Skip to main content
sharethis

ตามนโยบายการกระจายการถือครองที่ดินของรัฐบาลที่นำโดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ประกาศมาตรการที่เกี่ยวข้องและกำลังดำเนินการคือ โฉนดชุมชน การคุ้มพื้นที่เกษตรกรรม ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และกองทุนธนาคารที่ดิน ล่าสุด เมื่อวันที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้ทำพิธีตัดริบบิ้นเปิดการสัมมนาเรื่องโฉนดชุมชนที่ทำเนียบรัฐบาล และมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นประเด็นเรื่องโฉนดชุมชนตามภูมิภาคต่างๆ อีก 4 ครั้ง ซึ่งได้เสร็จสิ้นลงแล้ว

วานนี้ (15 ก.ย.52) ที่สมาคมนิสิตเก่า คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ มีการสัมมนา “โฉนดชุมชน และนโยบายการกระจายถือครองที่ดิน” โดยศูนย์ติดตามประชาธิปไตยไทย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับศูนย์เศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ และเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย เพื่อรวมรวบความเห็นเสนอต่อตัวแทนรัฐบาล ในการเตรียมการออกระเบียบสำนักนายกสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน ซึ่งคาดว่าจะมีการนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาในเร็ววันนี้
 

ชี้ “นายก” แจกสัญญาเช่าที่ราชพัสดุ เหมือนรับซื้อของโจรมาหาคะแนนนิยม

ในขณะที่ประเด็นเรื่องโฉนดชุมชนยังเป็นที่ถกเถียงกันอย่างมาก โดยเฉพาะท่าทีของรัฐบาลต่อการจัดทำโฉนดซึ่งถูกมองว่าอาจจะเป็นเพียงการนำพื้นที่ป่ามาแจกสิทธิทำกิน (สทก.) แบบแปลงใหญ่ รัฐบาลได้จัดทำ “โครงการ 1 ล้านไร่มิติใหม่ราชพัสดุ” เดินหน้านำที่ราชพัสดุมาให้เกษตรกรเช่าทำการเกษตร โดยมีเป้าหมาย 1 ล้านไร่ภายในปี 2555 และเมื่อวันที่ 3 ก.ย. ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้ไปแจกสัญญาเช่าที่ดินทำกิน จำนวน 1,182 ราย ให้กับเกษตรกรที่ อ.หนองเสือ และอ.ธัญญบุรี จ.ปทุมธานี อีกทั้งประกาศเดินหน้าให้เช่าที่ดินราชพัสดุต่อไป

ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง  คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงกรณี ที่ดิน อ.หนองเสือ และอ.ธัญญบุรี จ.ปทุมธานี ว่า เป็นปัญหาซับซ้อน เพราะที่ดินทั้งสองแปลงชาวบ้านได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นสหกรณ์เช่าซื้อที่ดินโดยยืมเงินมาจากกองทุนเพื่อจัดหาที่ดินให้แก่เกษตรกรตั้งแต่ปี 2513 เพื่อซื้อที่ดินที่เคยเช่ากันมายาวนานจาก กองมรดกของ ม.ร.ว.สุวพรรณ สนิทวงศ์ แต่เนื่องจากมีมติ มติ ครม.25 ธ.ค.2544 ห้ามนำที่ดินราชพัสดุมาดำเนินการจำหน่าย จ่าย โอน แก่ผู้อื่น ทำให้เกิดการส่งที่ราชพัสดุ คืนแก่กรมธนารักษ์

การที่นายกนำสัญญาเช่าที่ราชพัสดุไปแจก แล้วบอกว่าชาวบ้านจะมีที่ทำกิน โดยทำเหมือนเป็นที่ดินที่รัฐหาให้ เหมือนรัฐบาลปัจจุบันมาเป็นคนรับซื้อของโจร เนื่องจาก มติ ครม.2544 ที่ออกมาโดยรัฐบาลทักษิณถือเป็นการปล้นที่ดินไปจากชาวนาที่ต้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกินที่ตนเอง แต่รัฐบาลคุณอภิสิทธิ์กลับรับซื้อของโจรเอาไปดำเนินการต่ออีก

