Skip to main content
sharethis

ช่วงเช้าของวันที่ 12 สิงหาคม 2552 ห้องประชุมเช็คอะหมัด วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี คับคั่งไปด้วยนักคิดนักเขียนภาคใต้ ด้วยมีงานเปิดตัวและแนะนำ “กองทุนวรรณกรรมไทย – มลายู” ที่คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ หรือ “ทมยันตี” นักเขียนชื่อดัง นำเงินที่ได้จากการเขียนสคริปต์ละครโทรทัศน์เรื่อง “รายากูนิง” จำนวน 100,000 บาท มอบให้สถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จัดตั้ง “กองทุนวรรณกรรมไทย – มลายู” ในงานนี้คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ได้กล่าวถึงที่มาและความตั้งใจในการก่อตั้งกองทุนฯ ด้วยวาทะและสาระที่น่าสนใจ ดังนี้

....................................

กราบเรียนท่านผู้ฟังทั้งหลาย...เราอาจจะไม่ใช่เชื้อสายเดียวกัน อาจจะมีอะไรที่แตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันโดยเด็ดขาดทุกประการ นั่นคือ เราเป็นมนุษย์เหมือนกัน ถ้าเราไม่เกื้อกูลกันและกันแล้ว เราจะได้ชื่อว่าเป็นมนุษย์ได้อย่างไร

ดิฉันเดินทางมาในวันนี้ ด้วยเหตุผลจากเรื่องรายากูนิง ที่ดิฉันเคยอ่านเป็นเล่มเล็กๆ ดิฉันเป็นคนนับถือผู้หญิงด้วยกัน ยิ่งผู้หญิงเก่งๆ แล้ว นับถือมาก อ่านรายากูนิงแล้ว ดิฉันอยากได้ประวัติมาเขียน ทำอย่างไร หาเท่าไหร่ก็หาไม่ได้ ประวัติศาสตร์ทางใต้ที่ละเอียดหายาก มีแค่นี้ เล่มใหญ่ๆ ก็มีแค่นี้ บังเอิญไปได้หนังสือของอาจารย์ครองชัย หัตถา ได้มาแล้วก็เปิดอ่าน

คุณดอน หรือคุณวรรณชัย ไตรแก้ว ทั้งเคี่ยวทั้งเข็ญดิฉันให้เขียนเรื่องนี้ให้ได้ เมื่อชอบแล้ว ทำไมคุณวิมลไม่ทำ สารภาพดิฉันกลัวทำไม่ได้ เวลาดิฉันจะเขียนหนังสือ ด้วยความเป็นมืออาชีพ ทุกอย่างจะต้องตรง ต้องถูกต้อง ทั้งประวัติศาสตร์ และที่สำคัญภาษาพูด ว่าแล้วคุณดอนก็ส่งเพื่อนดิฉันมา อาจารย์ดอกเตอร์รัตติยา รัตติยา สาและ เธอเริ่มสอนดิฉันเรื่องภาษาพูด ควรใช้คำยังไง

เราร่วมกันทำละครเรื่องรายากูนิง ผ่านอุปสรรคมากมาย ภาษาแก้กันแล้วแก้กันอีก ผ่านทั้งดิฉัน ผ่านทั้งอาจารย์รัตติยา ถ้าท่านได้ชมละครเรื่องนี้ ขอให้รู้เถอะว่า เราพยายามทำให้ถูกต้องทุกอย่าง แต่ทำได้เท่านั้นเอง คนเขียนบทไม่เคยมีความรู้ในประวัติศาสตร์ ไม่เคยรู้เลยว่ารายา เป็นอย่างไร

ดิฉันต้องถามอาจารย์รัตติยาว่า รานีท่านเป็นผู้หญิง ท่านจะเป็นรายาได้ยังไง รายา คือ ผู้ชาย แล้วคนชั้นสูงวงศ์เทวัญ อสัญแดหวา ต้องเป็นระเด่น รองลงมา คือ ระตู จรกา ตำแหน่งท่านเรียงลำดับอย่างไร

อาจารย์รัตติยาต้องนั่งเรียงลำดับให้ฟัง เห็นไหมคะว่า การเป็นนักเขียนอาชีพ ต้องผิดน้อยที่สุด ต้องให้ความรู้ต่อคนอ่านให้มากที่สุด นี่คือ เส้นทางของรายากูนิง เมื่ออ่านรายากูนิง ยิ่งอ่านลึกเข้าไปๆ ดิฉันยิ่งรู้จักปัตตานีน้อยลง ยิ่งค้นยิ่งคว้า ยิ่งมีคำถาม ตรงนี้ใช่หรือเปล่า ใช่ๆ ตรงนี้ใช่ๆ  ความเจริญอยู่ตรงนี้มาก่อน

