหล่านี้เสียชีวิต นายกฯ อภิสิทธิ์ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นพร้อมกับสำนักข่าวตะวันตกโดยให้สัญญาว่าจะมีการตรวจสอบกรณีที่เกิดขึ้นเพื่อที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
 
สื่อต่าง ๆ ได้ส่งรูปและภาพวีดีโอคลิปที่อ้างว่าได้มีการทรมานผู้ลี้ภัยโดยเจ้าหน้าที่รัฐ คณะกรรมการตรวจสอบของรัฐบาลได้เห็นว่าหลักฐานเหล่านั้นไม่เพียงพอ และหลังจากนั้นทุกคนก็ลืมเรื่องของชาวโรฮิงยาไป   
 
พวกเราทุกคนก็ดำเนินชีวิตอย่างปกติหลังจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในต้นปีนี้ จนกว่ารายงานข่าวกลางเดือนสิงหาคมที่พูดถึงการเสียชีวิตของผู้ลี้ภัย (หรือ “แรงงานเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย”) ชาวโรฮิงยาสองคนในที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จังหวัดระนอง จากความเห็นขององค์กรสิทธิมนุษยชนนายอับดุล ซาลาม (อายุ 18 ปี) ได้เสียชีวิตมาแล้วสามเดือนหลังจากอ้วกออกมาเป็นเลือดหลายครั้ง ในเดือนที่แล้ว (กลางเดือนสิงหาคม) นายฮามาทูลา (อายุ 15 ปี) ได้เสียชีวิตโดยไม่มีสาเหตุใด ๆ แต่นายแพทย์ธงชัย กีรติหาตยางกูรณ์ หมอในจังหวัดระนองให้ความเห็นว่าเหตุผลของการเสียชีวิตคือการอักเสบหรือติดเชื้ออย่างรวดเร็วที่หัวใจ
 
มันนับเป็นเรื่องที่น่าสงสัยว่าชายหนุ่มอายุ 18 และ 15 ปีจะเสียชีวิตจากหัวใจวายได้อย่างไร มันมีความเป็นไปได้มากกว่าที่พวกเขาเสียชีวิตจากการอดอาหารตามที่มีรายงานจากบางแหล่งข่าว แต่เหตุผลนี้ก็ยังถูกตั้งคำถามเนื่องจากพวกเขาได้รับอาหารตลอดที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เป็นไปได้ไหมว่าพวกเขาอดอาหารเองเพื่อฆ่าตัวตาย? แต่เขาจะทำอย่างนั้นไปทำไมละ?
 
แม้ว่าหัวใจวายหรือการขาดอาหารอาจจะเป็นเหตุผลที่พวกเขาเสียชีวิต แต่เหตุผลที่แท้จริงที่พวกเขาเสียชีวิต คือ การไร้ซึ่งความหวัง รายงานข่าวจากหมอประจำสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้กล่าวว่าผู้ลี้ภัยทั้งสองคนได้รับอาหารและยารักษาโรค แม้ว่าการบริการที่เขาได้รับก็ไม่ใช่การบริการระดับห้าดาวแต่ก็ไม่น่าจะเป็นเหตุผลที่นำไปสู่การเสียชีวิตได้
 
สิ่งที่ชาวโรฮิงยาสองคนขาด ตามแหล่งข่าวที่ว่านี้ คือ ความหวังและอนาคต
 
ทำไมพวกเขาถึงไร้ซึ่งความหวังละ?  
 
นับจนถึงวันนี้เป็นระยะเวลาแปดเดือน (และกำลังเพิ่มขึ้นทุกวัน) ที่ผู้ลี้ภัยจำนวน 70 คนนี้ (ซึ่งแต่ละคนต้องจ่ายเงินค่าปรับ 2,000 บาทให้กับศาลจังหวัดระนองข้อหาเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย) ต้องอัดกันอยู่อย่างยัดเยียดในห้องเดียวในอาคารสองชั้น พวกเขาเหล่านี้ไม่ใช่อาชญากรคดีร้ายแรงหรือนักโทษสงครามแต่เป็นเพียงชาวบ้านและชาวไร่จากประเทศโลกที่สามที่ได้ทนทุกข์ทรมานกับความยากจนและการถูกกดขี่ที่บ้านเกิด พวกเขามีความกล้าหาญที่จะข้ามน้ำข้ามทะเลเพื่อจะตามหาความหวังและโอกาสในชีวิต แต่กลับต้องถูกทรมาน (ตามการกล่าวอ้าง) โดยเจ้าหน้าที่ทหารและโยนเข้าห้องขัง พวกเขาเหล่านี้ได้นั่งอยู่เฉย ๆ เป็นระยะเวลาแปดเดือน (และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ) โดยไม่รู้ว่าอนาคตของพวกเขาจะเป็นอย่างไร
 