ดร.ประภาส กล่าวต่อมาถึงการจัดการที่ดินของรัฐบาลว่า รัฐบาลคิดว่าที่ดินที่อยู่กับที่ราชพัสดุที่ถือเป็นที่ดินของรัฐนั้นจะไม่เปลี่ยนมือ แต่การให้เช่าเป็นรายๆ โดยกรมธนารักษ์ สามารถเปลี่ยนมือไปอยู่กับนายทุนได้ และไม่ผิดกฎหมาย เพราะการเช่าที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์ ไม่ได้ห้ามเปิดให้ใครก็ได้ที่เข้ามาเช่าที่ทำกิน มีการขายกรรมสิทธิ์ในการเช่าได้ สามารถเปลี่ยนจากที่เกษตรกรเป็นโรงงานอุตสาหกรรมได้ และสุดท้ายเกษตรกรจะฉิบหาย นอกจากนี้ยังถือเป็นการทำลายสหกรณ์ ล่าสุดรัฐบาลอภิสิทธิ์ ยังมีมติ ครม.เมื่อปลายเดือนสิงหาคมให้กระทรวงการคลัง เข้ามาแจกที่ดินแทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วย

รัฐบาลได้ดำเนินการในลักษณะที่สวนทางกับโฉนดชุมชน รวมทั้งในส่วนนโยบายที่ว่าจะหนุนเสริมเกษตรกร ให้มีการคุ้มครองพื้นที่เกษตร และพัฒนากองทุนที่ดิน และเอาที่ดินมาให้เช่าแบบนายทุนโรงสี นอกจากนี้ที่ผ่านมาโฉนดชุมชนจะพูดถึงเรื่องป่า เรื่องที่ดินของรัฐ แต่การจัดการที่ดินของเอกชนที่ยังคงมีการกระจุกตัวและเป็นปัญหาที่มีมานานจะจัดการตรงนี้อย่างไร ยังเป็นคำถาม ไม่เช่นนั้นการดำเนินการโฉนดชุมชนจะแคบมาก

นางสุนี ไชยรส  อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าว่า โฉนดชุมชนสิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องสิทธิในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย และประชาชนเท่านั้นที่จะจัดการโฉนดได้ โดยประชาชนต้องตระหนักในการจัดการที่ดิน มีความคิดริเริ่ม และต้องการรักษาที่ดินของชุมชน ทั้งนี้การต่อสู้หลังเหตุการณ์ 14 ต.ค.2516 สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยเรียกร้องลดค่าเช่านา แสดงให้เห็นว่าเกษตรกรไม่มีที่นาของตนเอง ไม่มีที่อยู่ที่มั่นคง คนวันนี้ไม่มีที่มั่นคง ทั้งที่เริ่มต้นผู้คนไปบุกเบิกที่ไร่ที่นาและควรมีสิทธิในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย การปฎิรูปที่ดินก็เพื่อความมั่นคง รักษาที่ดินให้อยู่ยั่งยืนไม่ถูกขายทอด

ที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายที่ดี แต่หลายนโยบายถูกทักท้วง โดยเฉพาะจะเอาพื้นที่ราชพัสดุ จำนวน 1 ล้านไร่ มาให้เกษตรกรเช่า แต่ความเป็นจริงทุกพื้นที่มีคนอาศัยอยู่ อีกทั้งในพื้นที่นั้นๆ อาจมีปัญหาทับซ้อนระหว่างที่ดินของชาวบ้านกับเขตทหาร ที่ราชพัสดุ หรือที่ดินรัฐอื่น เกิดการยกที่ดินที่มี่ปัญหาขัดแย้งให้รัฐจัดการเวรคืน ทำให้ราษฎรกลายเป็นผู้บุกรุก ส่วนรัฐได้หน้าเสมือนว่าเอาที่มาแจกให้ชาวบ้าน