วันที่ทำบทละครโทรทัศน์ คุณดอนเคี่ยวเข็ญให้ทำเป็นนวนิยายด้วย ขอเรียนว่า หนึ่งแสนบาทที่นำมาตั้งกองทุนฯ ได้มาจากจากการเขียนสคริปต์ละครรายากูนิง แต่หลังจากทำเป็นนวนิยายแล้ว ดิฉันครองลิขสิทธ์ เป็นตายก็ได้เป็นแสน ดิฉันจะพยายามส่งเงินกลับเข้ามาที่กองทุนฯ ให้มากที่สุด

ตรงนี้ถือเป็นพระราชทรัพย์ของรายา วันนี้ทางกองทุนฯ ต้องภูมิใจ เพราะรายาท่านประทานพระราชทรัพย์ของพระองค์ท่านมาให้กับกองทุนฯ ทางกองทุนฯ บริหารพระราชทรัพย์ของรายาให้ดีก็แล้วกัน ไม่ใช่เงินของเรา เป็นพระราชทรัพย์ของท่าน ให้สมกับที่ยามท่านจะสิ้นลมพระทัยสุดท้าย ท่านยังรับสั่งถึงปัตตานีว่า ขอให้ปัตตานียั่งยืน

รายาซึ่งทำให้ปัตตานียิ่งใหญ่ สิ้นพระชนน์อย่างอ้างว้างเดียวดาย พระศพท่านอยู่ในแผ่นดินอื่น ดิฉันอยากจะถามนิดหนึ่ง ชาวปัตตานีมิภูมิใจต่อรายากูนิง หรือลืมท่านไปแล้วเสียสิ้น มัรโฮมของท่านยังไกลแผ่นดิน พระหฤทัยของท่านฝังในจิต

ความเจริญจากนั้นจนมาถึงคุณในบัดนี้ สี่รายาแลกทุกอย่างมาเพื่อให้ปัตตานีคงอยู่ คุณไม่ภูมิใจที่มีรายาอย่างนี้เกิดขึ้นในแผ่นดินละหรือ คุณไม่ภูมิใจหรือที่มีคนบอกว่า ในแผ่นดินนี้มีผู้หญิงเก่งถึงสี่คน ทรงอำนาจ ดิฉันอยากจะถาม เพราะดิฉันภูมิใจในรายาพระองค์น้อย รายาพระองค์น้อยที่ดิฉันนึกถึง น่าจะเป็นผู้หญิงสวย เอวบางร่างน้อย

ฝากความรู้สึกของนักเขียนที่จำรายาได้ ฝากให้คุณระลึกเช่นเดียวกับที่ดิฉันระลึกว่า ทำอย่างไร จะให้พระราชทรัพย์ของท่าน ทำให้ปัตตานีแต่หนหลังวิจิตรงดงาม

เมื่อวานดิฉันได้รับหนังสือเกี่ยวกับนักข่าวทางภาคใต้ ของสถาบันอิศรา ใครทำข่าวไม่ทราบแต่เขียนดี เขาบอกว่าวรรณกรรม คือ ภาพสะท้อนความจริง เป็นสื่อบอกเล่าความคิดเห็นของผู้คน

ความคิดความเห็นของดิฉัน วรรณกรรมทำหน้าที่พังทลายกำแพงที่มองไม่เห็น ด้วยการสร้างสัมพันธ์ข้ามพรมแดนผ่านทางวรรณกรรม วรรณกรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญ และภาษามลายูเป็นภาษาสำคัญในพื้นที่นี้

ดิฉันต้องการเรียนภาษามลายู ได้เรียนจากอาจารย์รัตติยา พร้อมกับให้อาจารย์รัตติยาช่วยดูเรื่องภาษาตรงนี้ให้ด้วย ให้อาจารย์ช่วยดูว่า ถ้าจะเขียนคำพูดภาษาถิ่น จะเขียนยังไง วันนี้มาถึงอาจารย์รัตติยาก็ยื่นหนังสือปกเหลืองมาให้ พอดิฉันพลิก ดิฉันก็เจอข้อความที่ดิฉันต้องการ รายามีจริงหรือ ท่านส่งหนังสือมาให้ดิฉัน นี่ไงวิมล ที่วิมลอยากได้ สิ่งที่ดิฉันจะเอาไปเริ่มต้นในการเขียนหนังสืออยู่ตรงนี้

สำหรับเรื่องรายากูนิง เรียนกับอาจารย์รัตติยาว่า ต้องส่งให้อาจารย์แก้ก่อนที่จะรวมเล่ม เพราะอาจจะมีคำผิด  จึงให้ท่านอ่านซะก่อน ผิดตรงไหนทำเครื่องหมายไว้  ดิฉันจะกลับไปแก้ เราควรจะต้องได้ทั้งประวัติศาสตร์ ได้ทั้งศาสตร์ ได้ทั้งความวิจิตรงดงามของภาษา