โลกนี้ได้ลืมพวกเขาไปแล้ว พวกเขาไม่รู้ว่าจะต้องอยู่ในคุกเป็นระยะเวลานานเท่าไหร่ ไม่มีใครบอกเขาอะไรพวกเขาได้เลย แม้ว่าพวกเขาอาจจะไม่ได้ถูกกระทำทารุณกรรมในสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแต่พวกเขาได้ถูกกระทำทารุณและทอดทิ้งมาชั่วชีวิตและในระยะเวลาแปดเดือนที่ผ่านมาโดยเจ้าหน้าที่ไทยและรัฐบาลไทย
 
ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ถูกทอดทิ้งและกระทำทารุณกรรมเนื่องจากเจ้าหน้าที่ไทยไม่สนใจ ไม่มีเวลา หรือไม่มีความต้องการที่จะแก้ไขปัญหานี้ รัฐบาลไม่มีทิศทาง ไม่มีนโยบาย และไม่มีทางออก ชาวโรฮิงยาสองคนเสียชีวิตจากการนั่งเฉย ๆ เป็นระยะเวลาเจ็ดเดือน
 
จากการไร้ซึ่งความหวัง ไร้ซึ่งอนาคต พวกเขาสองคนนี้จึงถอนตัวเองออกมาจากความเป็นอยู่ หยุดการกินอาหารและหยุดซึ่งความสนใจอะไรทั้งสิ้น พวกเขาสูญเสียเป้าหมายที่จะมีชีวิตต่อไป ไม่ว่าการเสียชีวิตจะเกิดจากหัวใจวาย การอ้วกจนเสียชีวิต หรือเพียงแค่เสียชีวิตขณะนอนหลับ เหตุผลที่แท้จริงของการเสียชีวิตมีเหตุผลเดียวและเป็นเหตุผลเหมือนกัน คือ พวกเขาตายจากการไร้ซึ่งความหวัง ถ้าสถานการณ์จะไม่เปลี่ยนแปลงอะไร อับดุล ซาลามและฮามาทูลาก็จะเป็นเพียงสองคนแรกที่ต้องเสียชีวิตก่อน
 
ในขณะเดียวกัน ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยามากกว่า 10 คนได้ไม่สบายเนื่องจากความอ่อนเพลียและการขาดอาหารจากการถูกคุมขังเป็นระยะเวลานาน ชาวโรฮิงยาที่เหลือได้ถูกย้ายมาที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่ซอยสวนพลู กรุงเทพฯ
 
จากครั้งแรกที่ข่าวผู้ลี้ภัยโรฮิงยาที่ถูกนำเสนอกับสาธารณชนแปดเดือนที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงยาอย่างเดียว คือ การถูกย้ายจากที่คุมขังแห่งหนึ่งไปสู่อีกแห่งหนึ่ง ในขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรี สื่อมวลชน ประชาชนไทย และประชาคมโลกได้ก้าวเดินไปสู่เรื่องที่ “ใหญ่โต” กว่านี้ ซึ่งแน่นอนต้องรวมถึงความขัดแย้งระหว่างเสื้อเหลืองกับเสื้อแดงหรือปัญหาเศรษฐกิจที่มีผลกระทบกับชีวิตเราโดยตรง สิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ลี้ภัยโรฮิงยา 78 คนที่ถูกคุมขัง (ลบสอง) ยังไงก็ไม่มีผลกระทบกับชีวิตเราอยู่แล้ว
 
นายพิทักษ์ จารุสมบัติ ผู้อำนวยการสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองกล่าวว่าทางสำนักงานจะไม่เปิดเผยว่าชาวโรฮิงยาจะถูกคุมขังนานแค่ไหน การที่เราไม่รู้ว่าพวกเขาจะถูกคุมขังนานแค่ไหนละคือปัญหาหลัก พวกเขาจะต้องกัดฟันทนอีกนานแค่ไหนจนกว่าพวกเขาส่วนมากจะสูญเสียความหวัง นอนรอเฉย ๆ และเหี่ยวเฉาไป
 
สำหรับโลกภายนอก เวลาอาจจะเปลี่ยน เวลาอาจจะเยียวยาอะไรได้ เวลาอาจจะทำให้เราลืมและก้าวเดินไป แต่สำหรับผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยาที่เสียชีวิตไปสองคน สำหรับพวกเขาไม่ได้มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปเลย
 
ในระยะเวลาเจ็ดเดือนที่พวกเขาถูกคุมขังก่อนจะเสียชีวิต อับดุล ซาลามและฮามาทูลาได้นั่งอยู่ที่เดิม มองดูกำแพงที่เดิน นั่งเฉย ๆ ในที่แคบ ๆ โดยที่ไม่มีอะไรให้ทำนอกเหนือจากดูและรำลึกถึงความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้นกับร่างกายที่ถูกคุมขังในคุกและที่รุมเร้าอยู่ในจิตใจ พวกเขานั่งอยู่อย่างนั้นอย่างไร้ซึ่งความหวัง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net