ส่วนที่คลองโยง จ.นครปฐม รัฐบาลได้ใช้นโยบายตามใจชอบ ใช้มติ ครม.ปี 2513 มีกองทุนเช่าซื้อให้เกษตรกร แต่มติสหกรณ์เช่าซื้อที่ดิน ทั้งที่คลองโยง ที่หนองสือและที่ดินธัญญบุรี มติ ครม.ปี 2544 สมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ยกเลิกไปทั้งหมด โดยมาจบห้วนๆ ที่ให้เป็นที่ราชพัสดุของรัฐ และเมื่อระบบอุตสาหกรรมเข้ามาจะไปซื้อที่ราชพัสดุที่ใดก็ได้ ทำให้น่าวิตกที่ดินเหล่านี้เมื่อรัฐบาลแจกจัดสรรให้เกษตรกรผู้ยากไร้จะถูกขายทอดให้กับนายทุนอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม นางสุนีแสดงความเห็นว่า ที่ดินสหกรณ์เช่าซื้อดังกล่าว ควรได้สิทธิสมบูรณ์ในการเป็นโฉนดที่เป็นกรรมสิทธิของบุคคล ส่วนการเป็นโฉนดชุมชนควรเป็นความสมัครใจร่วมกันของชุมชน ให้ได้รับสิทธิก่อน หากสมัครใจทำโฉนดชุมชนก็เป็นสิทธิที่รัฐควรให้การสนับสนุน

“เรื่องที่ดินเป็นการเรียกร้องสิทธิไม่ใช่การแบมือขอที่รัฐจะให้อะไรก็ได้” นางสุนีกล่าว โดยให้ยกเว้นคนที่จนจริงๆ ที่ตกหล่นทางประวัติศาสตร์ ไม่มีที่ดินทำกินซึ่งรัฐต้องไปจัดสรรที่ดินให้

อดีตคณะกรรมการสิทธิฯ กล่าวเพิ่มเติมว่าว่า ควรมีการสะสางประวัติศาสตร์เป็นชุมชน เป็นเรื่องๆ ไม่ใช่แก้ปัญหาโดยใช้กฎหมายอย่างเดียว เพราะกฎหมายล้าหลังแทบทุกทั้งเรื่องป่า เรื่องที่ราษฎรชพัสดุ ทั้งนี้คิดว่ารัฐบาลได้เดินมาถูกทางแล้วที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา แต่หากไม่สางประวัติศาสตร์ที่รุงรังอยู่ก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้แก้

ด้านนายปัญญา คงปาน ตัวแทนชาวบ้านจากสหกรณ์การเช่าซื้อที่ดินหนองเสือ กล่าวว่า มารดาเป็นผู้มีสัญญาเช่าซื้อกับสหกรณ์เช่าซื้อในพื้นที่ อ.หนองเสือ ขณะที่รัฐบาลตั้งแต่ปี 2513 จัดตั้งโครงการกองทุนเพื่อจัดหาที่ดินให้เกษตรกร ในรูปของนิคมสหกรณ์การเช่าซื้อที่ดิน ซื้อสหกรณ์ได้มีการดำเนินการเช่าซื้อจนชาวบ้านได้กรรมสิทธิ์ไปแล้วส่วนหนึ่ง ปัจจุบันชาวบ้านยังเรียกว่า นากองทุนฯ ตั้งแต่คลอง 10-12 เนื้อที่กว่า 5,000 ไร่ แต่ก็บังมีชาวบ้านอีกส่วนหนึ่งที่ยังไม่ได้ที่เพราะติดมติ ครม.ปี 2544