วรรณกรรมแปลว่าการกระทำอันดี วรรณ คือ สีสัน ถ้าคุณคิดเรื่องได้  เขียนออกมาก็เป็นเรื่องเล่า หรือ  Story ถ้าสิ่งที่คุณเขียนเป็นข้อเท็จจริง นั่นคุณกำลังทำบทความ แต่เมื่อไหร่คุณใส่วัฒนธรรมเข้าไปในนั้นด้วย นั่นคุณกำลังเขียนสารคดี แต่เมื่อเริ่มต้นเขียนวรรณกรรม คุณต้องเอาอารมณ์ใส่เข้าไป อารมณ์ที่สื่อด้วยความไพเราะของภาษา เหมือนกับความไพเราะของดนตรี อันนั้นจึงจะเป็นนวนิยาย

อารมณ์นั้น ไม่ใช่แข็งกร้าวดุดันเพียงอย่างเดียว คุณต้องขายความรัก ความอ่อนหวาน ถ้าคุณศรัทธาในพระเจ้า คุณเอาตรงนี้แหละออกมาขาย เล่าถึงพระเจ้าอย่างอ่อนโยน เล่าถึงสรรพสิ่งอย่างอ่อนโยน เล่าถึงความงดงาม

เห็นมั้ยเรื่องกาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว อย่างแฮรี่พ็อตเตอร์ยังขายได้ตั้งเยอะตั้งแยะ เขาอ่านนิทาน เห็นไหมคนชอบเรื่องสนุก ชอบความอ่อนหวาน วิธีการเขียน คือ เร้นสิ่งเหล่านี้ไว้ ไม่แสดงออกให้เป็นบทความ หรือเป็นสารคดี นวนิยายจะเอาสิ่งเหล่านั้นม้วนกลับเข้ามาไว้ข้างใน แล้วบอกจากหัวใจว่า หัวใจคุณคิดยังไง

วันนี้ ดิฉันจะบอกว่า วรรณกรรมเข้ากับประวัติศาสตร์ของทางแถบนี้ มีเรื่องเล่าถึงคนเก่งมากมาย รายาของคุณมากมายตรงนี้ เก่งนักหนา  เล่าถึงด้วยความรักและความงดงาม ไม่ต้องเล่าถึงความแห้งแล้งของจิตใจ ปล่อยให้ทีวีมันตบอยู่ในนั้นเถอะคะ

ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ต้องดำเนินด้วยความรัก ความปรารถนาดีต่อกัน ทำให้มนุษย์รวมกันเป็นเชื้อชาติ เป็นเผ่าพันธุ์ พูดภาษาเดียวกัน แม้ต่างภาษาเราก็เอาความรัก ความปรารถนาดีมาอยู่ด้วยกันได้ เมื่อไหร่เราใช้ความเกลียด เราก็จะเกลียดทุกคน ดิฉันหวังว่าจะได้ยินภาษาที่ไพเราะ

วันนี้ มีคนจากญี่ปุ่นมาขอให้แนะนำตำนานโกโบริ ขนาดโกโบริยังกลายเป็นตำนานระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ทำไมคุณไม่สร้างตำนานให้กับรายาของคุณขึ้นมาละ

ตอนรายากูนิงเสด็จไปยังอยุธยา อาจารย์รัตติยากับดิฉันนี่แหละ ที่บอกว่าบุหงา ดอกไม้เงินดอกไม้ทอง ไม่ได้เป็นเครื่องหมายแสดงออกถึงความเป็นเมืองขึ้น เพราะตอนนั้นสมเด็จเจ้าปราสาททองมีพระนารายณ์เป็นพระองค์น้อย รายาท่านเอาดอกไม้ไปให้ ถ้าเอาดอกไม้จริงไปถึงก็คงเหี่ยว เจ้านายท่านจึงนำดอกไม้ที่ทำด้วยของมีค่าไปให้ เพื่อแสดงไมตรีต่อกัน
ดิฉันหวังว่าท่านจะนำเวลาที่เสียไปในวันนี้ คืนกลับมาเป็นวรรณกรรม ที่เดินไปสู่จุดมุ่งหมาย ด้วยความรู้สึกอันเดียวกัน นั่นคือ ความรักที่มนุษย์ต้องมีต่อกัน และร่วมแบ่งปันจรรโลงสิ่งเหล่านี้ให้ดำเนินต่อไป
 

ความในใจ คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ หรือทมยันตี ผู้ก่อตั้ง “กองทุนวรรณกรรมไทย – มลายู” บอกกล่าวถึงที่มาของแรงบันดาลใจในการก่อตั้งกองทุนฯ
 
 
ปลุกกำลังใจ ทมยันตีกำลังปลุกกำลังใจนักเขียนภาคใต้ ให้ผลิตงานวรรณกรรมมลายูออกสู่บรรณพิภพ
 
 
 
ถวายความเคารพ คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ นำดอกไม้ถวายความเคารพกุโบร์ของรายาแห่งปัตตานี ตามแบบอย่างปฏิบัติของชนชาวไทยต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net