“เหมือนชาวบ้านถูกยึดที่แล้วนำมาจัดสรรใหม่ ชาวบ้านไม่รู้จะเคลื่อนอย่างไร เตรียมที่จะร่วมตัวกับกลุ่ม คลองโยง นครปฐม เพื่อเรียกร้องให้มีการออกโฉนดชุมชนดูแลกันเองในรูปแบบสหกรณ์ แทนที่จะนำไปจัดสรรก็จะอยู่ต่อไป แต่ถ้าให้กรมธนารักษ์ นำที่ราชพัสดูไปจัดสรรเช่าที่ทั้งหมด ก็จะตกไปอยู่กับนายทุนแน่ๆ เพราะสามารถเปลี่ยนมือหรือผู้เช่าได้ง่ายมากตลอดเวลาโดยไม่มีการตรวจสอบใดๆ” นายปัญญา กล่าวแสดงความคิดเห็นต่อโครงการแจกเอกสารสัญญาเช่าที่ดินทำกินให้เกษตรกรในพื้นที่ อีกทั้งยังคาดหวังว่าโฉนดรวมโดยให้สหกรณ์ดูแลจะป้องกันการเปลี่ยนมือได้

นายไพโรจน์ พลเพชร ผู้อำนวยการสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน กล่าวถึงปัญหาที่ดินในส่วนสหกรณ์เช่าซื้อที่ดินว่า ต้องเคลื่อนไหวให้ปลดล็อคมติ ครม.ปี 2544 กลับไปสู่สิทธิการเช่าซื้อที่ดิน ที่มีสิทธิขององค์กรชุมชนคือสหกรณ์อยู่แล้ว แล้วถ้าประสงค์ทำโฉนดชุมชนก็ดำเนินการได้ แม้ระเบียบสำนักนายกฯ จะไม่รับรอง เพราะยังเป็นที่ดินของชุมชน ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องมุ่งกระจายสิทธิการถือครองที่ดินที่เป็นจริง ไม่ใช่เฉพาะที่ดินในเขตป่าและรัฐ และจะต้องสามารถนำนโยบายไปสู่การเปลี่ยนแปลงในพื้นที่อื่นได้ และมีมาตราการเสริม

ผู้อำนวยการสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน วิจารณ์ถึงโครงการนำที่ราชพัสดุมาให้เกษตรกรเช่าว่า รัฐบาลกำลังสับสนโดยในมิติหนึ่งต้องการเสียง แจกที่ดินให้เช่า 1 ล้านไร่ใน 1 ปีโดยหารู้ไม่ว่าจะนำมาสู้การกระจุกตัวของที่ดิน กำลังจะแปลที่ดินของรัฐ ของหลวง ไปให้นายทุน เป็นการก่อการกระจุกตัวรอบใหม่ นอกจากนี้การครอบครองที่ดินโดยมีสัญญาเช่าถูกกว่าการซื้อกรรมสิทธิ์ที่ดิน ทำให้นายทุนยิ่งซื้อได้สบาย และที่สำคัญมากกว่านั้น มันจะถูกผูกขาดโดยนายทุนต่างชาติที่มีพร้อม

“นโยบายฟอกที่ดินให้นายทุนโดยผ่านมือเกษตรกรก่อน” นายไพโรจน์กล่าวพร้อมเน้นย้ำว่า นโยบายนี้เป็นนโยบายฟอกที่ดิน ไม่สามารถแกปัญหาการกระจายสิทธิการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมได้ นอกจากนั้นคนทำโฉนดชุมชนต้องแสดงตัวว่าเป็นของแท้ ไม่ใช่หวังได้ที่ดินชั่วคราวแล้วเอาไปแบ่งกัน แต่จะรักษาไว้ให้ลูกหลาน

อย่างไรก็ตาม เขาเน้นย้ำถึง 3 เรื่องหลังกที่ต้องต่อสู้ว่า ประกอบด้วย 1.เรื่องโฉนดชุมชน ซึ่งใช้ประโยชน์เป็นเจ้าของร่วม คืออำนาจที่เคยมีอยู่ในรัฐหรือเอกชนไปให้ชุมชน เป็นการปฎิรูปอำนาจ มีคนอยู่ในที่ดินอยู่แล้วเพียงแต่ให้เป็นจริงในหลักการ 2.มีธนาคารที่ดิน เพื่อยืนยันถึงความมุ่งมั่นการปฏิรูปที่ดิน และ 3.ที่ถอยไปแล้วเรื่องภาษีที่ดิน ควรต้องจัดเก็บในอัตราก้าวหน้า สำหรับผู้ที่มีที่ดินมากเพื่อกระจายความเท่าเทียม


หวั่น คลอด “ระเบียบสำนักนายกฯ
เรื่องโฉนดชุมชน” พิกลพิการ สร้างปัญหา

นายนิพนธ์ บุญญภัทโร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โฉนดชุมชนเป็นนโยบายรัฐบาลมีระบุตามรัฐธรรมนูญมาตรา 66 65 และ 85 เพื่อกระจายการถือครองที่ดินให้เกษตรกร แก้ปัญหาทำกินอย่างยั่งยืน ในส่วนการบุกรุกทำลายป่าหรือการตั้งชุมชนในพื้นที่ป่าที่มีข้อขัดแย้งว่าใครมาก่อนมาหลัง ที่มีกรณีปัญหาเจ้าหน้าที่รัฐแผวถางทำลายทรัพย์สินชาวบ้านโดยอ้างข้อกฎหมาย รัฐบาลได้ให้ชะลอการดำเนินการในพื้นที่ไปก่อนจนกว่าจะมีการจัดการโฉนดชุมชนแล้วเสร็จ

“โฉนดชุมชนเมื่อแก่ตัวจะเป็นรูปแบบการปกครองตนเอง โดยประชาชน เพื่อประชาชน อีกรูปแบบหนึ่ง” นายนิพนธ์แสดงความเห็น

ในส่วนการให้ความหมาย นายนิพนธ์ กล่าวว่า โฉนดชุมชนเป็นพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยปะปนกันไป โดยที่สำคัญต้องมีภาครัฐสนับสนุน ในส่วนงบประมาณเพื่อจัดทำแผน ให้ความคุ้มครองตามกฎหมาย ไม่มีโฉนดของปัจเจกอยู่ในนั้นให้เป็นผืนดินเดียว มีอาณาเขตชัดเจน เป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านอาศัยอยู่ดั่งเดิม มีกติกาในการอยู่ร่วมกันซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้อนาคตอาจต้องมีการอบรม มีพี่เลี้ยงในเรื่องฉโนดชุมชน โดยรัฐสนับสนุนการพัฒนาเกษตรกรรม วิถีชีวิตที่ถูกต้องเป็นธรรม

นายนิพนธ์ กล่าวถึงการแก้ปัญหาความขัดแย่งที่มีในระดับพื้นที่ด้วยว่า แต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน เหมารวมไม่ได้ โดยเฉพาะพื้นที่ใดมีความขัดแย้งรัฐกับชุมชน กรมป่าไม้ต้องตกลงและยอมถอย และคณะรัฐมนตรีก็ต้องดำเนินการได้ เพราะกฏหมายรัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ เช่นพื้นที่ อ.เคียนซา เป็นที่ราชพัสดุที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าทำเหมืองลิกไนต์ สามารถทำเป็นโฉนดชุมชนได้ พื้นที่ อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี เป็นพื้นที่ป่าสงวนที่นายทุนบุกรุกเมื่อปี 2528 มีนายทุนเช่าเป็นเวลา 15 ปี ครบสัญญาเช่าปลูกปาล์ม รัฐบาลต้องตัดสินใจให้ชัดเจน เมื่อรัฐประกาศเป็นพื้นที่ สปก.แล้วจะต้องขับไล่ให้นายทุนออกไป แต่นายทุนก็มีอิทธิพล ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งก็มีอิทธิพล จึงไม่มีใครแก้ปัญหาได้ ดังนั้นโฉนดชุมชน จึงต้องดูเป็นแต่ละพื้นที่ไป

“พื้นที่เอกชนต้องเปิดโอกาสให้ทำโฉนดชุมชน แต่ให้ชุมชนร้องขอยื่นเข้ามาหลังระเบียบสำนักนายกฯ ประกาศออกมา แต่ขณะนี้ยังเป็นร่างอยู่ จึงต้องรับฟังประชาชน และกระบวนการการมีส่วนร่วมที่ถูกต้อง การประชุม ครม.ก็ไม่มีร่างระเบียบฯ เสนอเข้าไป อย่างไรก็ตามรัฐบาลก็ยังคงเห็นภาคประชาชนขับเคลื่อนมีข้อคิดเห็น แต่ตอนนี้ยังมีความสับสนมากมายที่ดินหนองเสือ ธัญญบุรีที่นายกฯ ไปแจกที่ดิน ก็ยังมีความสับสนอยู่" นายนิพนธ์ กล่าว

นายวีรวัธน์ ธีรประสาธน์ ประธานคณะทำงานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี  ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภาที่ปรึกษาฯ กล่าวว่าสิทธิร่วมในการจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อม โดยโฉนดชุมชนมีปัญหาตรงที่การมุงเน้นเอาแต่เอกสาร ทั้งที่การจัดการทรัพยากรร่วมในกฎหมายมีการเปิดช่องไว้ ทั้งกฎหมายอุทยานแห่งชาติ มาตร 19 และกฎหมายป่าสงวนแห่งชาติมาตรา 15-16 สามารดำเนินการโดยไม่ต้องออกกฎหมายได้เลย ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าเอาจริงหรือเปล่า ส่วนตัวคิดว่าการออกระเบียบ หรือกฎหมายที่เป็นสูตรสำเร็จเพื่อใช้ทั่วประเทศจะเป็นปัญหา และห่วงระเบียบสำนักนายกฯ ที่จะออกมา เพราะเชื่อว่าถึงปัจจุบันหลักการยังจูนกันไม่ตรงกัน
 
การจัดการร่วมกันของชุมชนไม่ใช่เรื่องใหม่ หากติดตามวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่ดินเป็นของแม่ธรณี ไม่มีกรรมสิทธิเป็นเพียงการขออนญาติใช้ หรือไร่หมุนเวียนของภาคเหนือไม่มีใครเป็นเจ้าของแต่หมุนเวียนใช้ร่วมกัน เรื่องการจัดการอย่างมีส่วนร่วมไม่จำเป็นต้องมีกฎหมาย แต่ว่ากันในการจัดการแต่ละเรื่อง ในแต่ละพื้นที่มีสภาพแตกต่างกัน

นายวีรวัธน์ กล่าวต่อมาถึงข้อเสนอในเรื่องหลักการโฉนดชุมชน 6 ข้อ ประกอบด้วย 1.สิทธิการใช้ร่วมกัน ทำได้ทุกพื้นที่ไม่ว่าที่ดินรัฐหรือเอกชน หากอยู่บนหลักการว่าทำให้เกิดความเป็นธรรมได้ แม้จะมีกรรมสิทธิเป็นราย แต่หากมีรูปแบบการจัดการร่วมกันก็สามารถทำได้ 2.ต้องเป็นการจัดการร่วมของชุมชน ชุมชนทำกฎเกณฑ์ของตนเองออกมาอย่างชัดเจน รัฐทำหน้าที่สนับสนุนให้กฎเกณ์นั้นเดินต่อไปได้ 3.ต้องยั่งยืน อยู่ไปชั่วลูกหลาน 4.สอดคลองวัฒนธรรมความเชื่อแต่ละพื้นที่ 5.มีกฎเกณฑ์ ที่เป็นที่รู้ ยอมรับ เช่นการใช้จารีตประเพณี หรืออาจเขียนขึ้นมาเป็นธรรมนูญ 6.การจัดการเรื่องที่ดิน ต้องจัดการเป็นองค์รวม อย่างมองเรื่องเดียว

อย่างไรก็ตามยังมีตัวขวาง 2 ส่วน คือ 1.ผู้ปฎิบัติการในพื้นที่ใช้กฎหมายเล่นงานชาวบ้าน และ 2 ซึ่งถือเป็นตัวขัดขวางใหญ่ คือสาธารณะชน สิทธิร่วมถูกขวางโดยทุนนิยม ต้องมีการทำความเข้าใจ

ด้าน รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า รัฐบาลต้องออกกฏระเบียบชัดเจน และไม่มีกติกาไหนใช้ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่วิตกว่ากฏระเบียบสำนักนายกฯ ออกมาปฏิบัติไม่ได้ เพราะหลักการไม่ชัดเจน หากหลักการชัดเจนกฏระเบียบต้องกลับมาที่เจตนารมย์ ซึ่งหากไม่ชัดเจนทำให้ราชการสับสน และผลักดันโฉนดชุมชนยาก

“โฉนดชุมชนสะท้อนการกระจายอำนาจที่แท้จริง เพราะเป็นเรื่องวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และการจัดการทรัพยากรของชุมชน” ดร.นวลน้อย กล่าว

นายประยงค์ ดอกลำใย เครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ กล่าวว่า เรื่องนโยบายรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับที่ดิน มีการพูดชัดเจนใน 3 เรื่อง คือคุ้มครองพื้นที่เกษตร รับรองสิทธิชุมชนโดยโฉนดชุมชน และจัดหาที่ดินรูปในแบบธนาคารที่ดิน ซึ่งนโยบายเหล่านี้เป็นความหวังของเกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกิน ท่ามกลางสถานการณ์ที่สังคมมีช่องว่าในการถือครองที่ดินสูง มีการถือครองที่ดินไม่ถูกต้อง มีที่ดินเอ็นพีแอล ที่ดินเช่าซื้อ (ที่ดินสีเทา) ในกรณีที่ดินสหกรณเช่าซื้อที่ถูกเปลี่ยนเป็นที่ราชพัสดุ ให้เช่าไม่จำกัดผู้ซื้อสิทธิ และสามารถซื้อสิทธิติดๆ กันได้ ไม่มีการกำหนดจำนวนการซื้อ

“โฉนดชุมชนที่พูดในวันนี้ เป็นฟางเส้นสุดท้ายของรัฐกับประชาชน” นายประยงค์แสดงความเห็น และกล่าวว่าระเบียบสำนักนายกฯ ที่ระบุถึงการจัดการโฉนดชุมชนในที่ดินของรัฐ แต่ในพื้นที่ อ.โนนดินแดง เป็นที่ดินรัฐก็ยังมีปัญหาการข่มขู่คุกคาม และการกดดันในพื้นที่ ทำให้ไม่แน่ใจว่าระเบียบสำนักนายกฯ ที่คาดว่าจะออกในสัปดาห์หน้า จะเป็นเครื่องมือกระจายการถือครองที่ดินได้จริง ซึ่งถ้าออกได้ตามความต้องการของประชาชนได้ถือว่าดี เพราะจะช่วยแก้ปัญหาประชาชนได้ แต่หากไม่ดีก็เป็นปัญหา คำถามคือประชาชนต้องเดินหน้าต่อ หรือจะทำให้แท้ง เพราะร่างระเบียบสำนักนายกไม่ใช้แก้วสารพัดนึก ที่คิดว่าจะเป็นปัญหาได้ทุกอย่าง อีกทั้งยังหวั่นว่าจากออกมาแบบพิกลพิการ

“ระเบียบสำนักนายฯ ยกสะท้อนความล้มเหลวในการกระจายการถือครองที่ดินของรัฐบาล” นายประยงค์กล่าวย้ำ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net